การใส่หมวดโพกสะระบั่นเป็นซุนนะห์หรือเปล่า
คำถามโดย คนกันเอง
อาจารย์คะ การใส่หมวกหรือโพกสะระบั่นเป็นซุนนะห์นบีหรือเปล่า เคยฟังมาเมื่อก่อนว่าไม่ใช่ซุนนะห์ แต่ตอนนี้อาจารย์ซุนนะห์บางท่านบอกว่า เป็นซุนนะห์นบีและยังบอกอีกว่านบีไม่เคยถอดหมวกละหมาดเลย อยากถามความเห็นของอาจารย์ว่า ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
คำตอบโดย อาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้
ผู้ถามใช้นามว่า คนกันเอง ได้ถามความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องการใส่หมวกและโพกสะระบั่นว่าเป็นซุนนะห์ของท่านนบีหรือเปล่า ต้องขอมะอัฟ ที่ผมไม่สามารถตอบคำถามนี้ด้วยความคิดเห็นของผมเอง เพราะความเห็นของผมไม่ใช่ที่ปรับของศาสนา ดังนั้นคำตอบของเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ถูกต้องเพื่อให้ทราบถึงฮุกุ่ม (ข้อบัญญัติ) ซึ่งเรียงลำดับให้ท่านทราบดังนี้
ประการที่หนึ่ง คำว่า ซุนนะห์ ในแวดวงของนักวิชาการฮะดีษนั้นหมายถึง คำพูด,การกระทำ,การยอมรับ,คุณลักษณะ,อุปนิสัย ซึ่งทุกเรื่องที่ถูกรายงานมาจากท่านรอซูลจะถูกเรียกว่า ซุนนะห์ หรือฮะดีษ โดยมิได้จำแนกว่า เรื่องนั้นจะเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือไม่ เช่นลักษณะวิธีการละหมาดก็เป็นซุนนะห์ (เกี่ยวกับเรื่องศาสนา) หรือท่านนบีชอบกินเนื้อแกะตรงส่วนสะโพกก็เป็นซุนนะห์ (ไม่เกี่ยวกับเรื่องของศาสนา) นอกจากนั้นการบันทึกสิ่งที่ถูกรายงานมาจากท่านนบีก็ไม่ได้จำแนกว่าเรื่องนั้นประชาชาติอิสลามจะนำมาถือปฏิบัติต่อได้หรือไม่หรือเป็นเรื่องเฉพาะท่านนบี เช่นการที่ท่านนบีมีภรรยามากกว่าสี่คนก็เป็นซุนนะห์ (เฉพาะท่านบี) หรือการอิสรออ์และเมียะอ์รอจญ์ก็เป็นซุนนะห์ (เฉพาะท่านนบี)
ประการที่สอง คำว่า ซุนนะห์ ในแวดวงของนักวิชาการด้านอุศูลฯ มีความหมายว่า สิ่งที่ทำแล้วได้บุญ,ทิ้งก็ไม่เป็นบาปแต่ประการใด ซึ่งที่มาของฮุก่มนี้ก็คือ มีตัวบทหลักฐานมาสนับสนุนให้กระทำ
ผู้ถามได้ถามเกี่ยวกับการใส่หมวกและโผกสะระบั่นว่าเป็นซุนนะห์หรือไม่ ถ้าจะตอบในประเด็นของการรายงานตามวิชาฮะดีษก็ต้องบอกว่า เป็นซุนนะห์แน่นอน เพราะมีตัวบทหลักฐานยืนยันการกระทำของท่านนบี เช่น ท่านญาบิร บินอับดิลาฮ์ รายงานว่า
أَنَّ النَبِيَّ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ دَخَلَ يَوْمَ فَتْحِ مَكَّةَ وَعَليْهِ عِمَامَةٌ سُوْدَاءُ
แท้จริงท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้เข้ามาในวันพิชิตมักกะห์ โดยท่านโพกสะระบั่นสีดำ ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2419
ฮุรอยซ์ บินอัมร์ รายงานว่า
رَأيْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ عَلى المِنْبَرِ وَعَليْهِ عِمَامَةٌ سَوْدَاءُ قَدْ أرْخَى طَرَفَهَا بَيْنَ كَتِفَيْهِ
