ผู้เขียน หัวข้อ: คุฏบะฮฺวันศุกร์ เรื่อง อย่ากินทิ้งกินขว้าง  (อ่าน 2368 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Bangmud

  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 2821
  • Respect: +127
    • ดูรายละเอียด

 salam


คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิด อัร-ริฎวาน(นานา)
14 พฤศจิกายน 2551 / 16 ซุลเกาะอฺดะฮฺ 1429

   พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺด้วยการปฏิบัติความดีและละเว้นความชั่วอย่างจริงจัง และท่านทั้งหลายจงอย่าได้ตายจนกว่าท่านจะยอมจำนนต่ออัลอิสลามโดยสิ้นเชิง
   ดังที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อิสลามนั้นเป็นระบอบในการดำเนินชีวิตโดยสมบูรณ์ ดังนั้นทุก ๆ กิจกรรม อิสลามจึงมีข้อกำหนดไว้ให้มุสลิมปฏิบัติ ในเรื่องของการทำอิบาดะฮฺนั้นมีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องทำแบบอย่างของท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ส่วนในเรื่องการดำเนินชีวิตทั่วไป บางกรณีก็กำหนดไว้โดยละเอียด บางกรณีก็กำหนดไว้กว้าง ๆ เพื่อให้มุสลิมมีทางเลือก  เรื่องของความเป็นอยู่และอาหารการกินนั้น อิสลามก็มีข้อกำหนดเพื่อให้มุสลิมได้ถือปฏิบัติ เพราะอาหารคือปัจจัยที่ทำให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้ อิสลามกำหนดให้มุสลิมทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีวิต และกำหนดให้ผู้ที่หาได้มากกว่า แบ่งปันให้กับผู้ที่หาได้น้อยกว่า ดังนั้น ในแต่ละปีผู้ที่มีทรัพย์สินเหลือใช้ จึงต้องบริจาคให้แก่คนยากจนในรูปของซะกาฮฺเงินทอง ซะกาฮฺผลผลิตเกษตร ซะกาฮฺปศุสัตว์ หลังเดือนเราะมะฎอน เมื่อการถือศีลอดสิ้นสุดลงในวันอีดิลฟฏริของแต่ละปี ให้ทุกคนที่มีความสามารถ บริจาคอาหารประจำถิ่นให้แก่คนยากจน เรียกว่าซะกาตุลฟิฎเราะฮฺ ตามคำสั่งของท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมที่ว่า

 


    “ท่านเราะสูลลุลลอฮฺได้บัญญัติการจ่ายซะกาตุ้ลฟิฏริเพื่อทำความสะอาดแก่ผู้ที่ถือศีลอดให้หมดสิ้นจากความไร้สาระและความหยาบคาย และเป็นการแบ่งปันอาหารแก่คนยากจน ผู้ใดที่บริจาคซะกาฮฺนี้ก่อนละหมาด มันเป็นซะกาฮฺที่ถูกรับรอง แต่ผู้ใดบริจาคซะกาฮฺนี้หลังละหมาด มันก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺหนึ่งจากบรรดาเศาะดะเกาะฮฺทั้งหลาย”        อะบูดาวูด อิบนุมาญะฮฺและอัลหากิม
     และเมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลหัจญ์ในวันอีดิลอัฎหา ให้ผู้บำเพ็ญหัจญ์และผู้ไม่ได้บำเพ็ญหัจญ์ที่มีความสามารถบริจาคเนื้อสัตว์ที่เชือดพลีต่ออัลลอฮฺตะอาลา ให้กับทั้งผู้ที่ร้องขอและผู้ที่ไม่ได้ร้องขอ เรียกว่า กุรฺบานตามดำรัสสั่งใช้ของอัลลอฮฺที่ว่า
 

