คำอธิบายประกอบสูเราะฮฺ (ต่อ)
หลังจากนั้นก็มีการเล่าเรื่องราวของนบีมูซาและฟาโรห์อย่างย่อ ๆ เพื่อเป็นการเตือนผู้คนว่า “สูเจ้ารู้ดีว่าฟาโรห์ต้องพบชะตากรรมอย่างไรในการปฏิเสธศาสนทูตและปฏิเสธทางนำที่เขานำมา ซ้ำยังพยายามที่จะทำลายภารกิจของเขาด้วยกลอุบายและการหลอกลวง ถ้าหากสูเจ้าไม่ได้รับบทเรียนจากเรื่องนี้และไม่เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตแล้วสูเจ้าก็จะต้องได้รับชะตากรรมเช่นเดียวกัน”
หลังจากนั้น ในอายะฮฺที่ 27 -33 ก็ได้มีการให้เหตุผลถึงเรื่องการฟื้นคืนชีพหลังความตายและชีวิตในโลกหน้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ บรรดาผู้ปฏิเสธได้ถูกถามว่า “การให้สูเจ้าฟื้นคืนชีพขึ้นมากับการสร้างจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุดพร้อมด้วยดวงดาวอีกสุดคณานับนั้น อย่างไหนเป็นเรื่องยากกว่ากัน?" การให้สูเจ้าเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งนั้นไม่ได้เป็นเรื่องยากเลยสำหรับอัลลอฮฺ มันเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับพระองค์ ดังนั้น หลังจากที่ได้ยกข้อโต้แย้งที่เด็ดขาดสำหรับความเป็นไปได้ในเรื่องโลกหน้ามาไว้ในประโยคหนึ่งแล้ว ก็ได้มีการเรียกร้องให้ผู้คนได้พิจารณาถึงแผ่นดินและปัจจัยยังชีพที่ได้ถูกจัดเตรียมไว้ในนั้นเพื่อเลี้ยงดูมนุษย์และสัตว์ ทุกสิ่งที่อยู่บนผืนแผ่นดินนั้นล้วนยืนยันว่ามันได้ถูกสร้างมาเพื่อเหตุผลอันยิ่งใหญ่เพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์บางอย่าง ในการชี้ให้เห็นสิ่งดังกล่าว ได้มีการตั้งคำถามทิ้งไว้ให้ปัญญาชนไตร่ตรองดูเอาเองว่า การเรียกมนุษย์ไปสอบสวนหลังจากที่ได้มอบหมายหน้าที่และการรับผิดชอบให้แก่เขาไปแล้ว เป็นเรื่องที่มีเหตุผลกว่าการที่จะให้เขาตายไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร หลังจากที่ได้ทำชั่วทุกอย่างไปแล้วหรือไม่? แทนที่จะพูดถึงปัญหา ในอายะฮฺที่ 34 – 41 ได้มีการกล่าวว่า เมื่อวันโลกหน้าเกิดขึ้น อนาคตอันนิรันดรของมนุษย์ก็จะถูกกำหนดโดยเกณฑ์ตัดสินที่ว่า “คนไหนฝ่าฝืนอัลลอฮฺและถือว่าความสุขทางด้านวัตถุเป็นวัตถุประสงค์แห่งชีวิตของเขา และคนไหนที่กลัวจะไปยืนต่อหน้าอัลลอฮฺและละทิ้งการตอบสนองควมต้องการที่ไม่ถูกต้องของตัวเอง” นี่เป็นการให้คำตอบที่ถูกต้องแก่คำถามสำหรับทุกคนที่พิจารณาเรื่องนี้อย่างซื่อตรงและไม่ดื้อรั้นดันทุรัง เพราะเมื่อมนุษย์ได้รับอำนาจและความรับผิดชอบไปแล้ว สิ่งที่เหตุผลและศีลธรรมต้องการก็คือ เขาควรจะถูกเรียกตัวไปสอบสวนเพื่อตอบแทนรางวัลหรือถูกลงโทษสำหรับสิ่งที่เขาได้ทำไป
กล่าวโดยสรุป คำถามของบรรดาผู้ไม่ศรัทธาแห่งมักกะฮฺเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าการฟื้นคืนชีพจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นได้ถูกตอบไปแล้ว พวกเขาได้ถามท่านรอซูลุลลอฮฺเกี่ยวกับเรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ในการตอบคำถามนี้ได้มีการกล่าวว่า อัลลอฮฺเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้ รอซูลเพียงแต่มาเตือนว่ามันจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าใครเชื่อก็จงปรับปรุงตัวเอง ถ้าใครไม่เชื่อก็จงประพฤติตนอย่างไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ แต่เมื่อเวลาที่ได้ถูกกำหนดไว้มาถึง คนที่รักชีวิตแห่งโลกนี้จะรู้สึกว่าพวกเขาได้อยู่ในโลกนี้เพียงแค่ชั่วโมงเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นพวกเขาก็จะตระหนักได้ว่าพวกเขาได้ทำลายอนาคตของพวกเขาไป เพียงเพื่อเห็นแก่ความสุขช่วงสั้น ๆ ในโลกนี้เท่านั้น
อ้างอิง R1. The Noble Qur’an, English Translation of the meanings and commentary.
Dr.Muhammad Taqi-ud-Din al-Hilali and Dr.Muhammad Muhsin Khan.
King Fahd Complex for the Printing of the Holy Qur’an. Madinah, K.S.A.
อ้าง อิง R2. อัลกุรอานฉบับแปลภาษาไทย โดย มัรวาน สะมะอุน ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ มปป. จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม กรุงเทพฯ
อ้างอิง R3. ตัฟฮีมุลกุรฺอาน ความหมายคัมภีร์ อัล-กุรอาน อรรถาธิบายโดย เมาลานา ซัยยิด อบุล อลา เมาดูดี แปลโดย บรรจง บินกาซัน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2539 ศูนย์หนังสืออิสลาม กรุงเทพฯ
อ้างอิง R4. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย ศูนย์กษัตริย์ฟาฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรอานแห่งนครมาดีนะฮ์
อ้างอิง R5. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาไทย โดย นายต่วน สุวรรณศาสน์ (ฮัจยีอิสมาแอล บินฮัจยียะห์ยา) จุฬาราชมนตรี มูลนิธิต่วน สุวรรณศาสน์ พิมพ์ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระราชทานสถาบันต่าง ๆ ในพระราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐
หลังจากนี้จะเริ่มนำเสนอคำแปลตั้งแต่อายะฮฺแรก
วัสสลาม