salam
"ทัศนะของอิสลามต่ออินเตอร์เน็ต"
ที่มา
http://www.muslimthai.com หลายๆคนคงสงสัยว่าเรามุสลิมจะออนไลน์เพื่อเล่น
หรือใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ไหม? หรือมีขอบเขตอย่างไร?
คำถามดังกล่าวนั้นมีข้อขัดแย้งกันเล็กน้อย
เนื่องจากนักวิชาการอิสลามบางท่านได้ระบุคำวินิจฉัยศาสนาหรือฟัตวา
ว่าห้ามใช้อินเตอร์เน็ตทั้งนี้เพื่อป้องกันบ่อนทำลายและความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้น
ขณะที่นักวิชาการส่วนหนึ่งก็ได้อนุญาติให้ใช้มันภายใต้กฏเกณท์
อินเตอร์เน็ตนั้นหะลาลหรือหะรอม? ณ ที่นี้ขอกล่าวถึงทัศนะของเชคยูซุฟ อัลกอรฏอวีย์
ซึ่งได้ตอบข้อซักถามถึงทัศนะของอินเตอร์เน็ต เชคยูซุฟกล่าวว่า
"อัลลอฮฺทรงดำรัสให้การเรียกร้องสู่ศาสนาของพระองค์ (คือศาสนาอิสลาม)
เป็นเรื่องจำเป็นต่อประชาชาตินี้ ดังโองการที่ว่า
ความว่า
"และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดี
และใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบ
และชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ" (อาละอิมรอน 104)
ดังกล่าวนี้จึงจำเป็นต่อนักเรียกร้องทั้งหลายที่เขาจะต้องค้นหาสื่อใหม่ๆ
ในการเผยแพร่อิสลาม อาทิเช่น วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งหนังสือพิมพ์
ส่วนความเห็นของผมนั้นคิดว่า อินเตอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก
มนุษย์นับล้านสามารถรับรู้ข่าวสารและเรื่องราวต่างๆโดยมิได้จำกัดชนชั้น
หรือศาสนา ดังนั้นสมควรที่เราจะต้องทำให้ศาสนาแห่งสัจธรรมนี้
ไปสู่ชาวโลกทั้งมวล การใช้อินเตอร์เน็ตถือเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่ง
ซึ่งอินเตอร์เน็ตมันก็เปรียบเหมือนงานหนึ่งของช่องอวกาศที่มันไร้พรมแดน
มันไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีคอมพิวเตอร์และโมเด็ม
ดังกล่าวนี้ มิอาจกล่าวได้ว่าอินเตอร์เน็ตมันเป็นเรื่องหะลาลหรือหะรอม
แต่ทว่ามันจะหะลาลหรือหะรอม ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ที่ต้องการเข้าเน็ต
เป็นไปตามจุดประสงค์ของการใช้งาน
บางคนใช้เน็ตในเรื่องของเพศหรือสิ่งลามกอนาจารก็ถือเป็นหะรอม
ขณะที่บางคนก็ใช้มันเพื่อปกป้องอิสลาม ศึกษาอิสลามก็เป็นที่อนุญาต
หะลาลสำหรับเขา
ส่วนฟัตวาที่ออกมาห้ามปรามนั้นก็เพราะว่ากลัวว่าจะถูกใช้ไปในเรื่องอนาจาร
หรือเรื่องเสื่อมเสีย เพราะปัจจุบันนี้คาดการณ์ว่ามีเว็บลามก
หรือรวมกระทั้งเว็บบิดเบือนอิสลามก็มีอยู่มากมาย
แม้ก่อนหน้านี้ เคยมีแบบสอบถามเรื่อง เว็บลามกในอินเทอร์เน็ต
ในสายตา "ผู้ใช้คอมพิวเตอร์" ของสวนดุสิตโพลล์
สำรวจผู้ใช้คอมพิวเตอร์ จำนวน 1,108 คน ผลออกมาว่า
ผู้ใช้คอมพิวเตอร์กว่า 90 % เคยพบเว็บลามกในอินเทอร์เน็ต
แต่ถ้าหากว่าเรามาพิจารณาถึงคุณประโยชน์กับโทษของมันแล้ว
เราก็จะพบว่า เป็นไปได้ที่เราจะได้รับประโยชน์อันมากมาย
ดังที่เราจะใช้มันไปในเรื่องของความดีงามทั้งหลาย
และห่างไกลจากการบ่อนทำลาย
หลายฝ่ายเคยให้ความเห็นว่า วัยรุ่นมุสลิมไทยในปัจจุบันมักใช้อินเทอร์เน็ต
ไปเพื่อความบันเทิงที่ไม่มีสาระประโยชน์มากนัก
