salam
เผอิญกำลังรวบรวมอยู่พอดี ได้มาจากหนังสืออัลฟิกฮ์ของอ.อรุณ บุญชม และการตอบของ อัลอัซฮารี ดังนี้
زَكَاةُ الْفطْر
ซะก๊าตฟิตริ
คำนิยาม ซะก๊าตฟิตริ คือสิ่งที่เป็นทรัพย์จำนวนหนึ่งที่จำเป็นต้องจ่ายออกไป ตั้งแต่ตะวันตกในวันสุดท้ายของเดือนร่อมาดอน โดยมีเงื่อนไขที่กำหนดแน่นอน เป็นการจ่ายออกไปให้พ้นตนเอง และพ้นผู้ที่ตนเองจำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู
การบัญญัติซะก๊าตฟิตริ
เป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายว่า ซะก๊าตฟิตรินั้นถูกบัญญัติเป็นฟัรดูในปีฮิจเราะห์ศักราชที่สองซึ่งเป็นปีบเดียวกันกับที่มีบัญญัติการถือศิลอดในเดือนรอมาดอน
หลักฐานที่ว่าซะก๊าตฟิตริเป็นฟัรดู คือฮะดีษที่บุคอรี (1433) และมุสลิม (984) ความว่า เล่าจากท่านอิบนิอุมัร (ร.ด.) ว่า ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) ได้บัญญัติซะก๊าตฟิตริจากร่อมดอนเป็นฟัรดูเหนือประชาชน คือ หนึ่งซออที่เป็นอินทผลัม หรือหนึ่งซออที่เป็นข้าวสาลีเหนือทุกคนที่เป็นเสรีชน ชาย-หญิงที่เป็นมุสลิม
เงื่อนไขที่ทำให้ซะก๊าตเป็นสิ่งจำเป็น (วายิบ)
ซะก๊าตฟิตริ เป็นสิ่งวายิบ ด้วยเงื่อนไขสามประการ
1. เป็นอิสลาม
2. มีชีวิตอยู่จนถึงตะวันตกวันสุดท้ายของเดือนร่อมดอน
3. มีทรัพย์เหลือ เกินกว่าอาหารหนัของตนและคนในครอบครัวที่ตนต้องรับผิดชอบในวันอีดและคืนหลังวันอีด และมีเหลือเกินค่าที่พักและคนรับใช้ที่จำเป็นต้องมี
ผู้ที่จำเป็นเหนือมุกัลลัฟต้องจ่ายซะกาตฟิตริแทนพวกเขา
จำเป็นเหนือผู้ที่มีเงื่อนไขครบสามข้อนี้ ต้องจ่ายซะก๊าตฟิตริให้พ้นตนเองและต้องจ่ายแทนให้แก่ผู้ที่ตนต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูด้วย อาทิเช่น พ่อและปู่ และลูกหลาน และภรรยาของตน เป็นต้น
ไมจำเป็นต้องจ่ายซะก๊าตฟิตริแทนลูกของตนที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว และมีความสามารถประกอบอาชีพได้ และไม่จำเป็นต้องจ่ายแทนญาติที่ตนไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ และถ้าจ่ายแทนให้ก็ใช้ไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตหรือได้รับการมอบหมายไว้
หากเขามีไม่พอที่จะจ่ายแทนให้แก่ทุกคนที่เขาต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู ก็ให้เขายจ่ายให้พ้นตัวเองก่อนลต่อไปก็ภรรยาของเขา ลูกคนเล็ก พ่อ แม่ และลูกที่โตแล้วซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพเองได้
ชนิดและจำนวนซะก๊าตฟิตริ
ซะก๊าตฟิตริ คือ หนึ่งซออ ของอาหารหนักที่นิยมกันเป็นส่วนใหญ่ในเมืองนั้น ๆ ที่เขาไปพำนักอยู่ โดยมีหลักฐานจากฮะดีษของอิบนิ อุมัร (ร.ด.) ที่ได้กล่าวมาแล้ว และที่บุคอรี (1439)ควาว่า.......
