salam
มาเล่าสู่กันต่อนะคะ
อันนี้เป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้ประสบด้วยตนเอง คือเรื่อง พัฒนาการด้านการเดิน กับ รถหัดเดิน
แต่มีข้อมูลมากมายเหลือเกินว่า "อย่าใช้" เพราะมันไม่ได้ช่วยทำให้เด็กในวัยหัดเดิน เดินได้เร็วขึ้น
แต่ถึงกระนั้น ที่บ้านก็ยังมีรถแบบนี้ตั้ง 2 คันค่ะ ไม่ได้ซื้อเอง แต่ได้รับเป็นของขวัญวันคลอดน่ะค่ะ
เนื่องจากเสียดาย (ปนงก) ก็เลยนำมาใช้บ้างตอนที่ต้องการพักแขนลูกหรือเปลี่ยนบรรยากาศในการนั่งของลูกค่ะ
แต่จะไม่ไว้ใช้ฝึกให้ลูกหัดเดินเด็ดขาด (ผู้ที่ให้มาอย่าน้อยใจนะคะ

)
มาดูกันดีกว่า ว่า"รถหัดเดิน" ทำลายพัฒนาการ อย่างไร
รถหัดเดินเด็ก หรือ Baby Walker เรียกได้ว่า เป็นของเล่นเด็กอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ก็เพราะคนไทยได้สืบทอดความเข้าใจจากอดีตที่ว่า รถหัดเดินเด็ก เป็นของเล่นที่จะช่วยเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยเดินได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้คุณแม่มีเวลาที่จะจัดการกับธุระคั่งค้างอยู่ได้สะดวกขึ้น
แต่หากจะกล่าวกันตามหลักพัฒนาการของเด็กแล้ว รถหัดเดินเด็ก นอกจากจะไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยเสริมพัฒนาการในการเดินให้กับเด็กแล้ว
ยังเป็นตัวทำลายพัฒนาการและก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างรุนแรงมากอีกด้วยเพราะการที่เด็กจะเดินได้หรือไม่ได้นั้น กล้ามเนื้อหลักคือ กล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อต้นขา
แต่การใช้รถหัดเดินนั้น หากสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าขณะที่เด็กนั่งในรถหัดเดินนั้น เท้าเด็กจะไม่ถึงพื้นเต็มเท้า
การเดินไปข้างหน้าจะเป็นไปในลักษณะของการเขย่งเท้าไปข้างหน้า
ซึ่งการที่เด็กจะต้องเขย่งเท้าอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูงเดินมากนัก
นั้นคือกล้ามเนื้อที่ต้องทำงานอย่างหนักคือกล้ามเนื้อน่อง ผลที่ตามมาก็คือเกิดอาการเกร็งและเมื่อยล้าที่น่อง
แต่กล้ามเนื้อน่องหรือขาช่วงล่างไม่ใช่กล้ามเนื้อหลักที่จะทำให้เด็กเดินได้ อีกทั้งเมื่อเด็กกลุ่มนี้เริ่มเดินได้เอง
บางคนจะเดินในลักษณะเขย่งไปเขย่งมา ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากที่เขาได้รับการฝึกเดินที่ผิดๆ แบบนั้น
ที่สำคัญการใช้รถหัดเดินยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อเด็กได้อย่างรุนแรง เพราะคุณแม่ส่วนใหญ่นิยมนำลูกหลานใส่รถหัดเดินในช่วงอายุ 9-10 เดือน
ซึ่งช่วงนี้เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าสิ่งของต่างๆ แม้จะหายไปจากสายตา แต่ก็ยังดำรงอยู่ เขาจึงชอบโยนของให้ตกลงบนพื้นแล้วก้มลงดู
สิ่งที่มักจะเกิดขึ้น คือ เด็กบนรถหัดเดินจะเขย่งจนสุดตัว แล้วชะโงกดูของที่ตกลงบนพื้นจนรถพลิกคว่ำ
หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ การที่เด็กจะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วบนพื้นลื่นๆ เช่น หิดขัดหรือหินอ่อน เมื่อไปอยู่บนพรมหรือผ้าเช็ดหน้า
ซึ่งมีความเสียดทานแตกต่างกัน จะเกิดการสะดุดก็จะทำให้หกล้มทันที บางรายเกิดอุบัติเหตุที่ศรีษะรุนแรงมากจนเลือดออกในกะโหลกศรีษะได้
ข้อมูลจากต่างประเทศสำหรับ รถหัดเดิน นี้ ในประเทศแคนาดาได้ถอดออกจากตลาดแล้ว หลังจากพบว่าทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าให้ประโยชน์
ขณะเดียวกันทางสมาคมกุมารแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่แนะนำให้ใช้รถหัดเดินสำหรับเด็กเลย
เพราะโดยปกติเด็กก็จะค่อยๆเกาะยืน ยืนเองและเดินได้ด้วยตัวเขาเองอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่จะช่วยเสริมพัฒนาการในการเดินของเด็กๆ (หากต้องการ) น่าจะเป็นของเล่นหัดเดินที่เด็กสามารถเข็นไปข้างหน้าได้เอง (Walker toy หรือ Push car) มากกว่า
หากจะใช้ของเล่นนี้ก็ควรใช้หลังจากที่เด็กสามารถยืนด้วยตัวเองได้แล้วและเริ่มจะโผก้าว
ซึ่งการทรงตัวของเด็กในช่วงนั้นจะไม่ค่อยดี เด็กจะถลำตัวไปข้างหน้า
ในระยะแรกต้องมีผู้ใหญ่มาคอยกันและเป็นแรงต้านอยู่ทางด้านหน้าด้วย
(อาจทำได้ด้วยการที่ผู้ใหญ่เดินถอยหลัง และต้านของเล่นนี้ไปช้าๆ ขณะที่เด็กผลักมันไปข้างหน้า)
เมื่อเด็กสามารถถ่วงน้ำหนักตัวเองได้สมดุลขึ้น ผู้ใหญ่ก็ค่อยๆลดแรงต้านลง จนเขาสามารถปรับสมดุลและเดินได้เองในที่สุด
ในกรณีนี้กล้ามเนื้อหลักที่เกี่ยวข้องกับการเดินจะได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่

ที่บ้านจึงใช้ตัวรถผลักเดิน ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง
แต่ก็ถือว่า "ไม่คุ้ม" เพราะลูกสาวชอบที่จะเข็นตะกร้าเสื้อผ้าเล่นไปมา มากกว่า รถผลักเดินตัวนี้อีกค่ะ

หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วนจากนายแพทย์ทัศนวัต สมบุญธรรม หน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
วัสลามุอะลัยกุมฯ