   “และอูฐที่อ้วนพี เราได้กำหนดมันให้มีขึ้นสำหรับพวกเจ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญญาณของอัลลอฮฺ เพราะในตัวมันมีของดีสำหรับพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ(เมื่อเวลาเชือด)ขณะที่มันยืน ฉะนั้นเมื่อมันล้มลงนอนตะแคง(ตาย)แล้ว พวกท่านก็จงกินมัน และจงแจกจ่ายเป็นอาหารแก่คนที่ไม่เอ่ยขอและคนที่เอ่ยขอ เช่นนั้นแหละ เราได้ทำให้มันยอมจำนนแก่พวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้ขอบคุณ(อัลลอฮฺ)”      อัลหัจญ์ 22: 36
   พระองค์ยังได้ทรงกำชับให้มุสลิมทั้งหลายอย่าได้กินทิ้งกินขว้าง กินอาหารแต่พอสมควร ไม่เหลือให้เป็นอาหารของชัยฏอนมารร้าย ใครที่กินอาหารเหลือ แสดงว่าเป็นคนฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ดูถูกริซกียฺของอัลลอฮฺ และไม่เป็นที่รักของพระองค์ พระองค์ดำรัสว่า
 


   “จงกิน จงดื่มและจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้ที่ฟุ่มเฟือย”        อัลอะอฺรอฟ 7 : 31
   แม้อัลลอฮฺจะมีคำสั่งให้ระมัดระวังและให้ใช้อาหารที่พระองค์ประทานมาให้อย่างสมคุณค่า ใช้ให้คุ้ม ใช้อย่างประหยัด แต่มนุษย์ก็ไม่ใส่ใจฟังคำสั่งของพระองค์ การบริโภคอาหารอย่างฟุ่มเฟือยเป็นกันทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม
   ที่ประเทศญี่ปุ่น มีตัวเลขการทิ้งขว้างอาหารมากที่สุด เพราะมีวัฒนธรรมการกินอาหารที่ประณีตสวยงามจุ๋มจิ๋มน่ารัก มีร้านสะดวกซื้อ (ประเภท 7-11) มากกว่า สี่หมื่นร้านและซุปเปอร์มาร์เกต จำนวนมาก ร้านเหล่านี้ต้องขายอาหารบางชนิดให้หมดวันต่อวัน ถ้าขายไม่หมดต้องทิ้ง มีการสำรวจว่า ญี่ปุ่นทิ้งอาหารปีละ 19 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นอาหารที่ยังกินได้ถึง 6 ล้านตัน ซึ่งเลี้ยงคนได้ถึง 50 ล้านคน
   ที่อเมริกา สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐรายงานว่าคนอเมริกันทิ้งอาหาร 30 ล้านตันต่อปี โดยเป็นอาหารที่ยังกินได้ถึง 27 เปอร์เซ็นต์
   ส่วนที่อังกฤษทิ้งอาหารที่ยังกินได้ถึงปีละ 20 ล้านปอนด์ ทิ้งไก่เป็น ๆ วันละ 5,500 ตัวและนมเปรี้ยวที่ยังกินได้ปีละ 1.3 ล้านกล่อง
   ที่อินเดีย กระทรวงเกษตรอินเดียแถลงในการประชุมสุดยอดผักและผลไม้ว่า 72 % ของผลไม้และผักที่ผลิตในอินเดียกลายเป็นของเสียเพราะขาดการกระจายและการรักษาที่ดี 1
   ที่วัดถ้ำสิงโต อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี หลวงพ่อสมัย เขมทัตโต ปรารภว่า ปัจจุบันเมืองไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แม้ผู้มีฐานะดียังต้องประหยัด..... แต่พุทธศาสนิกชนยังคงทำบุญตักบาตรกันอยู่มาก โดยเฉพาะวันพระและวันสำคัญทางศาสนา จะมีอาหารทำบุญเหลือมาก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งต้องทิ้งไป น่าเสียดาย จนนักวิทยาศาสตร์/โภชนาการ ต้องค้นคิดวิธีนำข้าวสุกที่เหลือมาหุงรับประทานใหม่ ไม่ทิ้งให้เสียของ
   ที่มัสญิดอัรฺ-ริฎวาน(นานา) จ.นครราชสีมา  อาหารที่มีผู้ใจบุญนำมาเลี้ยงทุกวันศุกร์  จะมีเหลือทิ้งทุกวัน ไม่มากก็น้อย บางวันเหลือทิ้งเกือบ 2 ถาดเต็ม ๆ ทั้งที่อาหารเหล่านั้นไม่ได้บูดเสีย หลักฐานมีให้ดูทุกวันศุกร์ที่มีการจัดเลี้ยง

