ยมท.ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนมุสลิม
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและบริเวณใกล้เคียง
ในการประชุมเสวนาเครือข่ายองค์กรมุสลิมที่ ม.วลัยลักษณ์
ยุวศรัทธาชน: รายงาน
ยมท. เข้าร่วมประชุมเสวนาเครือข่ายองค์กรมุสลิม ตามคำเชิญของโครงการอิสลามศึกษาและการพัฒนาชุมชนเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (Islamic Studies and Muslim Community Development for Peaceful Social Integration, ISWU) ของมหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ ซึ่งได้จัดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552 และได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนมุสลิมในจังหวัดนครศรีธรรมราชและ บริเวณใกล้เคียง
ชุมชนมุสลิมภาคใต้นอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาของการประชุมเสวนาครั้งนี้ เนื่องจากการตระหนักว่าพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่นอกเขตสามจังหวัดชายแดน นั้น มีมุสลิมประมาณ 1.6 ล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อาจมากกว่ามุสลิมในเขตสามจังหวัดชายแดนภายใต้เล็กน้อย(สาม จังหวัดชายแดนภาคใต้มีตัวเลขประมาณ 1.5 ล้าน)
มุสลิมที่อาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่สามจังหวัด บางจังหวัดอาจเป็นคนส่วนใหญ่ เช่น จ.สตูล บางจังหวัดอาจเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของจังหวัดเช่น จ.กระบี่ บางจังหวัดอาจมีประชากรเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามเช่นจ.สงขลา หรือบางจังหวัดอาจมีหนึ่งในสี่เช่น จ.พังงา จ.ภูเก็ต จ.ตรัง
แม้แต่จ.นครศรีธรรมราชที่มีมุสลิมเพียงร้อยละ 10 แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนประชากรออกมากลับเป็นตัวเลขถึงประมาณสองแสนห้าหมื่นคน ซึ่งเป็นประชากรที่เทียบได้กับจำนวนมุสลิมในจ.สตูล
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ให้ความสนใจในการร่วมพัฒนาชุมชนในเขตภาคใต้ตอนบน ไม่เพียงเพราะมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในอำเภอท่าศาลา ซึ่งมีประชากรมุสลิมเกือบครึ่งหนึ่ง และมีนักศึกษาที่เป็นมุสลิมมากกว่าร้อยละ 15 แต่ มหาวิทยาลัยยังตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมสำหรับสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยว กับมุสลิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่มุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อย เครือข่ายพัฒนาชุมชนมุสลิมภาคใต้ตอนบน เพื่อความร่วมมือที่จะนำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายพัฒนาชุมชน ทางคณะทำงานโครงการอิสลามศึกษาฯ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงได้เชิญองค์กร/หน่วยงานเข้าร่วมประชุมหลายองค์กร อาทิเช่น
- สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎรธานี
- สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
- สภายุวมุสลิมโลก (WAMY) สาขาประเทศไทย กรุงเทพฯ
- ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช และสุราษฏรธานี
- ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช วิทยาเขตตรัง
- ชมรมนักศึกษามุสลิมในสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง
- โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
กรอบแนวคิดในการพัฒนาชุมชน คณะทำงานโครงการอิสลามศึกษาฯ ของม.วลัยลักษณ์ ได้นำเสนอกรอบแนวคิดในการพัฒนาชุมชนไว้โดยสรุปดังนี้
1. ให้ชุมชนเป้าหมายเป็นทั้งศูนย์กลางของการพัฒนา สร้างองค์ความรู้ และสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยสร้าง กิจกรรมแบบบูรณาการให้มากที่สุด โดยมองชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community-Development Centric)
2. มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโดยตรงและต่อเนื่อง (direct agent of changes and living dynamism)
3. จะต้องมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน หน่วยงาน/องค์กร อื่นๆทั้งของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยพัฒนาโครงการอิสลามศึกษาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เป็นศูนย์กลางของการประสานความร่วมมือ (Hub or Center of Collaboration) ในการพัฒนาชุมชนมุสลิมในภาคใต้ตอนบน
4. มหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์และเครือข่าย ร่วมมือกันสร้างและจัดการองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ อิสลามและมุสลิมในภาคใต้ตอนบน มุสลิมในบริบทของชนกลุ่มน้อย และการพัฒนาให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อความเลิศทางวิชาการ และการสร้างต้นแบบของการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน
ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้จัดให้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างตัวแทนชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และองค์กรที่ร่วมในการพัฒนาชุมชนมุสลิมอย่างเป็นทางการ โดยอธิการบดีของมหาวิทลัยวลัยษณ์ และองค์กร/หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วม และแสดงความจำนงที่จะลงนามข้อตกลงความร่วมมือ
นอกจากนี้ยังได้ ร่วมกันกำหนดเฟรมเวิร์ค โครงสร้างพื้นฐาน และแนวปฏิบัติในการประสานงาน เพื่อให้การทำงานแบบเครือข่ายมีประสิทธิภาพ การระดมความคิดจากมุมมองที่หลากหลาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนมุสลิมในภาคใต้ตอนบน
รายละเอียด รวมทั้งภาพต่างๆ สามารถติดตามอ่านได้ที่ ymat.org