بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِ
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
ตอบข้อที่ 1. อาจจะมีบางคนชอบตั้งคำถามว่า มีคำดุอากุนูตในละหมาดซุบฮิสักตัวบทหนึ่งไหมที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวเอาไว้ ซึ่งคำถามเช่นนี้ผู้คัดค้านเรื่องกุนูตซุบฮิมักนิยมนำมาถามกัน โดยที่เขายังไม่เข้าใจคำนิยามของกุนูตตามหลักนิติศาสตร์อิสลามว่ามันคืออะไร? ดังนั้นเราต้องรู้จักคำนิยามของคำว่า "กุนูต" ตามหลักนิติศาสตร์เสียก่อน กล่าวคือ กุนูต ตามหลักคำนิยามของนิติศาสตร์อิสลามนั้นคือ "เป็นชื่อหนึ่งของดุอาในละหมาดซึ่งอ่านในสถานที่เฉพาะเจาะจงในขณะที่ยืน" หนังสือ อัลฟุตูฮาต อัรร็อบบานียะฮ์ ของท่านอิบนุอะลาล 2/286
ท่านอิ มามอันนะวาวีย์ ได้กล่าวไว้ว่า "ทัศนะที่ถูกยึดถือของมัซฮับนั้นคือ ดุอา(กุนูต)นั้นมิได้ถูกเจาะจงด้วยถ้อยคำเหล่านี้ และหากเขาได้ทำการอ่านดุอากุนูตด้วยสิ่งที่ถูกรายงานจากท่านอุมัร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี และชอบให้กระทำ(มุสตะฮับ)การรวมระหว่างกุนูตของท่านอุมัรและสิ่งที่ผ่านมาแล้ว(จากกุนูตวิติร) ดังนั้นหากถูกรวมระหว่างดุอาทั้งสอง ทัศนะที่ชัดเจนยิ่งคือให้เอากุนูตของท่านอุมัรไว้หลัง" หนังสือมัจญ์มั๊วะอฺ อิมามอันนะวาวีย์ 3/476
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัลอุบ๊าบว่า "ถือว่าเป็นซุนนะฮ์กุนูตแล้วด้วยทุก ๆ ถ้อยคำการขอดุอา และท่านอิบนุฮะญัรได้กล่าวไว้ในหนังสือชัรหุลอุบ๊าบอีกว่า หากแม้นว่าดุอากุนูตนั้นจะเป็น(ถ้อยคำ)ดุอาที่ไม่ได้ถูกรายงานมาก็ตาม" ดู หนังสืออิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน : 1/261
ดังนั้น การอ่านกุนูตในละหมาดซุบฮิ ก็คือการอ่านดุอาขณะที่ยืนหลังจากเงยขึ้นมาจากรุกั๊วะนั่นเอง ซึ่งหมายถึง อ่านดุอาอะไรก็ได้ ที่เรียกว่าเป็นการขอดุอา แต่ที่ดีแล้วนั้นสมควรเป็นดุอาที่มาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นอันดับแรก หลังจากนั้นดุอาที่รายงานจากซอฮาบะฮ์ หากแม้ว่าบางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นดุอากุนูตวิติรไม่ใช่กุนูตซุบฮิ เราขอกล่าวว่า เมื่อมันเป็นถ้อยคำดุอา ไม่ว่าจะเป็นดุอากุนูตวิติรหรือไม่ใช่ดุอาในวิติรก็เอามาดุอาอ่านในกุนูตซุบฮิได้ เหมือนกับดุอากุนูตในละหมาดวิติรที่อิมามมักกะฮ์ได้อ่านในละหมาดวิติรช่วง 10 คืนสุดท้ายของรอมะฏอน ซึ่งอ่านดุอากุนูตกันเป็นครึ่งชั่วโมง หากจะถามว่าดุอากุนูตวิติรดังกล่าวที่อ่านกันเป็นครึ่งชั่วโมงนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อ่านถ้อยคำดุอาแบบนั้นทั้งหมดเป็นครึ่งโมงตามที่อิมามมักกะฮ์ได้อ่านหรือไม่? ก็ขอตอบว่า ไม่มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่หากถามว่า ทำไมอิมามที่มักกะฮ์จึงสรรหาดุอาต่าง ๆ มาอ่านในกุนูตวิติรอย่างมากมายที่ทั้งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่เคยอ่านในรูปแบบเจาะจงเช่นนั้น ก็ขอตอบว่า อิมามมักกะฮ์เขารู้ดีว่า "กุนูต" ก็คือการขอดุอา ดังนั้นอะไรที่เป็นดุอาก็นำมาขอในกุนูตได้นั่นเอง
