salam
อิสลามิกชนบนแผ่นดินอาทิตย์อุทัย
ถนนนะกะยามะเตะ (Nakayamate Dori) ย่านคิตาโนะโช (Kitano-cho)
เมืองโกเบ (Kobe) ประเทศญี่ปุ่นในยามใกล้เที่ยงของวันศุกร์
แตกต่างจากวันอื่นๆ ด้วยผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน
อาภรณ์แปลกตาชวนให้นักท่องเที่ยวที่กำลังเยี่ยมชมย่านโบราณของเมืองโกเบ
อาจฉงนสนเท่ห์ในความแปลกแยกแตกต่างของคนกลุ่มนี้กับชาวญี่ปุ่นทั่วไป
เพราะฝ่ายชายสวมหมวก บ้างก็ใส่เสื้อปล่อยชายยาวถึงเข่า
สตรีคลุมศีรษะและสวมอาภรณ์มิดชิด บ้างก็เดินมาคนเดียว
บ้างก็มาเป็นกลุ่มหรือครอบครัว พวกเขาต่างมุ่งสู่อาคารหลังใหญ่
ที่มีประตูทางเข้ารูปโค้งแหลมขนาบด้วยหอสูงสองข้าง
รูปแบบสิ่งก่อสร้างแตกต่างไปจากอาคารในย่านเดียวกัน
หรือแม้แต่อาคารอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่น
สถานที่แห่งนี้คือ
'มัสยิดแห่งเมืองโกเบ' ศูนย์รวมของมุสลิมในประเทศญี่ปุ่นสำหรับการสวดมนต์ขอพรต่อพระเจ้า
ในวันศุกร์อันเป็นกิจซึ่งอิสลามิกชนทั่วโลกยึดถือปฏิบัติร่วมกันมา
ยาวนานนับศตวรรษ
มัสยิดเมืองโกเบ ศาสนสถานแห่งแรกของมุสลิมในประเทศญี่ปุ่น
แม้อิสลามจะเข้ามาตั้งมั่นในดินแดนบนภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออก
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม
ข้ามน้ำข้ามทะเลสู่เกาะญี่ปุ่น
ร่องรอยที่พอมีอยู่บ้างคือการติดต่อระหว่างพ่อค้ามุสลิมอินเดียและเปอร์เซีย
ที่เข้ามาค้าขาย ณ เมืองท่านางาซากิ (Nagasaki) เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 16-17
อย่างไรก็ตามยังไม่พบข้อมูลซึ่งอ้างถึงการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม
ในแดนอาทิตย์อุทัยจนล่วงถึงสมัยเมจิ (Meiji : ค.ศ.1868-1962)
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นได้เปิดประเทศรับการติดต่อจากนานาชาติ
ช่วงเวลานี้เองที่มุสลิมจากประเทศต่างๆ เริ่มอพยพสู่ญี่ปุ่น
มุสลิมเชื้อชาติมลายูและมุสลิมอินเดียเข้ามาพร้อมกับชาวอังกฤษ
เนื่องจากมลายูและอินเดียในช่วงเวลานั้นยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร
เมื่อชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายและติดต่อกับชาวญี่ปุ่นทำให้มุสลิมในบังคับ
(subjects) จากดินแดนอาณานิคมพลอยติดตามมาด้วย
กลุ่มต่อมาคือมุสลิมชาวตุรกีซึ่งเข้าสู่ญี่ปุ่นเนื่องจากความสัมพันธ์อันดีทางการค้า
และการทูตระหว่างราชสำนักพระจักรพรรดิญี่ปุ่น
กับสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมาน-เตอร์ก
นอกจากนี้ยังมีมุสลิมจากอินเดียที่เข้ามาค้าขายและตั้งห้างร้านในเมืองโกเบ
ศูนย์กลางการค้านานาชาติริมทะเลของญี่ปุ่นสมัยเมจิ
มุสลิมเหล่านี้ได้นำเอาความเชื่อและวัฒนธรรมต่างๆ
เข้ามาเผยแผ่ทำให้ชาวญี่ปุ่นรับรู้ความเชื่อและศรัทธาอย่างใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
มัสยิดแห่งนครโตเกียว รูปทรงจำลองมาจากสถาปัตยกรรม
แบบออตโตมาน-เตอร์ก
ราว ค.ศ.1870 มีการแปลชีวประวัติของพระศาสดามูฮัมหมัดเป็นภาษาญี่ปุ่นขึ้นครั้งแรก ต่อมา
โกทะโร ยะมะโอกะ (Kotaro Yamaoka) ชาวญี่ปุ่นได้เปลี่ยนมารับนับถืออิสลามพร้อมกับเปลี่ยนชื่อตามแบบมุสลิม
โดยใช้นามว่า
โอมาร์ ยะมะโอกะ หลักฐานกล่าวว่ายะมะโอกะเป็นมุสลิมชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางไปแสวงบุญ
ยังนครเมกกะเมื่อ ค.ศ. 1909 หลังจากนั้นก็มีชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่ง
ได้เปลี่ยนมารับนับถืออิสลาม
โกทะโร ยะมะโอกะ หรือโอมาร์ ยะมะโอกะ
ในชุดแต่งกายแบบมุสลิม
อย่างไรก็ตามมุสลิมชาวญี่ปุ่นมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับศาสนิกในศาสนาอื่น
กระทั่งภายหลัง
การปฏิวัติบอลเชวิกในรัสเซียอันเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ครั้งใหญ่บนดินแดนภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออก
การแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้มุสลิมจำนวนมากจากเอเชียกลาง และจีน
อันได้แก่พวกเชื้อชาติเตอร์ก ทาจิก อุซเบ็ก คะซัก ตาตาร์ และไคกิซ
อพยพลี้ภัยจากการปราบปรามและการยกเลิกความเชื่อทางศาสนา
ของพรรคคอมมิวนิสต์ มุสลิมเหล่านี้ข้ามทะเลสู่เกาะญี่ปุ่น
ต่อมาพวกเขาได้รับพระราชานุญาตจากสมเด็จพระจักรพรรดิให้ลงหลักปักฐาน
สร้างชุมชน และได้กลายเป็นประชากรมุสลิมกลุ่มใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น
พวกเขายังได้ร่วมกันสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนา
และชุมชนตามเมืองต่างๆ
มัสยิดแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นสร้างขึ้น ณ เมืองโกเบเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1935
โดยกลุ่มมุสลิมเชื้อสายเตอร์ก-อินเดีย เพื่อเป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรม
ของมุสลิมจนได้รับการขนานนามว่า
'เมกกะแห่งญี่ปุ่น' ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชนาวีญี่ปุ่นได้ยึดอาคารมัสยิดไว้เป็นที่ทำการ
ส่งผลให้ศาสนสถานเปลี่ยนสถานะกลายเป็นศูนย์ยุทธศาสตร์ทางทหาร
จึงตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบ
ฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้มัสยิดและอาคารโดยรอบได้รับความเสียหาย
ในช่วงสงคราม ค.ศ.1945หลังสงครามสงบ มัสยิดได้เริ่มการบูรณะอีกครั้งและกลับมาใช้เป็นศาสนสถาน
ของมุสลิมตามเดิม
มัสยิดแห่งที่สองสร้างขึ้นที่กรุงโตเกียว เมื่อ ค.ศ.1938
โดยการสนับสนุนของมุสลิมเชื้อสายตาตาร์ มัสยิดได้รับการรื้อสร้างขึ้นใหม่
เมื่อ ค.ศ.1986 แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ.2000 ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลตุรกี
เป็นมัสยิดที่มีความสวยงามสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมออตโตมาน-เตอร์ก
ในประเทศตุรกี เมื่อจำนวนมุสลิมเพิ่มมากขึ้นได้มีการสร้างมัสยิดตามเมืองสำคัญๆ
อีกหลายแห่ง ได้แก่ โอซากา นาโกยา เกียวโต และฮิโรชิมา เป็นต้น
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเตรียมการที่จะขยายบทบาทเข้าสู่จีน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ทำให้เกิดการขยายการศึกษาความรู้
ด้านอิสลามในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับถือศาสนาอิสลาม
ส่วนในจีนก็มีประชากรมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก
รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
และโลกมุสลิมขึ้นเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย
สถาบันแห่งนี้ได้ตีพิมพ์งานวิจัยและตำราต่างๆ เป็นภาษาญี่ปุ่น
