ผู้เขียน หัวข้อ: บุพบทอักษรที่สอง : “มิน” ( مِنْ)  (อ่าน 2245 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มารบูรพาอึ้งเอี๊ยะซือ

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 23
  • Respect: +14
    • ดูรายละเอียด
บุพบทอักษรที่สอง : “มิน” ( مِنْ)
« เมื่อ: ต.ค. 13, 2013, 02:54 PM »
+1


บุพบท อักษร ที่  สอง  : “มิน” 1 ( مِنْ) 


     สำหรับ “บุพบท ฮัรฟ์ มิน” นั้นมีหลายความหมาย ด้วยกันดังนี้ 2

(1) ความหมายที่หนึ่ง : (ابْتِدَاءُ الغَايَة)  “อิบติดาอฺ อัล-ฆอยะฮฺ” (การเริ่มต้นระยะทาง) 3 เช่น  (سِرْتُ مِنَ الْبَصْرَةِ إِلَى الْكُوْفَةِ)  “ฉันได้เดินทางจากเมืองบัศเราะฮ์จนถึงเมืองกูฟะฮ์”   

มีความหมายว่า  (ابْتِدَاءُ سَيْرِي مِنَ الْبَصْرَةِ إِلَى الْكُوْفَةِ)  “การเริ่มเดินทางของฉันนั้น คือจากเมืองบัศเราะฮ์ จนกระทั่งถึงยังเมืองกูฟะฮ์”

(2) ความหมายที่สอง : (تَبْيِيْنُ الْجنْسِ)  “ตับยิน อัล-ญินส์” (การอธิบายถึงชนิด) 4  เช่นคำดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า  (فَاجْتَنِبُوا الرِّجْسَ مِنَ الْأَوْثَانِ)  “ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลสิ่งโสโครก จาก วัตถุบูชาทั้งปวง”(อัล-หัจญ์ :30)

มีความหมายว่า  (الَّذِي هُوَ الْأَوْثَانُ)  “ซึ่ง(สิ่งโสโครก)นั้นก็คือ วัตถุบูชาทั้งปวง”.
ซึ่งความหมายนี้มีข้อสังเกตที่รู้ได้คือ เหมาะสมที่จะวางคำว่า “الَّذِي” แทนที่คำว่า “مِنْ”

(3) ความหมายที่สาม : (التَّبْعِيْضُ)  “อัต-ตับอีฎ” (ส่วนหนึ่ง) 5  ตัวอย่างเช่น

 (شَرِبْتُ مِنَ الْمَاءِ)  “ฉันดื่ม(จาก)น้ำ”  ซึ่งมีความหมายว่า  (بَعْضَ الْمَاءِ)  “(ฉันดื่ม)ส่วนหนึ่งจากน้ำ”.
(أخَدْتُ مِنَ الدَّرَاهِمِ)  “ฉันเอา(จาก)หลายเหรียญดิรฮัม”

 ซึ่งมีความหมายว่า  (بَعْضَ الدَّرَاهِمِ)  “(ฉันเอา)ส่วนหนึ่งจากหลายเหรียญดิรฮัม”.
และความหมายนี้มีข้อสังเกตที่รู้ได้คือ เหมาะสมที่จะวางคำว่า “بَعْضُ” แทนที่คำว่า “مِنْ”.


