"ราดหน้า" หรือว่า
"ลาดหน้า"...
"ราดยาง" หรือ
"ลาดยาง"เมื่อครั้งที่เขียนเรื่องนี้ในตอนที่ 1 ผมได้รับคำเสนอแนะเรื่องคำที่มักเขียนผิด
เพิ่มมาอีกหนึ่งคำ จาก BG-prapasri หรือ คุณประภาศรี สุฉันทบุตร
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงพยาบาลนายแพทย์หาญ
ท่านเล่าให้ฟังว่า อีกคำหนึ่งที่มักเห็นเขียนผิดกันมาก
คือคำว่า ก๋วยเตี๋ยว
"ราดหน้า" หลายๆ ร้าน มักจะเขียนก๋วยเตี๋ยว
"ลาดหน้า" ขณะเดียวกัน คำว่า
ถนนลาดยาง มักเขียนผิดเป็น
"ถนนราดยาง""เห็นแล้วหงุดหงิดทุกครั้ง คุณป้าจะทนไม่ได้...ต้องบอกเจ้าของร้าน
ให้แก้ใหม่ให้ถูกต้องค่ะ และถนน
'ลาดยาง' ก็มักจะเขียนผิดว่า ถนน
'ราดยาง' ขอแนะวิธีจำง่ายๆ นะคะ
...
เดินไปตามถนน 'ลาดยาง' ไปซื้อก๋วยเตี๋ยว 'ราดหน้า' ค่ะ"เมื่อย้อนไปศึกษาให้ลึกซึ้งในคำ โดยค้นหาในพจนานุกรม
พบความหมายของคำว่า "ลาด" ดังนี้...ลาด ก. ปูแผ่ออกไป
เช่น ลาดพรม ปูลาดอาสนะ,
โดยปริยายหมายถึง สิ่งที่มีอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น
เช่น ถนนลาดยาง. ว. เทตํ่าหรือ เอียงขึ้นน้อยๆ เช่น ที่ลาด
อีกคำคือ "ราด" ได้ความหมายว่า...
ราด ก. เทของเหลวๆ เช่นนํ้าให้กระจายแผ่ไปหรือให้เรี่ยรายไปทั่ว
เช่น ราดนํ้า, ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า, ข้าวราดแกง
โดยปริยายหมายถึงอาการที่ คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ปัสสาวะราด
เมื่อพิจารณาการผสมคำ เราจะจำได้ง่ายขึ้น
และเข้าใจว่าทำไม "ลาดหน้า" และ "ราดยาง" ทั้ง 2 คำนี้จึงเขียนผิด
ฉะนั้น ขอให้จำหลักง่ายๆ ดังคำเสนอแนะของ BG-prapasri
ที่แนะนำไว้ว่า..."เดินไปตามถนน 'ลาดยาง' ไปซื้อก๋วยเตี๋ยว 'ราดหน้า'...
เขียนอย่างนี้ จึงถูกต้อง
"อบอวน" กับ
"อบอวล" ชวนสงสัย
เป็นอีกคำหนึ่ง ที่หลายๆ คนสับสน สงสัย ว่าเขียนอย่างไร จึงถูก
ซึ่งคำว่า "อบอวน" หากแปลตรงๆ จะได้ความหมายว่า
นำ "อวน" ซึ่งเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่ง ที่ใช้สำหรับหาปลา นำมา "อบ"
คือการปรุงกลิ่นด้วยควัน หรือ ใช้ความร้อนจากไฟ จากไอน้ำ
โดยไม่ให้ความร้อนหรือกลิ่นออกไป
ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเบื้องหลังของการใช้คำนี้เพื่อขยายความแล้ว
การใช้คำว่า "อบอวน" จึงผิด เพราะหมายถึงการทำให้ เครื่องมือหาปลามีกลิ่นขณะที่ เมื่อเราเขียนว่า
"อบอวล" เพื่อขยายความ
เช่นประโยคที่ว่า
"เพียงเดินเข้าไปยังห้องบรรทม ก็อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้" หาก ลองค้นคำ ในพจนานุกรม จะพบการอธิบายคำว่า "อบอวล" ไว้ว่า...
อบอวล ก. ตลบ, ฟุ้ง, (ใช้แก่กลิ่น). ว. มีกลิ่นตลบ, มีกลิ่นฟุ้ง.
จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง และควรจำไว้เสมอว่า
"อบอวน" เขียนผิด แต่
"อบอวล" เขียนถูก
"เท่" ดีไหม...หรือจะ
"เท่ห์" ดี
บ่อยหน ที่เราจะพบคนส่วนใหญ่ มักจะเขียนว่า
"เท่ห์" เพื่อขยายความในสิ่งที่พบเจอ
ซึ่งแท้จริง คำว่า
"เท่ห์" เป็นคำที่ไม่มีความหมายแต่อย่างใด
หากค้นคว้าในพจนานุกรม ก็จะไม่พบคำอธิบาย เมื่อพิจารณาดู
จะพบว่า "เท่ห์" มักตั้งเป็นแต่ชื่อคนเท่านั้น
ขณะที่ลอง ตัด "ห์" ออกไป แล้วค้นคำว่า "เท่"
เราจะได้ความหมายของคำอธิบายในพจนานุกรมว่า...
เท่ ว. เอียงน้อยๆ (มักใช้แก่การสวมหมวก); โก้เก๋
เช่น แต่งตัวเท่ ฉะนั้น คำว่า "เท่" จึงเป็นคำที่ถูกต้อง
ต่อไปนี้ ขอให้ลืมไปเลยกับคำว่า "เท่ห์"
เว้นแต่ใช้เป็นนามเฉพาะในการตั้งชื่อคน
ซึ่งเป็นที่นิยมตั้งชื่อ ทั้งชื่อจริง และชื่อเล่นว่า "เท่ห์"
ขอให้จำไว้ว่า เมื่อต้องการขยายความในสิ่งที่เห็น
"เท่ห์" เขียนผิด ต้องเขียน "เท่" จึงจะถูกต้องอยากรู้คำว่า ญัตติ เขียนแบบไหน
"ญัติติ" หรือ
"ญัตติ"BG-ลีโอนิกด์ ได้ฝากข้อความถามไว้เมื่อเอนทรี่ก่อนว่า
"อยากรู้คำว่า ญัตติ.. เขียนแบบไหน ญัติติ หรือญัตติ"
ซึ่งเป็นคำหนึ่งที่เราได้ยินบ่อยครั้ง และเห็นเสมอในหน้าหนังสือพิมพ์
หมวดข่าวการเมือง ซึ่งพบว่า มีเขียนทั้ง "ญัตติ" และ "ญัติติ"
เราจะมาพิจารณาด้วยกันครับ ว่าเขียนอย่างไรจึงจะถูก...
เริ่มจาก ค้นหาคำว่า "ญัติติ" ซึ่งค้นหาเท่าไร ก็ไม่พบความหมาย
ครั้นค้นคำว่า "ญัตติ" จะพบข้อมูลดังนี้
ญัตติ น. คําประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทํากิจของสงฆ์ร่วมกัน
เช่น ญัตติทุติยกรรมวาจา ญัตติจตุตถกรรมวาจา, คําเผดียงสงฆ์ ก็ว่า
ข้อเสนอเพื่อลงมติ
เช่น ผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติว่า
จะเห็นชอบด้วยหรือไม่;
หัวข้อโต้วาที เช่น โต้วาทีในญัตติว่า ขุนช้างดีกว่าขุนแผน. (ป.).
ฉะนั้น "ญัติติ" เขียนผิด ต้องเขียน "ญัตติ" จึงจะถูกต้อง"หลับไหล" หรือ
"หลับใหล"...
"หลงไหล" กับ
"หลงใหล"เป็นอีก 2 ประโยค ทีชวนให้สงสัย และสับสนกันมานาน
สำหรับคำที่ใช้สระ-ใ (ไอ-ไม้ม้วน) ซึ่งมีบล็อกเกอร์หลายท่านกรุณาเสนอแนะ
การจำไว้ โดย BG-ทวิน แนะนำว่า
"จริงๆ คำที่ใช้ สระไอ-ไม้ม้วน ถ้าท่องคำกลอน 20 ม้วนจำจงดี
เมื่อตอนเรียนสมัยประถมน่าจะถูกนะครับ" พร้อมฝากบทกลอนไว้ดังนี้...
"ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อมิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัวหูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยงยี่สิบม้วนจำจงดี"พร้อมกำชับว่า
"ส่วนคำไหนไม่ได้อยู่ในนี้ก็ใช้สระไอไม้มลายนะครับ" ขณะที่ BG-คนโทใส่น้ำ ได้แนะนำหลักการแยกแยะ
ระหว่างการใช้สระ ไ กับ ใ ไว้เช่นเดียวกันว่า
"จริงๆ เรื่องไม้ม้วน ไม้มลาย ถ้าท่องหรือจำคำใน "ยี่สิบม้วนจงจำดี"
ก็มักจะใช้ไม่ผิดหรอก"เมื่อย้อนกลับไปดูคำที่ใช้ด้วย สระ-ใ (ไอ-ไม้ม้วน)
จะพบมีคำว่า "หลงใหล" อยู่ในคำกลอนสอนให้จำดังข้างต้น
แต่เมื่อหาคำว่า
"หลับใหล" จะไม่พบในบทกลอน...แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ
หลักพิจารณา ว่าเขียนอย่างไรถูก ก็ต้องมาดูที่คำแปลของคำว่า
"ไหล" เปรียบเทียบกับ "ใหล"
ซึ่งคำว่า "ไหล" หมายถึง เลื่อนไป หรือเคลื่อนที่ไปอย่างของเหลวส่วน "หลงใหล" หมายถึง เผลอไผล สติเฟือน (...สองเผือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่.../ในลิลิตพระลอ)
จะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะใช้ "หลับใหล" จะมีบ้างที่ใช้ หลับไหล แต่ไม่นิยม
ควรรู้เพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วคำว่า "ใหล" ที่ใช้ไม้ม้วน จะไม่ใช้ลำพัง
แต่ต้องใช้ซ้อนกับคำอื่น ได้แก่ ใช้ซ้อนกับคำว่า หลง เป็น หลงใหล
และซ้อนกับคำว่า หลับ เป็น หลับใหลคำว่า
"ใหล" ที่ใช้ไม้ม้วนนี้ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า หมายถึงอาการคล้ายละเมอ
เพราะในภาษาลาวมีคำว่า ใหล (สะกดด้วยสระไอ ไม้ม้วน)
หมายถึง ละเมอ หรือ พูดในเวลาเผลอสติ อย่างคนบ้าจี้ที่ถูกหลอกให้ตกใจ
แล้วมักจะพูดโพล่งออกมา
จึงเข้าใจได้ว่า "หลับใหล" เป็นอาการของคนที่หลับไม่รู้สึกตัว
เผลอ ละเมอออกมา อย่างไม่ได้สติ
ฉะนั้น จึงพบราชบัณฑิตและผู้ที่เข้าใจรากศัพท์ภาษา เขียนเป็น "หลับใหล"
ส่วนอีกคำ เชื่อว่าหลายคนจะจำได้แล้วว่า ต้องเขียนว่า "หลงใหล" จึงถูกต้อง
ที่มา: http://www.oknation.net/blog/tewson/2009/06/02/entry-1
ปล.คำบางคำเคยโพสไปแล้ว แต่เนื่องจากรายละเอียดในเชิงลึกต่างกัน
เลยนำมาเสริมต่อค่ะ
ปล.2ไม่รู้ว่าเราจะรุ่นโบราณไปมั้ย ถ้าจะบอกว่า
ตอนอยู่ประถมอาจารย์ก็ให้ท่องกลอน"20ม้วนจำจงดี"ด้วย 
(ขนาดว่าท่องจำแล้วยังใช้ผิดเลยค่ะ โดยเฉพาะคำว่า สะใภ้
เผลอพิมพ์ไม้มลายทุกที เพราะไม้มลายอยู่ใกล้นิ้วนางข้างซ้ายพอดี
ไม่รู้ทำไมสักที ตัวอื่นกดได้ แต่ตัว "สะใภ้"มันกดยาก นี่ก็ระวังอยู่ค่ะ
เผลอทีไร จาก "สะใภ้" กลายเป็น "สะไภ้" ทู้กกกกกที
)
เจออีกจะเอามาฝากอีกค่ะ
วัสลามุอะลัยกุมค่ะ
^___________^