นิยามคำว่า "สายกลาง"
คำว่า
สายกลาง มาจากคำภาษาอาหรับว่า اَلْوَسَطُ (อัลวะซัฏ) ซึ่งหมายถึง "ดีเลิศที่สุดหรือคุณภาพดีที่สุด" หรือหมายถึง สิ่งที่อยู่ระหว่างสองประการที่ถูกตำหนิ เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่ระหว่างความตระหนี่กับความสุรุ่ยสุร่าย ความกล้าหาญอยู่ระหว่างความขลาดกลัวกับความผลุนผลันมุทะลุสายกลางคือเอกลักษณ์พิเศษของประชาชาติอิสลาม ดังที่อัลเลาะฮ์ตะอาลา ทรงตรัสความว่า
وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطاً لِّتَكُونُواْ شُهَدَاء عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيداً
"และในทำนองเดียวกันนั้น เราได้ดลบันดาลพวกเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติสายกลางเพื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ชาติและศาสนทูต(มุฮัมมัด) ก็เป็นสักขีพยานสำหรับพวกเขาทั้งมวล" อัลบะกอเราะฮ์ : 143
ความเป็นประชาชาติสายกลางของประชาชาติอิสลามนั้น ได้รับสืบทอดเจตนารมณ์มาจากแนวทางที่เป็นกลาง มีความสมดุล ปราศจากความสุดโต่งและหย่อนยาน ดังนั้นเมื่อมีความสมดุลย์เกิดขึ้น เสถียรภาพย่อมบังเกิด จากนั้นหนทางที่เที่ยงตรงก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ด้วยความเป็นธรรมชาติสายกลางของอิสลามนี้แหละครับ ที่อัลเลาะฮ์ตะอาลา ทรงสอนให้เราทำการเฝ้าวอนขอต่อพระองค์ซึ่งหนทางที่เที่ยงตรงในละหมาดไม่น้อยกว่า 17 ครั้งต่อวัน ที่ว่า
اهدِنَــــا الصِّرَاطَ المُستَقِيمَ صِرَاطَ الَّذِينَ أَنعَمتَ عَلَيهِمْ غَيرِ المَغضُوبِ عَلَيهِمْ وَلاَ الضَّالِّينَ
"พระองค์โปรดชี้นำเราสู่แนวทางที่เที่ยงตรงด้วยเถิด ซึ่งเป็นแนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปราณแก่พวกเขา มิใช่แนวทางของพวกที่ถูกกริ้ว และมิใช่(แนวทางของ)พวกที่หลงผิด" อัลฟาติหะฮฺ : 6 - 7
ในซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮฺที่เราอ่านในทุกรอกะอัตของละหมาดนั้น
อัลเลาะฮ์ทรงบัญชาใช้ให้เราอยู่ในสายกลาง "บรรดาผู้ถูกกริ้ว" นั้น ก็คือพวกยาฮูดี และ "พวกที่หลงผิด" คือ พวกนะซอรอ ดังนั้น พวกยาฮูดีกับพวกนะซอรอนั้น เป็นอุทาหรณ์แห่งความเกินเลยและหย่อนยาน เช่น พวกยิวเลยเถิดฆ่าบรรดานบี ส่วนพวกนะซอรอเลยเถิดนำเอาท่านนบีอีซาเป็นพระเจ้า และพวกยาฮูดีหย่อนยานมักง่ายในสิ่งที่ต้องห้าม ส่วนพวกนะซอรอมักง่ายในเรื่องที่ฮะล้าล ดังนั้น หนทางสายกลางก็คือ การเดินอยู่บนแนวทางที่เที่ยงตรงซึ่งเป็นแนวทางของกลุ่มชนที่อัลเลาะฮ์ (ซบ.) ทรงประทานความโปรดปราณจากบรรดานบี บรรดาผู้สัจจริง บรรดาผู้มรณะสักขี และบรรดาผู้มีคุณธรรมทั้งหลาย
พี่น้องผู้อ่านครับ ทุกแนวทางก็เชื่อกันว่าตนเองก็อยู่ในหนทางของบรรดานบีและเหล่าผู้มีคุณธรรม หากท่านผู้อ่านตั้งคำถามขึ้นแก่ผมว่า "เมื่อทุกแนวทางต่างเชื่อกันว่าแนวทางของตนก็คือแนวทางของบรรดานบีและเหล่าผู้มีคุณธรรมนั้น พวกเขาทั้งคือสายกลางน่ะซิ?" ผมขอตอบว่า
