بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
การทำประกันรถยนต์นั้น มีเงื่อนไขประกอบการที่ขัดกับหลักการอิสลามและอยู่ในรูปแบบของการเสี่ยงหรือการพนัน เนื่องจากผู้ทำประกันไม่รู้ว่าเกิดอุบัติเหตุเมื่อใดและบริษัทประกันก็เสี่ยงในการจ่ายค่าเสียหายโดยไม่รู้เหมือนกันว่าลูกค้าจะประสบอุบัติเหตุเมื่อใด ดังนั้นการประกอบการที่อยู่ในรูปแบบพนันนั้น ถือว่าผิดหลักการของอิสลาม
ส่วนกรณีที่ซื้อรถแล้วต้องมีการทำประกันเพราะมี พรบ. บังคับนั้น ถือว่าอนุโลมให้กระทำได้ เนื่องจากมีความจำเป็นในเชิงถูกบังคับจากกฏหมายบ้านเมือง แต่ความจำเป็นนั้นต้องถูกกำหนดเพียงแค่ขนาดความจำเป็นเบื้องต้นเท่านั้น เราจะไปเลือกทำประกันชั้นหนึ่งเลยย่อมไม่ได้
ตามหลักนิติศาสตร์อิสลามได้ระบุว่า
اَلضَّرُوْرَةُ تُقَدَّرُ بِقَدْرِهَا
"ความจำเป็นนั้น ถูกกำหนดด้วยขนาดของความจำเป็นเท่านั้น"
หรืออีกสำนวนหนึ่งระบุว่า
مَا أُبِيْحَ لِلضَرُوْرَةِ يُقَدَّرُ بِقَدْرِهَا
"สิ่งที่ได้รับอนุญาตเนื่องจากมีความจำเป็นนั้น ก็จะถูกกำหนดด้วยขนาดความจำเป็นเท่านั้น" หนังสืออีฎอหฺ อัลก่อวาอิด อัลฟิกฮียะฮ์ หน้า 36
หมายถึงถ้าหากเดินทางไกลไม่มีน้ำดื่ม กระหายใกล้ตาย แต่พบสุราหนึ่งขวด ก็อนุโลมให้ดื่มขนาดประทังชีวิตเบื้องต้นเท่านั้น จะดื่มต่ออีกไม่ได้แล้ว ดังนั้นการทำประกันก็เช่นเดียวกัน เมื่อกฏหมายบังคับ ก็ถือว่าอยู่ในสถาวะจำเป็น ก็ให้ทำประกันแบบธรรมดาเพื่อไม่ให้ผิดกฏหมายเท่านั้นเองครับ
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