ส่วนทัศนะปัจจุบันของท่านผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวเกี่ยวกับการคำนวณ ดูเหมือนยังเป็นประเด็นให้ยกมาถกเถียงได้ ในอดีตท่านเคยประกาศอย่างเด็ดขาดและแข็งขันว่า การคำนวณไม่ให้นำมาใช้เป็นตัวกำหนดในทางศาสนา ปัจจุบันเห็นมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไปบ้าง ดูเหมือนจะแยกประเด็นออกมาในทำนองว่า จะใช้การคำนวณเพื่อกำหนดเวลาละหมาดให้เป็นประโยชน์ในบางสถานการณ์บ้างก็ได้ เพื่อช่วยให้เรารู้เวลาละหมาดได้ใกล้เคียงความถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ให้เรายึดการเฝ้าสังเกตแสงอาทิตย์ เงาและความมืดเหมือนที่ชนรุ่นก่อนๆ เคยปฏิบัติเป็นหลัก
ท่านผู้ทรงคุณวุฒิผู้นี้กล่าวย้ำว่า คำนวณนี่เราต้องอาศัยไว้เพื่อความใกล้ชิด หรือความแน่นอนเท่าที่ทำได้ในการรู้เวลา แต่ไม่ใช่เป็นที่อาศัย หรือเป็นสิ่งที่เราต้องพึ่งพาอย่างแน่นอน หรืออย่างเดียวในการกำหนดเวลา เปล่าเลย แต่ถ้าหากไม่ใช้ปฏิทินเลยก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าเราจะละหมาดตามการดูอาทิตย์ของเราถือว่าใช้ได้
กล่าวได้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้ แยกการคำนวณดวงจันทร์ออกไป และถือว่าใช้ไม่ได้ในทางศาสนา โดยอ้างหะดีษดังต่อไปนี้ :
إناأمةأمية لانكتب ولانحسب. الشهرهكذاوهكذا، يعني مرة تسعة وعشرين و مرة ثلاثيـن
แท้จริงพวกเราเป็นประชาชาติที่ด้อยการศึกษา (ดังนั้น)พวกเราจึงไม่เขียน และพวกเราไม่คำนวณ สำหรับเดือนนั้น มันเป็นอย่างนี้ และเป็นอย่างนี้ นั่นหมายถึงว่าบางครั้งมันมี 29 วัน และบางครั้งมันมี 30 วัน(ไม่ตายตัว) (หะดีษบุคอรี รายงานโดยท่านอิบนิ อุมัร)
ท่านผู้ทรงคุณวุฒิถือหะดีษนี้เป็นบรรทัดฐาน และสรุปว่าตามหะดีษนี้ ท่านนบีพูดและห้ามเรื่องการคำนวณดวงจันทร์เท่านั้น และข้อห้ามนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงการคำนวณเวลาละหมาดแม้แต่น้อย นอกจากนี้ ท่านยังกล่าวว่า ท่านนบีกำลังพูดถึงประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในสมัยของท่าน เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่นบีจะเอ่ยเรื่องนี้แล้ว ไม่มีเหตุการณ์หรือไม่มีอะไรที่อยู่เบื่องหลัง นบีบอกว่าเราไม่คำนวณ ก็แสดงว่ามันมีอะไรที่ทำให้ท่านนบีต้องแถลงต้องพูดแบบนี้ ผู้เขียนจึงอยากเรียกร้องให้ท่านผู้อ่านกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของการจัดทำปฏิทิน และการกำหนดเดือนของประชาชาติในยุคโบราณ โดยเฉพาะชนชาติยิว ซึ่งพำนักอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์และส่วนอื่นๆ ของคาบสมุทรอาระเบีย หากเราได้ล่วงรู้เรื่องนี้แล้ว เราจะเข้าใจความมุ่งหมายของหะดีษข้างต้นได้เป็นอย่างดี
