ความประเสริฐและที่มาของพิธีฮัจย์
ในยุคที่มีความขัดแย้ง ความเหลวแหลก และไร้ซึ่งสัจจธรรมในกลุ่มอาหรับ อัลลอฮ์ (ซุบฮาฯ) จึงได้ส่งท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) มายังกลุ่มชนนี้ โดยสั่งใช้ให้ท่านศาสดาประสานหัวใจของพวกเขา และทำให้พวกเขาเป็นประชาชาติเดียวกัน ด้วยการยึดมั่นและศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว มีคำปฏิญานคำเดียวกัน และการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเดียวกัน
ด้วยหลักพื้นฐานของการสร้างสัมพันธไมตรีต่อกันระหว่างกลุ่มต่างๆ อัลลอฮ์จึงบัญญัติแก่ประชาติมูฮัมหมัดให้จัดทำศาสนกิจที่ร่วมกัน ด้วยการละหมาดญะมาอะห์ ละหมาดญุมอัต ละหมาดอีด การประกอบพิธีฮัจย์ร่วมกัน และศาสนกิจอื่นๆ เพื่อเป็นการประสานสัมพันธไมตรี ประสานหัวใจของประชาชาติมุสลิมให้เป็นหนึ่งเดียว
การประกอบพิธีฮัจย์ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมิตรภาพระหว่างมุสลิมทั่วโลก โดยการที่คนต่างเชื้อชาติ ต่างถิ่นฐาน ต่างวัฒนธรรม ต่างมารวมตัวกัน และใช้ชีวิตในช่วงเวลาสั่นๆร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจโดยมีเป้าหมายเดียวกัน นั้นก็คือ อัลลอฮ์ (ซุบฮาฯ) ดังที่อัลลอฮ์ ได้ทรงตรัสไว้ในโองการที่ว่า
وأذن في الناس بالحج يأتوك رجالا
وعلى كل ضامر يأتين من كل فج عميق
ความว่า : และเจ้าจงประกาศเถิด (อิบรอฮีมเอ๋ย) ในมวลมนุษย์ชาติ เพื่อการบำเพ็ญพิธีฮัจย์ ซึ่งพวกเขาจะมา (ตามคำเรียกร้อง) ยังเจ้า มีทั้งกลุ่มชนที่เดินมาและขี่อูฐอันผอมเพรียว พวกเขาจะมาจากทุกหนทุกทางอันไกลโพ้น
เมื่อมนุษย์ชาติต่างได้ยินการเรียกร้องแห่งพระเจ้าให้มาร่วมตัวกันยังจุดนัดหมาย อันเป็นจุดศูนย์กลางของโลก แม้ว่าจะต้องเผชิญความยากลำบากเพียงใด ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าแล้ว พวกเขาก็ไม่หวั่นที่จะเดินทางมายังบัยติ้ลลอฮิ้ลฮารอม
จากโองการที่กล่าวมานี้ บ่งให้รู้ว่า การบำเพ็ญฮัจย์นั้น ไม่ได้ถูกเริ่มในสมัยของท่านศาสดามูฮัมหมัด แต่มันได้ถูกเริ่มมาตั้งแต่สมัยท่านศาสนาอิบรอฮีม
ด้วยกับหัวใจของประชาชาติยุคก่อนอิสลามที่ถูกเปลี่ยนสีไปพร้อมกับกาลเวลา จึงทำให้ศาสนาที่ถูกประทานลงมายังศาสดาอิบรอฮีมมีการบิดเบือน และขัดต่อบัญญัติแห่งอัลลอฮ์ แน่นอนอาหรับในยุคญาฮิลียะห์ ได้เข้าร่วมประกอบพิธีฮัจย์ซึ่งมีสิ่งที่ขัดต่อบัญญัติของศาสดาอิบรอฮีมปนอยู่มากมาย เมื่อยุคอิสลามได้มาถึง การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จึงเกิดขึ้น
สิ่งที่ไม่ถูกเรียกว่าศาสนาอันเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักการก็ได้ถูกขจัดออกไปในเรื่องของพิธีฮัจย์ และศาสนกิจอื่นๆ และเป็นเรื่องที่ได้รับการยืนยันจากอัลลอฮ์ (ซุบฮาฯ) ว่าศาสนาอิสลามนั้นเป็นศาสนาที่เที่ยงแท้อันเป็นแนวทางที่สืบทอดมาจากศาสดาอิบรอฮีม ดังที่อัลลอฮ์ได้ทรงตรัสไว้ว่า
قُلْ إنَِّنِي هَدَانِي رَبِّي إلَى صِرَاطٍ مُستَقِيْمٍ
