ผู้เขียน หัวข้อ: อยากให้วิเคราะห์หน่อย  (อ่าน 1339 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sookson

  • เพื่อนแรกพบ (^^)/
  • *
  • กระทู้: 3
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
อยากให้วิเคราะห์หน่อย
« เมื่อ: เม.ย. 19, 2007, 07:42 AM »
0

มีความคิดเห็นอย่างไรกับข้อความต่อไปนี้ครับ....เพราะมันเป็นปัญหาที่ได้เกิดขึ้นเมื่อเร็วนี้ออกอีดอัฎฮาไม่ตรงกันไม่รู้ว่าไครผิดไครถูก...
...
(บทความเฉพาะกิจ)
?ออกอีดอีดิลอัฎฮา
ที่ไม่ต้องรอคำประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี?
โดย อ. มุรีด  ทิมะเสน
ที่บ้าน, วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2549
เนื่องด้วยปีนี้ (พ.ศ. 2549) เมืองไทยออกอีดอีดิลอัฎฮา 2 วัน นั่นคือวันเสาร์ที่ 30 ธ.ค. 49 และวันอาทิตย์ที่ 31 ธ.ค. 49 จึงสร้างความสับสนให้แก่พี่น้องมุสลิมในเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยพวกเขาตัดสินใจไม่ได้ว่าตนเองจะออกอีดอีดิลอัฎฮาวันไหนกันแน่? บางคนกล่าวว่า ฉันจะออกตามคำประกาศของประเทศซาอุดิอาระเบีย เพราะวันวุกุฟ ( وقوف )  หรือวันอะเราะฟะฮฺ ( عرفة  ) มีที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนอีกใจหนึ่งก็ยังกังวลกับคำประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีว่าด้วยความเชื่อเดิมที่ว่าต้องปฏิบัติตามผู้นำ สิ่งต่างๆ ข้างต้นเป็นความกังวลที่ทวีเพิ่มมากขึ้นในการออกอีดอีดิลอัฎฮาปีนี้ (2549) เป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียน (มุรีด ทิมะเสน) ขอชี้แจงตัวบทหลักฐานที่เป็นข้อสรุปว่าเราจะได้ตัดสินใจว่าปีนี้ (2549) เราจะออกอีดอีดิลอัฎฮาวันไหนกันแน่?


     ประการแรก ท่านรสูลุลอฮฺสั่งใช้พวกเรา หมายถึงมุสลิมทั้งหมดออกอีดิลฟิฏริ ( عيدالفطر ) และอีดิลอัลอัฎฮา (عيدالأضحي ) โดยพร้อมเพรียงกัน

     ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า " صومكم يوم تصومون وفطركم يوم يفطرون وأضحاكم يوم تضحون " ความว่า "การถือศีลอดของพวกท่าน คือวันที่พวกท่านทั้งหลายถือศีลอด และวันอีดิลฟิฏริของพวกท่าน คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลฟิฎริกัน และวันอีดิลอัฎฮา (หรือวันเชือด) ของพวกท่าน คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮา (หรือเชือดสัตว์พลี) กัน"
     (บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2324,บัยหะกีย์ หะดีษที่ 8300 และอัดดารุฎนีย์ หะดีษที่ 34)

     อีกหลักฐานหนึ่ง ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า " الفطر يوم يفطر الناس والأضحي يوم يضحي الناس " ความว่า "วันอีดิลฟิฏริ คือวันที่ผู้คนทั้งหลายออกอีดิลฟิฏริกัน และวันอีดิลอัฎฮาคือวันที่ผู้คนทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮากัน"
     (บันทึกโดยอัดดารุฏนีย์ หะดีษที่ 31 และท่านอับดุรฺเราะซาก หะดีษที่ 7304)

     หลักฐานทั้งสองข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน กล่าวคือท่านรสูลุลลอฮฺระบุว่าวันอีดิลอัฎฮาของพวกท่าน ก็คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮา ประโยคที่ระบุว่า พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮา หมายถึง ประชาชาติของมุสลิมทั้งหมดไม่พิจารณาว่ามุสลิมผู้นั้นจะอยู่ในประเทศใด,ดินแดนใด หรือเชื้อชาติใดก็ตาม, อีกทั้งท่านหญิงอาอิชะฮฺยังกล่าวไว้ว่า "วันอีดิลอัฎฮาคือวันที่ผู้คนทั้งหลายเขาออกอีดิลอัฎฮากัน" คำว่าผู้คนทั้งหลายก็หมายถึงประชาชาติมุสลิมทั้งหมดนั่นเอง เฉกเช่นท่านนบีเคยกล่าวว่า " صلوا كما رأيتموني أصلى " ความว่า "พวกท่านทั้งหลายจงนมาซเสมือนเห็นฉันนมาซ" (บันทึกโดยบุคอรีย์) หะดีษข้างต้นท่านนบีพูดกับนบรรดาเศาะหาบะฮฺ แต่มิได้หมายความว่าเฉพาะบรรดาเศาะหาบะฮฺเท่านั้นที่นมาซเหมือนการนมาซของท่านบีเท่านั้น แต่นั่นหมายรวมว่า มุสลิมทุกคนไม่ว่ามุสลิมผู้นั้นจะอยู่ประเทศไหน,ดินแดนไหน หรือเชื้อชาติไหนวาญิบจะต้องนมาซเสมือนการนมาซของท่านนบีมุหัมมัดทุกคนนั่นเอง

