เท่าที่ศึกษากลุ่มวะฮาบีย์มานั้น พอจะสรุปเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อหลักฐานต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในเรื่องฟิกฮฺของพวกเขาได้ดังนี้คือ
1.) ใช้การ "ตัรญีหฺ" (ชั่งน้ำหนักทางทัศนะ) ว่าทัศนะไหนที่น้ำหนักมากที่สุด ก็จะเลือกทัศนะนั้นมาปฏิบัติ ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งสิ่งที่วะฮาบีย์มองว่ามีน้ำหนักนั้น ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ค้านกับญุมฮูร หรือไม่ก็ค้านกับหลักฐานจากหะดีษอย่างชัดเจน แต่พวกเขามักจะอ้างหลัก "มะศอลิหฺ มุรสะละฮ์" หรือแปลให้เข้าใจง่ายก็คือ "ประโยชน์ส่วนร่วม" นั่นเอง
2.) ใช้หลัก "มะศอลิหฺ มุรสะละฮ์" เมื่อพบว่าบางตัวบท หากปฏิบัติตามแล้ว จะทำให้สังคมโดยรวมเกิดความเสียหาย หากเราศึกษาฟิกฮฺตามทัศนะของทางวะฮาบีย์ เราจะเห็นได้ในบางประเด็นที่ขัดกับหะดีษนบีย์อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่พวกเขาอ้างและชักชวนผู้อื่นว่า ต้องยึดหลักฐานจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮ์ให้คงมั่น ตัวอย่างที่มีการถกประเด็นกันในประเทศไทยก็เช่นเรื่อง การถือว่าการละหมาดญุมุอะฮ์ของผู้ที่ไม่ใช่ผู้อาศัยอย่างถาวรของท้องถิ่นนั้นๆ ถือว่าใช้ได้ แม้พวกเขาจะอ้างว่ามีบางทัศนะ (หมายถึงหะนะฟีย์) ถือว่าใช้ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นทัศนะที่ไม่ได้อ้างการปฏิบัติของท่านนบีย ศ็อลฯ จากหะดีษโดยตรง อีกทั้งทัศนะส่วนใหญ่ของอุละมาอ์ (ญุมฮูรคือ มาลิกีย์, ชาฟิอีย์ และหันบาลีย์) มีทัศนะว่า เงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้การละหมาดญุมุอะฮ์ใช้ได้ ก็คือ ต้องเป็นคนอาศัยถาวรของท้องถิ่นนั้นๆ แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็อ้างหลักมะศอลิหฺ มุรสะละฮ์ ซึ่งเมื่อดูในอีกบริบทหนึ่ง พวกเขากลับต่อต้านทุกสิ่งที่ไม่มีแบบอย่างจากศาสนา แม้ผู้คนจะถือว่ามันดีขนาดไหนก็ตาม นี่คือสิ่งที่วะฮาบีย์ได้สร้างความขัดแย้งในตัวตามทัศนะของตัวเอง และอีกหลายเรื่อง
3.) ใช้หลัก "ตัลฟีก" หรือการปะปนหลายทัศนะ หรือมัฑฮับ พวกเขามักจะให้เหตุผลว่า ในเมื่อปัญหาทางฟิกฮฺมีหลายทัศนะ และทุกทัศนะล้วนแต่อ้างว่ายึดหลักฐานจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮ์ ดังนั้น การที่จะกระทำอิบาดะฮ์ใดๆ เพียงหนึ่งอิบาดะฮ์ แต่ยึดหลายๆ ทัศนะปะปนกัน ก็ถือเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ ผมไม่ทราบว่าทัศนะข้างตนนี้เป็นส่วนหนึ่งจากทัศนะของพวกเขา หรือเป็นทัศนะหลักของพวกเขา ที่จะอนุญาตให้มีการปะปนในหลายทัศนะในเรื่องเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องอิบาดะฮ์ (ซึ่งบางทัศนะจากพวกเขา จะไม่อนุญาตในเรื่องมุอามะลาต) ตัวอย่างเช่น เราอาบน้ำละหมาดตามมัฑฮับชาฟิอีย์ ต่อมาเราก็ไปกระทบผู้หญิง ซึ่งไม่ถือว่าเสียตามอีกมัฑฮับหนึ่ง (หะนะฟีย์, มาลิกีย์ เป็นต้น) แต่ตามชาฟิอีย์ถือว่าเสียน้ำละหมาดอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น หากเราจะไม่ไปเอาน้ำละหมาดใหม่ จากนั้น ก็ไปละหมาดในสภาพเช่นนั้น ก็ถือว่าการละหมาดนั้นใช้ได้
สามหลักการข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่เราจะปฏิเสธไม่มีอุละมาอ์ท่านใดอนุญาตเช่นนั้น หรือห้ามเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด ก็หามีไม่ เพราะทุกเรื่องล้วนแต่มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็น ส่วนผม ผมขอยืนในข้างที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องข้างต้น ผมไม่เห็นด้วยในส่วนที่ว่า มีแต่การใช้หลักการอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความเข้าใจ หรือความพร้อมของคนทั่วไป (เอาวาม) ในการรับมือกับหลักการดังกล่าว แม้จะเป็นทัศนะที่ถือเป็นสิทธิของวะฮาบีย์ที่จะยึดเช่นนั้น แต่มันคงไม่มีปัญหา หากเป็นการยึดโดยที่ไม่มีการโจมตีทัศนะอื่นๆ อย่างผิดๆ ถูกๆ เสียๆ หายๆ โดยเฉพาะหลักในข้อที่ 3 ผมถือว่า ได้สร้างความปั่นป่วนในสังคมอย่างมาก คนที่รู้หลักการใช้ในเรื่องตัลฟีก ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่อะไรหละที่จะเป็นสิ่งประกันได้ว่า คนทั่วไปจะใช้หลักตัลฟีกได้เหมือนกับบรรดาผู้รู้ ผมเกรงว่ามันจะอาจจะกลายเป็นทำเป็นเล่นกับศาสนา แม้จะมีการรับรองจากผู้รู้บางท่านก็ตาม แต่ระดับความเคร่งครัดในการปฏิบัติก็ย่อมต่างกัน - วัลลอฮุอะอฺลัม - วัสสลามุอลัยกุม