دِيْنًا قِيَمًا مِلَّةَ إبْرَاهيمَ حَنِيْفًا وَمَا كَانَ مِنَ المُشْرِكيْن
ความว่า “จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) ว่า แท้จริงฉัน พระเจ้าของฉันได้แนะนำฉันไปสู่ทางอันเที่ยงตรง คือศาสนาที่เที่ยงแท้อันเป็นแนวทางของอิบรอฮีมอันเป็นศาสนาที่บริสุทธิ์ และเขา (อิบรอฮีม) มิใช่หนึ่งจากบรรดาผู้ตั้งภาคี”
การประกอบพิธีฮัจย์ที่ “มักกะห์”อัลลอฮ์ (ซุบฮาฯ) ทรงเลือกให้มักกะห์และบริเวณรอบมักกะห์เป็นสถานที่ประกอบพิธีฮัจย์ เนื่องด้วยกะบะห์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางมักกะห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพื้นโลก เป็นใจกลางของทุกทวีปซึ่งสะดวกแก่มนุษย์ชาติที่จะเดินทางมา และแน่นอนกะบะห์เป็นมัสยิดแห่งแรกของโลกที่ถูกสร้างขึ้น อีกทั้งยังเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของบรรดาศาสดารุ่นก่อนๆ
การวุกุฟที่ “อาราฟะห์”การเลือกให้อาราฟะห์เป็นหนึ่งจากสถานที่วุกุฟ อันเนื่องมากจากอาราฟะห์มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โลก ซึ่งอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พบกันระหว่างท่านนะบีอาดัมและพระนางฮาวาอ์ เป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงสั่งใช้ให้บรรดาศาสดาปฏิบัติศาสนกิจต่อพระองค์ เป็นสถานที่ตอบรับคำวิงวอนจากพระองค์ เป็นสถานที่ที่อัลลอฮ์ทรงอภัยโทษ และลบล้างความผิดต่างๆจากป่วงบ่าว เพราะท่านศาสดามูฮัมหมัดได้เคยกล่าวไว้ว่า
أفضل الدعاء دعاء أهل عرفة ، وأفضل ما قلت
وقالت الأنبياء قبلي عشية يوم عرفة : لا إله
إلا الله وحده لاشريك له ، له الملك وله الحمد
يحيي ويميت وهو حي لا يموت بيده الخير
وهو علي كل شيء قدير
ความว่า “การวิงวอน (ดุอา) ที่ประเสริฐที่สุดคือการวิงวอนของชาวอารอฟะห์ คำวิงวอนของฉันและบรรดาศาสนายุคก่อนในยามเย็นของวันอารอฟะห์ที่ประเสริฐที่สุดคือ ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ์ วะฮ์ดะฮู ลาชารีก่าละฮู ละฮู้ลมุ้ลกุ้ ว่าละฮู้ลฮัมดู่ ยูฮยี ว่ายูมีตู้ ว่าฮูว่า ฮัยยู้ล ลายะมูตู้ บี่ยะดีฮี้ลคอยรู่ ว่าฮู้ว่า อาลา กุ้ลลี้ชัยอิน กอดีร”
และได้มีรายงานจากท่านอาลี บิน อบีฎอเล็บ (การ่อมาฮู้ลลอฮ์) ว่าท่านศาสดามูฮัมหมัดได้เคยกล่าวไว้ว่า
إن أكثر دعائي ودعاء الأنبياء قبلي عشية يوم عرفة :
لا إله إلا الله وحده لاشريك له ، له الملك وله الحمد
يحيي ويميت وهو حي لا يموت بيده الخير وهو علي
كل شيء قدير . اللهم اجعل في قلبي نورا وفي سمعي
نورا وفي بصري نورا . اللهم اشرح لي صدري ويسر
لي أمري وأعوذ بك من وساوس الصدور وسيآت الأمور
وفتنة القبر . اللهم إني أعوذ بك من شر ما يلج في الليل
وشر ما تهب به الرياح