________________________________________________________

1 “บุพบท ฮัรฟ์ มิน” จะทำหน้าที่ ญัรร์ คำนามที่ตกหลังจากมัน ไม่ว่าจะเป็น

1 คำนาม (اسْمُ الظَّاهِر) 
2 คำสรรพนาม (اسْمُ الضَّمِيْر)
     และ อักษรสุดท้ายของมัน(นั้นคือ อักษรนูน) จะอยู่ในสภาพที่ “บีนาอฺ” (ในสภาพ สูกูน)ตลอด (โดยไม่มีการเปลี่ยนรูปสระท้ายคำนั้น ณ อักษร นูนแต่อย่างใด) เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
1-หากมันถูกติดต่อด้วยคำว่า “อัล อัลมะอฺรีฟะฮ์” (الْ) นูนก็จะ รับ “ฟัตหะฮ์”  ซึ่งดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับ ” กฎการหลีกเลี่ยงการพบกันระหว่างสองอักษรที่(ถูกอ่าน)ตาย (หลีกเลี่ยง) โดยการให้อ่าน กัสร์”
 (التًّخَلُّص مِن التِقَاءِ السَّاكِنَيْنِ بِالْكَسْر) 
ตัวอย่างเช่น  (حَضَرْتُ مِنَ الْمَدْرَسَةِ) ฉันมาจากโรงเรียน.
2-หากมันถูกติดต่อด้วยด้วย “ฮัมซะฮ์ วัศล์” (ا)  นูนก็จะรับ ”กัสเราะฮ์” (ซึ่งตรงตามกฏดังกล่าวมา)
 ตัวอย่างเช่น   (عَجِبْتُ مِنِ اسْتِهَانَةِ الْمُسْلِم بِصَلَاتِه )  ฉันพิศวงใจเนื่องจากการที่มุสลิม(คนหนึ่ง)ดูถูก(ทำง่ายๆ)ต่อละหมาดของเขาเอง.

2  ท่าน อัลลามะฮ์ อิบนุ ฮิชาม อัล-อันซอรีย์ ได้ระบุไว้ในตำรา “มุฆนิ้ล ลาบีบ”ของท่านว่า มีอยู่ 15 ความหมาย ด้วยกัน ดังจะนำเสนอต่อไปจนครบอิงชาอัลลอฮ์.

3 นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าความหมายนี้คือ ความหมายที่ถูกใช้มากที่สุดในบรรดาความหมายของ “มิน”
     1 กรณีที่นักวิชาการมีความเห็นตรงกัน :
นักวิชาการมีความเห็นตรงกันว่า “มิน” นั้นจะให้ความหมาย การเริ่มต้นใน อื่นจากเวลา เช่น สถานที่ เหตุการณ์ และ บุคคล(الابْتِدَاءُ فِي الْمَكَانِ وَالْأَحْدَاثِ والْأَشْخَاضِ)  ตัวอย่างเช่น

-การเริ่มต้นในสถานที่ (مِنَ الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ)   “เริ่มจากมัสยิด อัล-หะรอม” (อัล-อิสรออฺ :1).
-การเริ่มต้นในเหตุการณ์ (مِنْ أَوَّلِ يَوْمٍ)  “เริ่มจาก(การสถาปนาก่อตั้ง)วันแรก” (อัต-เตาบะฮฺ :108).
-การเริ่มต้นในตัวบุคคล ( إِنَّهُ مِنْ سُلَيْمَانَ)  “แท้จริงมัน(เป็นหนังสือที่)มาจากสุไลมาน” (อัน-นัมลฺ :30).

     2 กรณีที่นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน :
นักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่า “มิน” นั้นจะให้ความหมาย การเริ่มต้นในเวลา(الابْتِدَاءُ فِي الْزَّمَانِ)  โดยมีทัศนะต่างๆดังนี้ :
-ทัศนะที่หนึ่ง “บัศรียูน”(นอกจาก ท่าน อัล-อัคฟัช , ท่าน อัล-มุบัรริด, และท่าน อิบนุ ดุสตุรียะฮฺ) มีความเห็นว่าไม่อนุญาต นอกจากดังกล่าวนั้นจะต้องมีการตะวีลตีความ.
-ทัศนะที่สอง “กูฟียูน”(และ ท่าน อิบนุ มาลิก และ ท่าน อาบูหัยยาน) มีความเห็นว่าอนุญาต โดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในคำพูดคนอาหรับทั้งใน บทร้อยแก้ว(النَّثْرُ)   และบทร้อยกรอง(النَّظْمُ)  และเนื่องจากการ ตีความตะวีลไม่สู้จะดีสักเท่าไหร่ อันเนื่องมาจากกฎที่ว่า (وَالْأَصْلُ عَدَمُ التَّأوِيْلِ)  ”พื้นฐานเดิมแล้วนั่นคือไม่มีการตีความ”.
ส่วนหนึ่งจากบรรดาหลักฐาน ที่ทัศนะที่สองอ้างเพื่อใช้สนับสนุนทัศนะของตนมีดังนี้

