بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
คำว่า "ฤกษ์" ตามความหมายของหลักภาษาไทยหมายถึง "คราวหรือเวลาที่กําหนดหรือคาดว่าจะให้ผล เช่น ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย, มักนิยมใช้ในทางดี" หรือ "เป็นการรวบรวมนำมาซึ่งสถิติ ที่กระทำการแล้วดี หรือการประมวล ในวันเวลาที่ดี ๆ ที่เหมาะสมกับฤดูกาล" ดังนั้น เมื่อเราได้ยินคำว่า "หาฤกษ์" ก็อาจจะเข้าใจไปว่า ช่วงเวลานั้นเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่ดี หากเป็นช่วงเวลาอื่นอาจจะยังผลร้ายตามมา จนทำให้มีความเชื่อว่า "วันหรือช่วงเวลา" มีผลทำให้ดีและร้าย จึงทำให้ตกไปอยู่ในความเชื่อเรื่องโชคลาง ซึ่งเป็นชิริกที่ศาสนาห้ามอย่างเด็ดขาด
ฉะนั้นคำว่า "กฤษ์" ความความดังกล่าว ถือว่าไม่มีในอิสลาม เพราะบรรดาวันทั้งหมดตลอดทั้งปีนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา มันไม่สามารถให้ประโยชน์หรือให้โทษอันใดได้ด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นเมื่อเราต้องการกระทำสิ่งที่ดีและไม่ต้องห้าม แล้วอัลเลาะฮ์ก็ทรงให้เรามีความสะดวกในการกระทำนั้น ไม่ว่าวันใดก็ตาม นั่นแหละคือช่วงเวลาที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราได้รับความดีงามแล้ว และจำเป็นต่อผู้ที่มีอีหม่านในอัลเลาะฮ์อย่างแท้จริง ต้องทำการมอบหมายแด่พระองค์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤกษ์งามยามใหนก็ตาม
แต่ในคำว่า "ฤกษ์หรือช่วงเวลา" ที่ดีในอิสลามนั้น หากเราจะเรียกว่าเป็นฤกษ์ดี นั่นก็เพราะว่าไปเกี่ยวพันกับซุนนะฮ์(แบบฉบับ)ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรือเกี่ยวข้องกับคำสั่งใช้ของศาสนาที่ได้บอกว่า วันนั้นวันนี้ หรือช่วงเวลานั้นเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ดี ซึ่งหากเรายึดตามนัยยะนี้ ถือว่าไม่เป็นไร ตัวอย่างเช่น
การเดินทาง
การเดินทางนั้น สะดวกเดินทางวันใหน ก็ถือว่าดี แต่หากจะดีกว่าก็ควรเดินทางวันพฤหัสบดี เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ชอบที่จะเดินทางในวันพฤหัสบดี
ท่านกะอับ บิน มาลิก กล่าวรายงานว่า
لَقَلَّمَا كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَخْرُجُ إِذَا خَرَجَ فِي سَفَرٍ إِلَّا يَوْمَ الْخَمِيسِ
"น้อยที่ท่านร่อซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะออกเมื่อต้องการออกเดินทางนอกจากเป็นวันพฤหัสบดี" รายงานโดยบุคอรีย์ รายงานโดยบุคอรี 2730
ท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุ ฮะญัร กล่าวอธิบายว่า
وَأَمَّا الْخُرُوجُ يَوْم الْخَمِيسَ فَلَعَلَّ سَبَبَهُ مَا رُوِيَ مِنْ قَوْلِهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ " بُورِكَ لِأُمَّتِي فِي بُكُورِهَا يَوْمَ الْخَمِيسَ " وَهُوَ حَدِيثٌ ضَعِيفٌ أَخْرَجَهُ الطَّبَرَانِيُّ مِنْ حَدِيثِ نُبَيْطٍ اِبْنِ شَرِيطٍ
"สำหรับการออกเดินทางในวันพฤหัสบดีนั้น บางครั้งสาเหตุของมันคือ สิ่งที่ถูกรายงานจากคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า "จะถูกประทานความจำเริญแก่ประชาชาติของฉันในยามเช้าของวันพฤหัสบดี" แต่เป็นฮะดีษฎออีฟ ซึ่งนำเสนอรายงานโดยท่านอัฏเฏาะบะรอนีย์ จากฮะดีษของนุบัยฏ์ บิน ชะรีฏ" หนังสือฟัตฮุลบารีย์