เล่าจาก อะบีสะอีด อัลคุดรี (ร.ด.) ได้กล่าวว่า พวกเราเคยจ่ายในสมัยท่านรอซู้ลุลเลาะห์ (ซ.ล.) ในวันฟิตริ จำนวนหนึ่งซออที่เป็นอาหารและอาหารของพวกเราก็คือ ข้าวสาลี องุ่นแห้ง นมแข็ง และอินทผลัม
ซออที่ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) เคยใช้นั้นคือจำนวนสี่ มุด คือสี่กอบมือชาวอาหรับในสมัยนั้นหากนำมาเทียบตวงในปัจจุบันเท่ากับประมาณสามลิตร หรือน้ำหนักเท่ากับ 2,400 กรัม
ดังนั้น ถ้าหากอาหารหนักที่นิยมกันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศของเราคือข้าวสาร ซะก๊าตฟิตริต่อคนหนี่ง ๆ ก็คือข้าวสารจำนวนสามลิร ตามมัซอับของท่านอิหม่ามซาฟีอีนั้นจะออกราคาแทนอาหารหนักไม่ได้จำเป็นต้องออกอาหารหนักที่นิยมกันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศนั้น สำหรับกรณีนี้ถ้าจะตักลีดตามมัซฮับท่านอิหม่ามอบูฮะนีฟะห์ก็ให้ถือปฏิบัติได้ คืออนุญาตให้ออกราคาแทนอาหารได้ ซึ่งเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน เพราะราคาย่อมเป็นประโยชน์แก่คนจนมากกว่าอาหาร และเข้าถึงเป้าหมายได้มากกว่า
เวลาที่ออกซะก๊าตฟิตริ
เวลาที่วายิบนั้นได้กล่าวมาแล้วคือ ขณะเมื่อตะวันตกในวันสุดท้ายของเดือนร่อมดอน ส่วนเวลาที่อนุญาตให้ออกซะก๊าตฟิตริได้นั้นก็คือตลอดเดือนรอมะดอนและในวันอีด
และจะได้สุนัตในการจ่ายซะก๊าตฟิตริ ในตอนเช้าของวันอีด ก่อนออกไปละหมาดอีด มีปรากฏในซ่อเฮี๊ยะบุคคอรี (1432) ความว่า และท่านนบีได้มีคำสั่งให้จ่ายซะก๊าตฟิตริก่อนที่ผู้คนจะออกไปละหมาด
มักโระห์จะจ่ายซะก๊าตฟิตริหลังละหมาดอีด จนสิ้นสุดวันอีด และถ้าพ้นจากนี้ไปก็มีบาปสำหรับเขาซึ่งจำเป็นต้องชดใช้ด้วย
จ่ายซะก๊าตฟิตริให้ใคร
นักวิชาการมีความเห็นพ้องกันว่า ซะก๊าตฟิตรนั้นให้จ่ายแก่บุคคลแปดจำพวกที่มีสิทธิรับซะก๊าตตามปรากฏหลักฐานในอัลกุรอาน ส่วนหนึ่งจากฟิกฮุลมันฮะยี แปลโดยท่าน อ.อรุณ บุญชม
คำถามที่เกี่ยวข้อง
1. กันตัง เท่ากับกี่ลิตร ขอหลักฐานด้วยครับ
al-azhary ตอบ
بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِ
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
ท่านด็อกเตอร์ มุสตอฟา ดีบ อัลบุฆอ กล่าวว่า "ปริมาณ 1 กันตัง เท่ากับ 5 ลิตรกับอีกเศษหนึ่งส่วนสาม 1/3 ลิตรตามมาตรตวงของชาวอีรัก หรือน้ำหนัก 2 กิโลกรัมกับอีก 4 ขีดโดยประมาณ" หนังสือ อัตตัซฮีบ ฟิอะดิลล่าติ มัตนิลฆอยะฮ์ วัตตักรีบ ของท่านอิมามอบีชุญาอฺ หน้า : 100
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยษะมีย์ กล่าวว่า "ท่านอิมามมาลิกกล่าวว่า ท่านนาฟิอฺได้นำกันตังออกมาให้แก่เรา และกล่าวว่านี้คือกันตังที่ท่านอิบนุอุมัรได้ให้แก่ฉัน และท่านอิบนุอุมัรกล่าวว่า นี้คือกันตังของท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นฉันจึงให้เขานำแสดงออกมา ปรากฏว่ามันคือกันตังของชาวอีรัก มีปริมาณ 5 ลิตรกับอีกเศษหนึ่งส่วนสามของลิตร" หนังสือตัวะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ : 3/320
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ
2. ซาก๊าตฟิตเราะห์ให้มัสยิด(บัยตุลมาล)และขายซะกาตได้หรือไม่?
