بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
ประเด็นที่ผู้ถามได้ถามมานั้น ถือว่าเป็นเรื่องของการทดสอบอีหม่านอย่างหนึ่งเลยทีเดียว เพราะการละหมาดนั้นเป็นสิ่งที่ฟัรดูสำหรับมุสลิม ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใหน เราก็ต้องทำการละหมาด โดยไม่ต้องอายผู้ใด ส่วนประเด็นที่ผู้ถามได้ถามมานั้น ผมจะแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ครับ
1. หลักการละหมาดรักษาเกียรติของเวลาละหมาด
การละหมาดรักษาเวลานั้น สำหรับผู้อยู่ในสภาวะคับขัน(ฎ่อรูเราะฮ์)ไม่สามารถที่จะยกฮะดัษเล็กและฮะดัษใหญ่ หมายถึง ในช่วงเวลาละหมาดนั้น เขาไม่พบน้ำหรือดินผุ่นที่จะใช้อาบน้ำยกฮะดัษใหญ่หรือทำการอาบน้ำละหมาดนั่นเอง ก็ให้เขาทำการละหมาดฟัรดูเพื่อรักษาเกียรติของเวลาละหมาดเอาไว้ หลักจากนั้นก็ให้ทำการกลับไปละหมาดใหม่ (หนังสือฮาชียะฮ์อัลบาญูรีย์ 1/102 และหนังสืออิอานะฮ์ อัฏฏอลิบีน 1/109)
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา ความว่า
أَنَّهَا اسْتَعَارَتْ مِنْ أَسْمَاءَ قِلَادَةً فَهَلَكَتْ فَبَعَثَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ رَجُلًا فَوَجَدَهَا فَأَدْرَكَتْهُمْ الصَّلَاةُ وَلَيْسَ مَعَهُمْ مَاءٌ فَصَلَّوْا فَشَكَوْا ذَلِكَ إِلَى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَأَنْزَلَ اللَّهُ آيَةَ التَّيَمُّمِ فَقَالَ أُسَيْدُ بْنُ حُضَيْرٍ لِعَائِشَةَ جَزَاكِ اللَّهُ خَيْرًا فَوَاللَّهِ مَا نَزَلَ بِكِ أَمْرٌ تَكْرَهِينَهُ إِلَّا جَعَلَ اللَّهُ ذَلِكِ لَكِ وَلِلْمُسْلِمِينَ فِيهِ خَيْرًا
"ท่านนางได้ขอยืมสร้อยคอจากท่านนางอัสมาอฺ แล้วสูญหายไป ดังนั้นท่านร่อซูลุลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงส่งบรรดาซอฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่งไปหาสร้อย แล้วเวลาละหมาดก็ได้มาประสบแก่พวกเขา โดยที่พวกเขาไม่มีน้ำ แล้วพวกเขาก็ทำการละหมาด(โดยไม่มีน้ำละหมาดและเมื่อพวกเขาได้กลับไปหาท่านนบี) ก็ทำการร้องเรียนสิ่งดังกล่าวต่อท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นอัลเลาะฮ์ก็ทรงประทานอายะฮ์ตะยัมมุมลงมา และท่านอุซัยด์ บิน ฮุฏัยร์ ได้กล่าวแก่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ว่า ขออัลเลาะฮ์ทรงตอบแทนความดีงามแก่ท่านนางด้วยเถิด ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นแก่ท่านนางซึ่งท่านนางมิชอบ นอกจากว่าอัลเลาะฮ์จะทรงประทานทางออกสิ่งดังกล่าวแก่ท่านนางและบรรดามุสลิมีน ซึ่งความดีงามในมันเสมอ" รายงานโดยบุคอรี (324) และมุสลิม (551)
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ได้อธิบายว่า "ในฮะดีษนี้ เป็นหลักฐานสำหรับผู้ที่ไม่มีน้ำ(เพื่ออาบน้ำละหมาด)และดินฝุ่น(สำหรับตะยัมมุม) และให้เขาทำการละหมาดในสภาพดังกล่าว(ที่ไม่มีน้ำละหมาด)...และตามทัศนะที่ชัดเจนที่สุดนั้นตามทัศนะแห่งปราญ์ของเรา(มัซฮับชาฟิอีย์) ก็คือ จำเป็นบนเขา(ที่ไม่มีน้ำเพื่อทำการอาบน้ำละหมาด)ให้ทำการละหมาดและจำเป็นบนเขาต้องกลับไปละหมาดใหม่(หลังจากเมื่อพบน้ำแล้ว) สำหรับการให้ทำละหมาดนั้น เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า "เมื่อฉันได้สั่งใช้พวกท่านกับสิ่งหนึ่ง พวกท่านก็จงกระทำมันสุดเท่าที่มีความสามารถ" ส่วนการกลับมาละหมาดใหม่นั้น เพราะมันเป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง ซึ่งเสมือนกับกรณีที่เขาได้ลืมล้างอวัยวะหนึ่งจากบรรดาอวัยวะที่ต้องทำความสะอาดแล้วทำการละหมาด ซึ่งจำเป็นบนเขาต้องกลับมาละหมาดใหม่" ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม 2/298