ท่านกะอับ บิน มาลิก ยังรายงานอีกว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ خَرَجَ يَوْمَ الْخَمِيسِ فِي غَزْوَةِ تَبُوكَ وَكَانَ يُحِبُّ أَنْ يَخْرُجَ يَوْمَ الْخَمِيسِ
"แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกเดินทางวันพฤหัสบดีในสงครามตะบูกและท่านนบีรักที่จะออกเดินทางในวันพฤหัสบดี" รายงานโดยบุคอรีย์ 2731
ดังนั้น ถ้าต้องการจะออกเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการออกไปทำธุระหรือค้าขาย หากสะดวกก็สมควรเลือกออกเดินทางในตอนเช้าของวันพฤหัสบดี เพื่อตามแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
การกรอกเลือด
การกรอกเลือด หากเราสะดวกจะกระทำวันใหนก็ได้ ไม่ถือว่าฮะรอม แต่ทางที่ดีสมควรทำช่วงเวลาที่ศาสนาได้แนะนำเอาไว้
ท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ รายงานว่า
قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَنْ احْتَجَمَ لِسَبْعَ عَشْرَةَ وَتِسْعَ عَشْرَةَ وَإِحْدَى وَعِشْرِينَ كَانَ شِفَاءً مِنْ كُلِّ دَاءٍ
"ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ผู้ใดที่ต้องการจะกรอกเลือด ก็ให้เป็นวันที่ 17 , 19 , 21 , เขาจะหายจากทุกโรค(เพราะเหตุมีเลือดมาก)" รายงานโดยอะบูดาวูด 3363 ฮะดีษฮะซัน อินชาอัลเลาะฮ์
นักการแพทย์มุสลิมกล่าวว่า การกรอกเลือดในช่วงครึ่งเดือนให้หลังนั้นเลือดจากมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าในการกรอกเลือด ส่วนปลายเดือนเลือดจากน้อย ซึ่งไม่บังควรกรอกเลือด (จากหนังสือเอานุลมะบูด อธิบายสุนันอะบีดาวูด ฮะดีษที่ 3363)
การแต่งงาน
การแต่งงานเป็นซุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และอัลเลาะฮ์ก็ทรงให้เรามีความสะดวกในการแต่งงานไม่ว่าวันใดก็ตาม นั่นแหละคือช่วงเวลาที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราได้รับความดีงามแล้ว แต่ถ้าหากเราเลือกแต่งงานในช่วงเดือนเชาวาลก็จะดียิ่ง เพราะเราแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ท่านอุรวะฮ์ รายงานว่า
عَنْ عَائِشَةَ قَالَتْ تَزَوَّجَنِي رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي شَوَّالٍ وَبَنَى بِي فِي شَوَّالٍ فَأَيُّ نِسَاءِ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ أَحْظَى عِنْدَهُ مِنِّي قَالَ وَكَانَتْ عَائِشَةُ تَسْتَحِبُّ أَنْ تُدْخِلَ نِسَاءَهَا فِي شَوَّالٍ
"จากท่านหญิงอา อิชะฮ์ ท่านนางกล่าวว่า ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการแต่งงานกับฉันในเดือนเชาวาล ดังนั้น ณ ท่านนบีแล้ว จะมีภริยาของท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์คนใดจากโชคดีไปกว่าฉัน อุรวะฮ์กล่าวว่า ท่านหญิงอาอิชะฮ์ชอบที่จะบรรดาสตรีของนางเข้า(เรือนหอ)ในเดือนเชาวาล" รายงานโดยมุสลิม (2551)
ท่านอิมามอันนะวาวีย์อธิบายว่า
فِيهِ اِسْتِحْبَاب التَّزْوِيج وَالتَّزَوُّج وَالدُّخُول فِي شَوَّال , وَقَدْ نَصَّ أَصْحَابنَا عَلَى اِسْتِحْبَابه , وَاسْتَدَلُّوا بِهَذَا الْحَدِيث , وَقَصَدَتْ عَائِشَة بِهَذَا الْكَلَام رَدّ مَا كَانَتْ الْجَاهِلِيَّة عَلَيْهِ , وَمَا يَتَخَيَّلهُ بَعْض الْعَوَامّ الْيَوْم مِنْ كَرَاهَة التَّزَوُّج وَالتَّزْوِيج وَالدُّخُول فِي شَوَّال , وَهَذَا بَاطِل لَا أَصْل لَهُ , وَهُوَ مِنْ آثَار الْجَاهِلِيَّة , كَانُوا يَتَطَيَّرُونَ بِذَلِكَ لِمَا فِي اِسْم شَوَّال مِنْ الْإِشَالَة وَالرَّفْع
