มุฟตีแห่งอียิปต์แนะแนวการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทย" วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2009 09:20น.
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาแนวทางการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดกที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม" ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ จ.ปัตตานี เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นเวทีที่ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวาง
เพราะผู้ที่มาร่วมปาฐกถาพิเศษเป็น บุคคลพิเศษ จริงๆ ท่านผู้นั้นคือ เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ (Sheikh Professor Dr. Ali Gomaa Mohamed Abdel Wahab) ผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลาม (Mufti : มุฟตี) แห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ บรรยายพิเศษในหัวข้อ แนวทางการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกในการพัฒนาประเทศ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม และแนวปฏิบัติสำหรับการนำกฎหมายอิสลามมาใช้กับพี่น้องมุสลิมในเมืองไทย
เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ เริ่มต้นที่ประเด็นสถานภาพบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในอิสลาม...
"เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาบางประการ เราจะเริ่มกันที่เรื่องของสถานภาพบุคคล เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตของผู้คนผิดเพี้ยนบิดเบือนไปได้ สถานภาพบุคคลนั้นเกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อของผู้คน ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายพลเรือน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอาญา เพราะกฎหมายเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ จึงไม่แตกต่างกันมากระหว่างกฎหมายอิสลามกับกฎหมายที่มนุษย์คิดค้นขึ้น แต่เราให้ความสำคัญกับสถานภาพบุคคล เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ความเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เมื่อพูดถึงการใช้กฎหมายอิสลามจึงจำเป็นต้องเริ่มที่เรื่องของสถานภาพบุคคล
คณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมาย เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ ชี้ว่า การจะผลักดันให้กฎหมายอิสลามมีผลบังคับใช้ได้ ต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติ หมายความว่าต้องมี คณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมาย หรือ คณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมาย
ปัจจุบันรัฐบาลมีความต้องการที่จะให้สิทธิกับมุสลิมในเรื่องกฎหมายครอบครัวและมรดก รวมทั้งต้องการสร้างศาลชารีอะห์ขึ้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณรัฐบาลมาก แต่จะทำอย่างไรให้ถึงจุดนั้นได้ เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถยกร่างกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกออกมาใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม
แล้วคณะกรรมาธิการที่ว่านี้จะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร? นี่คือโจทย์ข้อต่อมา ซึ่ง เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ เล่าประสบการณ์ของอียิปต์ให้ฟัง