ที่นิยมกันมากเห็นจะเป็นการเข้าห้องสนทนา
และหัวข้อสนทนาที่พบโดยทั่วไปมักเป็นเพียงการพูดคุยหยอกล้อกัน หรือจีบกัน
สาเหตุ หนึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดด้านภาษา
จึงทำให้เด็กวัยรุ่นมุสลิมไทยไม่รู้สึกสนุกที่จะสืบค้นหาความรู้อิสลาม
หรือความรู้ทั่วไปจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย
เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับดังนั้น
ส่วนเว็บมุสลิมในไทยที่มีอยู่หลายสิบเว็บ ส่วนใหญ่ก็จะขาดการปรุงปรุงข้อมูล
หรืออัพเดต จึงทำให้อาจรู้สึกเบื่อหน่ายในการเปิดเว็บวิชาการ
ส่วนกรณีของการล่อลวงโดยใช้เป็นสื่อนั้น
การดูแลป้องกันก็คงต้องอาศัยการอบรม ดูแลจากผู้ปกครอง
และครูอาจารย์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้
และไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มีเจตนาร้าย โดยความรู้ เท่าไม่ถึงการณ์
ทั้งนี้มีแนวทางสำหรับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานของพี่น้องที่ใช้อินเทอร์เน็ต
ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างง่าย ๆ ในชีวิตจริง
แนวทางทั้งของ ผู้ปกครอง และของเยาวชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
นั้นพอสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ข้าพเจ้าจะใช้อินเตอร์เน็ตไปในหนทางของศาสนา
และใช้เวลาเล่นด้วยกันกับบุตรหลานของข้าพเจ้า
เพื่อเรียนรู้ว่าเขาใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางใด และมีความสนใจในเรื่องใด
2. ข้าพเจ้าจะสอนให้บุตรหลานรู้ถึงศิลปะป้องกันตัว 7 ประการ
สำหรับเยาวชนมุสลิมที่ใช้อินเทอร์เน็ต
3. ข้าพเจ้าจะพูดคุยทำความเข้าใจกับบุตรหลาน
เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตของเขา เช่น เวลาปฏิบัติศาสนกิจ
และเวลาที่ใช้ออนไลน์ได้ จำนวนชั่วโมง ให้ใช้ได้
ประเภทของเว็บไซต์หรือกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เข้าร่วมได้ เป็นต้น
4. ข้าพเจ้าจะวางคอมพิวเตอร์ที่บุตรหลานใช้ไว้ในที่เปิดเผย
เช่น ห้องนั่งเล่น มากกว่าที่จะวางไว้ในห้องนอน
หรือห้องส่วนตัวของเขา
ส่วนศิลปะป้องกันตัว 7 ประการสำหรับเยาวชนมุสลิมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นมีดังนี้
1. ข้าพเจ้าจะใช้อินเตอร์เน็ตในเรื่องการศึกษาอิสลามจากเว็บไซต์
และการพูดคุยในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับอิสลาม
หรือสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างมุสลิม
โดยไม่ทำให้ขาดหรือบกพร่องในการปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิม
2. ข้าพเจ้าจะไม่บอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อโรงเรียน
ที่ทำงานหรือเบอร์ที่ทำงานของผู้ปกครอง ให้แก่บุคคลอื่น
ที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน
3. ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบโดยทันที
หากข้าพเจ้าพบข้อความหรือรูปภาพใด ๆ บนอินเทอร์เน็ต ที่หยาบคาย
หรือไม่เหมาะสมโดยประการทั้งปวง
4. ข้าพเจ้าจะไม่ยินยอมไปพบบุคคลใดก็ตามที่ข้าพเจ้าได้รู้จักทางอินเทอร์เน็ต
โดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน และหากผู้ปกครองอนุญาต
ให้ข้าพเจ้าไปพบบุคคลนั้นได้ ข้าพเจ้าก็จะไปพบเขาในที่สาธารณะ
ซึ่งมีคนผ่านไปมา โดยมีผู้ปกครองของข้าพเจ้าไปด้วย
5. ข้าพเจ้าจะไม่ตอบคำถามหรือต่อความกับผู้ที่สื่อข้อความหยาบคาย
หรือไม่เหมาะสม แต่ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ผู้ปกครอง ทราบโดยทันที
6. ข้าพเจ้าจะเคารพต่อข้อตกลงอื่น ๆ ที่ให้ไว้กับผู้ปกครอง
เช่น กำหนดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าจะใช้อินเทอร์เน็ตได้
เว็บไซต์ที่ข้าพเจ้าเข้าได้และข้อตกลงอื่นใดอย่างเคร่งครัด
7. ข้าพเจ้าจะไม่พยายามหลบเลี่ยงกฎทั้งหมดข้างต้น ไม่ว่าในกรณีใด
จะทำเว็บไซต์เผยแพร่อิสลามจากเงินซะกาตได้ไหม? ประเด็นนี้ เชคยูซุฟ อัลกอรฏอวีย์ ได้ตอบว่า
อนุญาตให้นำเงินลงทุนเพื่อสร้างเว็บไซต์เผยแพร่อิสลามด้วยกับเงินซะกาต
เพื่อจะได้เผยแพร่สาส์นแห่งสัจธรรมอิสลาม และสามารถแข่งขันกับเว็บอื่นๆได้
ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินซะกาต หรือเงินซ่อดาเกาะฮ์ก็ตาม
เพราะเป็นการส่งเสริมจุดยืนของเราให้เข้มแข็ง
เผยแพร่อิสลามที่ถูกต้องด้วยกับวิทยาการความก้าวหน้าของไอที
ชาย-หญิงจะสนทนา (Chat) กันได้ไหม? เชคมุฮัมมัด ซอและห์ อัลมุนัจญิด ได้ให้คำตอบไว้ว่า
ศาสนาของอัลลอฮฺได้ห้ามการเดินตามรอยเท้าของมารร้าย
และได้ห้ามทุกๆสิ่งที่จะไปสู่สิ่งที่หะรอม
แม้ว่าโดยพื้นฐานของสิ่งนั้นจะอนุญาตก็ตาม
ซึ่งอุละมาอฺเรียกหลักการนี้ว่า "กออิดะตุ ซัดดิ อัลซะรออิอฺ"
(หลักการสกัดกั้นหนทางที่จะนำไปสู่ความชั่ว)
ในเรื่องนี้อัลลอฮฺ ศุบหฯได้กล่าวไว้ใน อันนูร อายะห์ที่ 21 ว่า
ความว่า
"โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! พวกเจ้าอย่าติดตามทางเดินของชัยตอน" เกี่ยวกับประเด็นที่สอง อัลลอฮฺ ศุบหนะฮูว่าตะอาลาได้กล่าวไว้
ความว่า
"และพวกเจ้าจงอย่าด่าว่า บรรดาที่พวกเขาวิงวอนขออื่นจากอัลลอฮฺ
แล้วพวกเขาก็จะด่าว่าอัลลอฮฺเป็นการละเมิดโดยปราศจากความรู้" (อัลอันอาม 6 : 108)
ณ ที่นี้ อัลลอฮฺ ศุบหฯ ได้ห้ามผู้ศรัทธาจากการด่ามุชริกีน(ผู้ตั้งภาคีทั้งหลาย)
เพื่อไม่ให้นำไปสู่การด่าผู้เป็นเจ้า
มีตัวอย่างมากมายที่ว่าด้วยหลักการของชะรีอะฮฺข้อนี้
อิบนุ กอยยิม ได้อ้างถึงไว้มากมายและอธิบายไว้อย่างดีเยี่ยม
ในงานเขียนชิ้นเยี่ยมของท่าน ชื่อ "อะอฺลาม อัล มุวะกฺกิอีน"
( ดูหน้า 3/147-171)
ปัญหานี้ก็อยู่ในระดับที่กล่าวมานี้เอง การสนทนาไม่ว่าจะด้วยวาจา
หรือด้วยการเขียนที่เกิดขึ้นระหว่างชายและหญิงนั้นอนุญาตโดยตัวมันเอง
แต่มันอาจนำไปสู่การตกสู่กับดักของชัยตอน ซึ่งใครก็ตามที่รู้ว่าเขาอ่อนแอ
และเกรงว่าจะตกสู่หลุมพรางของชัยฏอน ก็ให้เขายุติการสนทนา
เพื่อที่จะปกป้องตัวเขาเองให้ปลอดภัย
ส่วนใครก็ตามที่รู้ว่าตัวเขาเองเป็นคนมั่นคง
เราคิดว่าเป็นที่อนุญาตให้กับเขาได้ในกรณีนี้ แต่ต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. การสนทนานั้นจะต้องไม่เกินเลยออกจากหัวข้อที่ยกมาคุยกัน
หรือออกจากเป้าหมายการดะอฺวะฮ ฺ(เรียกร้องเชิญชวน) ไปสู่อิสลาม