     ประการที่สอง วันอีดิลอัฏฮาต้องเป็นวันเดียวกัน เนื่องจากมีหะดีษระบุชัดเจนว่า วันอีดิลอัฎฮาเป็นวันสำคัญของมุสลิมทั่วโลก ดั่งหลักฐานต่อไปนี้

     ท่านอุกบะฮฺ บุตรของอามิรฺเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
     " يوم عرفة ويوم النحر وأيام التشريق عيدنا أهل الإسلام وهي أيام أكل وشرب " ความว่า "วันอะเราะฟะฮฺและวันนะหฺริและวันตัชรีก คือวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม คือวันแห่งการกินและการดื่ม"
     (บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2066 บทว่าด้วยการถือศีลอด,ติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 704, นะสาอีย์ หะดีษที่ 2954, อะหฺมัด หะดีษที่ 16739 และอัดดาริมีย์ หะดีษที่ 1699) สถานะของหะดีษถือว่า เศาะหี้หฺ (صحيح) อ้างจากหนังสือ " صحيح سنن الترمذي" เล่ม 1 หน้า 407-408 ลำดับหะดีษที่ 773

     หะดีษข้างต้นท่านรสูลุลลอฮฺพูดไม่คลุมเครือ, ท่านรสูลกล่าวว่า "วันอะเราะฟะฮฺ" ซึ่งท่านรสูลมิได้กล่าวว่าวันที่ 9 ซุลหิญะฮฺ หากท่านรสูลกล่าวว่า วันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ เราอาจจะอ้างได้ว่า 9 ซุลหิจญะฮฺของประเทศใครประเทศมัน แต่นี้ท่านรสูลกล่าวชัดเจนว่า วันอะเราะฟะฮฺ ซึ่งวันอะเราะฟะฮฺบรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์จะไปรวมตัวกันที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ บางคนจึงเรียกวันอะเราะฟะฮฺว่าวันวุกูฟ (وقوف คือการหยุดพำนัก) ก็มี, เมื่อท่านนบีบอกว่าวันอะเราะฟะฮฺ คำถามต่อมาคือ วันอะเราะฟะฮฺ หรือวันวุกูฟนั้นมีที่ไหนบ้าง? คำตอบคือ เมืองไทยไม่มีวันอะเราะฟะฮฺ หรือวันวุกูฟหรอกนะครับ มีแต่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียวเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อวันอะเราะฟะฮฺมีที่เดียวจึงไม่ต้องแปลกใจ เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องฟังการประกาศวันวุกูฟที่ประเทศซาอุฯ เท่านั้น โดยปีนี้ (2549) ทางรัฐบาลซาอุฯ ประกาศวันวุกูฟ หรือวันอะเราะฟะฮฺตรงกับวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2549

      ประการต่อมา ท่านรสูลุลอฮฺพูดต่อว่า "วันนะหฺริ" คือวันเชือด วันเชือดคือวันอีดิลอัฏฮา หรือวันที่ 10 ซุลหิจะฮฺนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าวันอะเราะฟะฮฺเป็นวันใดวันถัดไปก็เป็นวันอีดิลอัฎฮา (ซึ่งปีนี้วันอีดิลอัฏฮาก็ตรงกับวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 49)

     ประการต่อมา ท่านรสูลุลลอฮฺพูดต่อว่า "วันตัชรีก" คือวันที่ 11,12 และ 13 ซุลหิจญะฮฺ ซึ่งเป็นวันที่ศาสนายังอนุญาตให้เชือดเนื้อกุรฺบานได้ (ซึ่งปีนี้ก็จะตรงกับวันที่ 31 ธ.ค. 49 และวันที่ 1 และ 2 มกราคม 2550)

