بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
ก่อนอื่น ผมขอเกริ่นนำความหมายของการรวมละหมาดก่อนดังต่อไปนี้ :
1. การละหมาดแบบรวมก่อน(ญาเมาะอฺตักดีม) คือการเอาละหมาดอัสริมารวมทำในเวลาละหมาดซุฮ์ริ หรือการเอาละหมาดอิชาอฺมารวมทำในเวลาละหมาดมัฆริบ
2. การละหมาดแบบรวมหลัง(ญาเมาะอฺตะคีร) คือการเอาละหมาดซุฮ์ริไปรวมทำในเวลาละหมาดอัสริ หรือการเอาละหมาดมัฆริบไปรวมทำในเวลาละหมาดอิชาอฺ
ดังนั้นผมขอตอบตามลำดับคำถามดังนี้ :
1. เงื่อนไขการละหมาดรวมก่อน(ญาเมาะอฺตักดีม)นั้น ต้องละหมาดแบบเรียงลำดับ เช่น เอาละหมาดอัสริมารวมทำในเวลาซุฮ์ริ ก็ให้ทำละหมาดซุฮ์ริก่อน เพราะละหมาดซุฮ์ริเป็นละหมาดเจ้าของเวลา ส่วนละหมาดอัสรินำมาทำตามหลัง ดังนั้นละหมาดอัสริที่ทำหลังจะมาอยู่ก่อนละหมาดซุฮ์ริที่เป็นเจ้าของเวลาไม่ได้ (อิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน 2/162)
ส่วนละหมาดรวมแบบหลัง(ญาเมาะอฺตะคีร) เช่น เอาละหมาดซุฮริไปรวมทำในเวลาละหมาดอัสริ ก็อนุญาตให้ทำแบบเรียบเรียงก็ได้ เช่น ละหมาดซุฮ์ริก่อนแล้วละหมาดอัสริ หรือละหมาดอัสริก่อนก็ได้แล้วละหมาดซุฮ์ริ ถือว่าละหมาดใช้ได้เช่นกัน (อิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน 2/163)
2. การเหนียตละหมาดก่อซ็อรนั้น ให้เหนียตว่า ข้าพเจ้าละหมาดกอซัรซุฮ์ริสองร่อกะอัตเพื่ออัลเลาะฮ์ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว และถ้าหากละหมาดญาเมาะอฺตักดีมนั้น เช่น เอาละหมาดอัสริมารวมทำในเวลาซุฮ์ริ ก็ต้องละหมาดซุฮ์ริก่อน โดยเหนียตว่า "ข้าพเจ้าละหมาดซุฮ์ริแบบก่อซ็อรและญาเมาะอฺตักดีม สองรอกะอัต เพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา" หรือ "ข้าพเจ้าละหมาดซุฮ์ริแบบญาเมาะอฺตักดีม สองรอกะอัต เพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา" (โดยไม่ต้องเหนียตก่อซ็อรเพียงแต่เหนียตว่าละหมาดซุฮ์ริสองร่อกะอัต) ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เมื่อละหมาดซุฮ์ริเสร็จ หลังจากนั้นต้องละหมาดอัสริอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหนียตว่า "ข้าพเจ้าละหมาดอัสริแบบก่อซ็อรสองรอกะอัต เพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา" (โดยไม่ต้องเหนียตญาเมาะอฺ) ซึ่งช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่องนั้น ให้อยู่ในช่วงระยะเวลาห่างของละหมาดไม่ถึงสองร่อกะอัต ก็ถือว่ายังอยู่ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่อง (อิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน 2/162)