การที่เราเอาซากาตฟิตเราะไปให้กับมัสยิด(บัยตุ้ลมาน)ถือว่าเซาะแล้วใช่หรือไม่ครับ และเมื่อมัสยิดจะเอาไปแจกต่อ จำเป็นหรือไม่ว่าผู้รับต้องอยู่ใน8จำพวก และต้องอยู่ในช่วงเดือนรอมดอนหรือไม่ และถ้าเอาไปขายละครับได้หรือเปล่า
รบกวนช่วยตอบด่วนเกือบทุกมัสยิดมีปัญหาในเรืองนี้มาก(ขอหลักฐานด้วนครับว่าอยู่ในหนังสืออะไรหน้าที่เท่าไหร่)
al-azhary ตอบ
بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
ประเด็นที่ถามมานั้น ผมขอตอบโดยแยกประเด็นดังนี้
1. บริจาคซะกาตให้ 8 จำพวกนั้นรวมอยู่ในการบริจาคซะกาตให้แก่มัสยิดด้วยหรือไม่?
2. การบริจาคโดยมีเจ้าหน้าที่มาเก็บเพื่อมอบหมายให้อิมามทำการแจกจ่ายซะกาตแทน
3. การแจกจ่ายซะกาตต้องอยู่ในช่วงร่อมะฎอนหรือไม่?
4. ถ้าเอาซะกาตไปขายแล้วนำเงินมาแจกจ่ายได้หรือไม่?
ประเด็นที่ 1. การบริจาคซะกาตฟิตเราะฮ์นั้นให้กับ 8 จำพวกเหมือนกับซะกาตทรัพย์สินเป็นหลักพื้นฐาน หากไม่พบผู้มีสิทธิ์รับบริจาคซะกาตก็อนุญาตให้ซะกาตแก่มัสยิดตามทัศนะของปราชญ์บางส่วน
ประเด็นการจ่ายซะก๊าตให้กับมัสยิดและสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ นั้น มีทัศนะที่แตกต่างระหว่างปวงปราชญ์
มัซฮับที่หนึ่ง ไม่อนุญาตออกซะก๊าตให้กับการสร้างมัสยิด สร้างเขื่อน กำแพง และถนนหนทาง ซึ่งเป็นทัศนะของมัซฮับทั้งสี่โดยรวม
มัซฮับที่สอง อนุญาตให้ออกซะก๊าตสำหรับการสร้างมัสยิด ผ้าเพื่อการห่อศพ (เกี่ยวกับการจัดแจงมัยยิด) ซึ่งเป็นทัศนะของท่าน อัลก๊อฟฟาล (อุลามาอ์มัซฮับชาฟิอีย์) , ท่านอะนัส , และท่านอัลหะซัน อัลบะซอรีย์
หลักฐานมัซฮับที่หนึ่ง คือ คำตรัสของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ความว่า
إِنَّمَا الصَّدَقَاتُ لِلْفُقَرَاء وَالْمَسَاكِينِ وَالْعَامِلِينَ عَلَيْهَا وَالْمُؤَلَّفَةِ قُلُوبُهُمْ وَفِي الرِّقَابِ وَالْغَارِمِينَ وَفِي سَبِيلِ اللّهِ وَابْنِ السَّبِيلِ فَرِيضَةً مِّنَ اللّهِ وَاللّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٌ
"ซะก๊าตนั้นจะต้องตกเป็นของคนยากไร้ คนขัดสน เจ้าหน้าที่ซะก๊าต ผู้ที่ศรัทธาใหม่ ในเรื่องไถ่ตัวทาส คนที่มีหนี้สิน ในวิถีทางของอัลเลาะฮ์ และคนเดินทาง เป็นข้อกำหนดจากอัลเลาะฮ์ และอัลเลาะฮ์ทรงรอบรู้ยิ่ง ทรงเชี่ยวชาญยิ่ง" อัตเตาบะฮ์ 60
คำว่า إِنَّمَا ชี้ถึงความหมายจำกัด หมายถึงจำกัดแค่ 8 จำพวกเท่านั้น ส่วนการสร้างสะพาน เขื่อน หนทางเดิน ไม่ได้รวมอยู่ใน 8 จำพวก ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ออกซะก๊าตให้กับการสร้างมัสยิด และอื่น ๆ
