การไม่ให้คือการให้
رُبَّمَا أَعْطَاكَ فَمَنَعَكَ، وَرُبَّمَا مَنَعَكَ فَأَعْطَاكَ
“บางครั้งการที่พระองค์ทรงให้ท่าน คือการที่พระองค์ก็ทรงไม่ให้ท่าน, และบางครั้งพระองค์ทรงไม่ให้ท่าน ก็คือการที่พระองค์ทรงให้ท่าน”
เป้าหมายของท่านอิบนุอะฏออิลลาฮ์ ร่อฮิมะฮุล ลอฮ์ ในการไม่ให้ของพระองค์นั้น คือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดุนยาไม่ใช่เรื่องของศาสนา
ดังนั้นฮิกัมนี้ ทำให้เรารู้ถึงข้อเท็จจริง 2 ประการ:
ข้อเท็จจริงที่หนึ่ง: ผู้เป็นบ่าวต้องมอบความปรารถนาและความเกรงกลัวของเขาทั้งหมด ไปยังอัลเลาะฮ์ตะอาลา ด้วยการรู้อย่างมั่นใจว่า การมีชีวิตอยู่ที่สุขสบายและปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุข ทั้งหมดมาจากอัลเลาะฮ์ตะอาลา และเขาต้องรู้อย่างมั่นใจว่า ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความโศกเศร้า ก็มาจากอัลเลาะฮ์ตะอาลา เช่นเดียวกัน
ข้อเท็จจริงที่สอง: ผู้เป็นบ่าวต้องมั่นใจว่า อัลเลาะฮ์ตะอาลา ทรงทำให้บ่าวมีความสุขและความทุกข์ด้วยพระองค์เองโดยตรง โดยไม่ต้องการสื่อใด ๆ
ดังนั้น เมื่อบ่าวได้ประดับประดาจิตใจด้วยความเชื่อมั่นดังกล่าวนี้ การให้ของอัลเลาะฮ์ก็จะไม่ทำให้เขาเจ็บปวด และการไม่ให้ของพระองค์ไม่ทำให้เขาต้องหวาดกลัวและมีความยากลำบาก เพราะเขามีความไว้ใจต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลาอย่างเต็มเปี่ยมว่า บางครั้งพระองค์จะทำให้บ่าวมีความสุขโดยมิต้องประทานให้ตามที่บ่าวต้องการ และบางครั้งพระองค์ทำให้บ่าวมีความทุกข์ด้วยการให้ตามที่บ่าวต้องการ
สมมุติว่าพระองค์ทรงประทานทรัพย์สินแก่ท่านตามต้องการหรือมากกว่าที่คาดไว้ หลังจากนั้นพระองค์ได้ทำให้ทรัพย์สินและความสุขสบายเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายแก่ร่างกายและที่อยู่อาศัย หรือการมีทรัพย์สินอันมากมายเป็นตัวผลักดันให้เกิดความพะวง กลัดกลุ้ม และเศร้าหมองในจิตใจ ดังนั้นการให้ของอัลเลาะฮ์นี้ทำให้อยู่ในความทุกข์หรือไม่?
สมมุติว่า อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ประทานให้ท่านได้รับภาระหน้าที่ตามที่ท่านปรารถนาหรือได้รับตำแหน่งตามที่มุ่งหวังไว้ หลังจากนั้นท่านต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ยากแก่การแก้ไขหรือต้องเผชิญกับผู้ที่คอยกลั่นแกล้งและประสงค์ร้าย ดังนั้นภาระหน้าที่หรือตำแหน่งที่ท่านปรารถนาทำให้ท่านตกอยู่ในความทุกข์หรือไม่?
