บทความจากอัลอัคต่อครับ
"คำถามต่อมาก็คือ เราได้อะไรจากการสานเสวนา? มันมิทำให้ความถูกต้องที่เรายึดถืออยู่มัวหมองดอกหรือ? ผมตอบว่าคนถามวิตกเกินเหตุ เราต้องเชื่อว่า สัจธรรมคือ สิ่งที่ได้รับการพิทักษ์จากพระเจ้า ชัยชนะในท้ายที่สุดย่อมเป็นของสัจธรรม อย่าไปวิตกในเรื่องเหล่านี้ หากสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นสัจธรรม เราก็ควรหาทางเปิดให้อีกฝ่ายได้รับรู้
โดยมิต้องไปหวั่นไหวกับสิ่งที่อีกฝ่ายเสนอมา
จริง ๆ แล้ว การสานเสวนาเป็นการทำให้ความขัดแย้งเข้าสู่องค์ความรู้ และตัวความรู้นี้จะช่วยปรับและแก้ปัญหาของมันได้ ประสบการณ์การสังเกตของผมพบว่า หลังจากการสานเสวนาระหว่างแนวคิด เก่า-ใหม่ ในหมู่ซุนนียีนด้วยกัน ทำให้ฝ่ายหนึ่งสามารถยอมรับในทัศนะทางฟิกฮฺอีกฝ่ายหนึ่งว่ามีน้ำหนักเช่นกัน เช่น ยอมรับว่าละหมาดตะรอวิหฺ 20 รอกาอัตก็เป็นการปฏิบัติของคนยุคแรกเหมือนกัน เช่นเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจยอมรับว่า ตัวนักวิชาการที่อย่างเชค มุฮัมมัด บิน อับดุล วะฮาบ ที่เขาเคยคิดว่าเป็นแผนการสร้างของยิว ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ท่านก็เป็นเหมือนอุละมาอ์คนอื่นที่มีทั้งถูกและผิด ... บทสรุปเช่นนี้มันหาไม่ได้ในการเปิดการโจมตีใส่กันและกัน
การสานเสวนาเป็นกระบวนการเรียนรู้สภาพปัญหาความขัดแย้ง เป็นการเปิดเผยให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ในบรรยากาศที่เงียบสงบ ไม่ต้องตะโกนสั่งทหารเลว ๆ ให้บุกหรือให้ถอย ... แต่ละฝ่ายจะได้เห็นข้อเด่น-ข้อด้อยของอีกฝ่าย โดยปราศจากอคติ และมันจะช่วยเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเปิดรับข้อเด่นของอีกฝ่ายได้ง่าย และง่ายที่ให้แต่ละฝ่ายปรับข้อด้อยของตนเอง ... ก็พวกเราไม่มีใครมะอฺศูม(คนที่ปลอดจากบาป)กันเลยสักคนเดียว
การสานเสวนา เป็นการทำตัวเป็นนักเรียน มิได้ทำตัวเป็นผู้รอบรู้ไล่ตัดสินคน ปัญหาที่หมักหมมอยู่ในสังคมเราทุกวันนี้ มันต้องการระบอบการเรียนรู้ร่วมกันนำต่างหาก ...
ผมมั่นใจว่า คนยุคแรก ๆ นั้น พวกเขาเลือกที่จะสานเสวนา แม้แต่อยู่ในสภาพวิกฤติ ดังเหตุการณ์รุนแรงในการสังหารเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน แม้ฟิตนะฮฺจะกระพืออย่างรุนแรงแค่ไหน แต่ผู้นำทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายท่านอลี และฝ่ายท่านหญิงอาอิชะฮฺ เลือกที่จะใช้การพูดคุยกัน
แต่แล้ว ... มุนาฟิกีนที่ซ่อนตัวอยู่ในกองทัพของทั้งสองฝ่ายได้เปิดการโจมตีในค่ำคืนที่มืดมิดนั้นเอง ...."
http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=332&Itemid=30