โรฮิงญา กับสิทธิมนุษยชนสากล"
By drnakamon
กลายเป็นเรือมนุษย์ที่หาได้ล่องเรือหารักอย่างละครเรื่องผู้กองเรือเร่แต่อย่างใดไม่ หากแต่พวกเขากำลังล่องเรือตามหาสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ของตนเองอย่างไร้ความหวังเสียแล้วสำหรับพี่น้องชาวโรฮิงญา จนทุกวันนี้ชนกลุ่มนี้กำลังกลายเป็น เรือมนุษย์ลำที่โลกไม่ต้องการ สำหรับเรื่องราวของชาวโรฮิงญานี้ คุณจารุวัฒน์ เกยูรวรรณ และ ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เขียนเรื่องไว้ได้ถูกใจผมจริงๆ
คุณจารุวัฒน์ และคุณปกป้อง เล่าว่า โรฮิงญาเป็นประชาชนที่นับถืออิสลามในรัฐอารากันซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐ ได้รับการเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติโดยรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง และได้รับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากโดยรัฐบาลทหารพม่า ตั้งแต่การบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ตามกฎหมายสัญชาติพม่าปี 1982 (Burma Citizenship Law) ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลทหารถ้าจะออกจากพื้นที่ และต้องจ่ายเงินถ้าจะออกจากพื้นที่ ทำให้มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำมากเนื่องจากไม่สามารถหางานทำหรือค้าขายได้ ซ้ำร้ายยังถูกละเมิดไม่ให้รับสิทธิ์ที่จะได้รับสัญชาติ ห้ามไม่ให้แต่งงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่า
และนับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีสถานการณ์ความเป็นอยู่ที่เลวร้ายที่สุดในพม่า ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องหนีภัยจากพม่าเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาเหตุปัจจัยเหล่านี้ ชาวโรฮิงญาจึงน่าจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งโดยหลักปฏิบัติของนานาชาติแล้ว ผู้ลี้ภัย หรือผู้หนีภัยความตาย จะต้องไม่ถูกส่งกลับเพื่อไปเผชิญหน้ากับภาวะความเสี่ยงต่อชีวิต และจะต้องได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากประเทศที่เข้าไปลี้ภัยด้วยหลักมนุษยธรรมในฐานะมนุษยชนคนหนึ่ง
แต่เมื่อชาวโรฮิงญามีสถานะที่แตกต่างกับประชาชนในรัฐอารากันหรือชนชาติยะไข่ทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และภาษาพูด อีกทั้งรัฐบาลทหารพม่ามีทัศนคติว่าชาวโรฮิงญาเข้ามาอยู่ในพม่าไม่นานทำให้รัฐบาลทหารไม่ยอมรับความเป็นประชาชนของพม่า แม้ปัจจุบันในรัฐอารากันมีประชาชนทั้งหมดกว่า 3 ล้านคน และประมาณ 1 ล้านกว่าเป็นชาวโรฮิงญาก็ตาม และเมื่อรัฐบาลทหารพม่ามีนโยบาย สร้างชาติพม่า เพื่อที่จะ กำจัดชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ชาวโรฮิงญาจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก
สำหรับชาวโรฮิงญาในประเทศไทยนั้น มีการอพยพเข้ามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งเข้ามา หลายๆ ส่วนมีส่วนร่วมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าในปี ค.ศ.1988 แต่ด้วยวิถีชีวิตที่นับถือศาสนามุสลิมทำให้มีข้อจำกัด ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาที่หลบภัยออกมาจากรัฐอารากันจำนวนมาก ตั้งแต่ในบังกลาเทศ ปากีสถาน มาเลเซีย และเชื่อว่ามีจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนในประเทศไทย
การที่ชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ก็เนื่องด้วยต้องการหนีความยากลำบากที่เกิดจากการถูกกดขี่โดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ซึ่งการเข้ามาของชาวโรฮิงญาในประเทศไทยก็ไม่แตกต่างจากชนชาติอื่นๆ ในพม่าตอนนี้ รวมถึงการเดินทางเข้ามาในอดีตของชาวอินเดีย ชาวจีน ชาวเวียดนาม บ้างก็หนีภัยสงคราม บ้างก็หนีการกดขี่ข่มเหง บ้างก็หนีความอดอยาก
