بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
การโกนศีรษะอื่นจากกรณีการทำฮัจญฺนั้น ปราชญ์มีการขัดแย้งกัน 2 ทัศนะ
1. การโกนศีรษะเป็นมักโระฮ์ ไม่ควรกระทำ ซึ่งเป็นมัซฮับของอิมามมาลิกและมัซฮับที่มีน้ำหนักของอิมามอะห์มัด บิน ฮัมบัล
2. การโกนศีรษะไม่มักโระฮ์ อนุญาตให้กระทำได้ แต่การไม่โกนย่อมดีกว่า ซึ่งเป็นมัซฮับของอิมามอะบูฮะนีฟะฮ์และอิมามชาฟิอีย์
ท่านอิบนุ อุมัร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ رَأَى صَبِيًّا قَدْ حُلِقَ بَعْضُ شَعْرِهِ وَتُرِكَ بَعْضُهُ فَنَهَاهُمْ عَنْ ذَلِكَ وَقَالَ احْلِقُوهُ كُلَّهُ أَوْ اتْرُكُوهُ كُلَّهُ
"แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นเด็กถูกโกนผมบางส่วนและปล่อยไว้บางส่วน ดังนั้นท่านนบีจึงห้ามพวกเขาจากสิ่งดังกล่าว และท่านกล่าวว่า พวกท่านจงโกนผมเด็กทั้งหมดหัวหรือปล่อยผมไว้ทั้งหมด" รายงานโดยมุสลิม (3959) และอบูดาวูด (3663) ถ้อยคำฮะดิษเป็นของอบูดาวูด
ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวว่า
هَذَا صَرِيْحٌ فِيْ إِبَاحَةِ حَلْقِ الرَّأْسِ وَلاَ يَحْتَمِلُ تَأْوِيْلاً
"ฮะดีษนี้บอกชัดเจนถึงการอนุญาตให้โกนศีรษะโดยไม่มีการตีความเป็นอื่น" ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม 3/114
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ได้กล่าวอีกว่า
وَالْمُخْتَارُ أَنْ لاَ كَراَهَةَ فِيْهِ لَكِنّ السُّنَّةَ تَرْكُهُ فَلَمْ يَصِحَّ أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّي اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَلَقَهُ إِلاَّ فِي الْحَجِّ وَالْعُمْرَةِ ، وَلَمْ يَصِحَّ تَصْرِيْحٌ بِالنَّهْي عَنْهُ
"ทัศนะที่ถูกเลือกเฟ้น คือ ไม่มักโระฮ์ในการโกนศีรษะ แต่ทว่าซุนนะฮ์แล้วนั้น คือละทิ้งการโกน ดังนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง การกล่าวว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการโกนศีรษะ นอกจากในขณะทำฮัจญฺและอุมเราะฮ์เท่านั้น และไม่มีระบุอย่างถูกต้องชัดเจนถึงการห้ามโกนศีรษะ" หนังสือมัจญฺมั๊วะอฺ 1/296
ดังนั้นนักปราชญ์มีทัศนะพร้องกันว่า การโกนศีรษะนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่ฮะรอม แต่ซุนนะฮ์แล้วนั้นให้ไว้ผม
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