หลักสูตรการศึกษาอิสลามของชาวกุรดีย์
ผู้ที่ไม่ใช่คนอาหรับโดยทั่วไปและชาวกุรดีย์(ตุรกี)โดยเฉพาะนั้น พวกเขาให้ความสำคัญกับวิชาการอิสลาม ซึ่งวิชาที่พวกเขาเน้นให้ความสำคัญคือวิชาที่พวกเขาเรียกว่า วิชาอาลัต (วิชาหลักภาษาอาหรับที่เป็นเครื่องมือประหนึ่งกุญแจไขไปสู่ความเข้าใจวิชาการแขนงต่าง ๆ) หมายถึง วิชา ซ่อร๊อฟ (นิรุกติศาสตร์) , วิชานะฮู (ไวยากรณ์อาหรับ) , วิชาบะลาเฆาะฮ์ (วาทศาสตร์) , วิชามันติก (ตรรกศาสตร์) , วิชามะกูลาตทั้งสิบ (วิชาว่าด้วยเรื่องการอ้างเหตุผล) ดังนั้น ผู้ใดที่ตั้งใจศึกษาความรู้ในโรงเรียนต่าง ๆ ของชาวกุรดีย์ เขาจะต้องเริ่มศึกษาวิชาการกระจายคำกริยา ซึ่งเป็นส่วนพื้นฐานแรกที่สำคัญของวิชาซ่อร๊อฟ หลังจากนั้นเขาจะได้ศึกษาวิชานะฮูตามหลักสูตรที่ได้วางไว้ และหนังสือวิชานะฮูเล่มสุดท้ายที่นักศึกษาต้องอ่านตามหลักสูตรที่วางไว้คือ หนังสืออัลญามีย์ซึ่งอธิบายหนังสืออัลกาฟียะฮ์ ของท่าน อิบนุอัลหาญิบ เสียชีวิตปี ฮ.ศ. 646
ส่วนวิชาแขนงต่าง ๆ ของชะรีอะฮ์อิสลามนั้น พวกเขาให้ความสนใจเกี่ยวกับหลักวิชาอะกีดะฮ์ วิชาสุดท้ายที่พวกเขาทำการเรียนคือ หนังสือ อัลอะกออิด อันนะซะฟียะฮ์ จากนั้นเรียนวิชาตัฟซีร ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนตัฟซีรของท่านอัลกอฏี อัลบัยฏอวีย์ ถัดจากนั้น เรียนวิชาฟิกฮ์ ซึ่งหนังสือฟิกฮ์ที่พวกเขายึดถือคือ หนังสือของท่านอิมามผู้แน่นแฟ้นในวิชาความรู้ ท่าน อิบนุ หะญัร อัลฮัยตะมีย์ คือหนังสือ ตั๊วะฟะตุลมั๊วะตาจญ์ อธิบายหนังสือ อัลมินฮาจญ์ ของท่านอิมาม อันนะวาวีย์ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของบรรดานักศึกษาที่เรียนวิชาฟิกฮ์ และสำหรับวิชาอุซูลุลฟิกฮ์(หลักมูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม)นั้น จะเรียนหนังสือ ชัรห์(อธิบาย)ของท่านญะลาลุดดีนอัลมุฮัลลีย์ ที่มีต่อหนังสือ ญัมอุลญะวาเมี๊ยะอ์ ของท่านอิบนุ อัซซุบกีย์ จากนั้นก็เรียนวิชาหะดิษและหลักพิจารณาหะดิษ วิชาชีวประวัติของท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วิชาอัลกุรอาน วิชาฟิกฮ์เปรียบเทียบ วิชาตะเซาวุฟ วิชาวรรณคดี เป็นต้น
บิดามักกล่าวให้ฉันฟังเสมอว่า ในช่วงที่ท่านกำลังศึกษากับบรรดาอาจารย์ทั้งหลายนั้น นักศึกษาส่วนมากให้ความสำคัญกับวิชาฟิกฮ์ พวกเขาจะมีความภาคภูมิเหนือเพื่อนคนอื่น ๆ ที่สามารถตีประเด็นปัญหาของฟิกฮ์ได้แตกฉานและสามารถไขปริศนาประเด็นที่ยาก ๆ ได้!.. แต่ทว่าฉันให้ความสนใจกับการท่องจำมะตัน(ตำราที่เป็นตัวบทย่อ ๆ มีถ้อยคำสั้น ๆ แต่ความหมายกว้างขวาง) และท่องจำตำราที่ใช้เรียน และอื่น ๆ ... ฉันมุ่งเน้นในการอ่านอัลกุรอานและอ่านมันอย่างช้า