salam
แพทย์ส่วนใหญ่มีความเห็น(อิงหลักวิชาการ)ว่าสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ของสตรี หากเลือกวิธีที่เหมาะสมและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ตั้งครรภ์
ในช่วง 3 เดือนแรก อาจมีปัญหาทางด้านจิตใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงในฮอร์โมนที่เกิดจากรก(Human Chorionic Gonadotropic Hormone - HCG) ทำให้ภรรยามีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ความต้องการทางเพศย่อมจะลดลง สามีไม่ควรที่จะฝืนใจภรรยา แต่ถ้าไม่มีอาการแพ้ท้อง และภรรยาไม่มีประวัติแท้งบุตรง่ายมาก่อน ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
หลังจากพ้นสามเดือนไปแล้ว ภรรยาถูกกระตุ้นทางเพศได้ง่ายเพราะมีการคั่งของกระแสเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานรวมทั้งอวัยวะเพศ และสามารถถึง Orgasm ได้ง่าย จึงไม่มีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์และยังเป็นการผ่อนคลายความเครียดอีกด้วย แต่สามีต้องมีความนุ่มนวล บางครั้งท่าร่วมมาตรฐาน (หญิงหงาย-ชายคว่ำ) อาจจะไม่สมควรเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสรีระภรรยา สามีต้องรู้จักดัดแปลงท่วงท่าโดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด ถ้าไม่ผาดโผนจนเกินเหตุ อัลลอฮฺดำรัสว่า
“บรรดาผู้หญิงของพวก เจ้านั้นคือแหล่งเพาะปลูกของพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงมายังแหล่งเพาะปลูกของพวกเจ้าตามแต่พวกเจ้าประสงค์” อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:223
เมื่อใกล้คลอด ครรภ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอาจทำให้มีความลำบากบ้างเล็กน้อยในการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันมีการตรวจด้วยเครื่องเสียงความถี่สูงอาจพบบางสถานการณ์ที่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ
ที่ต้องทราบอีกอย่างหนึ่งก็คือในอสุจินั้นมีสาร โพรสตาแกลนดิน ออกฤทธิ์ให้ช่องคลอดและมดลูกหดตัว ดังนั้น ถ้ามีการหลั่งภายใน อาจทำให้มดลูกเกร็งตัว(ท้องแข็ง) ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าการเกร็งตัวนั้นไม่นานเกิน 15 – 20 วินาที อาจแก้ปัญหาด้วยการหลั่งภายนอกหรือใช้ถุงยางอนามัย แต่ถ้ามดลูกเกร็งตัวนาน บางท่านเกรงว่าอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ (แต่ก็เป็นไปได้ยาก)
ที่กลัวกันคือเด็กทารกจะเป็นอันตรายจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ที่จริงแล้วธรรมชาติ(กฎสภาวการณ์โดยอนุมัติของอัลลอฮฺ)ได้วางกำลังป้องกันทารกไว้อย่างแข็งแรงแล้ว อัลลลอฮฺดำรัสว่า
“พระองค์ทรงสร้างพวก เจ้าในครรภ์ของมารดาพวกเจ้า เป็นการบังเกิดครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่ในความมืดสามชั้น” อัซซุมัร 39:6
ผู้อรรถาธิบายกุรอานบางท่านอธิบายว่า ทารกถูกปกป้องอยู่ในครรภ์มารดา 3 ชั้น หมายถึงชั้นนอกคือผนังหน้าท้อง ชั้นกลางคือผนังมดลูกและชั้นในคือถุงน้ำคร่ำ ถ้าเกิดการแท้งขึ้น มักมีสาเหตุจากตัวทารกเอง เช่น ทารกไม่สมบูรณ์ พิการแต่กำเนิด หรือมารดาไม่สมบูรณ์ ปัจจัยภายนอก เช่น การมีเพศสัมพันธ์นั้นมีผลน้อย
การมีเพศสัมพันธ์จะเป็นที่ต้องห้าม ถ้า มีประวัติมีเพศสัมพันธ์แล้วมีเลือดออก มีน้ำคร่ำออกก่อนกำหนด หรือตรวจด้วยอัลตราซาวนด์แล้วพบว่ารกเกาะต่ำ
วิธีแก้ที่เป็นไปได้แต่อาจไม่ได้รับความยินยอมก็คือ มีภรรยาสำรองไว้อีก 1 หรือ 2 คน คนไหนตั้งครรภ์ก็ยกเวรให้คนที่เหลือ แล้วมาชดเชยเอาหลังคลอด
วัสสลาม