อาหรับในยุคก่อนอิสลามได้ทำการคำนวณวัน เดือน ปีตามระบบจันทรคติ โดยให้ปีหนึ่งมี 12 เดือน และถือว่าทุก ๆ เดือนคู่มี 29 วัน เรียกเดือนคู่ว่าเดือนที่บกพร่อง ส่วนชาวยิวในสมัยเดียวกันล้ำหน้าไปกว่ามาก ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้ว่า ชนชาติยิวสามารถคำนวณ newmoon หรือปรากฏการณ์จันทร์ดับได้ตั้งแต่หนึ่งพันปีกว่ามาแล้ว สาเหตุที่พวกเขาสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะพวกเขาต้องการที่จะกำหนดวันเฉลิมฉลองและวันสำคัญทางศาสนาให้ถูกต้องนั่นเอง
มนุษย์ในยุคนั้นเฝ้าติดตามการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ และได้นำผลการคำนวณที่ได้มากำหนดจำนวนวันในหนึ่งเดือน มีการกำหนดให้ 1 เดือนมี 29 วันและ 30 วันก่อนสมัยการเผยแพร่ศาสนาอิสลามเสียอีก ตรงนี้ผู้เขียนเองก็อยากจะถามทุกท่านว่า การที่ท่านนบีกำหนดว่าให้1 เดือนมี 29 วันและ 30 วันนั้น ท่านนบีกำหนดมาจากไหน? ท่านคิดขึ้นมาเอง? หรือยึดถือตามที่ผู้ใช้ปฏิทินในยุคของท่านใช้กันอยู่? หรือว่าเรื่องนี้เป็นโองการมาจากอัลลอฮ์? แต่ถ้าใครจะตอบว่าเป็นโองการมาจากอัลลอฮ์ ช่วยหาหลักฐานมายืนยันในเรื่องนี้ด้วย
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าท่านนบียึดถือตามที่ผู้ใช้ปฏิทินในยุคของท่านใช้กันอยู่ เหมือนการเรียกชื่อเดือนต่างๆ ท่านก็ใช้ตามที่อาหรับในสมัยนั้นใช้กันอยู่ ประเด็นก็คือการกำหนดให้เดือนหนึ่งมี 29 วัน และ 30 วันนั้นมาจากผลของการคำนวณทางดาราศาสตร์ของผู้คนในยุคก่อนยุคของท่านใช่หรือไม่? คำตอบคือ ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ ขอถามหน่อยสิ มีใครบ้างที่กล้าพูดและคิดไปว่า ท่านนบีทั้งๆ ที่ปฏิเสธการคำนวณเรื่องเดือน แต่ท่านกลับแอบไปนำผลิตผลของการคำนวณมาใช้อย่างหน้าตาเฉย (อัซตัฆฟิรุลลอฮ์) ถ้าท่านปฏิเสธและห้ามการคำนวณเกี่ยวกับเดือนโดยเด็ดขาดแล้ว ท่านนำผลการคำนวณที่ว่า 1 เดือนมีประมาณ 29-30 วันมาใช้ทำไม? เพราะนี่ก็เป็นผลมาจากการคำนวณอย่างเห็นได้ชัด
เราทราบมาว่าชาวยิวในยุคนั้นกำหนดปฏิทินของพวกเขาดังนี้คือ เดือน Nisan มี 30 วัน, เดือน Iyar มี 29 วัน, เดือน Sivan มี 30 วัน, เดือน Tammuz มี 29 วัน, เดือน Av มี 30 วัน, เดือนElul มี 29 วัน, เดือน Tishrei มี 30 วัน, เดือน Cheshvan มี 29 วันหรือ 30 วัน, เดือน Kislev มี 29 วันหรือ 30 วัน, เดือน Tevet มี 29 วัน, เดือน Shevat มี 30 วัน และเดือนAdar มี 29 วัน