สรุปคือ การละหมาดรักษาเวลานั้น คือการละหมาดที่ไม่ต้องมีน้ำละหมาดนั่นเองครับ แต่การละหมาดรักษาเวลาเช่นนี้ สำหรับผู้มีความจำเป็นหรืออยู่ในยามขับขัน ไม่มีน้ำและฝุ่นดินจริง ๆ แต่ในห้างนั้น มีน้ำเยอะแยะ ซึ่งหากไม่มีน้ำที่ก๊อกในห้องน้ำ ก็ต้องซื้อน้ำที่บรรจุขวดเพื่อนำมาทำการอาบน้ำละหมาดนะครับ
2. อุปสรรคของผู้ถามนั้น คือ ไม่มีห้องละหมาด , ต้องถอดฮิญาบต่อหน้ากาฟิเราะฮ์ , ในห้องน้ำมีน้ำใช้แต่ไม่มีก๊อกล่างสำหรับการล้างเท้า , สอนคาบเกี่ยวละหมาดซุฮ์ริและอัสริ , ซึ่งผมแนะนำไม่ให้รักษารักษาเวลานะครับ เพราะว่ามิได้มีความจำเป็นหรืออยู่ในยามคับขันตามหลักศาสนาอย่างแท้จริงนะครับ แต่ผมจะแนะนำทางออกเพื่อให้มีความสะดวกยิ่งขึ้นดังนี้
2.1 เราเป็นมุสลิมะฮ์ ไปสอนหนังสือก็คลุมฮิญาบ ดังนั้นใคร ๆ ก็รู้ว่าเราเป็นมุสลิมะฮ์ที่มีการละหมาด ฉะนั้นเราต้องหาที่ละหมาดสักมุมหนึ่งในห้องเรียนที่ทำการสอนเพื่อการละหมาด โดยหาหรือพกพาผ้าซัจญาดะฮ์หรือหนังสือพิมพ์มาปูสำหรับการละหมาด ซึ่งตรงนี้บางท่านอาจจะอายเพราะละหมาดท่ามกลางคนกาฟิเราะฮ์ แต่เราต้องมีอีหม่านที่เข้มแข็ง ต้องไม่ละอายในเรื่องการทำความดีน่ะครับ
2.2 หากผู้อาบน้ำของมุสลิมะฮ์ที่มีผ้าคลุมผม ก็ให้เอามือที่เปียกน้ำสอดเข้าไปเช็ดที่ขม่อมก่อนอย่างน้อยให้เปียกผมสามเส้น ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว หลังจากนั้นก็เอาน้ำเช็ดบนผ้าคลุมผม เพื่อให้ดังกล่าวได้ผลบุญเหมือนกับการเช็ดทั้งหมดศีรษะในการอาบน้ำละหมาด นั่นเอง
ท่านอัลมุฆีเราะฮ์ บิน ชั๊วะบะฮ์ กล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَسَحَ عَلَى الْخُفَّيْنِ وَمُقَدَّمِ رَأْسِهِ وَعَلَى عِمَامَتِهِ
"แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำการเช็คสองรองเท้าหุ้มข้อ(คูฟ) และเช็ดขม่อมและบนผ้าโพกศีรษะ" รายงานโดยมุสลิม (411)
ท่าน อิมามอันนะวาวีย์กล่าวอธิบายว่า "สำหรับการเช็ดเสริมให้สมบูรณ์ที่ผ้าโพกศีรษะนั้น ตามทัศนะของอิมามอัชชาฟิอีย์และปราชญ์กลุ่มหนึ่ง ถือเป็นมุสตะฮับ(หรือสุนัต) เพื่อให้มีความสะอาดทั่วศีรษะ และไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ ระหว่างการสวมผ้าโพกศีรษะขณะที่มีน้ำละหมาดหรือขณะที่ยังไม่มีน้ำละหมาด และเช่นเดียวกัน หากบนศีรษะของเขามีหมวกโดยเขาไม่ได้ถอดมันออก ก็ให้เขาทำการเช็ดที่ขม่อมและมุสตะฮับให้เช็ดเสริมให้สมบูรณ์บนหมวกเพราะ เทียบเคียงกับผ้าโพกศีรษะ และหากเขาจำกัดเพียงแค่เช็คที่ผ้าโพกศีรษะเท่านั้นโดยไม่ทำการเช็คที่ส่วนใด ของศีรษะ ถือว่าใช้ไม่ได้โดยไม่มีการขัดแย้งใด ๆ และนี้ก็คือมัซฮับของอิมามมาลิก , อิมามอบูฮะนีฟะฮ์ , และนักปราชญ์ส่วนมาก - ขออัลเลาะฮ์ประทานความเมตตาต่อพวกเขา - ส่วนมัซฮับอิมามอะห์มัดนั้น อนุญาตให้จำกัดเพียงแค่เช็คผ้าโพกได้ และมีกลุ่มหนึ่งจากสะลัฟให้การเห็นพร้อง วัลลอฮุอะลัม" ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม : 2/176