ๆ ไพเราะ ฉันตั้งความหวังว่าจะท่องจำให้ขึ้นใจ ฉันก็จึงเริ่มท่องจำตั้งแต่เยาว์วัย ฉันให้ความสำคัญกับวิชาฟิกฮ์ที่เกี่ยวกับหมวดหลักอิบาดะฮ์เพื่อนำมาควบคุมหลักปฏิบัติของฉัน และฉันชอบหนังสือตะเซาวุฟเป็นอย่างมาก หนังสือเอี๊ยะหฺยาอุลุมุดดีน ของท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์ เป็นหนังสือระดับต้น ๆ ที่ฉันเฝ้าเพียรอ่านและศึกษา ฉันหลงใหลศึกษาชีวประวัติของท่านนบีเป็นอย่างมากเช่นกัน และฉันเพียรพยายามหมั่นทำอิบาดะฮ์สุนัตอย่างสม่ำเสมอ ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะกำหนดสักช่วงเวลาหนึ่งสำหรับการละหมาดสุนัตในความค่ำคืน(กิยามุลลัยล์) เมื่อความหวังของฉันได้บรรลุผลแล้ว ฉันจึงรู้สึกปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่มีสิ่งใดมาเทียบเทียมได้เลย!..
บิดากล่าวอีกว่า นักศึกษาส่วนมากให้การดูถูกการกระทำของฉันนี้ พวกเขาคิดว่าฉันคร่ำเคร่งจนเกินไป จนบางครั้งพวกเขาคิดว่าฉันเลียนแบบบรรดาอาจารย์ผู้อาวุโส และบางครั้งพวกเขาคิดว่าการที่ฉันมุ่งปฏิบัติเช่นนี้ เป็นผลมาจากการไร้ความสามารถที่จะเทียบเคียงพวกเขาในการตรวจสอบประเด็นเชิงวิชาการต่าง ๆ ของฟิกฮ์และไขปัญหาประเด็นที่ยาก ๆ
บิดากล่าวว่า ที่จริงแล้วฉันใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับการอ่านอัลกุรอาน ท่องบทซิกิร บทวิริด ทำอิบาดะฮ์ที่เป็นสุนัต ทำการละหมาดสุนัตในยามค่ำคืน ในขณะที่บรรดานักศึกษาคนอื่น ๆ มุ่งเน้นท่องจำมะตันและบทเรียนอื่นซ้ำไปซ้ำมา...และตามนัยดังกล่าวนั้น ทำให้ฉันด้อยกว่าพวกเขาในแง่ของวิชาการ ท่องจำฮุกุ่มและมัสอะละฮ์(ประเด็น)ต่าง ๆ ของฟิกฮ์...บิดากล่าวว่า ฉันเชื่อมั่นว่าฉันจะทำอย่างนั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งอย่างจริงจัง แล้วฉันก็เฝ้าคอยวันที่บรรดาอาจารย์จะทดสอบบรรดานักศึกษาทั้งหลาย..ในวันหนึ่ง มีชัยค์(อาจารย์)คนหนึ่งได้มาหาพวกเรา เพื่อทำการถามและทดสอบทีละคน ๆ เมื่อถึงฉัน อาจารย์จึงตั้งคำถามต่าง ๆ ที่ยาก ๆ ตามที่อาจารย์ต้องการ แต่แล้วอัลเลาะฮ์ก็ทรงดลใจให้ฉันตอบได้อย่างถูกต้อง อาจารย์จึงมองมายังฉันแล้วกล่าวว่า "ที่จริงแล้วท่านไม่ใช่เป็นคนมีความรู้มากนัก แต่อัลเลาะฮ์ทรงกล่าวแก่ท่านว่า ท่านจงเป็นคนที่มีความรู้ แล้วท่านก็รู้!.. บิดาของฉันเล่าเรื่องราวในการศึกษาความรู้เช่นนี้ให้ฟังเสมอ เพื่อให้ฉันตระหนักต่อคำตรัสของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ที่ว่า
وَاتَّقُواْ اللّهَ وَيُعَلِّمُكُمُ اللّهُ
"และพวกเจ้าจงยำเกรงต่ออัลเลาะฮ์เถิด และอัลเลาะฮ์ก็จักทรงสอนพวกเจ้า" อัลบะกอเราะฮ์ 282