ความว่า “แท้จริงคำวงวอนของฉันและบรรดาศาสดาก่อนจากฉันที่มากที่สุดในยามเย็นของวันอารอฟะห์ คือ ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ์ วะฮ์ดะฮู ลาชารีก่าละฮู ละฮู้ลมุ้ลกุ้ ว่าละฮู้ลฮัมดู่ ยูฮยี ว่ายูมีตู้ ว่าฮูว่า ฮัยยู้ล ลายะมูตู้ บี่ยะดีฮี้ลคอยรู่ ว่าฮู้ว่า อาลา กุ้ลลี้ชัยอิน กอดีร อัลลอฮูมมัจอัล ฟีกอลบี นูเรา ว่าฟีซำอี นูเรา ว่าฟีบาซ่อรี นูเรา อัลลอฮูมัชเราะห์ลี ซอดรี ว่ายั้รซิรรี อัมรี ว่าอะอูซุ้ บี่ก่า มิน ว่าซาวี่ซิลซูดูร ว่าซัยยี่อาตี้ลอุมูร ว่าฟิตนะติ้ลกุบูร อัลลอฮูมม่า อินนี อะอูซูบี่ก่า มิน ชัรรี่ มา ย่าลี่ญู่ ฟีลลัยลี่ ว่าชัรรี่มาตาฮี่บู บีฮีรรี่ญาฮู้”
ในขณะที่มุ่งไปยังอารอฟะห์ มีสุนัตให้กล่าวดุอาดังนี้
اللهم إليك توحهت وعليك توكلت ووجهك أردت
فاجعل ذنبي مغفورا وحجي مبرورا وارحمني
ولا تخيبنى وبارك لي في سفري واقض بعرفات
حاجتي إنك على كل شيء قدير
การพำนักที่ “มีนา”ในยุคก่อนอิสลาม อาหรับส่วนใหญ่จะมารวมตัวกันที่มีนา และทำการกล่าวโอ้อวดเชื้อสาย เผ่าพันธุ์ ความใจบุญ ด้วยกับโวหารและสำนวนที่สละสลวย พวกเขาได้มุ่งมาจากสถานที่แล้งแค้นมายังมีนา เพื่อทำการซื้อขาย เพราะมีนาในขณะนั้นเป็นที่ตั้งของตลาดมากมาย อาทิเช่น ตลาดอุกกาซ ตลาดซิลมาญาซ ตลาดมัจนะห์ อิสลามยอมรับถึงผลประโยชน์ที่ได้จากการรวมตัว ร่วมสังคมกันเช่นนี้ แต่ทว่าอิสลามได้เปลี่ยนการโอ้อวดมาเป็นการกล่าวซิกรุ้ลลอฮ์ การกล่าวตัสเบียะ การกล่าวสรรเสริญอัลลอฮ์ และการกล่าวขอบคุณอัลลอฮ์แทน
เป็นสิ่งที่แน่ชัดว่า การรวมตัวและการพำนักของผู้ประกอบพิธีฮัจย์ในสถานที่นี้ เป็นสัญลักษณ์ของอัลอิสลาม การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางด้านวัตถุและวรรณกรรม เป็นสิ่งที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของศาสนาที่มีการอะลุ้มอะหลวยให้กับมุสลิมในสายตาของศัตรูอิสลาม อีกทั้งการรวมตัวกันในสถานที่นี้ ยังเป็นการพูกมิตร จิตสัมพันธ์ต่อกันระหว่างพี่น้องมุสลิมที่อยู่ต่างเชื้อชาติ ต่างถิ่นฐาน เช่นเดียวกับการรวมตัวในสถานที่ต่างๆในการประกอบพิธีฮัจย์
การเดินซะแอระหว่าง “ซอฟา” และ “มัรวะห์”ซอฟา และ มัรวะห์ เป็นชื่อของสถานที่ที่มีความสำคัญในการประกอบพิธีฮัจย์ และวิธีในการเดินซะแอระหว่างสองสถานที่นี้ก็คือการที่ผู้ประกอบพิธีฮัจย์ต้องเดินจากจุดหนึ่งมายังอีกจุดหนึ่งเสมือนกับผู้ที่ค้นหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่
ที่มาของการเดินซะแอนั้น อันเนื่องมาจากพระนางฮาญัรผู้เป็นภรรยาของท่านศาสดาอิบรอฮีมได้แสวงหาน้ำให้กับตนเองและบุตร (อิสมาแอล) ในสถานที่แห่งนี้ นางได้แสวงหาน้ำ และวิงวอนต่ออัลลอฮ์อย่างนอบน้อม เพื่อที่พระองค์จะได้ประทานน้ำเป็นการดับกระหายให้กับตัวนางและบุตร ทันใดนั้น น้ำที่ถูกเรียกว่า “ซำซำ” ก็ถูกพุดขึ้นมาจากดิน ซึ่งเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮ์ที่มีต่อมนุษย์สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้นการเดินซะแอระหว่างซอฟา และ มัรวะห์ เป็นการแสดงถึงความปรารถนาซึ่งความเมตตาและการช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ อีกทั้งการเดินซะแอนั้นยังเป็นการย้อนระลึกถึงประวัติศาสตร์อิสลามที่เกี่ยวกับพระนางฮาญัรและท่านศาสดาอิสมาแอลอีกด้วย