   ทำไมมนุษย์ไม่เห็นคุณค่าของอาหาร โดยเฉพาะมุสลิม ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูลทำไมจึงไม่เชื่อฟังคำสั่งของอัลลอฮฺที่ไม่ให้กินและดื่มอย่างฟุ่มเฟือย ทำไมมุสลิมจึงไม่เชื่อฟังคำสั่งของท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมที่ให้กินอาหารให้หมด ไม่เหลือเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชัยฏอน ตอนนี้เราอาจจะมีกินเหลือเฟือ เพราะอาหารยังพอมีเลี้ยงคนทั้งโลก แต่ลองนึกถึงเมื่อเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤตอาหารขึ้นทั่วโลก อาหารขาดแคลนชั่วคราว ประเทศที่ผลิตข้าวรายใหญ่เช่น จีนและเวียตนาม ผลิตข้าวได้น้อยลง เหลือแต่ประเทศไทย โลกมีความต้องการข้าวสูง ข้าวขึ้นราคา พ่อค้าส่งออกนอกประเทศ ข้าวในประเทศพลอยราคาสูงขึ้น ข้าวหอมมะลิขึ้นไปถึงราคาตันละ 30,000 บาท ข้าวขายปลีกถังละ 600 บาท ที่เฮติ ฟิลิปปินส์ เมกซิโก เกิดจลาจลเดินขบวนประท้วงอาหารแพง คนจนแทบจะอดตายเพราะไม่มีจะกิน
    ถ้ามนุษย์ยังคงฟุ่มเฟือย ยังคงกินทิ้งกินขว้าง ต่อไปมนุษย์จะมีกินเฉพาะคนที่ร่ำรวย คนที่มีอภิสิทธิ์ และจะต้องซื้อหาราคาแพง คนจนไม่รู้จะเอาอาหารที่ไหนมากิน ต่อไปคนไทยกลุ่มหนึ่งที่พอจะมีกินคงจะรูปร่างอ้วนจ้ำม่ำ ในขณะที่อีกกลุ่มที่ไม่มีจะกินผอมแห้งแรงน้อย ขาดอาหารเหมือนคนในประเทศที่แห้งแล้งบางประเทศ บางคนอาจคิดว่า ฉันมีเงิน ฉันซื้อมา ไม่อร่อย ไม่ชอบฉันจะทิ้ง ใครจะว่าอะไร หรือบางคนอาจจะเห็นว่า อาหารที่เขาเอามาเลี้ยง ได้เปล่า  ไม่ต้องออกเงินซื้อ ไม่เห็นจะต้องเสียดาย ตักเยอะ ๆ คนทำบุญจะได้ได้บุญเยอะ ๆ กินเหลือทิ้งไปบ้างก็ไม่เป็นอะไร คิดแบบนี้ไม่ใช่คิดแบบมุสลิม ใครที่คิดจะกินทิ้งกินขว้างให้นึกถึงคนที่ไม่มีจะกิน คิดถึงเด็กกำพร้าที่ไม่มีคนดูแลเอาใจใส่ คิดถึงพี่น้องร่วมศาสนาและเพื่อนร่วมโลกที่อดอยากปากแห้งหรือเป็นโรคขาดอาหาร
   คนที่นำอาหารมาเลี้ยง คนที่ร่วมหุ้นกันจัดซื้ออาหาร คนที่ลงมือลงแรงทำอาหารนั้น ทำด้วยจิตใจที่สะอาด จิตใจที่ต้องการตอบสนองอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ไม่ได้หวังอะไรจากคนที่รับเลี้ยง ทำตามดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลาที่ว่า

 

