http://www.mureed.com/article/Eid_No_Wait/Eid_No_Wait.htmเหตุผลที่ไม่ปฏิบัติตามที่ท่านจุฬาราชมนตรีประกาศวันอีดิลอัฎฮา มีเหตุผมดั่งนี้ครับ
1. สำนวนที่กล่าวว่า " มุสลิมอยู่ในประเทศไหนๆ ต้องตามผู้นำประเทศนั้นๆ " ต้องถามก่อนนะครับว่า ผู้นำประเทศมุสลิมนั้นๆ ที่เราจะต้องปฏิบัติตามเขานั้น เป็นผู้นำประเภทไหน? หากเป็นผู้นำอย่างประเทศซาอุดิอาระเบีย นั่นแน่นอนครับที่เราต้องตาม เพราะผู้นำของเขามีอำนาจสั่งการต่างๆ เช่นสั่งการให้ลงโทษผู้ที่กระทำความผิดหลักการของศาสนา เช่น หากทำซินา ก็ให้เฆี่ยนเป็นต้น เช่นนี้ไม่ตามไม่ได้ครับ วาญิบต้องตามครับ, แต่ผู้นำมุสลิมในเมืองไทยเป็นผู้นำที่ทางรัฐบาลกำหนดให้มีตำแหน่งผู้นำมุสลิมโดยให้ชื่อว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำมุสลิมที่ไม่สามารถออกกฎหมายหรือลงโทษผู้หนึ่งผู้ใดหากใครทำผิดหลักการของศาสนา ผู้นำประเภทนี้ไม่วาญิบต้องตามนะครับ อีกทั้งทางรัฐบาลยังกำหนดบทบาทของตำแหน่งจุฬาราชมนตรีไว้แค่เป็นผู้นำของปวงมุสลิมในประเทศไทย และเป็นผู้ประกาศการเห็นดวงจันทร์เท่านั้นนะครับ ส่วนการยกหลักฐานหะดีษของท่านรสูลุลลอฮฺที่กล่าวว่า " إنما جعل الإمام ليؤتم به " ความว่า "แท้จริงอิมามถูกแต่งตั้ง (นำนมาซ) เพื่อถูกตาม" (บันทึกโดยมุสลิม) เป็นเรื่องหน้าที่ของอิมามนำนมาซฟัรฺฎูไม่ใช่ ผู้นำประเทศ หรือ ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งการตามจุฬาราชมนตรีแม้แต่น้อยนะครับคนละประเด็นกัน, ถ้าหากนำหะดีษข้างต้นมาเป็นหลักฐานอ้างอิงว่าจะต้องตามผู้นำในเมืองไทยแล้วไซร้ ถ้าเช่นนั้นสมมติว่า ท่านจุฬาฯ หรือสำนักจุฬาราชมนตรีของเราไปออกตราหะลาล (حلال) ให้กับยาดองเหล้ายี่ห้อหนึ่ง (สมมตินะครับ) ถามว่ามุสลิมในประเทศไทยสามารถซื้อยาดองเหล้ายี่ห้อนั้นมาดื่มได้หรือไม่? ถ้าเราบอกว่าเราตามผู้นำ หรือตามสำนักจุฬาราชมนตรีเราก็ต้องซื้อมาดื่มนะซิครับ ทั้งๆ ที่รู้ว่ายาดองเหล้านั้น เป็นเหล้าชนิดหนึ่ง ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เมื่อเป็นสิ่งมึนเมาศาสนาถือว่าหะรอม (حرام), ฉันใดก็ฉันนั้น วันวุกูฟ หรือวันอะเราะฟะฮฺมีอยู่ที่เดียวบนโลกดุนยานี้เท่านั้น เมื่อทางรัฐบาลซาอุฯ ประกาศว่าวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2549 ตรงกับวันอะเราะฟะฮฺ อีกทั้งสุนนะฮฺของท่านนบีก็กำชับให้ถือศีลอดในวันดังกล่าว ถัดจากวันดั่งกล่าวก็เป็นวันอีดิลอัฎฮา การที่เราทำเช่นนี้เราทำตามตัวบทหลักฐาน (ดั่งที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น) ปฏิบัติสุนนะฮฺของท่านนบีทุกประการ เมื่อทำตามหลักการข้างต้นแล้วจะไม่ตรงกับคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีก็ไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะหลักการของศาสนาจะต้องมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