إن الصفا والمروة من شعائر الله فمن حج البيت أَو اعتمر
فلا جناح عليه أن يطوف بهما ومن تطوع خيرا فإن الله شاكر عليم
ความว่า “แท้จริงซอฟาและมัรวะห์นั้นเป็นหนึ่งจากบรรดาสัญลักษณ์ (ด้านศาสนา) ของอัลลอฮ์ ดังนั้นผ้ใดประกอบพิธีฮัจย์ ก็ไม่เป็นบาปแก่เขาที่จะเดินวนรอบมันทั้งสอง และผู้ใดอาสากระทำความดี แน่นอนอัลลอฮ์เป็นผู้ขอบคุณ (โดยตอบแทนรางวัลแก่เขา) อีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง”
สาเหตุที่อัลลอฮ์ทรงประทานโองการนี้มา เนื่องจากในยุคก่อนอิสลามนั้น อาหรับได้ทำการซะแอระหว่างซอฟาและมัรวะห์ โดยที่ภูเขาซอฟาเป็นที่ตั้งของรูปปั่นนามว่า “อะซาฟ” และภูเขามัรวะห์ก็มีรูปปั่นนามว่า “นาอิละห์” ซึ่งชาวอาหรับในสมัยนั้นมีความเชื่อในเรื่องของรูปปั่น อาหรับบางกลุ่มได้อ้างว่า “อะซาฟ” และ “นาอิละห์” นั้นเดิมทีเป็นชื่อของชายหญิงคู่หนึ่งที่ทำผิดประเวณีในกะบะห์ จนกระทั้งได้ถูกสาปให้เป็นหิน และถูกนำไปวางไว้ในสถานที่ดังกล่าว เมื่อระยะเวลาได้ผ่านไปพร้อมกับความงมงายของมนุษย์ รูปปั่นชายหญิงคู่นี้จึงได้กลายเป็นสิ่งสักการะของผู้คน เมื่อยุคอิสลามได้มาถึง รูปปั่นสองรูปนี้จึงได้ถูกขจัดออกไป เพราะเนื่องจากเป็นสิ่งที่ขัดต่อบัญญัติอิสลาม โดยท่านศาสดามูฮัมหมัดได้สั่งห้ามมิให้มุสลิมทำการเดินซะแออยู่เป็นระยะหนึ่ง เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะนำไปสู่การตกศาสนา จนกระทั้งอัลลอฮ์ได้ทรงประทานโองการนี้ลงมา
การขว้างเสาหินการขว้างเสาหินนั้นเป็นวิทยปัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายของการขว้างเสาหินนั้นก็คือการขว้าง “อิบลิส” มารร้ายที่อัลลอฮ์ทรงสาปแช่ง การขว้างเสาหินนั้นจะต้องขว้างให้ครบสามต้น ซึ่งต้นแรกเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “ญุมร่อตุ้ลอากอบะห์” ต้นที่สองเรียกว่า “ญุมร่อตุ้ลวุซตอ” และต้นที่สาม “ญุมร่อตุ้ลซุกรอ” โดยอาหรับบางกลุ่มจะเรียกต้นแรกว่า “อิบลิสกุบรอ” ต้นที่สอง “อิบลิสวุซตอ” และต้นสุดท้ายเรียกว่า “อิบลิสซุกรอ”
เดิมทีอาหรับในยุคก่อนอิสลามได้ทำการขว้างเสาหินมาก่อนอิสลามแล้ว โดยตามบัญญัติใช้ของท่านศาสดาอิบรอฮีม และเมื่อยุคอิสลามได้มาถึง บัญญัติที่ถูกใช้ในสมัยศาสดาอิบรอฮีมก็ได้ถูกนำมาปฏิบัติอีกครั้ง
ที่มาของการขว้างเสาหิน ก็เพื่อเป็นการระลึกและปฏิบัติรอยตามท่านศาสดาอิบรอฮีม (อะลัยฮิสลาม) เพราะเนื่องจากอัลลอฮ์ (ซุบฮาฯ) ทรงลงวิวอน (วาฮี) มายังแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ให้ท่านศาสดาอิบรอฮีมเชือดผู้ที่เป็นลูกของตนเองนามว่าอิสมาแอล เมื่อศาสดาอิบรอฮีมได้รับบัญชาเช่นนั้น ท่านจึงตอบรับคำบัญชาใช้ของอัลลอฮ์ ทันใดนั้นก็ได้ถูกรังควนจากชัยตอนมารร้ายโดยพวกมันได้ห้ามมิให้ท่านศาสดาอิบรอฮีมปฏิบัติตามบัญชาใช้ของอัลลอฮ์ได้สำเร็จ ดังนั้นท่านศาสดาอิบรอฮีมจึงได้หยิบก้อนกรวดและขว้างใส่ชัยตอนทันที นี่คือที่มาของการขว้างเสาหินต้นแรก เมื่อแผนการอันชั่วร้ายนี้ล้มเหลว