salam
"เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน" ทำไมบางครั้งเรารู้สึกว่า โลกใบนี้ที่แสนจะกว้างใหญ่
คนที่อาศัยอยู่บนโลกก็มากมายเต็มไปหมด
แต่ทำไมบางเวลาที่เราต้องการ
แค่ใครสักคนที่จะมา
"เข้าใจเราจริงๆ" กลับไม่มีเลย
ทุกคนมีปัญหาต่างกัน แต่ก็คล้ายๆ กัน
เพราะฉะนั้นก็น่าดีใจ ที่อย่างน้อยๆ ในบางปัญหาที่คล้ายกัน
ก็ยังมีวิธีแก้ไขที่คล้ายกันด้วย
ฉันชอบที่โลกนี้มีปัญหา เพราะรู้ว่าเดี๋ยวมันก็ต้องมีคำตอบ
เหมือนครั้งนี้ที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า
"ทำไมไม่มีใครเข้าใจเรา" ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้เข้าใจยากอะไรเลย
ทันทีที่สถานการณ์ขัดแย้งเกิดขึ้น เช่น ลูกทะเลาะกับแม่ คนรักไม่เข้าใจกัน
เจ้านายไม่เข้าใจลูกน้อง ลูกน้องก็ไม่เข้าใจเจ้านาย
ต่างคนต่างมีเหตุผลเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
แม้จะต่างปัญหา แต่ทุกคน ก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน
นั่นคือ
"การที่ต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก" จมอยู่กับความคิดของตัวเอง หาทางออกไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไงดี
บางทีมีเรื่องอยากจะพูดมากมายเต็มไปหมด แต่ก็พูดไม่ออก
มันจุก มันไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง บอกไปแล้วคนอื่นจะเชื่อเราไหม
เขาจะยอมฟังเราไหม
กลายเป็นความอึดอัดในใจที่
บั่ น ท อ น ให้ความเข้มแข็งค่อยๆ หมดไป
คนเราพอมีเรื่องค้างคาในใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มันก็ติดตามไปตลอด
เหวี่ยงไปไม่พ้นคอทุกที บางครั้งเผลอๆ มันก็แวบเข้ามารบกวนความคิดอีกแล้ว
เรื่องบางเรื่องเราก็พูดกับเพื่อนไม่ได้
แม้แต่คนรัก กับบางเรื่องเราก็มีความลับที่ไม่สามารถแชร์ให้เขาร่วมรับรู้
ฉันว่าทุกคนก็เคยเป็นแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น
เคยต้องอยู่ในห้องประชุมหรือเปล่า? บรรยากาศมันอาจจะชวนน่าเบื่อ
และเครียดไม่น้อย แต่เราจะเครียดกว่า
ถ้าการแสดงความเห็นของคนอื่นทำให้เราหมดความสำคัญลงไป
คล้ายๆ เรากำลังมองดูคนอื่นตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะที่ตัวเรากำลังย่อส่วนเล็กลงๆ
ปัญหานี้ไม่ใช่เพราะคนอื่นมาทำให้ความสำคัญของเราหมดไป
แต่เป็นเพราะเราคิดอยู่กับตัวเอง มีแค่ตัวเองที่เข้าใจ
แต่คนอื่นเขาไม่รู้เรื่อง เพราะเราไม่เคยแสดงความคิดเห็นนั้นออกมา
เพราะฉะนั้น ฉันคิดว่าทางออกสำหรับเรื่องนี้มันอยู่ที่ตัวเราเองนี่แหล่ะ
ถ้าเราไม่กล้าแสดงออกมา คนอื่นก็ไม่มีทางเห็น
เหมือน
"เสียงที่เราคิดว่าไม่มีใครได้ยิน" ถ้าเราอยากให้คนอื่นได้ยิน เราก็ต้อง
"พูดออกมา" การน้อยเนื้อต่ำใจ แล้วพาตัวเองหลุดไปอยู่ในโลกของความโดดเดี่ยว
มันน่ากลัวนะ ฉันเคยเจอปัญหานี้กับคนรอบข้าง
เพื่อนๆ ของฉันก็เป็น อย่างเรื่องการน้อยใจแฟนตัวเองนี่เจอบ่อยสุด
บางทีเราก็ไปน้อยอกน้อยใจกับเรื่องบางเรื่อง
โดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัวว่าเขากำลังถูกเรา "งอน"
พอเขาเฉยๆ ไม่แสดงอาการรู้ร้อนรู้หนาว
คนที่แอบน้อยใจอยู่นี่แหล่ะที่ "จะเป็นจะตาย" และเป็นทุกข์อยู่คนเดียว
ฉันชอบที่ได้อ่านประโยคหนึ่งที่เพื่อนร่วมงานพิมพ์จากคอมพิวเตอร์
มาแปะไว้ในห้องน้องเพื่อเตือนใจ ในกระดาษนั้นมีข้อคิดอยู่หลายข้อ
แต่ที่ฉันชอบที่สุดคือประโยคที่ว่า
"เป็นหน้าที่ของเราที่จะพูดให้คนอื่นเข้าใจ
ไม่ใช่หน้าที่ของคนอื่นที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่เราพูด" มันคล้ายๆ กัน..ว่าไหม? กับปัญหาการน้อยใจเพื่อน
น้อยใจคนในครอบครัว หรือการน้อยใจคนรัก
ฉันว่ามันไม่ใช่หน้าที่ที่คนอื่นจะต้องมาเข้าใจทุกอย่างที่เราเป็น
ยิ่งใกล้กัน ก็ยิ่งมองข้าม ยิ่งคุ้นเคย ก็ยิ่งไม่เกรงใจกัน
แปลว่าทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเอง
เรานี่แหล่ะที่จะทำให้ความใกล้ เป็นความอบอุ่น
ไม่ใช่ยิ่งใกล้ยิ่งถูกมองข้ามความสำคัญ
เรานี่แหล่ะ ที่จะทำให้ความคุ้นเคย นำมาซึ่งความสุข
เช่น การมีความสุขง่ายๆ กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต
และเราอีกนั่นแหล่ะ ที่จะทำให้เสียงที่เบาที่สุด
กลายเป็นเสียงที่ดังและมีความหมายสำหรับเราและคนอื่นได้ในเวลาเดียวกัน
ไม่มีใครเข้าใจตัวเราได้ดีที่สุดหรอก
เพราะฉะนั้น ปัญหาที่เหลือจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า
ใครจะมาเข้าใจเราได้บ้าง
แต่อยู่ที่เรา
"เข้าใจตัวเองแล้วหรือยัง" ต่างหาก
ที่มา: mail forward
วัสลามค่ะ