หลักฐานมัซฮับที่สอง คือคำตรัสของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ที่ว่า وَفِي سَبِيلِ اللّهِ "(ซะก๊าตนั้นจะต้องตกอยู่ในวิถีทางของอัลเลาะฮ์" อัตเตาบะฮ์ 60)
ทัศนะนี้ได้เข้าใจและวินิจฉัยว่า คำว่า "ในวิถีทางของอัลเลาะฮ์" นั้น ไม่ใช่มีความหมายเพียงนักรบในวิถีทางของอัลเลาะฮ์เท่านั้น แต่มีความหมายแบบครอบคลุม العموم ทุก ๆ ด้านของคุณความดี เช่น สร้างมัสยิด ทำสะพาน และทำถนนหนทาง เป็นต้น และทัศนะมัซฮับที่สองนี้ ท่านอิมามฟัครุดดีน อัรรอซีย์ อัชชาฟิอีย์ ได้กล่าวอธิบายในตัฟซีร อัลกะบีร เกี่ยวกับอายะฮ์ ที่ 60 ของซูเราะฮ์ เตาบะฮ์ ความว่า "ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า ความหมายผิวเผินของคำตรัสของพระองค์ที่ว่า وَفِي سَبِيلِ اللّهِ "(ซะก๊าตนั้นจะต้องตกอยู่)ในวิถีทางของอัลเลาะฮ์" อัตเตาบะฮ์ 60 นั้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่บรรดานักรบเท่านั้น ดังนั้น ด้วยความนี้ ท่านอัลก๊อฟฟาล ได้ทำการถ่ายทอดไว้ในตัฟซีรของท่านเกี่ยวกับทัศนะนักปราชญ์ฟิกห์บางส่วนว่า พวกเขาอนุญาตให้ออกซะก๊าตเกี่ยวกับทั้งหมดที่อยู่ในด้านของความดีงาม จากการห่อมัยยิด สร้างกำแพง และสร้างทำนุบำรุงมัสยิด เพราะคำตรัสของพระองค์ที่ว่า "(ซะก๊าตนั้นจะต้องตกอยู่)ในวิถีทางของอัลเลาะฮ์" อัตเตาบะฮ์ 60 นั้น มีความหมายครอบคลุมทั้งหมด"
ดูเพิ่มเติมจาก สถาบันฟัตวาแห่งประเทศอียิปต์
ดังนั้น ตามทัศนะของผมแล้ว คือทุกมัซฮับอยู่บนความดีงาม มีเจตนาเพื่อส่งเสริมมุ่งเน้นให้กระทำความดีงามทั้งสิ้น และหากผู้ใดมีทรัพย์ซะก๊าต ก็สมควรที่จะต้องออกให้กับ 8 จำพวกตามทัศนะของมัซฮับทั้ง 4 โดยรวมก่อน และถ้าหากไม่พบผู้มีสิทธิ์ได้รับซะก๊าตแล้ว ก็ทำการออกซะก๊าตให้กับการทำนุบำรุงมัสยิดหรือสาธารณะประโยชน์ทั้งหลาย
ประเด็นที่ 2. การบริจาคซะกาตโดยมีเจ้าหน้าที่มาเก็บเพื่อมอบหมายให้อิมามทำการแจกจ่ายซะกาตแทน
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ได้กล่าวว่า
واتفق أصحابنا على أن الافضل أن يفرق الفطرة بنفسه كما اشار إليه الشافعي بهذا النص وانه لو دفعها الي الامام أو الساعي أو من تجمع عنده الفطرة للناس وأذن له في اخراجها اجزأه ولكن تفريقه بنفسه أفضل من هذا كله
บรรดาปราชญ์ของเรามีความเห็นพร้องว่า ที่ดีแล้วให้เขาทำการแจกจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์ด้วยตัวของเขาเองดังที่อิมามชาฟิอีย์ได้กล่าวบ่งชี้ระบุเอาไว้ และแท้จริงหากเขาได้มอบซะกาตไปยังอิมามหรือเจ้าหน้าที่เก็บซะกาตหรือผู้ที่ซะกาตฟิตเราะฮ์ของผู้คนทั้งหลายได้เก็บรวบรวมไว้ ณ ที่เขา และเจ้าของซะกาตได้อนุญาตให้เขาทำการออกซะกาตฟิตเราะฮ์ ก็ถือว่าใช้ได้แก่เขาแล้ว แต่ทว่าการที่เขาได้แจกจ่ายซะกาตด้วยตัวเองย่อมดีกว่าจากทั้งหมดนี้" หนังสือมัจญ์มั๊วะอฺ 6/138