ชัยตอนจึงได้เบนเข็มมุ่งเป้าหมายมายังพระนางฮาญัร บอกเล่าถึงการกระทำของศาสดาอิบรอฮีมที่จะเชือดบุตรชายของตน ดังนั้นพระนางฮาญัรจึงได้ขับไล่ชัยตอนโดยการข้างก้อนกรวดใส่ นี่ก็คือที่มาของการขว้างเสาหินต้นที่สอง เมื่อแผนการล้มเหลวทั้งสองครั้ง ชัยตอนมิได้ลดความพยายาม เบนเข็มมาหาท่านอิสมาแอลผู้เป็นบุตรชาย บอกเล่าถึงการกระทำของบิดาของเขา โดยกล่าวกับท่านอิสมาแอลว่า “การกระทำเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติตั้งแต่วันที่อัลลอฮ์ทรงสร้างโลกนี้มา” แล้วท่านศาสดาอิสมาแอลก็มิได้รอช้า หยิบก่อนกรวดขึ้นมา แล้วขว้างใส่ชัยตอนทันที และนี่ก็คือที่มาของการขว้างเสาหินต้นที่สาม
ดังนั้นเป้าหมายของการขว้างเสาหินก็เพื่อเป็นการปฏิบัติรอยตามท่านศาสดาอิบรอฮีม ท่านศาสดาอิสมาแอล และพระนางฮาญัร อีกทั้งยังเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ทางด้านประวัติศาสตร์อิสลามอีกด้วย
การโกนศีรษะหลังจากเสร็จสิ้นการครองเอี๊ยะรอมการโกนศีรษะเป็นเครื่องหมายของผู้ที่เสร็จสิ้นการครองเอี๊ยะรอม โดยผู้เสร็จสิ้นจากการครองเอี๊ยะรอมแล้วจะต้องมุ่งหน้ามาทำการตอวาฟอำลา (ตอวาฟวิดะอ์) ยังบัยตุ้ลลอฮ์
เป็นที่รู้กันว่าบัยตุ้ลลอฮ์นั้นเป็นสถานที่อันมีเกียรติต่อชาวอาหรับในยุคก่อนอิสลามและยุคอิสลาม ดังนั้นมารยาทของการอำลาในยุคนั้น ผู้อำลาต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดหมดจด ปราศจากจากการมีผมเผ้ายุ้งเยือง เช่นเดียวกันกับบ่าว เมื่ออำลานายของตน เขาจะต้องอำลาไปในสภาพที่ดีและหมดจดที่สุด
การโกนศีรษะเป็นสิ่งหนึ่งที่อิสลามได้สั่งใช้แก่ชายที่เสร็จสิ้นจากการครองเอี๊ยะรอม โดยไม่บัญญัติใช้แก่สตรี อีกทั้งยังห้ามมิให้สตรีโกนศีรษะอีกด้วย เพราะได้มีรายงานมาจากพระนางอาอิชะห์ว่า “แท้จริงท่านนะบี (ศ็อลฯ) ได้ห้ามมิให้สตรีใดโกนศีรษะของตน” เพราะการโกนศีรษะของสตรีนั้นจะเหมือนกับผู้ชาย ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ไม่มีภรรยาของท่านศาสดามูฮัมหมัดคนใดโกนศีรษะ ทว่าเพียงแค่ตัดผมเพียงน้อยนิดเท่านั้น
การจูบหินดำท่านศาสดามูฮัมหมัดได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
الحجر الأسود يمين الله عز وجل في الأرض
يصافح به خلقه ، كما يصافح الرجل أخاه
ความว่า “หินดำคือการสาบานของอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งและทรงเกียรติในพื้นพิภพนี้ ซึ่งสิ่งถูกสร้างของพระองค์ (มนุษย์) สามารถจับสัมผัสมันได้ เสมือนกับการที่ชายได้จับสัมผัสมือของพี่น้องของเขา”
ด้วยเหตุนี้เอง ท่านศาสดาจึงได้จูบหินดำ โดยได้มีรายงานจากท่านอุมัรบินค็อตต๊อบว่า ตัวท่านอุมัรเองก็ได้จูบหินดำ ซึ่งในขณะท่านอุมัรจูบหินดำนั้น ท่านอุมัรได้กล่าวกับหินดำว่า “ฉันรู้ว่า ท่านก็คือหินก้อนหนึ่งที่ไม่มีอันตราย ไม่มีประโยชน์ และหากแม้นว่าฉันไม่เห็นท่านศาสดามูฮัหมัดจูบท่านล่ะก็ ฉันก็จะไม่จูบท่าน” หลังจากนั้นท่านอุมัรก็ร้องไห้ และหันหลังไปพบท่านอาลีบินอบีตอเล็บ (ก่าร่อมาฮู้ลลอฮ์) ท่านอุมัรจึงได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้บิดาแห่งฮูเซนเอ๋ย ที่นี่ใช่ไหม ที่ท่านได้หลั่งน้ำตาและขอพร” ท่านอาลีจึงกล่าวว่า “อะมีรุ้ลมุมินีนเอ๋ย ! ทว่าหินก้อนนั้นมีโทษและประโยชน์” ท่านอุมัรกล่าวต่อไปว่า “แล้วอย่างไรล่ะที่มันมีโทษและประโยชน์” ท่านอาลีกล่าวว่า “แน่นอน เมื่ออัลลอฮ์ทรงสัญญาแก่บรรดาดวงวิญญาณในขณะที่อยู่ในโลกแห่งวิญญาณ พระองค์จะทรงบันทึกให้แก่พวกเขาโดยเป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากนั้นหินก้อนนี้ก็ได้กลืนการบันทึกนี้ เพื่อเป็นพยานแก่ผู้ศรัทธาถึงการรักษาสัญญา และเป็นพยานแก่ผู้ทรยศ (กาเฟร) ถึงการทรยศ” เมื่อท่านผู้อ่านทั้งหลายรู้เรื่องนี้ ท่านก็จะเข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมผู้ประกอบพิธีฮัจย์ถึงได้ของพรต่ออัลลอฮ์ในขณะจูบหินดำว่า
اللهم إيماناً بك وتصديقاً بكتابك ووفاءً بعهدك
ความว่า “โอ้อัลลอฮ์ (ขอพระองค์ทรงทำให้ฉันศรัทธา) โดยศรัทธาต่อท่าน และ(ขอพระองค์ทรงทำให้ฉันเชื่อมั่น) ด้วยการเชื่อมันต่อการบันทึกของท่าน และ(ขอพระองค์ทรงทำให้ฉันรักษาสัญญา) ด้วยการรักษาสัญญาของท่าน”
ได้มีรายงานว่า “เมื่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อะลัยฮิสสลาม) สิ้นสุดการสร้างกะบะห์ด้วยกับการนำเอาหินดำมาวาง โดยได้กล่าวกับท่านศาสดาอิสมาแอลผู้เป็นบุตรชายว่า “ท่านจงนำเอาหินก้อนหนึ่งมาให้ฉัน เพื่อที่ฉันจะได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ของกการเริ่มตอวาฟ” แล้วท่านศาสดาอิสมาแอลก็ได้ออกไปเอาหินก้อนหนึ่งมา ท่านศาสดาอิบรอฮีมจึงกล่าวว่า “ท่านจงไปเอาหินก้อนอื่นที่มิใช่หินก้อนนี้มา” แล้วท่านศาสดาอิสมาแอลก็ออกไปเอาหินมาอีกก้อน ท่านศาสดาอิบรอฮีมจึงกล่าวเป็นครั้งที่สามว่า “ท่านจงไปเอาหินก้อนอื่นที่มิใช่หินก้อนนี้มา” แล้วท่านศาสดาอิสมาแอลก็ออกไปเอาหินมาเป็นก้อนที่สาม และท่านศาสดาอิบรอฮีมก็ได้กล่าวว่า “ได้มาหาแก่ฉันซึ่งบุคคลที่ทำให้ฉันไม่ต้องการหินของท่าน แล้วท่านศาสดาอิบรอฮีมก็ได้มองหินดำในตำแหน่งของมัน
ปรากฏว่าในยุคก่อนอิสลาม หินก้อนนี้ถูกวางไว้ใกล้ๆกะบะห์ ต่อมาก็ถูกทำเอาออกไปไกลจากกะบะห์หลังจากเปิดเมืองมักกะห์ให้เป็นเมืองอิสลาม และได้ถูกนำมาวางไว้ในตำแหน่งของมันในปัจจุบันนี้ ชาวอาหรับกล่าวกันว่า ภายใต้หินก้อนนี้ มีอุปกรณ์ก่อสร้างที่ท่านศาสดาอิบรอฮีมใช้ในการก่อสร้างกะบะห์ และอาหรับทั้งก่อนอิสลามและในยุคอิสลามก็เชื่อกันว่า หินก้อนนี้มีความศักดิ์สิทธิ์
ท่านร่อซู้ลฯได้กล่าวว่า “หินดำได้ถูกประทานลงมาจากสวรรค์ ในสภาพที่มีความขาวจัดประดุจน้ำนม ต่อมาความชั่วของมนุษย์ได้ทำให้มันเปลี่ยนสีเป็นสีดำ” แน่นอนสีดำนั้นมีอยู่เฉพาะหัวของหินดำเท่านั้น แต่ส่วนที่เหลือเป็นสีขาว ซึ่งบอกเล่าโดยมูฮัมมัด อิบนุ นาเฟียะอฺ อัลคอซาอีย์ เพราะเขาเห็นด้วยกับตาของเขาโดยเขากล่าวว่า “ฉันได้สังเกตหินดำในขณะที่มันแตกเป็นชิ้นๆ เห็นว่าความดำนั้นมีอยู่บนหัวของหินดำเท่านั้น และส่วนที่เหลือของมันเป็นสีขาว”