ท่านอัษเษาบานได้รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
وَلَا يَؤُمَّ قَوْمًا فَيَخُصَّ نَفْسَهُ بِدَعْوَةٍ دُونَهُمْ فَإِنْ فَعَلَ فَقَدْ خَانَهُمْ وَلَا يَقُومُ إِلَى الصَّلَاةِ وَهُوَ حَقِنٌ
"บุคคลหนึ่งจะไม่เป็นอิมามนำชนกลุ่มหนึ่ง แล้วเขาได้เฉพาะเจาะจงด้วยการขอดุอาให้กับตนเองโดยที่พวกเขา(บรรดามะมูม)ไม่(มีส่วนร่วมในดุอาของผู้เป็นอิมาม) ดังนั้นหากเขาได้กระทำ แท้จริงเขาไม่ยุติธรรมต่อพวกเขา(ต่อบรรดามะมูม)เสียแล้ว และเขาจะต้องไม่ทำการละหมาดในสภาพที่กลั้นปัสสาวะเอาไว้" รายงานโดยอัตติรมีซีย์ (325) และท่านอัตติรมีซีย์กล่าวว่า ฮะดิษนี้ฮะซัน
เจ้าของหนังสือตั๊วะห์ฟะตุลอะห์วะซีย์อธิบายหนังสือสุนัตอัตติรมีซีย์ได้กล่าวอธิบายว่า
وَحَدِيثُ ثَوْبَانَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ هَذَا يَدُلُّ عَلَى كَرَاهَةِ أَنْ يَخُصَّ الْإِمَامُ نَفْسَهُ بِالدُّعَاءِ وَلَا يُشَارِكُ الْمَأْمُومِينَ فِيهِ , وَلِذَلِكَ قَالَ الْعُلَمَاءُ الشَّافِعِيَّةُ وَالْحَنْبَلِيَّةُ يُسْتَحَبُّ لِلْإِمَامِ أَنْ يَقُولَ فِي دُعَاءِ الْقُنُوتِ الْمَرْوِيِّ عَنْ الْحَسَنِ بْنِ عَلِيٍّ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ : اللَّهُمَّ اِهْدِنَا فِيمَنْ هَدَيْت بِجَمْعِ الضَّمِيرِ مَعَ أَنَّ الرِّوَايَةَ اللَّهُمَّ اِهْدِنِي فِيمَنْ هَدَيْت بِإِفْرَادِ الضَّمِيرِ . قَالَ الشَّيْخُ مَنْصُورُ بْنُ إِدْرِيسَ الْحَنْبَلِيُّ فِي كَشَّافِ الْقِنَاعِ فِي شَرْحِ الْإِقْنَاعِ : وَالرِّوَايَةُ إِفْرَادُ الضَّمِيرِ وَجَمَعَ الْمُؤَلِّفُ لِأَنَّ الْإِمَامَ يُسْتَحَبُّ لَهُ أَنْ يُشَارِكَ الْمَأْمُومَ فِي الدُّعَاءِ اِنْتَهَى
"ฮะดิษของท่านเษาบาน ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุนี้ บ่งชี้ว่า มักโระฮ์การที่อิมามได้ขอดุอาเฉพาะเจาะจงให้แก่ตัวเองโดยไม่ให้บรรดามะมูมมีส่วนร่วมในดุอานั้น และด้วยเหตุดังกล่าวนี้ บรรดาปราชญ์มัซฮับอัชชาฟิอีย์และปราชญ์มัซฮับฮัมบาลีย์กล่าวว่า มุสตะฮับให้อิมามกล่าวในดุอากุนูตที่ถูกรายงานจากท่านอัลฮะซัน บิน อะลี ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า "อัลลอฮุ้มมะฮ์ดินี ฟีมันฮะดัยต์" ด้วยสรรพนามที่เป็นพหูพจน์ (คืออัลลอฮุ้มมะฮ์ดินา) แม้นว่าการรายงานฮะดิษจะระบุอ่านว่า "อัลลอฮุ้มมะฮ์ดินีฟีมันฮะดัยต์" ด้วยสรรพนามที่เป็นเอกพจน์ก็ตาม. ท่านชัยค์มันซูร บิน อิดรีส ปราชญ์มัซฮับฮัมบาลีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือกัชชาฟุลกินาอฺฟีชัรห์อิกนาอฺว่า "ที่มาจากการรายงานนั้น คือสรรพนามเป็นเอกพจน์แต่ผู้ประพันธ์หนังสือ(อิกนาอฺ)ได้ทำให้เป็นพหูพจน์ เพราะอิมามนั้นถือว่ามุสตะฮับสำหรับเขาให้บรรดามะมูมมีส่วนร่วมในการขอดุอา(ด้วยการกล่าวอามีน)" หนังสือตั๊วะห์ฟะตุลอะห์วาซีย์ อธิบายฮะดิษที่ (325)
