بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
การคุมกำเนิดนั้น อนุญาตให้กระทำแต่ไม่บังควรตามหลักการต่อไปนี้
ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวว่า "การหลั่งนอกนั้น มักโระฮ์(แต่อนุญาตให้กระทำได้)ตามทัศนะของเรา(มัซฮับอัชชาฟิอีย์) ในทุก ๆ สภาพการณ์และในสตรีทุกคน(ไม่ว่าจะเป็นภรรยาอิสระชนหรือเป็นทาสี) ไม่ว่านางจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เพราะมันเป็นการตัดขาดการสืบพันธ์ สำหรับภรรยาที่เป็นอิสระชนนั้นหากมีการหลั่งนอกด้วยการขออนุญาตจากนาง ก็ถือว่าไม่เป็นไร แต่หากยังไม่ได้รับอนุญาตจากนาง อุลามาอ์มัซฮับชาฟิอีย์นั้นมีการขัดแย้งกัน
ทัศนะที่ 1. หากไม่ได้รับการอนุญาตจากภรรยา ถือว่าไม่ฮะรอม แต่มักโระฮ์ ซึ่งเป็นทัศนะที่ชัดเจนยิ่งกว่า
ทัศนะที่ 2. จำเป็นต้องมีเงื่อนไขจากการได้รับอนุญาตจากภรรยาเสียก่อน เนื่องจากนางจะเกิดความทุกข์(ไม่มีความสุข)เมื่อมีการหลั่งนอก (อ้างอิงสรุปจากหนังสือ ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม ของท่านอิมามอันนะวาวีย์ 5/267)
จากหลักการดังกล่าว เราสามารถนำเสนอหลักการออกมาได้ดังนี้ กล่าวคือ การกระทำอันใดที่ทำให้ตัดขาดการสืบพันธ์หรือกำเหนิดบุตร ถือว่าเป็นสิ่งมักโระฮ์ ไม่ว่าจะเป็นการกินยาคุมกำเหนิด การร่วมหลับนอนโดยใช้ถุงยางก็ตาม ดังนั้น วิธีการและฮุกุ่มที่จะทำไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์นั้น มีรายละเอียดดังนี้
วิธีที่หนึ่ง : การกินยาคุมกำเหนิด การกินยาคุมกำเหนิดอนุญาตให้กระทำได้แต่มักโระฮ์
การคุมกำเหนิดนั้น ต้องด้วย 2 เงื่อนไข
1. การคุมกำเหนิดต้องด้วยการยินยอมทั้งสองสามีภรรยา
2. การทานยาคุมต้องไม่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโทษข้างเคียงต่อภรรยา
วิธีที่สอง : การใช้ถุงยาง ซึ่งการใช้ถุงยางเป็นมักโระฮ์แต่อนุญาตให้กระทำได้ และสมควรขอความยินยอมจากภรรยาเสียก่อน
วิธีที่สาม : การหลั่งนอก เป็นสิ่งที่มักโระฮ์ แต่อนุญาตให้กระทำได้เช่นกัน และสมควรขอความยินยอมจากภรรยาเสียก่อน
ท่านมุสลิมรายงานรายงานจากญาบิร เขากล่าวว่า
كُنَّا نَعْزِلُ عَلَى عَهْدِ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَبَلَغَ ذَلِكَ نَبِيَّ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَلَمْ يَنْهَنَا
"เราได้ทำการหลั่งนอกในสมัยของท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังกล่าวได้ทราบไปถึงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วท่านก็มิได้ห้ามเรา" (2610)
ท่านมุสลิมได้รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา ความว่า
سَأَلُوهُ عَنْ الْعَزْلِ فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ذَلِكَ الْوَأْدُ الْخَفِيُّ
"บรรดาซอฮาบะฮ์ได้ถามท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เรื่องการหลั่งนอก ท่านได้ตอบว่า ดังกล่าวนั้น เป็นการฝังลูกโดยแฝง(ทางอ้อม)" (2613)
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ กล่าวว่า "ฮะดิษที่ห้ามการหลั่งนอกนั้น ห้ามแบบมักโระฮ์" ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม 5/267
วิธีที่สี่ : ก่อนเจ็ดหลังเจ็ดซึ่งปกติจะทำให้ปลอดจากการตั้งครรภ์ กล่าวคือ วิธีนับก่อนเจ็ดนั้นให้นับล่วงหน้า 7 วันก่อนวันที่คาดว่าประจำเดือนจะมา และหลังเจ็ดนั้นให้นับตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาเป็นวันที่หนึ่งและนับต่อไปอีก 6 วัน จะรวมเป็น 7 วันพอดี (ไม่ใช่เริ่มนับหลังจากประจำเดือนหมด) ดังนั้นหากร่วมหลับนอนหลังหมดประจำเดือนแล้วก็จะทำให้มีโอกาสไม่ทำให้ภรรยาตั้งภรรค์สูงมาก
การที่จะใช้วิธีก่อนเจ็ดหลังเจ็ดนั้น ผู้เป็นภรรยาจะต้องมีประจำเดือนในช่วงระยะเวลาที่ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งผู้เป็นภรรยาสมควรจดบันทึกวันที่ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อสามารถกำหนดวันมาประจำเดือนได้ ดังนั้น หากปกติประจำเดือนมาวันที่ 15 ของทุกเดือน ก่อนเจ็ด คือ วันที่ 8 , 9 , 10 , 11 , 12 , 13 , 14 , ซึ่งช่วงวันเหล่านี้จะทำให้ไม่ตั้งครรภ์ได้ ส่วน หลังเจ็ด (คือให้นับวันแรกที่ประจำเดือนมา) คือ วันที่ 15 , 16 , 17 , 18 , 19 , 20 , 21 , เป็นทราบกันดีว่า ช่วงที่มีประจำเดือนนั้นศาสนาไม่อนุญาตให้ทำการร่วมหลับนอนกับภรรยา ดังนั้น หากภรรยามีประจำเดือน 4 วัน คือวันที่ 15 , 16 , 17 , 18 , แน่นอนว่า วันที่เหลือคือวันที่ 19 , 20 , 21 , นั้น หากร่วมหลับนอนก็จะไม่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ และหากภรรยามีประจำเดือน 5 วัน คือวันที่ 15 , 16 , 17 , 18 , 19 , แน่นอนว่าวันที่ 20 และ 21 นั้นหากร่วมหลับนอนก็จะไม่ทำให้ตั้งครรภ์ และหากภรรยามีประเดือน 6 วัน ก็จะสามารถร่วมหลับนอนหลังจากนั้นได้ 1 วันที่จะทำให้ไม่ตั้งครรภ์
แต่เราต้องตระหนักเสมอว่า การตั้งครรภ์นั้น แล้วแต่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงประสงค์ให้เกิดขึ้น แม้จะก่อนเจ็ดหรือหลังเจ็ดก็ตาม เพราะฉะนั้น หากแต่งงานแล้ว และมีความสะดวก ก็ขอให้มีบุตรเยอะ ๆ นะครับ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในวันกิยามะฮ์ และริสกีจะได้รับการเพิ่มพูน ยาร็อบ
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