จากเหตุผลข้างต้นนี้เอง ทำให้เราได้รู้ว่า สิ่งต่างๆที่อัลลอฮ์ (ซุบฮาฯ) ทรงสร้างขึ้นมานั้น มีโทษและประโยชน์ และมีคุณลักษณ์ความพิเศษที่ต่างกันออกไป ดังนั้นหินดำก็คือวัตถุชิ้นหนึ่งที่อัลลอฮ์ให้ความพิเศษแก่มัน ให้ความสามารถแก่มัน เช่นเดียวกัน พระอาทิตย์และดวงจันทร์ก็คือวัตถุหนึ่งที่อัลลอฮ์ทรงสร้างขึ้น โดยพระองค์จะให้ความสามารถแก่มันทั้งสอง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะมนุษย์
การสวมผ้าครองเอี๊ยะรอมที่ไร้ซึ่งตะเข็บในการครองเอี๊ยะรอมนั้น อัลลอฮ์ได้สั่งห้ามเรามิให้สวมเสื้อผ้าที่มีตะเข็บ และห้ามจากการปกปิดศีรษะสำหรับผู้ชาย เพื่อเป็นการแสดงถึงความน้อมนอบและต้อยต่ำอย่างที่สุดของผู้เป็นบ่าวต่อพระผู้เป็นเจ้า ดังที่มีคำวิงวอนต่ออัลลอฮ์ว่า “โอ้พระผู้ทรงอภิบาล ข้าน้อยไร้ซึ่งกรรมสิทธิ์ใดๆในตัวข้อน้อยนี้ และแน่นอนทุกสรรพสิ่งที่ถูกบังเกิดขึ้นมานี้นั้น ข้าน้อยไร้ซึ่งสิทธิใดแม้แต่เพียงเล็กน้อย โดยที่ท่านนั้นคือผู้ครองกรรมสิทธิ์ในถูกสิ่งที่บังเกิดขึ้นมาและต่อไปจะบังเกิดมาอย่างแท้จริง…”
และที่มาของการสวมผ้าครองเอี๊ยะรอมก็คือ เสื้อผ้าของชาวอาหรับสำหรับบุรุษชายในสมัยท่านศาสนาอิบรอฮีม มีความง่ายใด ถึงขนาดกล่าวได้ว่า ไม่มีความแตกต่างกันมากนักกับการสวมผ้าครองเอี๊ยะรอม
การกำหนดให้ผ้าครองเอี๊ยะรอมเป็นสีขาวนั้น ก็เนื่องจากว่า สีขาวเป็นสัญลักษณ์แห่งความสะอาด บริสุทธิ์ และการกำหนดให้ผู้ประกอบพิธีฮัจย์สวมเสื้อผ้าที่เรียบง่ายเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า มนุษย์จะต้องเตรียมตัวออกจากภพนี้ โดยไร้ซึ่งเครื่องประดับ ไร้ซึ่งเครื่องแต่งกาย และไร้ซึ่งความสวยงาม
การสวมผ้าเอี๊ยะรอม ก็ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งกษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี เศรษฐี และคนยากจน มีสถานะเดียวกัน นั้นก็คือบ่าวของอัลลอฮ์ ซึ่งจะต่างกันที่ความภักดี (ตออัต) ต่ออัลลอฮ์ที่ซ้อนอยู่ในจิตใจ
การค้างแรมที่ “มุซด้ารีฟะห์”เนื่องจากผู้ประกอบพิธีฮัจย์ได้ใช้ระยะเวลาตลอดทั้งวันที่จะมุ่งหน้าไปยังมีนา เพื่อเป็นการพักผ่อนและลดความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง อัลลอฮ์จึงได้บัญญัติการค้างแรมที่มุซด้ารีฟะห์ลงมา
การเชือดอุดฮียะห์การเชือดอุดฮียะห์เป็นการปฏิบัติตามท่านศาสดาอิบรอฮีม ในขณะที่อัลลอฮ์ทรงสั่งใช้ให้เชือดบุตรชายของตัวเอง แล้วท่านศาสดาอิบรออีมก็ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ ต่อมาอัลลอฮ์ก็ทรงให้ท่านศาสดาถ่ายตัวบุตรชายโดยให้เชือดแกะแทน ในด้านของการเชือดอุดฮียะห์นี้ มีวิทยปัญญาซ้อนอยู่ดังต่อไปนี้
๑ เพื่อเป็นการแสดงถึงความภักดีต่อผู้สร้างอย่างที่สุด แม้นจะถูกบัญญัติใช้ให้เชือดบุตรของตนเองก็ตาม
๒ เพื่อเป็นการของพระทัยต่ออัลลอฮ์ถึงพระเมตตาที่ให้ถ่ายตัวบุตรชายของท่านศาสดาอิบรอฮีม
และแน่นอน การจ่ายอุดฮียะห์นั้นจำเป็นต่อผู้ประกอบพิธีฮัจย์แบบ “ตะมัตตัวะอ์” และ “กิรอน”
