นักศึกษามุสลิม มอ.ปัตตานี กว่า 1 พันคน ชุมนุมประท้วงปิดทางเข้า-ออกมหาวิทยาลัย เรียกร้องผู้บริหารประกาศหยุดเรียน 5 วันช่วงเทศกาลฮารีรายอ เหตุต้องการกลับบ้านไปร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัว รุกบรรจุเป็นระเบียบสถาบันให้ทุกเทศกาลตรุษของอิสลามต้องหยุดไม่น้อยกว่า 4 วัน ย้ำเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่สามจังหวัด ต้องเข้าใจวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม ด้านผู้บริหาร ม.อ.ยอมรับข้อเรียกร้องเบื้องต้น ไฟเขียวหยุดตามที่ขอ
กลุ่มนักศึกษามุสลิม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จำนวนกว่า 1,000 คน ได้รวมตัวชุมนุมประท้วงปิดประตูทางเข้า-ออกของมหาวิทยาลัย และอาคารเรียนรวม 19 เพื่อไม่ให้มีการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ย. เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหยุดการเรียนการสอนเป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.ถึง 3 ต.ค.2551 ซึ่งเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายอประจำปีนี้ (เทศกาลฉลองหลังสิ้นสุดเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม) เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ที่อยู่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสกลับบ้านไปร่วมเทศกาลได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ สาเหตุของความไม่พอใจของกลุ่มนักศึกษา เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศวันหยุดในช่วงเวลาดังกล่าวเพียง 2 วัน คือวันที่ 30 ก.ย. และ 1 ต.ค. ทำให้นักศึกษามุสลิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัดไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้
กลุ่มนักศึกษาได้ออกแถลงการณ์ในนามองค์การบริหารองค์การนักศึกษา และองค์กรร่วม แจกจ่ายให้กับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยมีเนื้อหาระบุว่า "เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กำหนดให้ช่วงวันที่ 25 กันยายน จนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2551 เป็นช่วงของการสอบปลายภาคการศึกษา 1/2551 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับวันรายออีดิลฟิตรี ประจำปี 2551 (วันตรุษอีดิลฟิตรี )
การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กำหนดช่วงเวลาสอบในช่วงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ความเคารพและไม่เข้าใจถึงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีดังกล่าว ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เรียกได้ว่ามีความละเอียดอ่อนอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ
นอกจากนั้นการประกาศตารางวันและเวลาในการสอบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ครั้งนี้ ยังได้สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วนโยบาย "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของรัฐนั้น เป็นเพียงแค่ตัวนโยบายที่ไม่สามารถที่จะนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในพื้นที่นั้นยังมีอคติ มุมมอง และทัศคติที่เป็นลบต่อสภาพสังคมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังขาดความจริงใจ ความไม่เข้าใจและไม่เข้าถึงในวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาซึ่งความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ยื่น 4 ข้อเรียกร้อง-บรรจุวันหยุดเป็นระเบียบสถาบัน
เพื่อเป็นการสร้างความสะดวกในการเดินทางให้กับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาห่างไกล และเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีของนักศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยต่อบทบาทของสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ และยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับมหาวิทยาลัยในการกำหนดแนวทางการดำเนินบทบาทของตนบนพื้นฐานของความหลากหลายของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และองค์กรร่วม ขอเรียกร้องและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าวดังนี้
1.ขอให้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยุติการสอบในช่วงระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2551 จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2551 รวมระยะเวลา 5 วัน เพื่อเคารพในวิถีชีวิต และวัฒนธรรม ประเพณี ตามหลักการของศาสนาอิสลาม
2.ขอให้ผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประกาศให้วันตรุษอิดิลฟิตรี และวันตรุษอิดิลอัฎฮา บรรจุเป็นกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยว่าจะต้องหยุดไม่น้อยกว่า 4 วัน
3.ขอให้ผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทุกท่านเคารพและสร้างความเข้าใจที่ดีต่อหลักการทางศาสนา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมประเพณีที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีและยังเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างนักศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
4.ในการออกมาเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาในครั้งนี้ถือว่ามีความชอบธรรม ไม่ขัดต่อกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่สามารถที่จะเอาผิดกับนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องความชอบธรรมในกรณีดังกล่าวได้"
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยอมอ่อน-ม็อบสลาย
ต่อมา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนำโดย นายนิฟาริศ ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม ได้ออกมารับข้อเรียกร้องของนักศึกษา โดยในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยยินยอมตามข้อเรียกร้อง กล่าวคือจะกำหนดให้วันที่ 29 ก.ย. ถึงวันที่ 3 ต.ค.2551 เป็นวันหยุดรวม 5 วัน และจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาร่วมยกร่างระเบียบของมหาวิทยาลัยเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย ทำให้กลุ่มนักศึกษาพึงพอใจ และยอมสลายการชุมนุมเมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกัน
นักศึกษาลั่นสู้เพื่อมุสลิมทั่วประเทศ
นายแวอิบรอเฮง สอและ นักศึกษาปี 4 คณะรัฐศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุม กล่าวว่า ม.อ.ปัตตานี เป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับไม่เข้าใจความต้องการของคนในพื้นที่นี้เลย พวกเขาจึงต้องออกมาต่อสู้ และเป็นการต่อสู้เพื่อนักศึกษามุสลิมทั่วประเทศ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมไทย มหาวิทยาลัยต้องเข้าใจถึงความสำคัญของวันรอยอ และจะต้องปิดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษามุสลิมทั่วประเทศ
น.ส.ซิตตุลมูนา เจ๊ะสุ นักศึกษาปี 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในทำนองเดียวกันว่า นักศึกษาต้องเรียกร้องในสิทธิและอัตลักษณ์ที่ควรจะได้รับ ถึงแม้การเรียนจะสำคัญอย่างไร แต่สำหรับวันรายอของชาวมุสลิมแล้ว ย่อมมีความสำคัญกว่าวันอื่นๆ
"เราอยากให้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญตรงนี้ เพราะที่นี่มีนักศึกษามุสลิมถึง 80%" เธอกล่าว และว่า แม้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะล่อแหลมต่อการจัดชุมนุม แต่พวกเธอก็ไม่กลัว เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เรียกร้องอย่างสันติวิธี