ดังนั้นสิ่งที่ท่านเห็นว่าเป็นการไม่ให้ของอัลเลาะฮ์เพียงผิวเผิน แต่ในแก่นแท้ของความเป็นจริงมันคือการให้ของพระองค์
ข้อเท็จจริงนี้ อัลกุรอานได้ยืนยันแก่เราด้วยคำตรัสของพระองค์ที่ว่า
فَأَمَّا الْإِنسَانُ إِذَا مَا ابْتَلَاهُ رَبُّهُ فَأَكْرَمَهُ وَنَعَّمَهُ فَيَقُولُ رَبِّي أَكْرَمَنِ وَأَمَّا إِذَا مَا ابْتَلَاهُ فَقَدَرَ عَلَيْهِ رِزْقَهُ فَيَقُولُ رَبِّي أَهَانَنِ كَلَّا
“ส่วนมนุษย์นั้น เมื่อพระเจ้าของเขาทรงทดสอบเขาโดยทรงให้เกียรติเขา และทรงโปรดปรานเขา เขาก็จะกล่าวว่า พระเจ้าของฉันทรงยกย่องฉัน แต่ครั้นเมื่อพระองค์ทรงทดสอบเขา ทรงให้การครองชีพของเขาเป็นที่คับแคบแก่เขา เขาก็จะกล่าวว่า พระเจ้าของฉันทรงเหยียดหยามฉัน ซึ่งมิใช่เช่นนั้นดอก” [อัลฟัจญฺริ: 15-16]
หมายถึง สภาพของมนุษย์มากมาย จะผูกติดอยู่กับปัจจัยทางภายนอก พวกเขาเห็นว่า ยศตำแหน่งและทรัพย์สินหรือความต่ำต้อยและความยากจน เป็นบ่อเกิดของความสุขหรือทำให้พวกเขาหวาดกลัว ดังนั้นเขาจึงมีความดีใจที่ได้รับปัจจัยอำนวยสุขโดยคิดว่ามันเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขสบายและเขารู้สึกอึดอัดใจหากได้รับสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งดังกล่าวพร้อมกับคิดว่ามันเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ หลังจากนั้นพระองค์ทรงโต้ตอบความนึกคิดของพวกเขาว่า “หาใช่เป็นเช่นนั้นไม่” หมายถึง สิ่งดังกล่าวไม่ได้เป็นเหมือนกับสิ่งที่พวกเจ้าคิด เพราะแท้จริงการให้ของพระองค์นั้น อาจจะเป็นความต่ำต้อยและความทุกข์ และบางครั้งการไม่ให้อาจจะเป็นการเอาใจใส่ของพระองค์และทำให้มีความสุข ดังนั้นเป็นสิทธิ์ของอัลเลาะฮ์ที่จะทรงสร้างมูลเหตุต่างๆ ตามสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ เนื่องจากมูลเหตุต่าง ๆ เหล่านั้นมิใช่ทำให้เกิดผลด้วยตัวของมันเองจนทำให้มนุษย์ยึดมันมาเป็นบรรทัดฐาน แต่ทว่ามันเป็นเพียงแค่การสรรค์สร้างของอัลเลาะฮ์ตะอาลาเพื่อสนองการกำหนดหรือการรอบรู้ของพระองค์ที่มีมาตั้งแต่เดิม
ดังนั้นความหมายของฮิกัมนี้ที่จะมาขัดเกลาจิตใจ คือ มนุษย์ถูกผูกด้วยสายเชือกของความหวังและความเกรงกลัวอัลเลาะฮ์ตะอาลา โดยมิให้อันหนึ่งอันใดเหลื่อมล้ำกัน
ดังกล่าวหมายถึงให้เขามีความเชื่อมั่นว่า มูลเหตุต่างๆ ที่ซ่อนเร้นหรือปรากฎต่อหน้าเขานั้น ไม่มีคุณค่าใดๆ ในตัวของมันเองตามที่อุลามาอฺอะกีดะฮ์ได้กล่าวไว้ แต่พระองค์ทรงสร้างผลลัพธ์และคุณค่าให้เกิดขึ้นมาเองต่างหาก บางครั้งอัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงสร้างความเลวร้ายต่างๆ ที่เขาได้เห็น เป็นสาเหตุให้ได้มาซึ่งความดีงาม และบางครั้งพระองค์ทรงบันดาลความสุขสบายที่ท่านได้เห็น เป็นสาเหตุของความเลวร้าย
ดังนั้น มีมนุษย์เท่าไหร่แล้วที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงประทานทรัพย์สินอันมากมายแก่พวกเขา แต่ทว่าทรัพย์สินนั้นกลับกลายเป็นความวิบัติแก่พวกเขา และเท่าไหร่แล้วบรรดาพ่อค้า ที่พวกเขาต่างลงทุนเพื่อผลกำไรอันมากมาย ดังนั้นมูลเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ย่อมอยู่ในการกำหนดหรืออยู่ในความรู้ของอัลเลาะฮ์ตะอาลามาตั้งแต่เดิมว่า เขาจะมีการขาดทุน