     ประการต่อมา ท่านรสูลุลลอฮฺก็พูดต่ออีกว่า (วันอะเราะฟะฮฺ,วันอีดิลอัฎฮา และวันตัชรีก) คือวันอีด (วันรื่นเริง) ของพวกเราชาวอิสลาม ซึ่งเป็นที่อนุญาตให้กินให้ดื่มนั่นเอง (ยกเว้นวันอะเราะฟะฮฺที่มีสุนนะฮฺให้ถือศีลอด), พี่น้องมุสลิมทุกท่านครับ สำนวนของหะดีษข้างต้นไม่คลุมเครือเลยแม้แต่น้อย วันอะเราะฟะฮฺ,วันอีดิลอัฎฮา และวันตัชรีกคือวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม ฉะนั้นพูดง่ายๆ ท่านนบีมุหัมมัดระบุว่าให้พี่น้องมุสลิมทั้งหมดที่เป็นประชาชาติของท่านบีมุหัมมัดให้ร่วมกันเฉลิมฉลองวันต่างๆ ข้างต้น ไม่ว่ามุสลิมในประเทศใด,ทวีปใด,ดินแดนใด หากเป็นมุสลิม (อะฮุลอิสลาม) จำเป็นจะต้องออกอีดิลอัฎฮาด้วยความพร้อมเพรียงกันทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นมุสลิมคนใดหรือองค์กรมุสลิมใดที่มีวันอะเราะฟะฮฺไม่ตรงกัน และออกอีดิลอัฎฮาไม่ตรงกันนั้น ต้องชี้แจงแล้วละครับว่าเป็นเพราะสาเหตุใดจึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีมุหัมมัด (صلى الله عليه وسلم ) ?

     อีกหลักฐานหนึ่ง ท่านอบูเกาะตาดะฮฺเล่าว่า " أن رسول الله صلى الله عليه وسلم سئل عن صوم يوم عرفة فقال يكفر السنة الماضية الباقية " ความว่า "ท่านรสูลุลลอฮฺเคยถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ท่านรสูลกล่าวตอบว่า (บุคคลที่ถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ) เขาจะถูกอภัยโทษ (บาปเล็ก) ในปีที่ผ่านมาและในปีถัดไป" (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 1977 และติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 698)

     โปรดสังเกตว่า หะดีษข้างต้นระบุว่า ถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ไม่ใช่ถูกถามว่าถือศีลอดในวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ หากมีผู้ถามว่าถือศีลอดในวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ เราก็ยังพออนุมานได้ว่า วันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺของประเทศใครประเทศมัน แต่นี่ระบุชัดเจนว่า ถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ซึ่งวันอะเราะฟะฮฺมีสถานที่เดียวนั่นคือที่ประเทศซาอุฯ ซึ่งเป็นวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺนั่นแน่นอนครับ แต่เป็นวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺที่ต้องตรงกับวันอะเราะฟะฮฺด้วยเช่นกัน ฉะนั้นประเด็นที่อ้างว่าวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺของแต่ละประเทศก็ถือว่าฟังไม่ขึ้นและไม่มีน้ำหนักที่เพียงพอ
 
     ประการต่อมา ท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
" نهى رسول الله صلى الله عليه وسلم عن صيامين يوم الأضحى ويوم الفطر " ความว่า "ท่านรสูลุลลอฮฺห้ามการถือศีลอด 2 วันด้วยกันคือ วันอีดิลอัฏฮา และวันอีดิลฟิฏริ" (บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 772) สถานะของหะดีษถือว่า เศาะหี้หฺ, อ้างจากหนังสือ " صحيح سنن الترمذي " เล่ม 1 หน้า 407 ลำดับหะดีษที่ 772.

     หะดีษข้างต้นชัดเจนครับว่า ท่านรสูลห้ามถือศีลอดในวันอีดิลฟิฎริ และอีดิลอัฎฮา เมื่อเป็นเช่นนั้นปีนี้ก็จะต้องสับสนแล้วละครับ กล่าวคือ วันอะเราะฟะฮฺตรงกับวันศุกร์ 29 ธันวาคม 2549 และวันอีดิลอัฎฮาตรงกับวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2549 แต่มุสลิมบางกลุ่มในประเทศไทยออกอีดิลอัฎฮาในวันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม 2549 ฉะนั้นหากมุสลิมที่ออกอีดในวันอาทิตย์มีสุนนะฮฺให้ถือศีลอดในวันเสาร์ แต่ไปตรงกับวันอีดิลอัฏฮาของมุสลิมที่ออกตามประเทศซาอุฯได้ประกาศ  ก็เท่ากับว่าบุคคลผู้นั้นฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบีที่ถือศีลอดในวันอีดิลอัฏฮา ซึ่งเป็นวันที่ท่านรสูลห้ามถือศีลอดนั่นเอง  (อีกทั้งผู้ที่จะถือศีลอดในวันเสาร์จะเนียตวันถือศีลอดสุนนะฮฺวันอะเราะฟะฮฺก็ไม่ได้ เพราะถือศีลอดไม่ตรงกับวันอะเราะฟะฮฺที่ประเทศซาอุฯ ซึ่งเป็นวันศุกร์)

     ประเด็นคำถาม อาจจะมีผู้กล่าวอ้างว่า "มุสลิมในประเทศไทยรอฟังการกำหนดวันอะเราฟะฮฺ หรือวันวุกูฟที่ประเทศซาอุฯ นั่นย่อมหมายความว่า มุสลิมทำอิบาดะฮฺตามคำสั่งของประเทศซาอุฯ ซึ่งอันนี้ก็ไม่มีข้อบัญญัติในศาสนาไว้เลยมิใช่หรือ?"