-อายะฮฺ อัล-กุรอ่าน  (مِنْ أَوَّلِ يَوْمٍ)  “เริ่มจากวันแรก” (อัต-เตาบะฮฺ :108).
-และโองการที่ว่า  (إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ)  “เมื่อมีปะกาศให้ละหมาดในวันศุกร์” (อัล-ญุมุอะฮฺ :9).
-อัลหะดิษ (فَمُطِرْنَا مِنَ الجُمُعَةِ إِلَى الجُمُعَةِ)  และเราถูกฝน(กระหน่ำใส่)จากศุกร์หนึ่งจนกระทั่งอีกศุกร์หนึ่ง”(รายงานโดย บุคคอรี 1016,1019 และนักรายงานท่านอื่นๆ).
คำตอบของทัศนะที่หนึ่งที่มีต่อหลักฐาน ทัศนะที่สอง

นักวิชาการ “อัล-บัศรียูน” ตอบว่า
-อายะฮฺที่หนึ่งนั้น เป็นการเริ่มต้น เหตุการณ์ ไม่ใช่เริ่มต้นเวลา จึงต้องมีการ(ตักเดร) สมมุติขึ้นมาว่า
 (مِنْ تَأسِيسِ أَوَّلِ يَوْمٍ)  “เริ่มจาก(การสถาปนาก่อตั้ง)วันแรก”
-ส่วนอายะฮฺที่สองนั้น “มิน”นั้นเป็น “มิน ซอรฟียะฮฺ” (الظَّرْفِيَّة)โดยจะใช้ความหมาย ว่า “ใน” (فِي)  และยังเป็นการเริ่มต้น เหตุการณ์ ไม่ใช่เริ่มต้นเวลาอีกด้วยเช่นกัน จึงต้องมีการ(ตักเดร) สมมุติส่วนหน้า(มุดอฟ) ขึ้นมาว่า

 (مِنْ صَّلَاةِ يَوْمِ الْجُمُعَةِ)  “ในการละหมาดในวันศุกร์”
-ส่วนหะดิษข้างต้นนั้นเป็นการเริ่มต้น เหตุการณ์เช่นกันโดยจะต้องมีการตักเดร(มุดอฟ) ขึ้นมาว่า
 (فَمُطِرْنَا مِنْ صَلَاةِ الجُمُعَةِ)  “และเราถูกฝน(กระหน่ำใส่)จากละหมาดวันศุกร์หนึ่ง”(ชัรห์ อัต-ตัศรีหฺ)
คำโต้กลับจากทัศนะที่สองต่อทัศนะที่หนึ่ง

     นักวิชาการ “ทัศนะที่สอง” ตอบกลับโดยใช้ กฎที่ว่า(أَنَّ الْأَصْلَ عَدَمُ الْحَذْفِ)  “พื้นฐานเดิมแล้วนั้น คือไม่มีการตัด(ซึ่งนำไปสู่การตักเดร)” .
 หรืออีกสำนวนหนึ่ง คือกฎที่ว่า(وَالْأَصْلُ عَدَمُ التَّأوِيْلِ)   ”พื้นฐานเดิมแล้วนั่นคือไม่มีการตีความ”
และท่าน  “อัร-รอฎีย์”  มีความเห็นว่า  “ทัศนะที่ชัดเจน คือ ทัศนะอัล-กูฟียูน เนื่องจากว่า ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใดในการในการที่เราจะพูดว่า
(نِمْتُ مَنْ أَوَّلِ اللَّيْلِ إِلَى آخِرِهِ)  ฉันนอนเริ่มจากช่วงต้นของกลางคืนไปจนถึงช่วงท้ายของมัน
 และ(صُمْتُ مَنْ أَوَّلِ الشَّهْرِ إِلَى آخِرِهِ)   ฉันถือศิลอดจากต้นเดือนจนกระทั่งปลายเดือน ซึ่งดังกล่าวนี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย”.