"ในฮะดิษนี้ สุนัตให้ทำการแต่งงานและเข้าเรือนหอในเดือนเชาวาล บรรดาปราชญ์ของเราระบุถึงการสุนัตสิ่งดังกล่าวโดยอ้างหลักฐานด้วยฮะดิษนี้ และท่านหญิงอาอิชะฮ์มีเจตนาจากคำพูดนี้ เพื่อทำการโต้ตอบสิ่งที่พวกญาฮีลียะฮ์ได้ดำเนินอยู่และสิ่งที่บางคน จินตนาการไปว่าวันที่น่ารังเกียจในการแต่งงาน , ทำการแต่งงาน , และส่งตัวเข้าเรือนหอในเดือนเชาวาล ดังนี้ถือเป็นสิ่งเหลวไหลไม่มีรากฐานที่มาให้กับมันเลย มันเป็นร่องรอยของพวกญาฮีลียะฮ์ ซึ่งพวกเขาถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นลางร้าย เนื่องจากชื่อของเดือนเชาวาลนั้น มาจากความหมายที่ว่า การยับยั้งและการยกเลิก (หมายถึงฝ่ายหญิงจะปฏิเสธและยกเลิกการแต่งงาน)" ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม
การแสดงความยินดีที่กำเนิดบุตร
ช่วงเวลาในการแสดงถึงความยินดีเพราะมีบุตรนั้น มีช่วงเวลาที่กว้างขวาง แต่ที่ช่วงเวลาที่ดีคือ วันที่ 7 หลังจากคลอดบุตร เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งเอาไว้
อัมร์ บุตร ชุอัยบ์ ได้รายงานจากบิดาของเขา จากปู่ของเขาว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَمَرَ بِتَسْمِيَةِ الْمَوْلُودِ يَوْمَ سَابِعِهِ وَوَضْعِ الْأَذَى عَنْهُ وَالْعَقِّ
" แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ใช้ให้ตั้งชื่อเด็กในวันที่เจ็ด ขลิบผมเด็ก และเชือดสัตว์อะกีเกาะห์" รายงานโดยอัตติรมีซีย์ (2758) ท่านอัตติรมีซีย์กล่าวว่า ฮะดิษฮะซัน
ดังนั้น ฤกษ์งามยามดีหรือช่วงเวลาที่ดีในอิสลาม มิได้เกี่ยวข้องว่าในวันต่าง ๆ นั้นให้ผลถึงลางร้ายหรือลางดี เกี่ยวข้องกับการที่หลักศาสนาได้ยืนยันหรือซุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับรองว่ากระทำในช่วงเวลานั้นดี ช่วงเวลานี้ไม่ดีต่างหากครับ
ส่วนการเตาบะฮ์ต่ออัลเลาะฮ์นั้น สามารถกระทำได้ตลอดเวลาไม่มีฤกษ์มากำหนด ซึ่งผู้ใดที่มีบาปก็ต้องรีบเตาบะฮ์
รายงานจากท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ ความว่า
قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَنْ تَابَ قَبْلَ أَنْ تَطْلُعَ الشَّمْسُ مِنْ مَغْرِبِهَا تَابَ اللَّهُ عَلَيْهِ
"ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ผู้ใดทำการเตาบะฮ์ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก อัลเลาะฮ์จักทรงรักการเตาบะฮ์ของเขา" รายงานโดยมุสลิม (4872)
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะทำการเตาบะฮ์ในช่วงเวลาใด อัลเลาะฮ์ก็จะทรงเปิดประตูตอบรับเสมอ จนกว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ตกดินแล้วอัลเลาะฮ์ไม่ทราบการเปลี่ยนแปลงตนเอง ส่วนการตั้งใจการเปลี่ยนแปลงตนเองใหม่นั้น ไม่ว่าจะตั้งใจจะทำช่วงเริ่มปีใหม่หรือช่วงวันอื่น ๆ ก็อนุญาตให้กระทำได้ แต่หากเปลี่ยนแปลงตนเองในช่วงเวลาหนึ่งโดยเจตนากระทำโดยเลียนแบบศาสนิกอื่น ถือว่าต้องห้ามนั่นเองครับ
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