ชาวยิวตั้งแต่ยุคโบราณสามารถคำนวณได้แล้วว่า 1 เดือนมี 29.5306 วัน ซึ่งตรงกับการคำนวณของชาวบาบิโลนเช่นกัน ดังนั้นในเวลา 1 ปีทางจันทรคติมี 354.3672 วัน (12 x 29.5306) ในขณะที่ 1 ปีทางสุริยคติมี 365 วันโดยประมาณ ฉะนั้น เวลาจะแตกต่างกันอยู่ราวๆ 11 วัน หากไม่มีการแก้ไข เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปี ปฏิทินจันทรคติจะต่างกับสุริยคติมาก จนอาจจะทำให้วันประกอบพิธีทางศาสนาคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง7
ดังนั้นจึงมีการปรับวันเดือนเสียใหม่ เนื่องจากปฏิทินจันทรคติของชาวยิวถือตามแบบวัฏจักรเมตอน (Metonic Cycle) ซึ่งคิดโดยเมตอน นักปราชญ์ชาวกรีกเมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อปรับให้ปฏิทินจันทรคติและปฏิทินสุริยคติสอดคล้องกันทุกๆ รอบ 19 ปี ชาวยิวจัดให้มีปีปกติ 12 ปี โดยที่ปีเหล่านี้จะมี 12 เดือน และมีปีอธิก(เพิ่มเดือน)อีก 7 ปี โดยปีเหล่านี้จะมี 13 เดือน โดยทั้งหมดในรอบ 19 ปีตามวัฏจักรเมตอนจะมีเดือนทั้งหมด 235 เดือน สำหรับปีอธิกนั้นประกอบด้วยปีที่ 3, 6, 8, 11, 14, 17, และ 19 เดือนที่ถูกเพิ่มเข้าไปคือเดือน Adar I มี 30 วัน ให้เพิ่มเข้าไปหลังเดือน Shevat ส่วนเดือน Adar เดิมให้เรียกว่าเดือน Adar II
นอกจากนี้ชาวยิวยังกำหนดว่าปีต่างๆ นั้นมี 3 แบบ ได้แก่ปี
1. ปี Chaserah คือปีบกพร่อง หรือปีไม่สมบูรณ์ กำหนดให้มีวันทั้งหมด 353 หรือ 383 วัน เดือน Kislev และ Cheshvan มี 29 วัน
2. ปี Kesidrah คือปีปกติ กำหนดให้มีวันทั้งหมด 354 หรือ 384 วัน เดือน Kislev มี 30 วัน ส่วนเดือน Cheshvan มี 29 วัน
3. ปี Shlemah คือปีสมบูรณ์ กำหนดให้มีวันทั้งหมด 355 หรือ 385 วัน เดือน Kislev และ Cheshvan มี 30 วัน
ตามที่อธิบายมาถือว่าปฏิทินโบราณของชาวยิวมีความสลับซับซ้อนมากกว่าชนชาติอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาคมมุสลิมในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ชาวยิวย่อมจะท้าทายบรรดาซอฮาบะฮ์ของท่านนบีด้วยความเหนือกว่าในด้านการคำนวณ และการออกแบบปฏิทินของตนเอง ในสมัยนั้นท่านนบีจึงมีทางเลือกในการกำหนดวันเดือนปี 2 ทาง ได้แก่ 1. ยืมปฏิทินของชาวยิวมาใช้ หรือ 2. กำหนดวันเดือนปีที่เป็นของตัวเองขึ้นมา และท่านนบีของเราได้เลือกหนทางที่สอง ท่านไม่ยอมรับปฏิทินของชาวยิวด้วยเหตุผลว่า ท่านประสงค์ที่จะมอบสิ่งที่เหมาะสมและสิ่งที่ดีกว่าให้แก่ประชาชาติของท่าน ท่านจึงประกาศว่า แท้จริงพวกเราเป็นประชาชาติที่ด้อยการศึกษา (ดังนั้น)พวกเราจึงไม่เขียน และพวกเราไม่คำนวณ....... เพราะนี่คือสภาพทั่วไปของประชาชาติมุสลิมในสมัยนั้น และเป็นสิ่งที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวมานี้คือแนวทางในการทำความเข้าใจหะดีษที่กล่าวมา ผู้เขียนถือว่าโดยการศึกษาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ทางด้านสังคม และวัฒนธรรมตรงส่วนนี้จะทำให้เราเข้าใจภูมิหลังอันเป็นที่มาของคำประกาศดังกล่าวของท่านนบี เป็นความเข้าใจที่ไม่ได้เกิดจากการมีทัศนะอันคับแคบ ด่วนสรุปและเข้าข้างตัวเอง โดยตัดสินไปตามตัวอักษรแต่ถ่ายเดียว
ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจหะดีษดังกล่าวเสียใหม่ เพราะนอกจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม จะบอกกับบรรดาซอฮาบะฮ์ของท่านถึงสถานภาพของประชาชาติของท่านว่า เพราะพวกเขาด้อยการศึกษา จึงไม่ขีดเขียนและไม่คำนวณแล้ว ท่านยังทำไม้ทำมือบอกกับบรรดาซอฮาบะฮ์ของท่านว่า เดือนของพวกเขาจะมิใช่เดือนที่ถูกกำหนดตายตัวเป็นการล่วงหน้าเช่นที่ประชาชาติอื่นๆ ใช้กันอยู่ ซึ่งดูยากและสลับซับซ้อน แต่ที่สำคัญคือมันไม่เหมาะกับสภาวะของพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่ด้อยการศึกษา ดังนั้น จากการพิจารณาปริบทหะดีษอย่างถ่องแท้แล้ว สิ่งที่ท่านไม่สนับสนุนไม่ใช่เรื่องการคำนวณในตัวของมันเอง แต่ท่านไม่ยอมรับการกำหนดเดือนและการนับเดือนของประชาชาติอื่นๆ มากกว่า เช่น บางเดือนมีการกำหนดจำนวนวันที่ตายตัว บางเดือนเพิ่มหนึ่งวัน บางปีเพิ่มเดือนใหม่อีกหนึ่งเดือน เป็นต้น การกำหนดอย่างนี้ต่างหากที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ไม่ยอมรับ
นอกจากนี้ ยังมีในวาระอื่นๆ อีกที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม อธิบายว่า ประชาชาติของท่านควรอาศัยการดูเดือนเป็นเกณฑ์ การกำหนดว่าเดือนใดเป็น 29 วันหรือ 30 วันขึ้นอยู่กับผลของการดูเดือน และเราพบหะดีษที่ท่านอธิบายในรายละเอียดว่า หากมีสิ่งมาบดบังไม่ให้เราเห็นฮิลาล เราควรจะ คำนวณ หรือบางหะดีษระบุว่าให้เรา นับ ให้ครบ 30 วัน
คำถามก็คือ การคำนวณเพื่อจัดทำปฏิทินและการกำหนดเดือนของชาวยิวในประวัติศาสตร์นั้น มันคือสิ่งเดียวกับการคำนวณทางดาราศาสตร์ ที่ประชาชาติมุสลิมในสมัยปัจจุบันกระทำอย่างนั้นหรือ คำตอบก็คือ ไม่ เพราะสิ่งที่ชาวยิวทำมีเพียง คำนวณจำนวนวันในหนึ่งเดือน คำนวณ newmoon และคำนวณว่าจะหาทางไม่ให้การเฉลิมฉลองวันสำคัญทางศาสนาคลาดเคลื่อนไปจากฤดูกาลที่เป็นจริงได้อย่างไร แล้วพวกเขาก็กำหนดลงไปในลักษณะตายตัวลงไปว่า เดือนนี้มี 30 วัน เดือนนั้นมี 29 วัน แล้วเพิ่มวันลงไปบ้าง ลดวันลงบ้าง เพิ่มเดือนเข้าไปก็มี ส่วนสิ่งที่นักคำนวณทางดาราศาสตร์ทำในปัจจุบันก็คือ การคำนวณหา newmoon (ปรากฏการณ์จันทร์ดับ) หาว่าดวงอาทิตย์ตกกี่โมง ดวงจันทร์ตกกี่โมง อาจมีฮิลาลค้างฟ้าปรากฏให้เห็นนานเท่าไร อยู่ ณ ตำแหน่งใดบทท้องฟ้า ตลอดจนคำนวณว่า พื้นที่ที่สามารถมองเห็นฮิลาลมีที่ไหนบ้าง สถานที่ใดต้องใช้กล้องจึงจะเห็นได้ และสถานที่ใดอาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทั้งนี้เพื่อดูความเป็นไปได้ว่า เราสามารถกำหนดเดือนใหม่ได้แล้วหรือยัง สิ่งที่นักคำนวณทางดาราศาสตร์มุสลิมทำเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ชาวยิวทำเมื่อพวกเขาสร้างปฏิทินของตนเองขึ้นมา ทั้งนี้นักคำนวณมุสลิมยังคงทำงานอยู่ในกรอบที่ท่านนบีกำหนดว่า เดือนนั้นบางครั้งมันมี 29 วัน และบางครั้งมันมี 30 วันในลักษณะไม่ตายตัว