2.3 หากในห้องน้ำไม่มีก๊อกล่างเพื่อการล้างเท้า ก็เอาสองมือรองน้ำที่ก๊อก แล้วนำมาล้างเท้าให้เปียก จากนั้นน้ำที่เปียกติดอยู่ที่เท้านั้น ก็ใช้มือลูบให้น้ำเปียกทั่วเท้า ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรดน้ำให้เปียกทั่วเท้าทั้งหมดหรอกครับ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นการล้างแบบเบาบาง ( اَلْغُسْلُ الخَفِيْفُ )
2.4 กรณีที่ทำการสอนที่ห้างในช่วงวันเสาร์นั้น ถือเป็นเหตุที่มิได้เป็นปกติวิสัย คือไปสอนชั่วคราว ก็อนุญาตให้ทำการรวมละหมาดระหว่างซุฮ์ริและอัสรินะครับ ซึ่งผมแนะนำให้รวมละหมาดแบบตะคีร คือการเอาละหมาดซุฮ์ริไปรวมทำในเวลาละหมาดอัสริ กล่าวคือเมื่อเข้าเวลาซุฮ์ริก็ให้เหนียตตั้งใจรวมละหมาดซุฮ์ริไปทำในเวลาอัสริ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาอัสริ ก็ให้ทำละหมาดซุฮ์ริสี่ร่อกะอัต โดยเหนียตว่า "ข้าพเจ้าละหมาดฟัรดูซุฮ์ริแบบรวมหลัง(ญาเมาะอฺตะคีร) เพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา" หลังจากนั้นก็ละหมาดอัสริสี่ร่อกะอัตตามปกติ
ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวอธิบายเช่นกันว่า
وَذَهَبَ جَمَاعَةٌ مِنْ الْأَئِمَّة إِلَى جَوَاز الْجَمْع فِي الْحَضَر لِلْحَاجَةِ لِمَنْ لَا يَتَّخِذهُ عَادَة , وَهُوَ قَوْل اِبْن سِيرِينَ وَأَشْهَب مِنْ أَصْحَاب مَالِك , وَحَكَاهُ الْخَطَّابِيُّ عَنْ الْقَفَّال وَالشَّاشِيّ الْكَبِير مِنْ أَصْحَاب الشَّافِعِيّ عَنْ أَبِي إِسْحَاق الْمَرْوَزِيِّ عَنْ جَمَاعَة مِنْ أَصْحَاب الْحَدِيث , وَاخْتَارَهُ اِبْن الْمُنْذِر وَيُؤَيِّدهُ ظَاهِر قَوْل اِبْن عَبَّاس : أَرَادَ أَلَّا يُحْرِج أُمَّته , فَلَمْ يُعَلِّلهُ بِمَرَضٍ وَلَا غَيْره وَاللَّهُ أَعْلَم
"กลุ่มหนึ่งจากปวงปราชญ์ได้ดำเนินทัศนะว่า อนุญาตให้รวมละหมาดในขณะที่ไม่ได้เดินทาง เพราะมีความจำเป็น (แต่อนุญาตให้)สำหรับผู้ที่ต้องไม่ทำการรวมละหมาดเป็นปกติวิสัย และมันคือทัศนะของท่านอิบนุซีรีน , ท่านอัชฮับ จากสานุศิษย์ของท่านอิมามมาลิก และท่านอัลค๊อฏฏอบีย์ได้ทำการรายงานจาก ท่านอัลก๊อฟฟาล และจากอัชชาชีย์ผู้เป็นพี่ที่มาจากมัซฮับของเรา ซึ่งได้รายงานจากอบีอิสหาก อัลมัรวะซีย์ จากกลุ่มหนึ่งจากนักปราชญ์หะดิษ และท่านอิบนุอัลมุนซิรได้เลือกทัศนะนี้ และได้ทำการสนับสนุนกับทัศนะนี้โดยคำกล่าวของท่านอิบนุอับบาสที่ว่า "ท่านนบีต้องการไม่ให้มีความลำบากต่อประชาชาติของท่าน" ดังนั้น ท่านอิบนุอับบาสไม่ได้ให้เหตุผลว่าป่วยและอื่น ๆ เลย วัลลลอฮุอะลัม" ดู ชัรหฺซอฮิหฺมุสลิม เล่ม 23 หน้า 236 ดารุลหะดิษ
ท้ายนี้ ก็ขอต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา ทรงประทานความสะดวกง่ายดาย และอีหม่านอันเข้มแข็งต่อผู้ถามด้วยเถิด และขอให้คำตรัสของอัลเลาะฮ์ตะอาลาที่ว่า "ผู้ใดที่ยำเกรงต่ออัลเลาะฮ์ พระองค์จะประทานทางออกให้แก่เขา" อัฏเฏาะล๊าก : 2 จงให้มีแด่ผู้ถามด้วยเถิด ยาร็อบ
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