     คำตอบคือ ข้ออ้างข้างต้นถือว่าไม่มีน้ำหนักที่เพียงพอนะครับ กล่าวคือการที่เรายึดถือวันอะเราะฟะฮฺ (วันวุกูฟ) หรือวันสำคัญอื่นๆ ในศาสนานั้นเนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่ระบุไว้ในหะดีษเศาะหี้หฺซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ด้วยสถานที่ซึ่งเรียกว่าอะเราะฟะฮฺมีแห่งเดียวบนโลกดุนยานี้คือ มีที่ประเทศซาอุฯ เท่านั้น เราจึงต้องฟังการประกาศจากรัฐบาล หรือองค์กรสูงสุดที่ชี้ขาดเกี่ยวกับศาสนาของประเทศซาอุฯ ว่าประกาศวันอะเราะฟะฮฺตรงกับวันไหน ไม่ใช่เราตามประเทศซาอุฯ  ซึ่งประเทศซาอุฯ ไม่ได้บัญญัติให้บุคคลใดถือศีลอด, นมาซอีด หรือเชือดกุรฺบาน แต่สิ่งข้างต้นที่เรียกว่าอิบาดะฮฺนั้น พระองค์อัลลอฮฺทรงเป็นผู้กำหนดไว้แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น 

     ประเด็นต่อมา อาจมีบางคนอ้างว่า "เรานมาซอีดิลอัฏฮาตามมักกะฮฺได้อย่างไร เพราะเวลาต่างกันตั้งหลายชั่วโมง?"

     คำตอบคือ คำกล่าวอ้างข้างต้นนั้นไม่ถูกประเด็นนะครับ วันอะเราะฟะฮฺ หรือวันอีดิลอัฏฮาถูกระบุในเรื่องของ "วัน" ไม่ใช่พูดประเด็นของ "เวลา"  อนึ่ง เวลาของการนมาซเราก็พูดไปตามท้องถิ่นนั้นๆ เช่นได้เวลาดวงอาทิตย์ตกดินเราก็นมาซมัฆริบ นี่เราพูดถึงเวลา อย่าว่าแต่ประเทศซาอุฯ เลยครับ แม้แต่เวลานมาซในประเทศไทยยังไม่ตรงกันเลยนะครับ เช่นเวลานมาซมัฆริบของมุสลิมกรุงเทพฯ กับมุสลิมภาคใต้ก็ไม่ตรงกัน ต่างกันก็ตั้งหลายนาที ฉะนั้นโปรดเข้าใจใหม่ว่า เรื่องวันอีดิลอัฏฮานั้นจะต่างกันก็เพียงแค่เวลา ส่วนเรื่องวันนั้นไม่ต่างกัน

     ประเด็นต่อมา  อาจมีบางคนตั้งคำถามว่า "ศาสนากำหนดวันอีดทั้งสองในครั้งที่ท่านนบีมุหัมมัดฮิจญ์เราะฮฺ (อพยพ) มายังนครมะดีนะฮฺใหม่ๆ ส่วนวันอะเราะฟะฮฺเพิ่งจะมาบัญญัติทีหลัง จึงถือว่าวันอะเราะฟะฮฺไม่เกี่ยวกับวันอีดิลอัฏฮาเลยนี่?"

     คำตอบคือ ประการแรก โปรดเข้าใจก่อนว่า เรื่องของหัจญ์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยนบีอิบรอฮีมแล้วนะครับ  อีกทั้งนักวิชาการก็ระบุว่า เรื่องของหุกุมหัจญ์นั้นถูกประทานมาก่อนแล้ว ส่วนที่ท่านนบียังไม่ได้ประกอบพิธีหัจญ์ในช่วงแรกนั้น อาจจะะมีสาเหตุอันจำเป็น ส่วนจะเป็นสาเหตุใดนั้น วัลลอฮุอะอฺลัม (พระองค์อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง)

     ประการที่สอง ความจริงเรื่องสิ่งที่ถูกประทานมาทีหลังนั้นย่อมเป็นการยืนยันในสิ่งที่ผ่านมา แม้ว่าวันอะเราะฟะฮฺจะมาทีหลังก็ตาม แต่เมื่อวันอีดิลอัฏฮาถูกกำหนดให้อยู่หลังวันอะเราะฟะฮฺนั่นก็เท่ากับว่า เป็นบทบัญญัติที่ท่านรสูลสั่งใช้ให้เราปฏิบัติตามสุนนะฮฺดังกล่าวนั่นเอง ตัวอย่างเช่น
     ช่วงแรกของการเผยแพร่อิสลามท่านนบีกล่าวว่า " من قال لا إله إلا الله دخل الحنة " ความว่า บุคคลใดที่กล่าว ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ ได้เข้าสวรรค์" (บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่  2562) ซึ่งท่านซุฮฺรีย์ถูกถามเกี่ยวกับคำพูดของท่านรสูลุลลอฮฺที่กล่าวว่า " من قال لا إله إلا الله دخل الحنة " ความว่า บุคคลใดที่กล่าว ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ ได้เข้าสวรรค์" เขากล่าวว่า " إنما كان هذا في أول الإسلام قبل نزول الفرائض والإمر النهي" ความว่า " แท้จริงหะดีษข้างต้นถูกกล่าวในช่วงแรกของอิสลามก่อนการประทานสิ่งที่เป็นฟัรฺฎุและคำสั่งห้าม (ต่างๆ) ของศาสนา" (บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 2562 และอะหฺมัด หะดีษที่ 21572)