ตัวอย่างการไม่ปฏิบัติผู้นำโดยเห็นว่าคำสั่งของผู้นำที่ขัดกับหลักการของศาสนา หรือมีทัศนะไม่ตรงกับผู้นำ
"ท่านอิมามอะหฺมัด อิบนุฮัมบัล เป็นอุละมาอฺหนึ่งในสี่มัซฮับโดยรู้จักในนาม "มัซฮับฮัมบะลีย์" ท่านอิมามอะหฺมัดอยู่ในยุคของเคาะลีฟะฮฺอัลมะมูน แห่งราชวงศ์อัลอับบาสียะฮฺ ซึ่งยึดมั่นในมัซฮับมุอฺตะซิละฮฺ โดยเขามีความคิดว่า อัลกุรฺอานคือมัคลูกฺ ( مخلوق สิ่งถูกสร้าง) แล้วเขาก็นำเสนอแนวคิดข้างต้นให้กับประชาชาน และบรรดาอุละมาอฺในยุคนั้น จนกระทั่งอุละมาอฺในยุคนั้นต่างพากันเห็นด้วยในแนวคิดของเคาะลีฟะฮฺท่านนั้น โดยเขาส่งสาส์นไปยังบรรดาอุละมาอฺในยุคนั้น เหล่าบรรดาอุละมาอฺในยุคนั้นต่างก้มหัวและยอมรับความคิดเห็นของเคาะลีฟะฮฺท่านนั้นด้วยความเกรงกลัวอำนาจและอิทธพล รวมทั้งเกรงว่าจะถูกทรมารถ้าหากแสดงความเห็นใดๆ ไปในทำนองคัดค้านออกมา, ส่วนท่านอิมามอะหฺมัดกลับปฏิบัติตรงกันข้าม กล่าวคือ อิมามอะหฺมัดปฏิเสธไม่ยอมน้อมรับความเห็นเช่นนั้น โดยยืนหยัดอยู่บนแนวทางอันเที่ยงตรงและถูกต้อง โดยไม่หวาดเกรงต่ออำนาจอิทธิพลใดๆ ของเคาะลิฟะฮฺท่านนั้น ท่านอิมามอะหฺมัดยังคงยืนยันว่า อัลกุรฺอานนั้นคือ กะลามุลลอฮฺ ( كلام الله ) กล่าวคือ คัมภีร์อัลกุรฺอ่าน คือคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ ฉะนั้นอัลกุรฺอานจึงไม่ใช่สิ่งถูกสร้างจากอัลลอฮฺ เพราะหากเข้าใจเช่นนั้นเป็นการเข้าใจที่ผิดไปจากอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง , เมื่อเคาะลิฟะฮฺทราบเรื่องก็สั่งให้จับกุมท่านอิมามอะหฺมัด แต่ระหว่างการคุมตัวอยู่นั้น เคาะลีฟะฮฺมะมูนก็สิ้นชีวิตเสียก่อน, แต่ลูกชายของเขาคือมะอฺตะซิมเป็นผู้ตัดสินอิมามอะหฺมัดแทนพ่อของเขา โดยพ่อของเขาได้สั่งเสียไว้เช่นนั้น , ครั้นเคาะลีฟะฮฺมะอฺตะซิมสอบถามท่านอิมามอะหฺมัดถึงอัลกุรฺอานว่าเป็นอะไร? ท่านอิมามก็ยืนยันเช่นเดิมว่า อัลกุรฺอานคือ คำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ, เมื่อเคาะลีฟะฮฺรู้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนใจอิมามอะหฺมัดได้เลย, เขาจึงสั่งเฆี่ยนท่านอิมามอะหฺมัดจนสลบหมดสติ กระทำเช่นนั้นอยู่หลายครั้ง แล้วยังคุมขังอิมามอะหฺมัดเป็นเวลานานถึง 2 ปี 6 เดือน แล้วพวกเขาจึงปล่อยอิมามอะหฺมัดเป็นอิสระ" หวังว่าตัวอย่างของท่านอิมามอะหฺมัด บุตรของฮัมบัลจะทำให้มุสลิมในเมืองไทยแยกแยะออกนะครับว่า ระหว่างคำสั่งของผู้นำ กับความถูกต้องของหลักการศาสนาเราจะเลือกสิ่งไหน?