ดังนั้นการจ่ายซะกาต เราสามารถที่จ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์ด้วยกับตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่ดี หรือมอบหมายให้อิมามทำการแจกจ่ายซะกาตแทนเราก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่น้องบ้านเราได้กระทำกันด้วยเช่นกัน เนื่องจากบางทีไม่มีผู้ที่เราจะจ่ายซะกาตหรือไม่มีผู้ใดมารับซะกาต เราจึงมอบหมายให้อิมามทำการแจกจ่ายแทนให้กับผู้ที่มีสิทธิ์ในการรับซะกาต
ประเด็นที่ 3. การแจกจ่ายซะกาตต้องอยู่ในช่วงร่อมะฎอนหรือไม่? ตอบ : การออกซะกาตนั้นอนุญาตให้อยู่ในช่วงเดือนร่อมะฎอน คือเริ่มจากแสงอรุณจริงขึ้นในวันแรกของเดือนร่อมะฎอนจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของวันอีด และจำเป็นต้องแจกจ่ายซะกาตให้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากมีอุปสรรคเช่นทรัพย์ที่ออกซะกาตยังมิได้อยู่ที่ตัวเขาหรือยังไม่มีผู้เหมาะสมที่รับซะกาต
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ได้กล่าวว่า
وفى وقت التعجيل ثلاثة أوجه (والصحيح) الذى قطع به المصنف والجمهور يجوز في جميع رمضان ولا يجوز قبله (والثانى) يجوز بعد طلوع فجر اليوم الاول من رمضان وبعده إلي آخر الشهر ولا يجوز في الليلة الاولى لانه لم يشرع في الصوم حكاه المتولي وآخرون (والثالث) يجوز في جميع السنة حكاه البغوي وغيره واتفقت نصوص الشافعي والاصحاب علي أن الافضل أن يخرجها يوم العيد قبل الخروج إلى صلاة العيد وأنه يجوز إخراجها في يوم العيد كله وأنه لا يجوز تأخيرها عن يوم العيد وانه لو أخرها عصى ولزمه قضاؤها
"ในเวลารีบเร่งการออกซะกาตฟิตเราะฮ์นั้นมีอยู่ 3 ทัศนะคำกล่าวของสานุศิษย์ของอิมามชาฟิอีย์ ทัศนะคำกล่าวที่หนึ่งคือทัศนะที่ถูกต้องซึ่งท่านอัชชีรอซีย์และปราชญ์ส่วนมากได้กล่าวอย่างเด็ดขาดไว้ว่า อนุญาตให้รีบออกซะกาตฟิตเราะฮ์นั้นในทั้งหมดของเดือนร่อมะฎอนและไม่อนุญาตให้ออกก่อนเดือนร่อมะฎอน ทัศนะคำกล่าวที่สอง คืออนุญาตให้รีบออกซะกาตได้หลังจากแสงอรุณขึ้นในวันแรกของเดือนร่อมะฎอนและหลังจากวันแรกจนถึงวันสุดท้ายของเดือน และไม่อนุญาตให้รีบออกซะกาตในคืนแรกเพราะยังไม่เข้าในการถือศีลอด ทัศนะนี้ได้ทำการเล่ารายงานโดยท่านอัลมุตะวัลลีย์และท่านอื่น ๆ ทัศนะคำกล่าวที่สาม อนุญาตให้ออกซะกาตฟิตเราะฮ์ตลอดทั้งปี (ถือเป็นทัศนะคำกล่าวที่ฎออีฟ) ซึ่งเป็นทัศนะที่ท่านอัลบะฆอวีย์และท่านอื่น ๆ ได้กล่าวเล่ารายงานไว้ และบรรดาคำกล่าวของอิมามอัชชาฟิอีย์และบรรดาสานุศิษย์ได้มีความสอดคล้องกันว่า ที่ดียิ่งแล้วนั้นให้เขาทำการออกซะกาตฟิตเราะฮ์ในวันอีดก่อนที่จะออกไปละหมาดอีด และอนุญาตให้ออกซะกาตฟิตเราะฮ์ในทั้งวันของวันอีด และไม่อนุญาตให้ล่าช้าการออกซะกาตอื่นจากวันอีด และถ้าหากเขาล่าช้า ถือว่าเขาเป็นผู้ฝ่าฝืน และจำเป็นบนเขาต้องทำการชดใช้" หนังสือมัจญ์มั๊วะอฺ 6/128
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ และท่านอิมามอัรร็อมลีย์ได้กล่าวว่า
وَيَحْرُمُ تَأْخِيْرُهَا عَنْ يَوْمِهِ أي الْفِطْرِ مِنْ غَيْرِ عُذْرٍ كَغَيْبَةِ مَالِهِ أَوْ مُسْتَحِقِيْهَا لِأَنَّ الْقَصْدَ إِغْنَاؤُهُمْ عَنِ الطّلَبِ فِيْهِ لِكَوْنِهِ يَوْمَ سُرُوْرٍ ، فَمَنْ أَخَّرَهَا عَنْهُ أَثِمَ وَقَضَي وُجُوْباً إِنْ أَخَّرَهَا بِلاَ عُذْرٍ
"ฮะรอมการล่าช้าจ่ายซะกาตฟิตเราะหลังจากวันอีดโดยไม่มีอุปสรรคอันใด เช่นทรัพย์สินซะกาตยังไม่ได้อยู่ที่เขาหรือผู้มีสิทธิ์รับซะกาตไม่อยู่ เพราะเป้าหมายการออกซะกาตฟิตเราะฮ์ก็คือการให้พวกเขาพอเพียงจากการแสวงหา(ริสกี)ในวันอีดฟิตร์ เพราะมันเป็นวันรื่นเริง ดังนั้นเมื่อใดที่ล่าช้าการออกซะกาตจากวันอีด ถือว่าเขาทำบาป และจำเป็นต้องกอฎอชดใช้หากเขาได้ทำการล่าช้าออกซะกาตโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ" หนังสือตั๊วะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ 3/309 , และหนังสือนะฮายะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ 3/111-112
ประเด็นที่ 4. ถ้าเอาซะกาตไปขายแล้วนำเงินมาแจกจ่ายได้หรือไม่? ตอบ : ไม่อนุญาตให้อิมามหรือเจ้าหน้าที่ทำการขายซะกาตนอกจากมีอุปสรรคจำเป็น เช่น ทรัพย์สินซะกาตจะเสียหายหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งลำเลียงซะกาต เป็นต้น
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ได้กล่าวว่า
قال اصحابنا لا يجوز للامام ولا للساعي بيع شئ من مال الزكاة من غير ضرورة بل يوصلها الي المستحقين بأعيانها لان اهل الزكاة أهل رشد لا ولاية عليهم فلم يجز بيع مالهم بغير اذنهم فان وقعت ضرورة بان وقف عليه بعض الماشية أو خاف هلاكه أو كان في الطريق خطر أو احتاج الي رد جبران أو إلى مؤنة النقل أو قبض بعض شاة وما أشبهه جاز البيع للضرورة كما سبق في آخر باب