     จากหะดีษที่กล่าวมาข้างต้นพอสรุปได้อย่างชัดเจนแล้วว่า วันอะเราะฟะฮฺ จะต้องฟังการประกาศจากประเทศซาอุดิอาระเบียเท่านั้นเพราะมีสุนนะฮฺให้มุสลิมทั่วไปถือศีลอดตรงกับวันอะเราะฟะฮฺ และวันอีดิลอัฏฮานั้นเป็นวันอีดของพวกเรา หมายถึงมุสลิมทั้งหมดที่เป็นประชาชาติของท่านนบีมุหัมมัดซึ่งออกอีดโดยพร้อมเพรียงกัน. والله أعلم
     
 ไม่ปฏิบัติตามผู้นำผิดจริงหรือ ?

      ประเด็นต่อมาคือ หากการประกาศวันอะเราะฟะฮฺ และวันอีดิลอัฏฮาไม่ตรงกับผู้นำมุสลิมของประเทศนั้นๆ การประกาศวันอะเราะฟะฮฺและวันอีดิลอัฎฮานั้นเราจะไม่ปฏิบัติตามได้หรือไม่ เช่น ไม่ปฏิบัติตามผู้นำมุสลิมในประเทศไทยเป็นต้น?
      เหตุผลที่ไม่ปฏิบัติตามที่ท่านจุฬาราชมนตรีประกาศวันอีดิลอัฎฮา มีเหตุผมดั่งนี้ครับ
     1. สำนวนที่กล่าวว่า " มุสลิมอยู่ในประเทศไหนๆ ต้องตามผู้นำประเทศนั้นๆ " ต้องถามก่อนนะครับว่า ผู้นำประเทศมุสลิมนั้นๆ ที่เราจะต้องปฏิบัติตามเขานั้น เป็นผู้นำประเภทไหน? หากเป็นผู้นำอย่างประเทศซาอุดิอาระเบีย นั่นแน่นอนครับที่เราต้องตาม เพราะผู้นำของเขามีอำนาจสั่งการต่างๆ เช่นสั่งการให้ลงโทษผู้ที่กระทำความผิดหลักการของศาสนา เช่น หากทำซินา ก็ให้เฆี่ยนเป็นต้น เช่นนี้ไม่ตามไม่ได้ครับ วาญิบต้องตามครับ, แต่ผู้นำมุสลิมในเมืองไทยเป็นผู้นำที่ทางรัฐบาลกำหนดให้มีตำแหน่งผู้นำมุสลิมโดยให้ชื่อว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำมุสลิมที่ไม่สามารถออกกฎหมายหรือลงโทษผู้หนึ่งผู้ใดหากใครทำผิดหลักการของศาสนา ผู้นำประเภทนี้ไม่วาญิบต้องตามนะครับ อีกทั้งทางรัฐบาลยังกำหนดบทบาทของตำแหน่งจุฬาราชมนตรีไว้แค่เป็นผู้นำของปวงมุสลิมในประเทศไทย และเป็นผู้ประกาศการเห็นดวงจันทร์เท่านั้นนะครับ ส่วนการยกหลักฐานหะดีษของท่านรสูลุลลอฮฺที่กล่าวว่า " إنما جعل الإمام ليؤتم به "  ความว่า "แท้จริงอิมามถูกแต่งตั้ง (นำนมาซ) เพื่อถูกตาม" (บันทึกโดยมุสลิม) เป็นเรื่องหน้าที่ของอิมามนำนมาซฟัรฺฎูไม่ใช่ ผู้นำประเทศ หรือ ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งการตามจุฬาราชมนตรีแม้แต่น้อยนะครับคนละประเด็นกัน, ถ้าหากนำหะดีษข้างต้นมาเป็นหลักฐานอ้างอิงว่าจะต้องตามผู้นำในเมืองไทยแล้วไซร้ ถ้าเช่นนั้นสมมติว่า ท่านจุฬาฯ หรือสำนักจุฬาราชมนตรีของเราไปออกตราหะลาล (حلال) ให้กับยาดองเหล้ายี่ห้อหนึ่ง (สมมตินะครับ)  ถามว่ามุสลิมในประเทศไทยสามารถซื้อยาดองเหล้ายี่ห้อนั้นมาดื่มได้หรือไม่? ถ้าเราบอกว่าเราตามผู้นำ หรือตามสำนักจุฬาราชมนตรีเราก็ต้องซื้อมาดื่มนะซิครับ ทั้งๆ ที่รู้ว่ายาดองเหล้านั้น เป็นเหล้าชนิดหนึ่ง ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เมื่อเป็นสิ่งมึนเมาศาสนาถือว่าหะรอม (حرام), ฉันใดก็ฉันนั้น วันวุกูฟ หรือวันอะเราะฟะฮฺมีอยู่ที่เดียวบนโลกดุนยานี้เท่านั้น เมื่อทางรัฐบาลซาอุฯ ประกาศว่าวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2549 ตรงกับวันอะเราะฟะฮฺ อีกทั้งสุนนะฮฺของท่านนบีก็กำชับให้ถือศีลอดในวันดังกล่าว ถัดจากวันดั่งกล่าวก็เป็นวันอีดิลอัฎฮา การที่เราทำเช่นนี้เราทำตามตัวบทหลักฐาน (ดั่งที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น) ปฏิบัติสุนนะฮฺของท่านนบีทุกประการ เมื่อทำตามหลักการข้างต้นแล้วจะไม่ตรงกับคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีก็ไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะหลักการของศาสนาจะต้องมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
     ตัวอย่างการไม่ปฏิบัติผู้นำโดยเห็นว่าคำสั่งของผู้นำที่ขัดกับหลักการของศาสนา หรือมีทัศนะไม่ตรงกับผู้นำ