จำนวนกว่าร้อยฉบับเพื่อประโยชน์ในการขยายบทบาทของกองทัพญี่ปุ่น
ในดินแดนต่างๆ
ทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่เดินทัพเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ติดต่อสัมพันธ์กับมุสลิม
และหลายคนหันมารับนับถืออิสลาม
เมื่อสงครามยุติและคนเหล่านั้นเดินทางกลับมาตุภูมิ
ก็ได้นำเอาแนวคิดทางศาสนาเข้ามาด้วย
กระทั่งใน ค.ศ.1953 พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมมุสลิมแห่งญี่ปุ่นขึ้น
โดยมีซาเด็ก อิมาอิซูมิ (Sadiq Imaizumi) เป็นประธานสมาคมคนแรก ประธานคนต่อมาคือ
โอมาร์ มิตะ (Umar Mita) ที่เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม
ในช่วงที่เขาทำงานอยู่กับบริษัทรถไฟแห่งแมนจู (The Manchu Railway Company)
ซึ่งดำเนินงานสร้างทางรถไฟในเขตตอนเหนือของจีนช่วงที่กองทัพญี่ปุ่น
ยึดครองแมนจูเลีย
เขาได้รับศาสนาอิสลามจากมุสลิมชาวจีนและเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามที่ปักกิ่ง
เมื่อสงครามยุติและมิตะเดินทางกลับประเทศ เขาได้เข้าร่วมกับสมาคม
ต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานคนที่สองของสมาคมมุสลิมแห่งญี่ปุ่น
มิตะสนับสนุนให้มีการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจากภาษาอาหรับ
เป็นภาษาญี่ปุ่น นับเป็นครั้งแรกที่มีการแปลคำสอนทางศาสนา
โดยนักวิชาการมุสลิมชาวญี่ปุ่น
ปัจจุบันประชากรมุสลิมในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนราว 60,000-70,000 คน
ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายต่างชาติ ส่วนมุสลิมเชื้อสายญี่ปุ่นมีอยู่เพียงร้อยละ 10
ของจำนวนมุสลิมทั้งหมด
อิสลามิกชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นคือพวกเชื้อชาติอินโดนีเซีย
ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เนื่องจากญี่ปุ่นให้การสนับสนุนขบวนการเรียกร้องเอกราชของชาวอินโดนีเซีย
ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
จึงมีชาวอินโดนีเซียอพยพเข้าไปในญี่ปุ่นเพื่อฝึกฝนการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม
และเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
แม้ทุกวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้เสรีภาพทางศาสนา แต่เหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรด
เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ซึ่งส่งผลให้มีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต
ก็ทำให้เกิดความระแวงต่อมุสลิมเชื้อสายต่างชาติ
ประกอบกับการที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนรัฐบาลสหรัฐในการโจมตีอัฟกานิสถาน
และอิรัก ก็ทำให้ประชาคมมุสลิมญี่ปุ่นประสบปัญหาจากความไม่ไว้ใจกัน
ในสังคมต่างศาสนา เช่นเดียวกับที่เกิดในหมู่มุสลิมกลุ่มน้อย
ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม
ปัญหาดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความไม่เข้าใจกัน
อันจะนำไปสู่อคติที่บั่นทอนความสงบสุขและความเข้าใจกันระหว่างคนในสังคม
และตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงใช้ศรัทธาเป็นอาวุธประหัตประหารกันเอง
ความสงบสุขของชุมชนและความสันติของโลกย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 06:00:00
วัสลามุอะลัยกุมค่ะ