ฉันเคยเห็นท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม บนมิมบัรซึ่งท่านโพกสะระบั่นสีดำโดยปล่อยชายผ้าระหว่างบ่าทั้งสองของท่าน สุนันอบีดาวูด ฮะดีษเลขที่ 3555
ยังมีตัวบทฮะดีษอีกมายที่แสดงว่าท่านรอซูลได้โพกสะระบั่นในหลายอิริยาบถ แต่การกระทำของท่านจะเป็นซุนนะห์ที่เกี่ยวกับศาสนาหรือไม่, หรือว่าเป็นซุนนะห์เฉพาะท่านนบีเท่านั้น, และเป็นซุนนะห์ที่มีผลต่อการปฏิบัติต่อประชาชาติอิสลามหรือไม่ ต้องพิจารณาในประการที่สองคือ มีตัวบทหลักฐานใช้หรือสนับสนุนให้กระทำหรือเปล่า
สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานไม่สามารถจำแนกได้ ผมเสนอข้อสังเกตประกอบการพิจารณาไว้ดังนี้
1 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ประกาศอิสลามนั้นท่านนบีได้ใส่หมวกหรือโพกสะระบั่นมาก่อนหรือไม่ หรือว่าท่านเพิ่งมาใส่ตอนที่ได้รับวะฮีย์แล้ว
2 หลังจากที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบีแล้ว ท่านได้สั่งใช้หรือสนับสนุนให้กระทำในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะหรือเปล่า
ข้อสังเกตเพื่อการพิจารณาทั้งสองประการนี้ เป็นคำเฉลยของปัญหานี้ว่า การใส่หมวกโพกสะระบั่นนั้นเป็นซุนนะห์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาแต่ประการใด เนื่องจากไม่มีตัวบทหลักฐานใช้หรือสนับสนุนให้ประชาชาติอิสลามได้ถือปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วได้บุญทิ้งไม่เป็นบาป
ส่วนประเด็นที่ถามเกี่ยวกับการใส่หมวกหรือโพกสะระบั่นในขณะละหมาดนั้น ขอให้ท่านพิจารณาว่า ท่านนบีใส่เฉพาะขณะที่ละหมาดอย่างเดียวหรือนอกละหมาดท่านก็ใส่ด้วย และถ้าหากจะถือว่าการใส่เป็นส่วนหนึ่งของการละหมาด ก็จะต้องแจ้งฮุก่มของมันให้ได้ว่าเป็นวาญิบหรือซุนนะห์ในละหมาด ซึ่งที่มาของฮุก่มก็คือ
หากเป็นวาญิบ ต้องมีหลักฐานมาบังคับใช้ และมีผลคือ ถ้าไม่ใส่แล้วเกิดโทษหรือทำให้ละหมาดใช้ไม่ได้
หากเป็นซุนนะห์ ต้องมีหลักฐานมาสนับสนุนให้กระทำ และมีผลคือ ถ้าใส่แล้วได้บุญ แต่ถ้าไม่ใส่ก็ไม่เกิดโทษและไม่ทำให้เสียละหมาด
แต่ปรากฏว่าไม่มีทั้งหลักฐานบังคับใช้หรือสนับสนุนให้กระทำ ด้วยเหตุนี้บรรดานักวิชาการจึงไม่นับว่า การใส่หมวกหรือโพกสะระบั่นขณะละหมาดนั้นเป็นวาญิบหรือซุนนะห์ แต่หากจะมีผู้อ้างว่ามีตัวบทหลักฐานสนับสนุนในเรื่องนี้คือฮะดีษที่ว่า การใส่หมวกหรือโพกสะระบั่นในละหมาดได้ผลบุญมากกว่าไม่ใส่หมวกหรือโพกสะระบั่น 25 เท่า ในบางรายงานบอกว่า 27 เท่า ซึ่งฮะดีษที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องผลบุญของการใส่หมวกโพกสะระบั่นในละหมาดทั้งหมดเป็นฮะดีษฏออีฟ (อ่อน) หรือฮะดีษเมาดัวอ์ (เก้) จึงไม่สามารถนำมาอ้างเป็นฮุก่มศาสนาได้
...