ส่วนที่อ้างว่าผู้นำยึดถือมัซฮับใด หรือตัดสินปัญหาใด มุสลิมในประเทศนั้นต้องปฏิบัติเพราะความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ถ้าเช่นนั้นช่วยยกตัวบทหลักฐานจากอัลกุรฺอาน หรือหะดีษให้ผมฟังหน่อยซิครับว่า วาญิบต้องตามมัซฮับเหมือนผู้นำประเทศ หากมีหลักฐานผมคนหนึ่งจะปฏิบัติเช่นนั้น หากไม่มีแล้วมากล่าวลอยๆ ให้ชาวบ้านหลงเชื่อได้อย่างไร?, อีกทั้งเจ้าของมัซฮับเองยังบอกเลยว่า อย่ามาตามฉัน หากฉันพูดขัดกับสุนนะฮฺของท่านนบีก็ให้ยึดสุนนะฮฺของท่านนบีไว้และละทิ้งคำพูดของฉันเสีย. ใช่แต่เท่านั้น พระองค์อัลลอฮฺตรัสไว้ในอัลกุรฺอานว่า "ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรสูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย, แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งหนึ่ง ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและรสูล" (สูเราะฮฺอันนิสาอฺ : 59) โปรดพิจารณาคำสั่งของอัลลอฮฺนะครับ พระองค์ตรัสว่า หากพวกเราขัดแย้งกันในเรื่องหนึ่ง ให้นำเรื่องนั้นไปกลับไปหาอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ ทั้งๆ ที่สำนวนอัลกุรฺอ่านก่อนหน้านี้กล่าวถึงให้เชื่อฟังอัลลอฮฺ, เชื่อฟังรสูล และให้ปฏิบัติตามผู้นำ แต่พอมีปัญหาพระองค์อัลลอฮฺทรงให้บ่าวของพระองค์กลับไปหาอัลลอฮฺ และรสูลเท่านั้นไม่พูดถึงผู้นำแม้แต่น้อย เพราะผู้นำเป็นมนุษย์อาจจะฟัตวา (ตัดสินปัญหา) โดยตัดสินเข้าข้างตนเอง หรือพรรคพวกของตนเองก็ได้, ฉะนั้นการอ้างอิงผิดที่จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดอย่างไม่ต้องสงสัยนะครับ
2. พระองค์อัลลอฮฺตรัสไว้ในอัลกุรฺอานว่า "ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรสูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย, แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งหนึ่ง ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและรสูล" (สูเราะฮฺอันนิสาอฺ : 59) ดังนั้น ผู้นำจะต้องเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรสูลซึ่งเป็นเงื่อนไขของผู้นำมุสลิม, ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า " لا طاعة لمخلوق في معصية الخالق" ความว่า "ไม่มีการเชื่อฟังในเรื่องการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ" (บันทึกโดยอะหฺมัด) ฉะนั้นผู้ตามไม่อนุญาตให้ตามผู้นำที่สั่งใช้ในเรื่องที่ขัดกับหลักการของศาสนาอย่างแน่นอน นี่คือประเด็นหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของการตาม, ส่วนกรณีที่ท่านจุฬาราชมนตรีประกาศว่าวันอีดิลอัฎฮา (ปี 2549) ตรงกับวันอาทิตย์นั้น ผมขอชี้แจงดั่งนี้ว่า ไม่มีจุฬาราชมนตรีท่านใดครับ แม้กระทั่งจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบันที่ระบุว่า พี่น้องมุสลิมทุกคนในประเทศไทยต้องเข้าบวชหรือออกบวชตรงกับสำนักจุฬาราชมนตรี หรือต้องนมาซอีดิลอัฎฮาตรงกับสำนักจุฬาฯ ไม่ได้มีข้อบังคับเช่นนั้น เพราะอะไร? เพราะท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวไว้ว่า " يوم عرفة ويوم النحر وأيام التشريق عيدنا أهل الإسلام وهي أيام أكل وشرب " ความว่า "วันอะเราะฟะฮฺและวันนะหฺริและวันตัชรีก คือวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม คือวันแห่งการกินและการดื่ม" (บันทึกโดยใครนั้นอ้างแล้วก่อนหน้านี้) เมื่อวันอีดิลอัฎฮาเป็นวันอีดสำหรับมุสลิมทุกคนซึ่ง เป็นคำสอนของท่านนบีมุหัมมัดที่ชัดเจนที่สุดอีกทั้งยังมีหลักฐานสนับสนุนอีกจำนวนมากซึ่งอ้างมาแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อหลักฐานยืนยันชัดเจนเยี่ยงนั้น ไม่มีความจำเป็นอีกแล้วสำหรับมุสลิมที่จะไปเลือกแนวทางอื่นมาปฏิบัติ ด้วยเหตุผลข้างต้น เราก็ปฏิบัติตามตัวบทของหะดีษข้างต้นที่ว่าไว้ด้วยการรับฟังการประกาศวันอะเราะฟะฮฺ และวันอีดิลอัฎฮาดั่งที่ศาสนาระบุไว้นั้น แม้ว่าการประกาศนั้นจะไม่ตรงกับสำนักจุฬาก็ตามเถิด ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่เราจะปฏิบัติตามศาสนาที่เรายึดว่านั่นคือความเข้าใจที่ใกล้เคียงถูกต้องตรงกับสุนนะฮฺมากที่สุด แล้วมากล่าวหาเราว่าไม่เชื่อฟังผู้นำ ซึ่งคนละประเด็นกัน ต้องย้ำว่า คนละเรื่องกันเลยครับ ส่วนการไปเปรียบเทียบกับอิมามนำนมาซก็เป็นอีกประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เพราะสิ่งที่เรากล่าวถึงคือเราต้องการปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องตรงกับสุนนะฮฺของท่านรสูลให้มากที่สุดเท่านั้นเอง ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมจะยอมเชื่อฟังผู้นำเพียงเพราะความสามัคคีแต่เรื่องความถูกต้องตรงกับสุนนะฮฺของท่านนบีฉันไม่ต้องพิจารณา หรือฉันให้ความสำคัญความถูกต้องนั้นเป็นอันดับรอง. والله أعلم بالصواب والسلام