     "ท่านอิมามอะหฺมัด อิบนุฮัมบัล เป็นอุละมาอฺหนึ่งในสี่มัซฮับโดยรู้จักในนาม "มัซฮับฮัมบะลีย์" ท่านอิมามอะหฺมัดอยู่ในยุคของเคาะลีฟะฮฺอัลมะมูน แห่งราชวงศ์อัลอับบาสียะฮฺ ซึ่งยึดมั่นในมัซฮับมุอฺตะซิละฮฺ โดยเขามีความคิดว่า อัลกุรฺอานคือมัคลูกฺ ( مخلوق  สิ่งถูกสร้าง) แล้วเขาก็นำเสนอแนวคิดข้างต้นให้กับประชาชาน และบรรดาอุละมาอฺในยุคนั้น จนกระทั่งอุละมาอฺในยุคนั้นต่างพากันเห็นด้วยในแนวคิดของเคาะลีฟะฮฺท่านนั้น โดยเขาส่งสาส์นไปยังบรรดาอุละมาอฺในยุคนั้น เหล่าบรรดาอุละมาอฺในยุคนั้นต่างก้มหัวและยอมรับความคิดเห็นของเคาะลีฟะฮฺท่านนั้นด้วยความเกรงกลัวอำนาจและอิทธพล รวมทั้งเกรงว่าจะถูกทรมารถ้าหากแสดงความเห็นใดๆ ไปในทำนองคัดค้านออกมา, ส่วนท่านอิมามอะหฺมัดกลับปฏิบัติตรงกันข้าม กล่าวคือ อิมามอะหฺมัดปฏิเสธไม่ยอมน้อมรับความเห็นเช่นนั้น โดยยืนหยัดอยู่บนแนวทางอันเที่ยงตรงและถูกต้อง โดยไม่หวาดเกรงต่ออำนาจอิทธิพลใดๆ ของเคาะลิฟะฮฺท่านนั้น ท่านอิมามอะหฺมัดยังคงยืนยันว่า อัลกุรฺอานนั้นคือ กะลามุลลอฮฺ ( كلام الله ) กล่าวคือ คัมภีร์อัลกุรฺอ่าน คือคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ ฉะนั้นอัลกุรฺอานจึงไม่ใช่สิ่งถูกสร้างจากอัลลอฮฺ เพราะหากเข้าใจเช่นนั้นเป็นการเข้าใจที่ผิดไปจากอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง , เมื่อเคาะลิฟะฮฺทราบเรื่องก็สั่งให้จับกุมท่านอิมามอะหฺมัด แต่ระหว่างการคุมตัวอยู่นั้น เคาะลีฟะฮฺมะมูนก็สิ้นชีวิตเสียก่อน, แต่ลูกชายของเขาคือมะอฺตะซิมเป็นผู้ตัดสินอิมามอะหฺมัดแทนพ่อของเขา โดยพ่อของเขาได้สั่งเสียไว้เช่นนั้น , ครั้นเคาะลีฟะฮฺมะอฺตะซิมสอบถามท่านอิมามอะหฺมัดถึงอัลกุรฺอานว่าเป็นอะไร? ท่านอิมามก็ยืนยันเช่นเดิมว่า อัลกุรฺอานคือ คำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ, เมื่อเคาะลีฟะฮฺรู้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนใจอิมามอะหฺมัดได้เลย, เขาจึงสั่งเฆี่ยนท่านอิมามอะหฺมัดจนสลบหมดสติ กระทำเช่นนั้นอยู่หลายครั้ง แล้วยังคุมขังอิมามอะหฺมัดเป็นเวลานานถึง 2 ปี 6 เดือน แล้วพวกเขาจึงปล่อยอิมามอะหฺมัดเป็นอิสระ" หวังว่าตัวอย่างของท่านอิมามอะหฺมัด บุตรของฮัมบัลจะทำให้มุสลิมในเมืองไทยแยกแยะออกนะครับว่า ระหว่างคำสั่งของผู้นำ กับความถูกต้องของหลักการศาสนาเราจะเลือกสิ่งไหน?     
     ส่วนที่อ้างว่าผู้นำยึดถือมัซฮับใด หรือตัดสินปัญหาใด มุสลิมในประเทศนั้นต้องปฏิบัติเพราะความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ถ้าเช่นนั้นช่วยยกตัวบทหลักฐานจากอัลกุรฺอาน หรือหะดีษให้ผมฟังหน่อยซิครับว่า วาญิบต้องตามมัซฮับเหมือนผู้นำประเทศ หากมีหลักฐานผมคนหนึ่งจะปฏิบัติเช่นนั้น หากไม่มีแล้วมากล่าวลอยๆ ให้ชาวบ้านหลงเชื่อได้อย่างไร?, อีกทั้งเจ้าของมัซฮับเองยังบอกเลยว่า อย่ามาตามฉัน หากฉันพูดขัดกับสุนนะฮฺของท่านนบีก็ให้ยึดสุนนะฮฺของท่านนบีไว้และละทิ้งคำพูดของฉันเสีย. ใช่แต่เท่านั้น พระองค์อัลลอฮฺตรัสไว้ในอัลกุรฺอานว่า "ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรสูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย, แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งหนึ่ง ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและรสูล" (สูเราะฮฺอันนิสาอฺ : 59) โปรดพิจารณาคำสั่งของอัลลอฮฺนะครับ พระองค์ตรัสว่า หากพวกเราขัดแย้งกันในเรื่องหนึ่ง ให้นำเรื่องนั้นไปกลับไปหาอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ ทั้งๆ ที่สำนวนอัลกุรฺอ่านก่อนหน้านี้กล่าวถึงให้เชื่อฟังอัลลอฮฺ, เชื่อฟังรสูล และให้ปฏิบัติตามผู้นำ แต่พอมีปัญหาพระองค์อัลลอฮฺทรงให้บ่าวของพระองค์กลับไปหาอัลลอฮฺ และรสูลเท่านั้นไม่พูดถึงผู้นำแม้แต่น้อย เพราะผู้นำเป็นมนุษย์อาจจะฟัตวา (ตัดสินปัญหา) โดยตัดสินเข้าข้างตนเอง หรือพรรคพวกของตนเองก็ได้, ฉะนั้นการอ้างอิงผิดที่จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดอย่างไม่ต้องสงสัยนะครับ