การตอวาฟกุดูม (ตอวาฟขณะมาถึง)
บัยตุ้ลลอฮ์อัลฮารอมเป็นสถานที่อันทรงเกียรติยิ่งกว่าสถานที่ใดๆในภพนี้ เป็นมัสยิดแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกียรติต่ออัลลอฮ์ผู้ทรงสร้าง ปรากฏว่าเป็นมารยาทอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบพิธีฮัจย์จะต้องแสดงความเคารพสถานที่ ด้วยการตอวาฟรอบกะบะห์ก่อนที่จะทำสิ่งอื่นใด และจะต้องนำมาทำก่อนการละหมาด ผู้ใดที่ทำการละหมาดก่อนการตอวาฟถือว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้ไร้มารยาทอย่างมาก เมื่อทำการตอวาฟกุดูมเสร็จแล้ว มีสุนัตให้ทำการละหมาดสุนัตสองรอกาอัตที่มากอมนะบีอิบรอฮีม ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการแสดงความเคาพรที่สมบูรณ์ที่สุด
การตอวาฟวิดะอ์ (ตอวาฟอำลา)
เมื่อผู้ประกอบพิธีฮัจย์ได้ทำศาสนกิจฮัจย์เสร็จสิ้น และต้องการที่จะกลับไปยังถิ่นฐานของตน เขาจะต้องทำการอำลาบัยติ้ลลอฮ์อัลฮารอม เสมือนกับผู้มาเยือนอำลาผู้ให้การตอนรับขณะกลับถิ่นฐานของตน การอำลานี้ถือเป็นการให้เกียรติแก่บัยตุ้ลลอฮ์ และเพื่อเป็นการแสดงความรักที่มีต่อบัยตุ้ลลอฮ์ และการแสดงความรักต่อบัยตุ้ลลอฮ์นั้นก็หมายถึงการแสดงความรักต่อผู้เป็นเจ้าของบัยตุ้ลลอฮ์นั้นก็คืออัลลอฮ์
การเยี่ยมท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซิยาเราะห์นะบี)
ท่านศาสดามูฮัมหมัดถือว่าเป็นสื่อกลางที่ใหญ่ที่สุดที่จะเชื่อมต่อระหว่างอัลลอฮ์กับมนุษย์ และท่านยังเป็นความเมตตาของอัลลอฮ์ที่มีต่อมวลมนุษย์ โดยการนำสารแห่งพระเจ้ามายังมนุษย์ สอนมนุษย์ให้รู้ถึงสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว เป็นผู้นำทางไปสู่แนวทางอันเที่ยงตรง
ดังนั้น การแสดงความเคารพต่อท่านศาสดามูฮัมหมัดถือว่าเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง เพราะแท้จริงท่านศาสดามูฮัมหมัดได้เคยกล่าวไว้ว่า
من زارني بعد وفاتي ، فكأنما زارني في حياتي
ความว่า “ผู้ใดที่มาเยี่ยมฉันหลังจากฉันได้จากไปแล้ว เสมือนว่าเขาผู้นั้นได้มาเยี่ยมฉันในช่วงที่ฉันยังมีชีวิตอยู่”
และท่านศาสดายังได้กล่าวอีกว่า
من جاءني زائرا لا يهمه إلا زيارتي كان حقا
على الله سبحانه وتعالى أن أكون له شفيعا
ความว่า “ผู้ใดที่มาเยี่ยมฉัน โดยไม่ประสงค์อื่นใดนอกจากการเยี่ยมฉันเท่านั้น แน่นอนมันเป็นสิทธิ์เหนืออัลลอฮ์ที่ฉันจะเป็นผู้ช่วยเหลือเขาให้วันกิยามะห์”
เมื่อเราได้เดินทางมาจากถิ่นที่อยู่อันไกลโพน เพื่อที่จะทำมายังมักกะห์เพื่อประกอบศาสนกิจ พร้อมกันนั้นที่ตั้งของบ้านท่านศาสดามูฮัมหมัดก็มิไกลหรือลำบากที่เราจะไปเยียน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะแสดงถึงความรัก ความยกย่อง และการให้เกียรติต่อท่านศาสดามูฮัมหมัด ก็คือการไปเยี่ยมท่านศาสดามูฮัมหมัด ณ นครมาดีนะห์
والله تعالى أعلم
โดย..อะห์หมัด มุสตอฟา อาลี โต๊ะลง
อ้างอิงจาก : หนังสือ ฮิกมะอ์ อัตตัชเรียะอฺ ว่าฟัลซะฟาติฮี
ความประเสริฐและที่มาของพิธีฮัจย์