"แนวทางของบรรดานบีและเหล่าผู้มีคุณธรรมนั้น ต้องอยู่บนความเป็นสายกลางในเชิงหลักการและฉายออกมาให้เห็นทางพฤติกรรมด้วยเช่นกัน" ท่านอิบนุอับบาสได้รายงานจากท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านได้กล่าวว่า
إِيَّاكُمْ وََالْغُلُوَّ فِي الدِّيْنِ فَإِنَّمَا أَهْلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ الْغُلُوَّ فِي الدَّيْنِ
"พวกท่านจงระวังการเลยเถิดในเรื่องศาสนา เพราะแท้จริงบุคคลที่อยู่ก่อนหน้าพวกท่านนั้นได้ประสบความวิบัติเกี่ยวกับความเลยเถิดในเรื่องศาสนา" อันนะซาอีย์ (3057)
รายงานจากท่านอิบนุมัสอูด ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวซ้ำกันถึงสามครั้งว่า
هَلَكَ الْمُتَنَطِّعُوْنَ
"บรรดาผู้มุตะนัตติอูน(ผู้ที่คิดลึกเกินเลยขอบเขต)ได้มีความวิบัติแล้ว" รายงานโดยมุสลิม
ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวว่า "พวกมุตะนัตติอูน คือ พวกคิดลึกเลยเถิดเกินขอบเขตทั้งในบรรดาคำพูดและการกระทำของพวกเขา" ชัรห์ ซอฮฺห์มุสลิม 16/220
จากฮะดิษข้างต้นนี้ ชี้ถึงการเลยเถิดสุดโต่ง ได้ออกจากแนวทางที่เป็นสายกลาง เกินเลยขอบเขต ดังนั้นบ่อเกิดของความเลยเถิด ก็มาจากผลของการอธิบายตัวบทต่าง ๆ ของศาสนาแบบแข็งกร้าวรุนแรงค้านกับเป้าหมายและเจตนารมณ์ของชะรีอะฮ์อิสลาม และพยายามให้ตนเองและบุคคลอื่น ยึดทัศนะของตนพร้อมกับทำการฮุกุ่มทัศนะที่ต่างจากตน ทำการตำหนิว่ากล่าวอย่างเสียหายต่อผู้รู้ที่มีทัศนะต่างจากตนอย่างไร้อัคลาคของอัลอิสลาม เช่น ฮุกุ่มทัศนะอื่น เป็นคนชั่ว โง่เขลา บิดอะอ์ ตกนรก ดังนั้น ความเลยเถิดเข้มงวดจึงมิใช่เป็นการแสวงหาความสมบูรณ์ในเรื่องการทำอิบาดะฮ์หรือเป็นการแสดงถึงความรอบคอบในเรื่องของศาสนา
ท่านชัยค์ ด๊อกเตอร์ อัลก๊อรฏอวีย์ กล่าวว่า
"ถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรมในการที่เราจะทำการกล่าวหาบุคคลหนึ่งว่า เขาฝักใฝ่(ฝ่ายทัศนะของตน)ในเรื่องของศาสนาเพียงเพราะได้เลือกทัศนะความเห็นต่าง ๆ ของฟิกห์ที่เข้มงวดอันเนื่องจากเขาเชื่อว่ามันถูกต้องและมีน้ำหนักที่สุด...ซึ่งหากแม้นว่าคนอื่นจะเห็นว่าทัศนะความเห็นของเขามีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเป็นทัศนะที่อ่อนก็ตาม" อัศเศาะห์วะตุลลอฮ์อิสลามียะฮ์ : 36
ผมเห็นด้วยกับคำกล่าวของท่าน ชัยค์ ด๊อกเตอร์ ยูซุฟ อัลก๊อรฏอวีย์
เนื่องจากเป็นการไม่บังควรที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างแนวทางหรือทัศนะของตนขึ้นมาแล้วทำการตำหนิผู้ที่ขัดแย้งกับตน ทำการกล่าวหาอย่างน่ารังเกียจ สร้างภาพระบายสีต่อผู้อื่นในแง่ลบ โดยกักตุนหรือแช่แข็งความถูกต้องไว้สำหรับพวกเขาแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น ความเลยเถิด การฝักใฝ่ในทัศนะฝ่ายตน และมีความแข็งกร้าวนั้น เป็นการออกจากเจตนารมณ์ของอิสลามและความเป็นสายกลางของศาสนาอ่านรายละเอียดต่อใน
อิสลาม คือ สายกลาง หลักการ และความเป็นจริง