     2. พระองค์อัลลอฮฺตรัสไว้ในอัลกุรฺอานว่า "ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรสูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย, แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งหนึ่ง ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและรสูล" (สูเราะฮฺอันนิสาอฺ : 59) ดังนั้น ผู้นำจะต้องเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรสูลซึ่งเป็นเงื่อนไขของผู้นำมุสลิม, ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า " لا طاعة لمخلوق في معصية الخالق" ความว่า "ไม่มีการเชื่อฟังในเรื่องการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ" (บันทึกโดยอะหฺมัด) ฉะนั้นผู้ตามไม่อนุญาตให้ตามผู้นำที่สั่งใช้ในเรื่องที่ขัดกับหลักการของศาสนาอย่างแน่นอน นี่คือประเด็นหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของการตาม, ส่วนกรณีที่ท่านจุฬาราชมนตรีประกาศว่าวันอีดิลอัฎฮา (ปี 2549) ตรงกับวันอาทิตย์นั้น ผมขอชี้แจงดั่งนี้ว่า ไม่มีจุฬาราชมนตรีท่านใดครับ แม้กระทั่งจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบันที่ระบุว่า พี่น้องมุสลิมทุกคนในประเทศไทยต้องเข้าบวชหรือออกบวชตรงกับสำนักจุฬาราชมนตรี หรือต้องนมาซอีดิลอัฎฮาตรงกับสำนักจุฬาฯ ไม่ได้มีข้อบังคับเช่นนั้น เพราะอะไร? เพราะท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวไว้ว่า " يوم عرفة ويوم النحر وأيام التشريق عيدنا أهل الإسلام وهي أيام أكل وشرب " ความว่า "วันอะเราะฟะฮฺและวันนะหฺริและวันตัชรีก คือวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม คือวันแห่งการกินและการดื่ม" (บันทึกโดยใครนั้นอ้างแล้วก่อนหน้านี้) เมื่อวันอีดิลอัฎฮาเป็นวันอีดสำหรับมุสลิมทุกคนซึ่ง เป็นคำสอนของท่านนบีมุหัมมัดที่ชัดเจนที่สุดอีกทั้งยังมีหลักฐานสนับสนุนอีกจำนวนมากซึ่งอ้างมาแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อหลักฐานยืนยันชัดเจนเยี่ยงนั้น ไม่มีความจำเป็นอีกแล้วสำหรับมุสลิมที่จะไปเลือกแนวทางอื่นมาปฏิบัติ ด้วยเหตุผลข้างต้น เราก็ปฏิบัติตามตัวบทของหะดีษข้างต้นที่ว่าไว้ด้วยการรับฟังการประกาศวันอะเราะฟะฮฺ และวันอีดิลอัฎฮาดั่งที่ศาสนาระบุไว้นั้น แม้ว่าการประกาศนั้นจะไม่ตรงกับสำนักจุฬาก็ตามเถิด ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่เราจะปฏิบัติตามศาสนาที่เรายึดว่านั่นคือความเข้าใจที่ใกล้เคียงถูกต้องตรงกับสุนนะฮฺมากที่สุด แล้วมากล่าวหาเราว่าไม่เชื่อฟังผู้นำ ซึ่งคนละประเด็นกัน ต้องย้ำว่า คนละเรื่องกันเลยครับ ส่วนการไปเปรียบเทียบกับอิมามนำนมาซก็เป็นอีกประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เพราะสิ่งที่เรากล่าวถึงคือเราต้องการปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องตรงกับสุนนะฮฺของท่านรสูลให้มากที่สุดเท่านั้นเอง ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมจะยอมเชื่อฟังผู้นำเพียงเพราะความสามัคคีแต่เรื่องความถูกต้องตรงกับสุนนะฮฺของท่านนบีฉันไม่ต้องพิจารณา หรือฉันให้ความสำคัญความถูกต้องนั้นเป็นอันดับรอง. والله أعلم بالصواب والسلام