4 สำหรับคำที่ตกหลังจาก “มิน ตับยิน อัล-ญินส์” หรือ “มิน บายาน อัล-ญินส์” มีอยู่สองกรณี

1 กรณีที่หนึ่ง นักวิชาการมีมติเห็นพ้องกัน ว่า “มิน” จะให้ความหมาย “ บายาน อัล-ญินส์

 ในเมื่อคำที่ตกหลังจากมัน เป็นคำนามที่มีความหมายกำกวม “อิสมฺ อัล-มุบฮัม” (اسْمُ المُبْهَم) เช่น
หลังจากคำว่า “مَا” และ “مَهْمَا” (ซึ่งคำทั้งสองนี้มีระดับความกำกวมที่เข้มข้นมาก) ซึ่งกรณีนี้จะพบมาก เช่น
-โองการ (مَا يَفْتَحِ اللَّهُ لِلنَّاسِ مِنْ رَحْمَةٍ)  “ความเมตตาใดที่อัลลอฮ์ทรงเปิดไว้แก่มนุษย์”(อัล-ฟาฏิร :2)
-โองการ (مَا نَنْسَخْ مِنْ آيَةٍ)  “โองการใดก็ตามที่เรา(อัลลอฮ์)ยกเลิก”(อัล-บะกอเราะฮ์ :106)
-โองการ (مَهْمَا تَأْتِنَا بِهِ مِنْ آيَةٍ)  “มาดแม้นว่าจะไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ”(อัล-อะอฺรอฟ :132)

2 กรณีที่สอง นักวิชาการมีทัศนะความเห็นต่างกัน ว่า “มิน” จะให้ความหมาย “บายาน อัล-ญินส์”


ในเมื่อคำที่ตกหลังจากมัน เป็นคำนามที่ไม่มีความหมายกำกวม  ซึ่งในกรณีนี้นักวิชาการมีทัศนะที่ต่างกันออกเป็นสองทัศนะดังนี้

ทัศนะที่หนึ่ง นักวิชาการส่วนมากมีความเห็นว่า อนุญาตให้ “มิน บายาน อัล-ญินส์” ตกหลังจาก คำนามที่ไม่มีความหมายกำกวมได้ (คือ อื่นจากคำว่า “مَا” และ “مَهْمَا”ข้างต้น) เช่น
-โองการ (يُحَلَّوْنَ فِيهَا مِنْ أَسَاوِرَ مِنْ ذَهَبٍ وَيَلْبَسُونَ ثِيَابًا خُضْرًا مِنْ سُنْدُسٍ وَإِسْتَبْرَقٍ)  “พวกเขาได้รับการประดับภายในนั้นด้วยกำไลที่ทำมาจากทองคำ และพวกเขาสวมใส่เสื้อผ้าสีเขียวซึ่งทำมาจากไหมละเอียด และไหมหยาบ”(อัล-กะฮฺฟี :31) “มิน บายาน อัล-ญินส์” ในอายะฮฺ คือ “มิน” ที่สองเป็นต้นไป ส่วน “มินแรก”ในคำว่า  (مِنْ أَسَاوِرَ)  นั้นเป็น “มิน อัล-อิบติดาอฺ” บ้างก็ว่า “มิน อัซ-ซาอิดะฮฺ”.
-โองการ(فَاجْتَنِبُوا الرِّجْسَ مِنَ الْأَوْثَانِ)  “ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลสิ่งโสโครก จาก วัตถุบูชาทั้งปวง”(อัล-หัจญ์ :30) ดังกล่าวมาขางต้น.

ทัศนะที่สอง นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง คือ นักวิชาการ “อัล-มุฆอรอบะฮฺ” (الْمُغَارَبَة) ปฏิเสธ”มิน บายาน อัลญินส์” โดยพวกเขาให้คำตอบต่อหลักฐานของทัศนะที่หนึ่งดังนี้

-“มิน” ในโองการ (مِنْ ذَهَبٍ وَيَلْبَسُونَ ثِيَابًا خُضْرًا مِنْ سُنْدُسٍ وَإِسْتَبْرَقٍ)  เป็น “มิน อัต-ตับอีฎ”(แปลว่าส่วนหนึ่ง)
-และ“มิน” ในโองการ(فَاجْتَنِبُوا الرِّجْسَ مِنَ الْأَوْثَانِ)  คือ “มิน อัล-อิบติดาอฺ” และ สมมุติความหมายของประโยคได้ว่า فَاجْتَنِبُوا مِنَ الْأَوْثَانِ الرِّجْسَ وَهُوَ عِبَادَتُهًا  ซึ่งเป็นทัศนะที่ห่างไกลจากความเป็นจริง.

ข้อพึงระวัง
     พวกนอกรีต(الزَّنَادِقَة) บางคน ต้องการที่จะโจมตีและให้ร้าย อัครสาวกของท่านศาสดา (ซ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวาซัลลัม) โดยอาศัย โองการที่ว่า  (وَعَدَ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ مِنْهُمْ مَغْفِرَةً وَأَجْرًا عَظِيمًا)
”อัลลอฮ์ ได้สัญญาไว้แก่บรรดาผู้มีศรัทธา และประพฤติแต่ความดีงามจากพวกเขา ว่าทรงนิรโทษ และประทานรางวัลอันยิ่งใหญ่(แก่พวกเขา)”(อัล-ฟัตห์ :29)
     โดยพวกเขาอ้างว่า ส่วนหนึ่งจากบรรดา อัครสาวกนั้นเป็นคนดี และอีกส่วนหนึ่งไม่ดี โดยพวกเขาได้อาศัยอายะฮฺ ข้างต้นว่า ”มิน”ในอายะฮฺนั้น คือ “อัตตับอีฎ” (ซึ่งแปลว่าส่วนหนึ่ง) จึงให้ความหมายว่า คำสัญญาของอัลลอฮ์ที่จะประทาน การนิรโทษ และรางวัลอันยิ่งใหญ่นั้น จะได้แค่เฉพาะส่วนหนึ่ง(ที่เป็นคนดี)เท่านั้น.
      ทว่าความเป็นจริงแล้ว “มิน” ณ ที่นี้ คือ “มิน บายาน อัลญินส์” ซึ่งความหมายคือ “الَّذِينَ آمَنُوا هُمْ هَؤُلَاء” เนื่องจากว่า อัครสาวกทั้งหลายนั้น เป็นผู้มีคุณธรรม และเป็นผู้ที่มีความยำเกรงเป็นอย่างยิ่ง.
     ซึ่งเราอาจจะพบ สำนวนในทำนองเดียวกันนี้ในอายะฮฺที่ว่า
(وَإِنْ لَمْ يَنْتَهُوا عَمَّا يَقُولُونَ لَيَمَسَّنَّ الَّذِينَ كَفَرُوا مِنْهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ)
“และหากพวกเขาไม่ยุติคำพูดของพวกเขา(เช่นนั้น)แน่นอนการลงโทษอันทรมานยิ่งจะต้องสัมผัสแก่บรรดาผู้เนรคุณจากพวกเขา”(อัล-มาอิดะฮฺ :73)
โองการนี้ครอบคลุมถึงผู้ปฏิเสธทุกๆคน ดังนั้นความหมายโองการนี้คือ لَيَمَسَّنَّ الَّذِينَ كَفَرُوا الَّذِيْنَ هُمْ هَؤُلَاءُ.


