بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
ดังกล่าวยังไม่นับว่าเป็นการหย่านะครับ เพราะสามีเพียงแค่ถามภรรยาเท่านั้นเองว่า อย่ากันดีไหม? แต่ถ้าหากสามีพูดว่า "ฉันหย่าเธอ" ก็ถือว่าตกหนึ่งต่อล๊าก
หากทำการหย่าภรรยา 1 ต่อล๊าก ภรรยาจะต้องคลองอิดดะฮ์ (อยู่ในช่วงระยะเวลาของการกักตัว) 3 กุรุอ์ (มีประจำเดือนมาและเกลี้ยง 3 ครั้งหรือ 3 เดือนนั่นเอง) ดังนั้น ในช่วงอิดดะฮ์ของภรรยาที่ถูกหย่า 1 ครั้งนั้น สามีสามารถคืนดีกับนางได้ คือให้สามีกล่าวว่า "ฉันได้คืนดีกับเธอแล้ว หรือฉันขอคืนดีกับเธอแล้ว หรือฉันได้เอาเธอกลับมาสู่การคุ้มครองของฉันแล้ว หรือฉันได้เอาเธอกลับมายังฉันแล้ว หรือฉันได้เอาเธอกลับมาสู่การนิกาห์ของฉันแล้ว (หมายถึงเอาเธอกลับมาสู่การอยู่ร่วมฉันท์สามีภรรยาเหมือนเดิมแล้ว)"
การ คืนดีนั้น ต้องด้วยคำพูด ดังนั้น เพียงการกระทำอย่างเดียว เช่นทำการสมสู่กับนาง ถือว่าการคืนดียังใช้ไม่ได้ และหากว่าสามีไม่ทำการคืนดีกับภรรยาจนกระทั่งนางหมดอิดดะฮ์ หากสามีต้องการจะคืนดี ก็ต้องทำพิธีแต่งงานใหม่และจ่ายสินสอดใหม่หากภรรยายินยอม (หนังสือตั๊วะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญฺ 3/517 ตีพิมพ์ มักตะบะฮ์อัษษะกอฟะฮ์อัดดีนียะฮ์)
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