بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
ًนักปราชญ์ส่วนมากกล่าวว่า การทำหมันนั้นเป็นสิ่งฮะรอมตามหลักของศาสนาหากไม่มีความจำเป็น(ฎ่อรูเราะฮ์)ใด ๆ ดังกล่าวก็เพราะว่ามันเป็นการยับยั้งการสืบสายเชื้อพันธุ์ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายความจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ซึ่งการรักษาไว้ซึ่งการสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์นี้เป็นส่วนหนึ่งจากเป้าหมายทั้งห้าซึ่งเป็นพื้นฐานของการวางบทบัญญัติในศาสนาอิสลาม
สำหรับกรณีที่มีความจำเป็นสู่การทำหมัน เช่น เขามีโรคทางสมอง ทางร่างกาย หรือทางจิตใจที่เรื้อรัง ถือว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลเลาะฮ์ด้วยวิธีการทำหมัน แต่ทว่าอนุญาตสำหรับผู้ที่มีความแน่ชัดในโรคดังกล่าวด้วยการตรวจทางวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยการทำหมันแบบชั่วคราว เพื่อป้องกันโทษระยะยาวที่จะเกิดขึ้นจริง ความหมายของเราที่อนุญาตให้ทำหมันชั่วคราวได้ก็คือ สามารถแก้การทำหมันให้ออกไปได้และสามารถให้กำเหนิดบุตรได้เมื่อโรคหายไป สำหรับการยับยั้งการให้กำเหนิดบุตรแบบถาวรนั้น ถือว่าเป็นสิ่งฮะรอมตามหลักศาสนา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะด้วยการมีความจำเป็น เช่นสามีกลัวว่าจะเกิดผลกระทบกับชีวิตของภรรยาหากทำการตั้งครรภ์ในอนาคต หรือกลัวว่าจะเกิดความเสียหายกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งของนาง หรือทำให้อวัยวะบางส่วนใช้การไม่ได้ หรือทำให้โรคอันตรายติดต่อไปสู่บุตร ดังนั้นผู้ที่จะวินิจฉัยตัดสินเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือแพทย์ที่เชื่อถือได้
อ้างอิงจาก : หนังสือฟะตาวา อัสรียะฮ์ : 2/284 ของท่านอิมาม อัลลามะฮ์ อะลี ญุมุอะฮ์ มุฟตีแห่งประเทศอียิปต์
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