5 และตัวอย่างจากอายะฮฺ อัล-กรุอ่าน เช่น
 (لَنْ تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّى تُنْفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ) “เจ้าทั้งหลายจะยังไม่บรรลุสู่คุณธรรม(อันแท้จริง)ได้จนกว่าเจ้าทั้งหลายจะได้บริจาคบางสิ่งที่เจ้าทั้งหลายรัก” (อาลาอิมรอน :92).
และมีรายงานที่บ่งชี้สนับสนุนความหมายของ “มิน” ในอายะฮฺว่าเป็น “มิน อัต-ตับอีฎ” นั่นก็คือ การอ่านของท่าน อิบนิ มัสอูดที่ว่า (حَتَّى تُنْفِقُوا بَعْضَ مَا تُحِبُّونَ) และเป็นที่ทราบกันดีว่า แท้จริงโองการอัล-กุรอ่านนั้น อธิบายซึ่งกันและ.
และโองการ (مِنْهُمْ مَنْ كَلَّمَ اللَّهُ) “บางคนจากพวกเขา(บรรดาศาสนทูต)เป็นผู้ที่อัลลอฮฺทรงตรัส(เขาคือ นาบีมูซา)”(อัล-บะกอเราะฮฺ :253)
และโองการ (وَمِنَ النَّاسِ مَنْ يَقُولُ آمَنَّا بِاللَّهِ) “และในหมู่มนุษย์บางคนมีผู้ที่กล่าวว่า เราศรัทธาในอัลลอฮฺ”(อัล-บะกอเราะฮฺ :8).
ทัศนะที่เห็นต่าง
ทัศนะที่หนึ่ง เป็นทัศนะของ ปรวงปราชญ์ส่วนใหญ่ (อัล-ญูมฮูร) มีความเห็นว่า ความหมาย “อัต-ตับอีฎ”นั้นเป็นหนึ่งในความหมายของ “มิน” และท่าน “อิบนุ อุศฟูร” ก็ได้ตัดสินให้น้ำหนักกับทัศนะนี้.
ทัศนะที่สอง เป็นทัศนะของ ท่าน อัล-มุบัรริด, ท่าน อัล-อัคฟัช อัศ-ศอฆีร, ท่าน อิบนุ อัส-สัรรอจญ์ ,ท่าน อัส-สุฮัยลีย์ และ นักวิชาการบางกลุ่ม พวกเขาเห็นว่า “มิน” ไม่มีความหมาย “อัต-ตับอีฎ” ทว่า “มิน” มีแค่ความ “อิบติดาอฺ อัล-ฆอยะฮฺ” และความหมายอื่นๆจะหวนกลับไปยังความหมายนี้.
     ท่าน “อัล-มุรอดีย์” กล่าว(โดยสนับสนุนทัศนะที่สองนี้)ว่า “เมื่อท่านกล่าวว่า (أَكَلْتُ مِنَ الرَّغِيْفِ)  “ฉันได้รับประทาน(ส่วนหนึ่ง)จากโรตี” นั่นก็หมายความ ท่านได้ทำให้การรับประทาน ดำเนินไปบนส่วนบนชิ้นส่วนแรกของโรตี (โรตีเลยแยกตัวออก) เราจะเห็นได้ว่า ท้านที่สุดแล้วความหมายของประโยคย่อมหวนกลับไปยังความหมายของ “อัล-อิบติดาอฺ”.