และมีมนุษย์เท่าไหร่แล้วที่ตลอดเวลาอัลเลาะฮ์ไม่ให้ตามที่เขาต้องการ แต่ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นความดีงามและเป็นการให้ของพระองค์อย่างแท้จริง
แม้กระนั้น ฮิกัมนี้ก็มิได้เรียกร้องให้ละเลยในเรื่องการกระทำงานประกอบอาชีพโดยยึดการกำหนดหรือการรู้ของอัลเลาะฮ์ตะอาลาที่มีมาตั้งแต่เดิม เพราะถ้าหากการละเลยในการทำงานหรือประกอบอาชีพเป็นสิ่งที่อนุมัติในการดำเนินชีวิตของมนุษย์แล้ว มูลเหตุทั้งหลายย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ แต่อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงบัญญัติและสั่งใช้ให้เราปฏิบัติให้สอดรับกับระบบที่พระองค์ได้ทรงวางไว้ เพื่อนำมูลเหตุต่าง ๆ มาเป็นสื่อในการสนองคำสั่งใช้และดำรงไว้ซึ่งมารยาทต่อพระองค์ ดังนั้นท่านต้องออกไปตลาด ออกไปทำสวน เพื่อทำงานแสวงหาริสกี ท่านต้องสร้างบ้าน ประดับประดาด้วยเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และท่านจงเพาะปลูกบนผืนแผ่นดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ เมื่อท่านได้ปฏิบัติตามสิ่งที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงวางระบบไว้ ดังนั้นท่านจงระวังและอย่าได้คิดว่าผลผลิตที่ได้มาหรือสิ่งอำนวยสุขที่ได้รับเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ให้บังเกิดผลหรืออำนวยสุขด้วยตัวของมันเอง แต่อัลเลาะฮ์ตะอาลาต่างหากที่ให้บังเกิดผลหรือความอำนวยสุขเหล่านั้น
แต่ท่านจงมุ่งไปยังอัลเลาะฮ์ตะอาลา ผู้สร้างมูลเหตุทั้งหลาย ด้วยการมุ่งหวังความโปรดปรานและเกรงกลัวการทดสอบของพระองค์ในทุกสภาพการณ์
และเมื่อท่านพิจารณาก็จะพบว่า ทุกสิ่งที่เราได้กล่าวไปนั้น รวมอยู่ในคำตรัสของอัลเลาะฮ์ตะอาลาที่ว่า
قُلْ بِفَضْلِ اللّهِ وَبِرَحْمَتِهِ فَبِذَلِكَ فَلْيَفْرَحُواْ هُوَ خَيْرٌ مِّمَّا يَجْمَعُونَ
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมหมัด) ด้วยความโปรดปรานของอัลเลาะฮ์และด้วยความเมตตาของพระองค์ ดังกล่าวนั้นพวกเขาจงดีใจเถิด ซึ่งมันดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาสะสมไว้” [ยูนุส: 58]
และส่วนหนึ่งจากตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับการไม่ให้ของอัลเลาะฮ์ แต่มันผนวกไว้ซึ่งการให้ของพระองค์ ก็คือโรคภัยไข้เจ็บที่มาประสบแก่บรรดามุสลิม ซึ่งอัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทำให้มันเป็นสื่อในการลบล้างบาปต่างๆ ของเขา
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา ได้กล่าวว่า
قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَا مِنْ مُصِيبَةٍ تُصِيبُ الْمُسْلِمَ إِلَّا كَفَّرَ اللَّهُ بِهَا عَنْهُ حَتَّى الشَّوْكَةِ يُشَاكُهَا
“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ไม่มีภัยพิบัติใดที่มาประสบแก่มุสลิม นอกจากอัลเลาะฮ์จะทรงลบล้างบาปด้วยกับภัยพิบัตินั้น แม้กระทั่งหนามที่มาตำเขาก็ตาม” รายงานโดยบุคอรีย์
วัลลอฮุอะลัม