سْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
กรณีการรีบจ่ายซะก๊าตดังกล่าว ทางที่ดียิ่งแล้วสมควรออกซะกาตเมื่อครบรอบปี แต่ก็อนุญาตให้ทำการออกซะกาตก่อนครบรอบปีได้ เพราะเงินหนึ่งแสนบาทนั้นถือว่าครบพิกัดสำหรับการออกซะกาตเงินแล้ว และเงินก็จะต้องอยู่คงเดิมไม่นำไปใช้ลงทุนในกิจการอื่น ๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
เมื่อเจ้าของซะก๊าตต้องการจ่ายซะก๊าตก่อนถึงกำหนด ให้พิจารณาดังนี้
ถ้าหากได้จ่ายซะก๊าตไปก่อนที่จะครอบครองทรัพย์ถึงพิกัด การจ่ายซะก๊าตนั้นใช้ไม่ได้ และทรัพย์ที่จ่ายไปนั้นไม่ตกเป็นซะก๊าต , ส่วนการจ่ายซะก๊าตภายหลังครบพิกัดแล้ว แต่ก่อนครบรอบปีนั้น มีผลใช้ได้ และทรัพย์ที่จ่ายไปนั้นถือว่าเป็นตกเป็นซะก๊าต หมายความว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายซะก๊าตอีก เมื่อครบรอบปี
หลักฐานในเรื่องดังกล่าว คือฮะดีษอะบีดาวูด (1624) และติรมีซี (678) และอิบนุมาญะห์ (1795) ได้รายงานว่า
عَنْ عَلِىٍّ أَنَّ الْعَبَّاسَ سَأَلَ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِيْ تَعْجِيْلِ صَدَقَتِهِ قَبْلَ أَنْ تَحِلَّ فَرَخَّصَ لَهُ فَيٍ ذَلِكَ
"จากท่านอะลี แท้จริงท่านอัลอับบาสได้ถามท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเรื่องการรีบจ่ายซะก๊าตก่อนครบรอบปี ท่านได้ผ่อนผันให้ท่านอัลอับบาสในเรื่องดังกล่าว" ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวว่า สายรายงานฮะดีษฮะซัน (อัลมัจญฺมั๊วะ 6/145)
เงื่อนไขการจ่ายซะก๊าตก่อนกำหนด
เมื่อได้จ่ายซะก๊าตของตนไปแล้วก่อนกำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายอีกเมื่อครบปี โดยต้องมีเงื่อนไขต่อไปนี้
เงื่อนไขข้อที่หนึ่ง : เจ้าของซะก๊าตต้องมีคุณสมบัติตามที่ศาสนากำหนดบังคับให้จ่ายซะก๊าตอยู่จนถึงปลายปี, ถ้าหากขาดคุณสมบัติ เช่นตายก่อนที่จะครอบครองทรัพย์ได้รอบปี ก็ไม่ถือว่าทรัพย์ที่จ่ายไปแล้วนั้นเป็นซะก๊าต
เงื่อนไขข้อที่สอง : ทรัพย์ของเขา(คือผู้รีบออกซะก๊าต)ต้องอยู่(ครบถึงพิกัด)เช่นเดิมจนครบปี ถ้าหากทรัพย์เกิดเสียหายหรือขายไป(หมายถึงทรัพย์ที่ไม่ใช่สินค้า) ทรัพย์ที่จ่ายไปก่อนกำหนดนั้น ไม่ถือว่าเป็นซะก๊าต และเขามีสิทธิ์เรียกร้องเอาคืน หากได้แจ้งแก่ผู้รับไว้ว่าเป็นซะก๊าตที่จ่ายก่อนกำหนด
เงื่อนไขข้อที่สาม : ผู้รับซะก๊าตก่อนกำหนดจะต้องมีคุณสมบัติมีสิทธิ์ได้รับทรัพย์ซะก๊าตจนถึงปลายปี ดังนั้นหากผู้รับซะกาตขาดคุณสมบัติในความเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับซะก๊าตก่อนสิ้นปี เช่น ร่ำรวยหรือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม เป็นต้น ก็จะไม่ถือว่าสิ่งที่ได้จย่ายไปนั้นเป็นซะก๊าต และเจ้าของซะก๊าตจำเป็นต้องจ่ายซะก๊าตอีกครั้งหนึ่ง โดยให้พิจารณาดังนี้ : หากเจ้าของซะก๊าตพูดขึ้นขณะจ่ายว่า : นี่คือซะก๊าตของฉัน เขาย่อมมีสิทธิ์เรียกร้องเอาสิ่งที่ให้ไปคืนมาได้ และถ้าหากเขาไม่ได้พูดเช่นนั้น ก็ไม่มีสิทธิ์เอาอะไรคืนเลย
อ้างอิงสรุปเล็กน้อย จากหนังสืออัลฟิกห์อัลมันฮะญีย์ 1/315-316 , หนังสืออัลฟิกห์ (ฉบับภาษาไทย) หน้า 2/67-68 โดยท่านอาจารย์ อรุณ บุญชม , ทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ อัลมัจญฺมั๊วะ 6/145 - 161 ดารุลฟิกร์ ของท่านอิมามอันนะวาวีย์
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