ออฟไลน์ al-azhary

  • ผู้มีอิทธิพล (~_-)
  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 6202
  • เพศ: ชาย
  • อัลเลาะฮ์เท่านั้นที่มีอยู่จริง
  • Respect: +272
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.sunnahstudents.com
อยากให้วิเคราะห์หน่อย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เม.ย. 19, 2007, 08:20 AM »
0
คุยกับกลุ่มที่ไม่มีผู้นำ ไม่ให้เกียรติผู้นำ  วิจารณ์ผู้นำ  มันน่าหดหู่ครับ  แล้วผู้เขียนนี้ สมควรจะถูกพวกเราวิจารณ์ไหมครับ
أُحِبُّ الصَّالِحِيْنَ وَلَسْتُ مِنْهُمْ     لَعَلَّ اللهَ يَرْزُقُنِيْ صَلاَحاً

ออฟไลน์ sookson

  • เพื่อนแรกพบ (^^)/
  • *
  • กระทู้: 3
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อยากให้วิเคราะห์หน่อย
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: เม.ย. 21, 2007, 10:02 AM »
0
ก็แค่อยากรู้ความคิดเห็นของพวกบังเท่านั้น...เพราะมันเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้นสักทีเห็นพี่น้องมุสลิมแตกแยกกันแล้วปวดหัวทุกที  เมื่อไรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสักที
อยากฟังความคิดเห็นในเชิงวิชาการ...ไม่ได้มีเจตนาจะวิจารย์ใคร

ออฟไลน์ al-azhary

  • ผู้มีอิทธิพล (~_-)
  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 6202
  • เพศ: ชาย
  • อัลเลาะฮ์เท่านั้นที่มีอยู่จริง
  • Respect: +272
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.sunnahstudents.com
อยากให้วิเคราะห์หน่อย
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: เม.ย. 21, 2007, 10:45 AM »
0
ก็แค่อยากรู้ความคิดเห็นของพวกบังเท่านั้น...เพราะมันเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้นสักทีเห็นพี่น้องมุสลิมแตกแยกกันแล้วปวดหัวทุกที  เมื่อไรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสักที
อยากฟังความคิดเห็นในเชิงวิชาการ...ไม่ได้มีเจตนาจะวิจารย์ใคร

หากยังไม่มีใครมาร่วมวิจารณ์ก็ ดูการอธิบายของบังมุฮิบไปพลาง ๆ ก่อนนะครับ ว่าง ๆ สำหรับกระทู้นี้  ค่อยนำมาอ้างอิงเสวนาทบทวน  อินชาอัลเลาะฮ์
أُحِبُّ الصَّالِحِيْنَ وَلَسْتُ مِنْهُمْ     لَعَلَّ اللهَ يَرْزُقُنِيْ صَلاَحاً