แต่ถ้าหากละหมาดญาเมาะอฺแบบตะคีร เช่น เอาละหมาดซุฮ์ริไปรวมทำไปเวลาอัสริโดยเหนียตญาเมาะอฺตะคีร(รวมหลัง)ในขณะอยู่ช่วงเวลาซุฮ์ริ ดังนั้นการละหมาดญาเมาะอฺตะคีร ก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องระหว่างสองละหมาด และเวลาละหมาดอันแรกก็ไม่ต้องเหนียตญาเมาะอฺตะคีรก็ได้ แต่เพียงแค่สุนัตให้เหนียตญาเมาะอฺตะคีรในละหมาดเท่านั้นเอง ซึ่งแตกต่างกับญาเมาะอฺตักดีม เนื่องจากจำเป็นต้องเหนียตญาเมาะอฺตักดีมในละหมาดอันแรก (อิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน 2/163)
3. การละหมาดญาเมาะอฺอย่างเดียว อนุญาตให้ทำได้ครับ กล่าวคือทำละหมาดซุฮ์ริ 4 ร่อกะอัต และทำละหมาดอัสริ 4 ร่อกะอัตนั่นแหละครับ หรือทำละหมาดมัฆริบ 3 ร่อกะอัตและทำละหมาดอิชาอฺ 4 ร่อกะอัตครับ ดังนั้น การละหมาดรวมอย่างเดียวในขณะที่ป่วยหรือมีฝนตกนั้น มีรายละเอียดดังนี้
3.1 การรวมละหมาดยามเจ็บป่วย ซึ่งการป่วยนั้นต้องมีอาการป่วยที่ชัดเจนจนกระทั่งต้องถึงกับนั่งละหมาดหรือป่วยขนาดที่อนุญาตให้ละศีลอดได้ ดังนั้นจึงอนุญาตให้รวมละหมาดทั้งแบบญาเมาะอฺตักดีมหรือญาเมาะอฺแบบตะคีรก็ได้ตามสะดวก แต่ต้องทำตามกฏระเบียบของญาเมาะอฺแต่ละประเภทดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เช่น คาดว่าอาการป่วยไข้จะต้องทวีคูณเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาอัสริ ก็ให้ทำละหมาดแบบญาเมาะอฺตักดีม คือให้เอาละหมาดอัสริมาทำในเวลาซุฮ์ริ หรืออาการป่วยไข้เพิ่มทวีคูณขึ้นในช่วงเวลาซุฮ์ริ ก็ให้เหนียตญาเมาะอฺตะคีร โดยเอาละหมาดซุฮ์ริไปทำในช่วงเวลาละหมาดอัสริ
3.2 การรวมละหมาดเพราะฝนตกเพราะทำให้เสื้อเปียกและเปื้อนโคลน เป็นต้น ก็อนุญาตให้ทำละหมาดญาเมาะอฺแบบตักดีมเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำละหมาดญาเมาะอฺแบบตะคีร กล่าวคือ เมื่อบรรดามะมูมได้ไปละหมาดมัฆริบที่มัสยิดหลังจากนั้นก็จะกลับบ้าน เมื่ออะซานละหมาดอิชาอฺก็ไปละหมาดญะมาอะฮ์ที่มัสยิดอีกครั้งตามขนบธรรมเนียมที่กระทำกันเช่นนั้น แต่ขณะช่วงเวลามัฆริบที่ได้ไปละหมาดญะมาอะฮ์ที่มัสยิด ฝนเกิดกำลังตกหนัก หากจะละหมาดมัฆริบแล้วกลับบ้าน เสื้อคงต้องเปียกและอาจจะไม่ได้มาละหมาดญะมาอะฮ์อีชาอฺที่มัสยิดอีกเป็นแน่ เพราะลำบาก เสื้อต้องเปียก โคลนก็เยอะ ดังนั้น ก็อนุญาตให้รวมกันทำละหมาดแบบญาเมาะอฺตักดีมได้ คือละหมาดมัฆริบเสร็จแล้ว ก็เอาละหมาดอิชาอฺมารวมทำในละหมาดมัฆริบ แล้วกลับบ้านครั้งเดียวเลย และการเกรงว่าจะไม่มีละหมาดญะมาอะฮ์อีชาอฺที่มัสยิดก็หมดความกังวลไป เพราะได้ทำละหมาดญะมาอะฮ์อิชาอฺแบบญาเมาะอฺตักดีมในเวลามัฆริบเรียบร้อยแล้วนั่นเอง (อิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน 2/164-165)
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