ท่านอัซซัยยิด อัลบักรีย์ ได้กล่าวว่า "ถือว่ามักโระฮ์(ไม่บังควร)การที่อิมามได้ทำการเจาะจงขอดุอากุนูตให้กับตัวเอง เพราะมีฮะดิษห้าม(รายงานโดยอัตติรมีซีย์)จากการที่อิมามขอดุอาโดยเฉพาะเจาะจงกับตัวเอง ดังนั้น ให้อิมามกล่าวว่า อัลลอฮุ้มมะฮ์ดินา" ดู หนังสืออิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน : 1/263
อนึ่ง ดุอากุนูตที่เราอ่านกันในละหมาดซุบฮินั้น ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นดุอาและส่วนที่เป็นการสรรเสริญอัลเลาะฮ์ตะอาลา
ส่วนที่เป็นดุอาคือ :
اَللَّهُمّ إِهْدِنِيْ فِيْمَنْ هَدَيْتَ وَعَافِنِيْ فِيْمَنْ عَافَيْتَ وَتَوَلَّنِيْ فِيْمَنْ تَوَلَّيْتَ وَبَارِكْ لِيْ فِيْمَا أَعْطَيْتَ وَقِنِيْ شَرَّ مَا قَضَيْتَ
"ข้าแด่อัลเลาะฮ์ได้โปรดชี้นำฉันให้อยู่ในกลุ่มของบรรดาบุคคลที่ท่านได้ชี้ นำ และได้โปรดให้ฉันได้รับความสุข อยู่ในกลุ่มของผู้ที่ท่านได้ให้ความสุข ได้โปรดให้ความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าพร้อมกับผู้ที่พระองค์ได้ให้ความช่วย เหลือ ได้โปรดให้ความเพิ่มพูนแก่ข้าพเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานให้ ได้โปรดคุ้มครองข้าพเจ้าให้พ้นจากความชั่วร้ายของสิ่งที่พระองค์ได้กำหนดไว้"
ส่วนที่เป็นการสรรเสริญอัลเลาะฮ์ตะอาลาและศ่อลาวาตต่อท่านนบีคือ :
إِنَّكَ تَقْضِيْ وَلَا يُقْضَي عَلَيْكَ وَإِنَّهُ لِا يَذِلُّ مَنْ وَالَيْتَ وَلاَ يَعِزُّ مَنْ عَادَيْتَ تَبَارَكَ رَبَّنَا وَتَعَالَيْتَ فَلَكَ الْحَمْدُ عَلَي مَا قَضَيْتَ أَسْتَغْفِرُكَ وَأَتُوْبُ إِلَيْكَ وَصَلَّي اللهُ عَليَ مُحَمَّدٍ وَعَليَ أَلِه ِوَصَحْبِهِ وَسَلَّمَ
"เพราะความจริงพระองค์เป็นผู้กำหนด ไม่มีใครกำหนดให้พระองค์ได้ และความจริงบุคคลที่พระองค์ช่วยเหลือจะไม่ตกต่ำ และบุคคลที่ท่านโกรธกริ้วจะไม่มีเกียรติ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของเรา คุณความดีของพระองค์เพิ่มพูน และเกียรติของพระองค์สูงส่ง มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของพระองค์ ในสิ่งที่พระองค์ได้กำหนดให้เป็นไป เราขออภัยโทษต่อพระองค์ ข้าแด่อัลเลาะฮ์ องค์อภิบาลของเรา และเราขอกลับตัวคืนสู่พระองค์ท่าน ขออัลเลาะฮ์ได้ทรงประทานความเมตตา และความสันติแก่ผู้นำของเรา คือ มุฮัมมัด แก่วงศ์วาน และบรรดาสาวกของท่านด้วยเถิด"