   “และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์ แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก (พวกเขากล่าวว่า)แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่านโดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด”    อัลอินสาน 76:8-9
   ผู้ใจบุญใจกุศลเหล่านี้ ถ้าเห็นคนกินอาหารที่นำมาเลี้ยงมาก ๆ กินอย่างเอร็ดอร่อย ก็จะรู้สึกอิ่มเอิบใจที่ได้ทำความดีและเกิดผลดีแก่ผู้อื่น แต่ถ้าเห็นคนกินอาหารเหลือ กินอาหารทิ้งขว้าง คนที่เลี้ยงอาหารก็ปวดใจ เสียดายที่อาหารที่ทิ้ง ควรจะได้ทำประโยชน์ให้แก่คนที่หิวโหยคนอื่นได้อีก
   ช่วยกันดูแลวิกฤตอาหารโลก ร่วมมือกันทุกคน แม้มัสญิดจะเป็นหน่วยเล็ก ๆ แต่ถ้าเราประหยัด ไม่กินทิ้งกินขว้าง ก็จะลดการสูญเสียอาหารลงได้ส่วนหนึ่ง ถ้าทุกมัสญิดทำเช่นนี้ ทุกวัดทำเช่นนี้ ทุกหน่วยทำเช่นนี้ ทุกประเทศทำเช่นนี้ โอกาสที่โลกจะประสบวิกฤตอาหารก็คงจะห่างไกลออกไปอีกอย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ



คัดลอกจากเอกสารเผยแพร่ของมัสญิด อัร-ริฎวาน(นานา) นครราชสีมา เมื่อ 22 ก.พ. 2553 โดย Bangmud
1. สุขภาพดูแลเองได้ เรื่อง "กินทิ้งกินขว้าง" โดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ ตีพิมพ์ใน "สารคดี" ปีที่ 24 ฉบับที่ 285 ตุลาคม 2551 หน้า 91-93
2. สกู๊ปหน้าหนึ่ง เดลินิวส์ ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 เรื่อง กินเหลือ อย่าทิ้งขว้าง ข้าวพอเพียง ของยังดี ยังมีคุณค่า
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ก.พ. 22, 2010, 02:22 PM โดย Bangmud »

ออฟไลน์ al-firdaus~*

  • ทีมงานหลังบอร์ด (-_-''')
  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 5015
  • เพศ: หญิง
  • 可爱
  • Respect: +161
    • ดูรายละเอียด
     ถ้ามนุษย์ยังคงฟุ่มเฟือย ยังคงกินทิ้งกินขว้าง ต่อไปมนุษย์จะมีกินเฉพาะคนที่ร่ำรวย คนที่มีอภิสิทธิ์ และจะต้องซื้อหาราคาแพง คนจนไม่รู้จะเอาอาหารที่ไหนมากิน ต่อไปคนไทยกลุ่มหนึ่งที่พอจะมีกินคงจะรูปร่างอ้วนจ้ำม่ำ ในขณะที่อีกกลุ่มที่ไม่มีจะกินผอมแห้งแรงน้อย ขาดอาหารเหมือนคนในประเทศที่แห้งแล้งบางประเทศ บางคนอาจคิดว่า ฉันมีเงิน ฉันซื้อมา ไม่อร่อย ไม่ชอบฉันจะทิ้ง ใครจะว่าอะไร หรือบางคนอาจจะเห็นว่า อาหารที่เขาเอามาเลี้ยง ได้เปล่า  ไม่ต้องออกเงินซื้อ ไม่เห็นจะต้องเสียดาย ตักเยอะ ๆ คนทำบุญจะได้ได้บุญเยอะ ๆ กินเหลือทิ้งไปบ้างก็ไม่เป็นอะไร คิดแบบนี้ไม่ใช่คิดแบบมุสลิม ใครที่คิดจะกินทิ้งกินขว้างให้นึกถึงคนที่ไม่มีจะกิน คิดถึงเด็กกำพร้าที่ไม่มีคนดูแลเอาใจใส่ คิดถึงพี่น้องร่วมศาสนาและเพื่อนร่วมโลกที่อดอยากปากแห้งหรือเป็นโรคขาดอาหาร
   


   

 

GoogleTagged