2. จะต้องไม่ทำเสียงให้อ่อนหวาน หรือแสดงออกอย่างนุ่มนวลเกินไป
3. จะต้องไม่มีการถามคำถามส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำลังพูดคุยกันอยู่
เช่น ถามเรื่องอายุ ส่วนสูง หรือที่พัก เป็นต้น
4. สำหรับพี่น้องมุสลิมีนและมุสลิมะฮฺที่ได้เข้าร่วมในการสนทนา
หรืออ่านข้อความตอบโต้กันนั้น (ขอให้รู้ว่า)
ชัยฏอนเองไม่ได้ทิ้งหนทางที่จะเข้าสู่หัวใจของผู้ที่สนทนากันอยู่
5. การสนทนาหรือการตอบโต้นั้นจะต้องยุติทันที
หากว่าหัวใจเริ่มรู้สึกถึงอารมณ์ปรารถนา
เปิดร้านเน็ตได้ไหม? คำถามนี้มีหลายคนสงสัยเกี่ยวกับการธุรกิจร้านเน็ต
เชคไฟศอล เมาละวียฺ ตอบว่า
"ไม่มีความผิดในการเปิดร้านอินเตอร์เน็ต
หากใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อจุดประสงค์ที่ดีและศาสนาอนุญาต
ถ้าผู้เข้ามาใช้อินเตอร์เน็ตใช้ในทางที่ไม่ดีหรือผิดศีลธรรม
ก็เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลร้านที่จะห้ามและตักเตือนเขา
เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"เมื่อพวกท่านเห็นสิ่งที่ไม่ดี ก็จงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของท่าน
ถ้าไม่สามารถก็ด้วยลิ้น (การพูด) ถ้าไม่สามารถก็ด้วยหัวใจ
(แสดงความไม่เห็นด้วย) ซึ่งเป็นการอีมานที่ต่ำที่สุด" (รายงานโดยมุสลิม)
ข้อวินิจฉัยข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า อนุญาตให้เปิดร้านอินเตอร์เน็ตได้
ก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมไม่ให้ผู้ใช้ใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ไม่ดี
เจ้าของร้านหรือผู้ดูแลจะต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลการใช้อินเตอร์เน็ตในร้าน
รายได้จากร้านเน็ตนั้นหะล้าลไหม? เชคอับดุศศัตตาร ฟัตหัลเลาะห์ ของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร
ได้ให้ทัศนะว่า รายได้จากร้านอินเตอร์เน็ตนั้นไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า
หะลาลหรือหะรอม เพราะถ้าหากเจ้าของร้านควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตในร้าน
โดยดูแลให้ผู้ใช้ใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่เป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนข่าวสาร
ติดต่อค้าขาย ถ้าเช่นนั้น รายได้จากร้านเน็ตก็หะลาล
อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่าร้านอินเตอร์เน็ตนั้นมีการปะปนกันระหว่างชายหญิง
และมีการใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ไม่ดี
เช่น ดูภาพลามก ผิดศีลธรรม ฯลฯ รายได้จากร้านนั้นก็หะรอม
ท้ายสุดนี้ขอฝากอายะห์ในซูเราะฮฺอันนูร อายะห์ที่ 19 ก่อนจบบทความดังนี้
อัลกุรอานระบุว่า
"แท้จริงบรรดาผู้ชอบที่จะให้เรื่องบัดสีแพร่หลายไปในหมู่ผู้ศรัทธานั้น
พวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างเจ็บปวดทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
และอัลลอฮฺทรงรอบรู้และพวกเจ้าไม่รู้" โดย: สมคิด ลีวัน ฝ่ายต่างประเทศ ชมรมมุสลิมไอที
ปล.เห็นว่าดูเข้ากับหัวข้อและมีประโยชน์ ก็เลยยกมาค่ะ
อีกอย่าง คนโพสโดนเต็มๆเมื่อได้อ่าน นัฟซูมันทับ

วัสลามค่ะ