ดังนั้น ส่วนที่เป็นดุอา ก็ให้อิมามทำการอ่านดุอาแบบพหูพจน์โดยให้บรรดามะมูมทำการกล่าวอะมีนดังที่ฮะดิษของท่านอัตติรมีซีย์ได้ระบุไว้ สำหรับถ้อยคำสรรเสริญอัลเลาะฮ์ตะอาลานั้น สุนัตให้มะมูมทำการอ่านเอง ส่วนคำศ่อลาวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้น ก็ให้มะมูมเลือกเอาระหว่างการกล่าวอามีนหรือกล่าวศ่อลาวาตด้วยตนเอง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสืออิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน : 1/263-264)
คำตอบที่ 2. การละหมาดตามผู้ที่มีทัศนะไม่อ่านกุนูตจะสุยูดซะฮ์วีหรือไม่อย่างไรนั้น ผมอยากสร้างความเข้าใจดังนี้ครับ กล่าวคือ :
(1) การอ่านดุอากุนูตนั้นเป็นเพียงสุนัตไม่ใช่ฟัรดู และการสุยูดซะฮ์วีนั้น ก็เป็นเพียงสุนัตไม่ใช่ฟัรดูเช่นกัน ท่านอิมามอัลบาญูรีย์ได้กล่าวว่า "การสุยูดซะฮ์วีนั้น เป็นเพียงสุนัตไม่ใช่วายิบ ดังนั้นการละหมาดจึงไม่เสียด้วยการทิ้งสุยูดซะฮ์วี" หนังสือฮาชียะฮ์อัลบาญูรีย์ : 1/192
(2) ดังที่ทราบมาแล้วข้างต้นว่า นักปราชญ์มัซฮับอิมามอัชชาฟิอีย์ได้ชี้แจงคำนิยามของกุนูตว่า มันคือการขอดุอาไม่ว่าจะด้วยถ้อยคำใดก็ตาม ดังนั้นหากเราได้ละหมาดตามอิมามที่ไม่อ่านกุนูตแล้วเราต้องการที่จะอ่านกุนูต ก็ให้อ่านดุอากุนูตแบบสั้น ๆ ก็ได้
ท่านอิมามอัลบาญูรีย์ กล่าวว่า
كل ما تضمن دعاء وثناء ولو اَللّهُمَّ اغْفِرْلِيْ يَا غَفُوْرُ وَصَلَّي اللهُ عَليَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ وَسَلَّمَ يكفي في القنوت
"ทุกถ้อยคำที่ประมวลไว้ซึ่งดุอาและการสรรเสริญ หากแม้นจะกล่าวว่า "อัลลอฮุ้มมัฆฟิรลี ยาฆ่อฟูร วะซ็อลลัลลอฮุอะลา ซัยยิดินามุฮัมัด วะอะลาอาลิฮี วะเซาะห์บิฮี วะซัลลัม" ก็ถือว่าเพียงพอในการอ่านกุนูตแล้ว" หนังสือฮาชียะฮ์อัลบาญูรีย์ : 1/170
ความหมายของดุอา "อัลลอฮุ้มมัฆฟิรลี ยาฆ่อฟูร วะซ็อลลัลลอฮุอะลา ซัยยิดินามุฮัมัด วะอะลาอาลิฮี วะเซาะห์บิฮี วะซัลลัม" คือ "โอ้ข้าแต่อัลเลาะฮ์เจ้า พระองค์ทรงโปรดอภัยโทษแก่ข้าฯด้วยเถิด โอ้ ผู้ทรงอภัยโทษยิ่ง และพระองค์ทรงประทานความเมตตาและความสันติจงมีแด่หัวหน้าแห่งเราคือมุฮัมมัด จงมีแด่วงศ์วานและบรรดาอัครสาวกของเขาด้วยเถิด"
ดังนั้นถ้อยคำที่ว่า "ทรงโปรดอภัยโทษแก่ข้าฯด้วยเถิด" ถือเป็นคำดุอา ส่วนถ้อยคำที่ว่า "โอ้ ผู้ทรงอภัยโทษยิ่ง" เป็นถ้อยคำสรรเสริญต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา ส่วนถ้อยคำที่ว่า "และพระองค์ทรงประทานความเมตตาและความสันติจงมีแด่หัวหน้าแห่งเราคือมุฮัมมัด อีกทั้งโปรดทรงประทานแด่วงศ์วานและบรรดาอัครสาวกของเขาด้วยเถิด" ก็เป็นคำศ่อลาวาตนบีนั่นเองครับ ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบในการขอดุอากุนุตแบบสั้น ๆ ครับ
และทั้งหมดที่ผมได้อ้างอิงมานี้ ผมจึงรู้ถึงความละเอียดละออในการวินิจฉัยของนักปราชญ์ฟิกห์ที่มีต่อตัวบทของฮะดิษ และรู้สึกอ่อนแอและละอายแก่ตนเองที่จะไปกล่าวว่า "ฉันไม่เอาอุลามาอฺผู้เป็นทายาทของบรรดานบี"
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