ออฟไลน์ มารบูรพาอึ้งเอี๊ยะซือ

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 23
  • Respect: +14
    • ดูรายละเอียด
Re: บุพบทอักษรที่สอง : “มิน” ( مِنْ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ต.ค. 13, 2013, 03:08 PM »
+1
(4) ความหมายที่สี่ : (فِيْ)  “ฟี” (ใน) 6  เช่นคำดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า  (إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ)  “เมื่อมีการประกาศให้ละหมาดในวันศุกร์”(อัล-ญุมุอะฮฺ :9) หมายความว่า فِيْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ

(5) ความหมายที่ห้า : (زَائِدَةٌ) “ซาอิดะฮฺ” (เป็นบุพบทเพิ่ม ไม่มีความหมาย)7  เช่น
  (مَا جَاءَنِيْ مِنْ أَحَدٍ) ความหมาย คือ(مَا جَاءَنِيْ أَحَدٌ)  “ไม่ได้มีใครมาหาฉันหรอก”
 ซึ่งข้อสังเกตที่สามารถทราบได้ คือ หากคำว่า “มิน” มันหลุดออกไปจากประโยค ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายของประโยคบกพร่องแต่อย่างใด.


_________________________________________________________________

6 หรือเรียกอีกอย่างว่า “อัซ-ซอรฟียะฮฺ” ซึ่งมีอยู่สองประเภท
1 ซอรฟฺ อัล-มะกาน (นามบอก สถานที่) เช่น (أَرُونِي مَاذَا خَلَقُوا مِنَ الْأَرْضِ) “พวกท่านจงทำให้ฉันเห็นประจักษ์ สิว่าสิ่งใดบ้างจาก(ใน)แผ่นดินที่พวกนั้นสร้างขึ้น”(ฟาฏิร :40)
2 ซอรฟฺ อัซ-มาน (นามบอกเวลา) เช่น อายะฮฺ (إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ)  “เมื่อมีการประกาศให้ละหมาดในวันศุกร์”(อัล-ญุมุอะฮฺ :9) ข้างต้น.
ทัศนะที่เห็นต่าง
ทัศนะที่หนึ่ง เป็นทัศนะของ “อัล-กูฟียีน” พวกเขาเห็นว่า “มิน” ในสองอายะฮฺข้างต้น ให้ความหมาย “ซอรฟฺ อัล-มะกาน” และ “ซอรฟฺ อัซ-ซะมาน”ตามลำดับ.
ทัศนะที่สอง เป็นทัศนะของ “อัล-บัศรียีน” พวกเขาเห็นว่า “มิน”ข้างต้นให้ความหมาย “บายาน อัล-ญินส์” ดังเช่นที่ได้ผ่านมาใน อายะฮฺ  (مَا نَنْسَخْ مِنْ آيَةٍ)  (อัล-บะกอเราะฮ์ :106)ข้างต้น หาใช่จะให้ความหมาย “ซอรฟฺ” ดังทัศนะที่หนึ่งอ้าง.

7 ซึ่งรายละเอียดต่างของ “มิน ซาอิดะฮฺ” (ที่เป็นบุพบทเพิ่ม) นั้น โปรดติตามใน โอกาสหน้าครับ อิงชาอัลลอฮ์

ออฟไลน์ liongate

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 21
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: บุพบทอักษรที่สอง : “มิน” ( مِنْ)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ก.ค. 04, 2016, 03:22 PM »
0
 :salam: น่าจะจัดมาอีกนะ จะพยายามทำให้ห้องนี้มีชีวิตชีวา เหมือนวันเก่า ๆ

ออฟไลน์ nada-yoru

  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 4010
  • เพศ: หญิง
  • แสงและเงา
  • Respect: +134
    • ดูรายละเอียด
Re: บุพบทอักษรที่สอง : “มิน” ( مِنْ)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: ก.ค. 08, 2016, 11:13 AM »
0
จัดมาค่ะ...รอติดตามอยู่...

"และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า"

(ซูเราะฮฺ อัซซาริยาต อายะอฺที่ 56)


 

GoogleTagged