เมื่อประเทศอียิปต์ต้องการออกกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก อียิปต์ได้ขอความอนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ฉะนั้นคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายครอบครัวและมรดกนี้จะประกอบขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ เอามาช่วยกันยกร่างกฎหมาย ซึ่งประเทศอิรักและจอร์แดนก็ทำแบบเดียวกัน
เมื่อมีผู้ร่างแล้ว คำถามข้อต่อมาก็คือ จะร่างกันอย่างไร? เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ ไขปริศนาว่า ต้องอาศัยหลักการและทิศทางจากสำนักกฎหมาย
เริ่มแรกจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนเสียก่อนว่าจะรับเอาหลักคิดและแนวทางจากสำนักกฎหมายใดในการร่างกฎหมาย ในโลกมุสลิมเรามีมรดกทางกฎหมายอิสลาม นั่นก็คือมีสำนักกฎหมายมากกว่า 80 สำนัก แต่ว่าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับสืบทอดมาถึงปัจจุบันมีอยู่ 4 สำนักใหญ่
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกฎหมายอิสลามเป็นเรื่องที่กว้างขวางและใหญ่โตมาก การเลือกสำนักกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องเลือกสำนักเดียว แต่อาจเลือกสำนักใดสำนักหนึ่งเป็นหลัก แล้วก็รับเอาแนวคิดของสำนักอื่นมาใช้ด้วยก็ได้ ซึ่งอียิปต์ก็ทำเช่นนี้ ทั้งยังรับจากบรรดานักวิชาการที่มีความเห็นแตกต่างกันด้วย
กำหนดนิยาม ครอบครัว-มรดก เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ กล่าวต่อว่า เมื่อได้คณะกรรมาธิการฯ ตลอดจนแนวคิดแนวทางแล้ว คณะกรรมาธิการฯจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้กฎหมายซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันในประเทศนั้นๆ รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ซึ่งว่าด้วยครอบครัวและมรดกอันมีอยู่มากมาย เขียนขึ้นทั้งจากประเทศอียิปต์เอง โมร็อกโค ซีเรีย จอร์แดน อิรัก และคูเวต คณะกรรมาธิการชุดนี้จะต้องศึกษากฎหมายของประเทศต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อจะได้หยิบข้อดีมาใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทย
"ท่านสามารถเอาจากที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง และรวบรวมเป็นบทสรุปเพื่อที่จะใช้เป็นกฎหมายอิสลามของประเทศไทย เรื่องนี้เป็นหน้าที่หนึ่งที่ไม่สามารถมองเป็นเรื่องเล็กได้
จุดเน้นอีกประการหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกับความจำเป็นที่คณะกรรมาธิการฯจะต้องศึกษากฎหมายของประเทศอื่นๆ อย่างถ้วนถี่ก็คือ คณะกรรมาธิการฯมีหน้าที่ต้องตีความหมายของคำว่าครอบครัวและมรดก ว่ามีความหมายกว้างแค่ไหน จะให้จำกัดเฉพาะครอบครัว การแต่งงาน การหย่า การใช้จ่าย และการเลี้ยงดูบุตรหรือไม่
คำว่าครอบครัวและมรดกนั้น ตามที่ใช้ในอียิปต์จะมีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงประเด็นว่าด้วยกฎหมายบริจาค การกุศล และยังครอบคลุมไปถึงกฎหมายการสืบทอดมรดก การสั่งเสีย ดังนั้นคณะกรรมาธิการชุดนี้ต้องกำหนดกรอบความหมายของครอบครัวและมรดกให้ชัดเจนก่อน
เตรียมความพร้อมผู้พิพากษา เรื่องที่ 2 ที่ต้องมีหากจะผลักดันกฎหมายอิสลามคือ ผู้พิพากษา
เรามีผู้พิพากษาที่พร้อมจะทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอิสลามแล้วหรือยัง หรือว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกผู้พิพากษาเหล่านี้ ผมได้ยินมาว่าผู้พิพากษาที่นี่ (ไทย) ทำงานมาแล้วมากกว่า 60 ปี ดังนั้นน่าจะมีประสบการณ์ ผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลามแห่งอียิปต์ตั้งประเด็น และว่า
ต้องมีการวางเงื่อนไขสำหรับคนที่จะเป็นผู้พิพากษา และให้มีการฝึกผู้พิพากษาเหล่านี้เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้กฎหมายอิสลามได้อย่างดี เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายอิสลามและสิทธิมนุษยชน ผมเห็นว่าการเตรียมผู้พิพากษาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเช่นเดียวกับการที่เราต้องมีคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมาย
"เราต้องเริ่มตอนนี้ เราจะไม่รอให้รัฐบาลหรือรัฐสภารับรองกฎหมายก่อน เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อรับรองแล้วเราก็ยังไม่มีผู้พิพากษาที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ดังนั้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป เราจำเป็นที่ต้องสร้างต้องเตรียมผู้พิพากษาโดยผ่านการให้ความรู้และการฝึกปรือ"
ทำบันทึกเจตนารมณ์ประกอบตัวบท เรื่องต่อมาที่จะต้องทำต่อไปคือ การวางมาตรการที่ว่าด้วยกฎหมายครอบครัวและมรดก เพราะเมื่อเรายกร่างกฎหมายครอบครัวและมรดกขึ้นแล้ว บางกรณีอาจไปขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่ใช้อยู่ทั่วๆ ไปภายในประเทศไทย เราไม่ต้องการให้เกิดสภาพเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนและมาตรการที่จะทำให้กฎหมายทั้งสองฉบับไม่มีความขัดแย้งกัน
ในขณะที่เรายกร่างกฎหมาย เรามีความจำเป็นต้องอาศัยบันทึกเจตนารมณ์ ซึ่งจะช่วยอธิบายความตามตัวบทอย่างกว้างขวางว่ากฎหมายแต่ละมาตรานำมาจากไหน เอามาจากสำนักความคิดหรือแหล่งใด ทำไมถึงต้องมีกฎหมายนี้ทั้งๆ ที่มีกฎหมายอื่นอยู่แล้ว
เวลาพิจารณาคดีจริงๆ ผู้พิพากษาจะไม่ทบทวนเฉพาะตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่จะต้องย้อนกลับไปดูบันทึกเจตนารมณ์ที่อธิบายความเป็นมาเป็นไปของมาตราหรือถ้อยคำนั้นๆ ด้วย หากไม่มีบันทึกเจตนารมณ์นี้ อาจทำให้มีปัญหาได้ ผู้พิพากษาอาจเกิดความสับสน เพราะบางคำบางข้อความอาจตีความได้ 2 ความหมาย เป็นไปได้สองแง่สองมุมมอง ดังนั้นถ้ามีบันทึกเจตนารมณ์มาช่วยอธิบายความ ก็จะช่วยให้ผู้พิพากษามีความเข้าใจแจ่มชัด ไม่สับสน ช่วยลดความขัดแย้ง และลดการทะเลาะเบาะแว้งในศาลลง
บริบททางสังคมต้องรองรับ เรื่องสุดท้ายคือ ผลของการใช้กฎหมาย กล่าวคือหลังจากที่ได้มีการยกร่างกฎหมายอิสลามและจัดทำบันทึกเจตนารมณ์เรียบร้อย กระทั่งนำไปใช้ตัดสินคดีต่างๆ แล้ว จำเป็นจะต้องมีการสร้างบริบทเกี่ยวกับกฎหมายขึ้น เพื่อให้สถานภาพกฎหมายนี้ดำรงอยู่ไปตลอด
ตัวอย่างเช่น กฎหมายครอบครัวและมรดกที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน ดังนั้น จะต้องมีองค์กรที่สามารถรับรองการแต่งงานได้ ในประเทศอียิปต์มีการสร้างองค์กรนี้ขึ้นมา เรียกว่า อนุญาโตตุลาการ อันเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน เมื่อจะแต่งงานให้ไปหาบุคคลนี้ รวมถึงกรณีที่คนอียิปต์จะแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่คนอียิปต์ด้วย
เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ ชี้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย หลักการคือบริบทที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเหมือนเป็นการเตรียมสถานที่ เตรียมดินที่จะปลูกต้นไม้ตามที่เราต้องการ แม้ดินจะไม่ใช่ต้นไม้ และไม่ใช่ผลของต้นไม้ แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงอยู่ของต้นไม้และผลไม้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการตระเตรียมบริบทของสังคมตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อรองรับการใช้กฎหมายอิสลาม
ตัวอย่างการจัดเตรียมการสร้างสภาพสังคมที่จะใช้กฎหมายนี้ เราพบว่าในคูเวตเมื่อพวกเขาเรียกร้องจะใช้กฎหมายอิสลาม เขาสร้างองค์กรหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า องค์กรการจัดเตรียมบริบททางสังคมเพื่อที่จะใช้กฎหมายอิสลาม องค์กรนี้ทำงานมาแล้วมากกว่า 20 ปีในการจัดเตรียมสภาพทางสังคม ซึ่งเมื่อคูเวตใช้กฎหมายอิสลามแล้วก็สามารถใช้ได้เป็นอย่างดี