การเข้ามาในประเทศไทยของคนเชื้อชาติต่างๆ มีมานานแล้ว รัฐบาลไทยควรตระหนักอย่างจริงจังในการนำข้ออ้างใดๆ มาเพื่อผลักดันชาวโรฮิงญาไปเผชิญหน้ากับความตายในประเทศพม่า ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง
และท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและประชาธิปไตยที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิ์พลเมืองและสิทธิ์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ความรุนแรงที่เกิดจากการรัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย และการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ความรุนแรงที่เกิดจากการฆ่า เผา ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตำรวจ ทหาร และการสูญหายของบุคคลโดยไม่สมัครใจในภาคใต้ ความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์ทั้งหญิงชายและเด็ก ตลอดจนการละเมิดสิทธิ์ทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ทั้งการละเมิดสิทธิ์ในการกำหนดวิถีชีวิตตนเองในทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม ต่อกลุ่มชนด้อยโอกาสทางสังคม เช่น การอพยพชาวเขาออกจากพื้นที่ป่า การเลือกปฏิบัติทางด้านแรงงาน เชื้อชาติ สุขภาพ การตัดสินใจเจรจาทางการค้าระบบทวิภาคีโดยไม่ฟังเสียงประชาชน และกรณีอื่นๆ อีกมากมาย
ประชาคมชาวโลกควรหันมาตระหนักอย่างจริงจังต่อสิทธิ์มนุษยชนสากลที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามควรจะได้รับไม่ว่าจะในฐานะของพลเมืองที่ทุกคนมีหน้าที่ต่อประชาคม ในการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน ทุกคนตกอยู่ในการบังคับของข้อจำกัดโดยกฎหมายเท่านั้น เพื่อประโยชน์ที่จะได้มาซึ่งการรับนับถือและการเคารพสิทธิ์และเสรีภาพของผู้อื่นตามสมควร และที่จะเผชิญกับความเรียกร้องต้องการอันเที่ยงธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย หรือแม้แต่ในฐานะของรัฐบาล
รัฐบาลทุกรัฐบาลที่จะปกครองประเทศต้องสร้างหลักประกันว่าจะเคารพปกป้องและทำให้สิทธิมนุษยชนได้รับการปฏิบัติให้เป็นจริงในสังคม รวมทั้งดำเนินการอย่างมีขั้นตอน ให้ปรากฏในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในการจัดทำรัฐธรรมนูญและในการบัญญัติไว้ในกฎหมายถึงหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน อันประกอบด้วย
1.ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)
2.สิทธิมนุษยชนเป็นสากลและไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ (Universality&inalienability)
3.สิทธิมนุษยชนไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ ว่าสิทธิ์ใดมีความสำคัญกว่าอีกสิทธิ์หนึ่ง (Indivisibility)
4.ความเสมอภาคและห้ามการเลือกปฏิบัติ (equality and non-discrimination)
5.การมีส่วนร่วมและการเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิ์นั้น (participation& inclusion)
6.หลักการตรวจสอบได้และหลักนิติธรรม (Accountibility & the Rule of Law)
เพื่อไปให้ถึงหลักของการบังคับใช้กฏบัตรแห่งหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างแท้จริงที่ว่า ปณิธานสูงสุดของสามัญชนได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูด และความเชื่อถือ และ อิสรภาพพ้นจากความหวาดกลัวและความขาดแคลน อย่าให้เรือมนุษย์โรฮิงญากลายเป็นตราบาปของมนุษยชาติ ที่เป็นเพียงภาพสะท้อนให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนสากลเป็นเพียงความหวังที่เลื่อนลอยและหาได้เป็นหลักยึดที่มั่นคงที่จะผูกโยงเรือเล็กเรือใหญ่ให้สามารถขึ้นถึงฝั่งแต่โดยดีได้ไม่.
http://newsroom.bangkokbiznews.com/comment.php?id=6061&user=drnakamon