จากข้อเท็จจริงของวิทยาการสมัยใหม่ การคำนวณเวลาละหมาดและการคำนวณดวงจันทร์อาศัยข้อมูลทางดาราศาสตร์ในรูปแบบเดียวกัน และมีความคล้ายคลึงกัน เราจะเห็นได้ว่าซอฟแวร์ หรือโปรแกรมคำนวณเวลาละหมาดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีการคำนวณดวงจันทร์รวมอยู่ด้วย คือการคำนวณนี้จะประกอบไปด้วยการคำนวณตำแหน่งดวงอาทิตย์(เพื่อใช้หาเวลาละหมาด) และตำแหน่งดวงจันทร์(เพื่อหาการขึ้น-การตกของดวงจันทร์) ที่กระทำกับผิวโลกในแนวระนาบ(วัดค่าเป็นองศา) เพื่อใช้คำนวณค่าออกมาโดยสัมพันธ์กับพิกัดของจุดที่ใช้ในการคำนวณ มันไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนัก ถ้าผ่อนผันให้ใช้คำนวณเวลาละหมาดเพื่อให้รู้เวลาที่ถูกต้องมากขึ้นได้ ทำไมไม่ใช้การคำนวณเพื่อช่วยให้การดูเดือนมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น?
อนึ่ง ผู้เขียนกล่าวอย่างนี้มิได้จะสื่อไปในทำนองว่า ควรใช้การคำนวณเป็นตัวกำหนดวันเริ่มต้นเดือนใหม่แต่เพียงอย่างเดียว โดยละทิ้งการดูเดือนด้วยสายตาตามคำสั่งของท่านนบีแต่อย่างใด การคำนวณดวงจันทร์ตามหลักดาราศาสตร์สมัยใหม่ให้นำมาใช้เพื่อช่วยสนับสนุนให้การดูเดือนมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของผู้ดูเดือนที่ขาดความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนเพื่อหักล้างการเห็นเดือนที่เป็นความเท็จ ทั้งนี้ผู้เขียนไม่สนับสนุนทัศนะที่ใช้การคำนวณทางดาราศาสตร์เพื่อกำหนดวันเริ่มต้นของเดือนแต่เพียงอย่างเดียว
ดังกล่าวคือการทำความเข้าใจหะดีษโดยอาศัยการมองผ่านแง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม การมองหะดีษจากความหมายของถ้อยคำ หรือการทำความเข้าใจหะดีษตามตัวอักษรเป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะละเลยเช่นกัน หะดีษที่กล่าวมา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สภาพที่เป็นอยู่ของประชาชาติของท่าน ท่านจัดพวกเขาอยู่ในลักษณะของพวกที่ ด้อยการศึกษา กล่าวคือพวกที่รู้หนังสือมีจำนวนน้อย แม้ตัวท่านนบีเองยังเป็นคนไม่รู้หนังสือ อ่านและเขียนไม่ได้ เพราะเงื่อนไขนี้เอง จึงไม่มีการเขียน ไม่มีการทำบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้น ท่านนบีมิได้มอบหมายให้ซอฮาบะฮ์บางคนทำหน้าที่เป็นอาลักษณ์อย่างเป็นทางการ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวท่าน และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหล่าซอฮาบะฮ์ซึ่งอยู่ร่วมกับท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการเผยแพร่ของท่าน หรือแม้แต่สงครามหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น (ยกเว้นการบันทึกอัล-กุรอานที่ท่านสั่งการให้ซอฮาบะฮ์บางคนจัดทำไว้ และการร่างสารส่งไปถึงผู้ปกครองของอาณาจักรต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้เข้ารับอิสลาม)
ดังกล่าวจึงเป็นความหมายของคำว่า (ดังนั้น)พวกเราจึงไม่เขียน โดยแท้จริง คำว่าเขียน ณ ที่นี้ไม่ใช่การขีดเขียนธรรมดาๆ ทั่วไป เช่นการเขียนจดหมาย การทำสัญญาและการจดบันทึกของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด และเป็นการให้ความหมายที่สอดรับกับสภาพ ด้อยการศึกษา ที่กล่าวไว้ในตอนแรกเป็นอย่างยิ่ง สำหรับความหมายของคำว่า และพวกเราไม่คำนวณ นั้น ได้แก่การคำนวณเดือน-ปี และการจัดทำปฏิทินเหมือนที่ชนชาติอื่นๆ ในสมัยของท่านนบีทำกันอยู่ ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายไปแล้ว
ผู้เขียนมิได้เห็นว่าคำพูดดังกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เป็น คำสั่งห้าม เรื่องการเขียนและการคำนวณแต่อย่างใด เพราะถ้าเรากล่าวว่า ท่านนบีสั่งห้ามมิให้คำนวณเรื่องการกำหนดเดือนแล้ว เราต้องยืนยันด้วยว่าท่านห้ามมิให้เราเขียน หรือจัดทำบันทึกในรูปแบบต่างๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งการเข้าใจอย่างนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะ ท่านนบีจะสั่งห้ามมิให้เขียนได้อย่างไร
มีบางท่านแปลคำพูดของท่านนบีในตอนนี้ว่า พวกเราไม่เขียน(เรื่องการ)คำนวณ หรือ พวกเราไม่เขียน(เพื่อจะ)คำนวณ ซึ่งเป็นการกระทำที่น่าเกลียดมาก เพราะเป็นการกุความเท็จให้แก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม อย่างไม่น่าให้อภัย ท่านนบีพูดอย่างชัดเจนว่า لانكتب ولانحسب พวกเราจึงไม่เขียน และพวกเราไม่คำนวณ ท่านแยกคำว่า เขียน และคำว่า คำนวณ ออกจากกันด้วยคำว่า และ โดยที่คำทั้งสองมิได้เป็นเหตุเป็นผลของกันและกันแต่อย่างใด การที่บางท่านโยงคำทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยให้เป็นไปในลักษณะ เขียนเรื่องการคำนวณ หรืออื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันนั้น เพราะมีเจตนาที่จะตีความว่าคำทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน และทำให้ทัศนะของพวกเขาน่าเชื่อถือมากขึ้น เป็นการบิดเบือนคำพูดของท่านนบีให้สอดรับกับทัศนะของตนเอง เป้าหมายก็คือเพื่อทำให้ข้อโต้แย้งที่กล่าวไว้ในตอนท้ายย่อหน้าก่อนที่ว่า ท่านนบีจะสั่งห้ามมิให้เขียนได้อย่างไร ต้องเป็นอันตกไป