"บรรดาปวงปราชญ์ของเรากล่าวว่า ไม่อนุญาตให้อิมามและเจ้าหน้าที่ทำการขายสิ่งใดจากทรัพย์สินซะกาตโดยไม่มีความจำเป็น แต่ให้เขาทำการส่งมอบตัวของซะกาตให้ถึงไปยังบรรดาผู้มีสิทธิ์ได้รับ เพราะผู้มีสิทธิ์ได้รับซะกาตนั้นเป็นผู้ที่วิจารณญานใตร่ตรองได้แล้วซึ่งไม่ต้องการจัดแจงให้แก่พวกเขา ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้ขายทรัพย์สินของ(ซะกาต)ของพวกเขาโดยที่พวกเขาไม่ได้อนุญาต แต่ถ้าหากมีเหตุสภาวะขึ้นเกิดขึ้น กล่าวคือปศุสัตว์บางส่วนหยุดการเดิน หรือเขากล่าวว่าปศุสัตว์บางส่วนจะเสียหาย หรือระหว่างทางจะเกิดอันตราย หรือเขาต้องการไปยังการเสียค่าชดเชย หรือต้องการไปยังค่าใช้จ่ายการขนย้าย หรือมีแพะบางตัวเสียชีวิต และสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งดังกล่าว ก็ถือว่าอนุญาตให้ทำการขายได้เพราะความจำเป็น" หนังสือมัจญ์มั๊วะอฺ 6/175
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ กล่าวเช่นกันว่า
قال اصحابنا ولو وجبت ناقة أو بقرة أو شاة واحدة فليس للمالك بيعها وتفرقة ثمنها علي الاصناف بلا خلاف بل يجمعهم ويدفعها إليهم وكذا حكم الامام عند الجمهور وخالفهم البغوي فقال ان رأى الامام ذلك فعله وان رأى البيع وتفرقة الثمن فعله والمذهب الاول
"บรรดปราชญ์ของเรากล่าวว่า หากอูฐ หรือวัว หรือแกะจำเป็นต้องออกซะกาต ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ครอบครองทำการขายมันและแจกจ่ายราคาของมันให้แก่บรรดาผู้มีสิทธิ์ได้รับซิกาตโดยไม่มีการคิลาฟกัน แต่ให้เขาทำการรวบรวมและส่งมอบซะกาตไปยังพวกเขา และข้อกำหนดของอิมามก็เช่นกันถือว่าไม่อนุญาตให้ทำการขายและแจกจ่ายราคาของซะกาตตามทัศนะของปราชญ์ส่วนมาก โดยที่ท่านอัลบะฆ่อวีย์ได้มีความเห็นขัดแย้งกับพวกเขา ซึ่งท่านอัลบะฆอวีย์กล่าวว่า หากอิมามมีความเห็นให้รวบรวมและส่งมอบ ก็อนุญาตแก่เขาได้ และหากหากอิมามมีความเห็นว่าให้ขายและแจกจ่ายราคา ก็อนุญาตแก่เขาได้ แต่ทว่าทัศนะของมัซฮับแล้วนั้นคือทัศนะแรก(คือไม่อนุญาตให้ขายแต่ให้รวบรวมและส่งมอบ)" หนังสือมัจญ์มั๊วะอฺ 6/175
บทสรุปจากหลักการข้างต้น
เราสมควรจ่ายซะกาตด้วยตนเองแก่ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับซากาต และหากหาผู้ที่มีสิทธิ์รับซะกาตไม่ได้ก็มอบหมายให้อิมามทำการจัดการหรือแจกจ่ายซะกาตให้แก่ผู้ที่อิมามพบกว่าเขามีสิทธิ์ได้รับซะกาต และหากไม่พบมีสิทธิ์ได้รับซะกาตจาก 8 จำพวกแล้ว ก็อนุญาตให้อิมามทำการแจกจ่ายซะกาตที่เหลือให้แก่มัสยิดตามทัศนะของนักปราชญ์ข้างต้น และเมื่ออิมามได้จ่ายซะกาตที่เหลือให้แก่มัสยิดแล้ว ก็อนุญาตให้อิมามจัดการการซะกาตนั้นโดยนำไปขายตีเป็นราคาเข้าบัยตุลมาลของมัสยิดได้ครับ
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