บทสรุป เชค อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ สรุปว่า การมีและใช้กฎหมายอิสลามไม่ได้เป็นแค่คำพูดที่จะพูดกันง่ายๆ พูดวันนี้แล้วจะเป็นไปได้เลยในวันพรุ่งนี้เพียงแค่เมื่อรัฐบาลเห็นชอบเท่านั้น แต่มีความจำเป็นจะต้องจัดเตรียมสภาพทางสังคมให้สามารถรองรับกฎหมายนี้ด้วย และต้องเริ่มวันนี้เลย ไม่ใช่ผ่อนเวลาออกไป
"นี่คือความคิดบางตอน บางเรื่องที่จะนำมาใช้ มาเตรียมการสำหรับการใช้กฎหมายอิสลาม ซึ่งมาจากประสบการณ์ที่อียิปต์ใช้มาแล้วมากกว่าร้อยปี และเป็นที่ชัดเจนสำหรับเราว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานอย่างเร่งด่วน เพราะเวลานั้นเหมือนคมดาบ ถ้าหากท่านไม่ตัดมัน มันก็จะตัดท่าน แต่ว่าในขณะที่เราทำงานอย่างเร่งด่วนนั้น จะต้องทำงานในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักวิชา ดังนั้นเราต้องเลือกคนที่มีความรู้อย่างแท้จริง และต้องเอาประสบการณ์ของผู้อื่นมาใช้ประโยชน์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่เขียนเอาไว้หรือประสบการณ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันก็ตาม
มุฟตีของประชาชน ดร.อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ ผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลาม (Mufti ) แห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ผู้นี้ อยู่ในวัย 57 ปี เรียนจบปริญญาตรีสาขาพาณิชยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Ain Shams เมื่อปี พ.ศ.2516 ต่อมาในปี พ.ศ.2522 สำเร็จปริญญาตรีอีกใบด้านอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ จากมหาวิทยาลัยอัล-อัสฮัร (Al Azhar) ปี 2528 จบปริญญาโทสาขานิติศาสตร์อิสลาม และปี 2531 จบปริญญาเอกสาขาวิชาหลักนิติศาสตร์อิสลามจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน
ด้านประสบการณ์การทำงาน ปี พ.ศ.2528- 2546 เป็นอาจารย์ประจำคณะอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัล-อัสฮัร ปัจจุบันเป็นผู้ชี้ขาดทางศาสนา (Mufti)
ดร.อาลี เป็นปราชญ์ทางนิติศาสตร์อิสลามซึ่งได้รับการยอมรับมากที่สุดผู้หนึ่งในโลกมุสลิมฝ่ายสุหนี่ เป็นผู้ที่มีจุดยืนในการวินิจฉัยชี้ขาดและตีความศาสนาโดยให้คุณค่าต่อองค์ความรู้และขนบธรรมเนียมเดิม พร้อมทั้งคำนึงถึงสภาพการณ์ความเป็นจริงของโลกสมัยใหม่ จึงปฏิเสธการตีความศาสนาแบบเคร่งจารีต หรือสุดโต่ง และคัดค้านการทำร้ายผู้บริสุทธิ์โดยแอบอ้างศาสนาของกลุ่มหัวรุนแรง โดยชี้ว่าว่าเป็นการละเมิดข้อห้ามและขัดกับหลักศาสนา
จุดยืนดังกล่าวนี้ทำให้ ดร.อาลี ได้รับยกย่องว่าเป็น ผู้นำแห่งแนวทางอิสลามสายกลาง ขณะที่กลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ถือว่า ดร.อาลี เป็นปฏิปักษ์ของพวกตน
ดร.อาลี ยังคัดค้านการบิดเบือนแนวคิดเรื่อง ญิฮาด ของกลุ่มหัวรุนแรง และกลุ่มก่อการร้ายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำร้ายคนนอกศาสนา และต่อต้านการออกฟัตวา (fatwa) ของกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ความชอบธรรมแก่การทำร้ายคนมุสลิมด้วยกัน
ดร.อาลี เป็นผู้มีบทบาทแข็งขันในการเผยแผ่หลักการทางศาสนาที่ถูกต้องแก่ประชาชนโดยผ่านสื่อต่างๆ ทั้งทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ Al- Ahram และเว็บไซต์ ประมาณการณ์ว่า ดร.อาลี ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับหลักศาสนาแก่ประชาชนสัปดาห์ละกว่า 5,000 เรื่อง ทำให้ได้รับการเรียกขานว่า Peoples Mufti หรือ มุฟตีของประชาชน