อ่านเรื่องนี้จบ พร้อมรบเรื่อง มุวาฟิก vs มัสบูกต้นฉบับมลายูยาวีโดย:หะสัน บิน อะหฺมัด
แปลไทยโดย: นายโชคอนันต์ รักทรัพย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

จากใจผู้แปลวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในที่สุดตำราเล่มเล็ก ที่ผู้แปลได้ทำการแปลก็ได้คลอดออกมา ซึ่งผู้แปลคิดว่างานแปลชิ้นนี้เสร็จเร็วกว่าที่คิด ทั้ง ๆ ที่ผู้แปลมีภารกิจเรื่องเรียน ณ มหาวิทยาลัยฯ 28 คาบ (ชั่วโมง) ต่อสัปดาห์ ยังไม่รวมเวลาที่ผมเรียนกิตาบ ณ ปอเนาะที่พักพิงอาศัยอยู่ (ซึ่งผู้แปลเรียนบ่อย แต่ไม่ค่อยเข้าใจภาษามลายูที่บาบอพูด)
ในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หนึ่ง เป็นแรงผลักดันให้ผู้แปลพยายามจะแปลตำราเล่มเล็กเล่มหนึ่ง (ชื่อหนังสือ مسألة موافق دان مسبوق เรียบเรียงโดย حسن بن أحمد) แม้ว่าก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น ผู้แปลก็พยายามที่จะแปลเป็นทุนเดิมอยู่ จนกระทั่งเหตุการณ์ในช่วงปิดเทอมได้เกิดขึ้นกับผู้แปล (ขอเล่นตัวนิดนึง)
แน่นอนล่ะ การอ่านสูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ให้หูตัวเองได้ยิน ถือเป็นรุกน (รากฐาน) หนึ่ง ซึ่งในค่ำคืนหนึ่งช่วงละหมาดอิชาอ์ เมื่อผู้แปลละหมาดญะมาอะฮ์อิชาอ์เสร็จ ผู้ชาย (สไตล์ญะมาอะฮ์ตับลีฆ) ซึ่งเขาละหมาดถัดจากผู้แปล ได้พูดด้วยเสียงอันดังลั่นพอสมควร จนมะอ์มูมคนอื่น ๆ หลายคนได้ยิน แม้ว่าขณะนั้นอิหม่ามกำลังอ่านวิริดและดุอาอ์อยู่ก็ตาม เขาก็พูดและถามผูแปล ด้วยเหตุผลว่า ทำไมผู้แปลไม่อ่านสูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ให้จบ และพูดต่อในทำนองว่า ผู้แปลละหมาดไม่เศาะฮฺ (ไม่ถูกต้องสมบูรณ์) เมื่อผู้แปลได้ยินเขาพูดอย่างนั้น ผู้แปลจึงบอกเขาว่า เงียบก่อนได้ไหม เราคุยกันหลังขอดุอาอ์ดีกว่า แต่เขาก็ไม่สนใจคำพูดของผู้แปล และยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม เมื่อดุอาอ์เสร็จ ผู้แปลเชิญเขาคุยกันที่ลานมัสยิด เพื่อไม่อยากคุยในมัสยิด (ในตอนนั้นเด็กปอเนาะกำลังฝึกการอ่านคุฏบะฮ์วันศุกร์อยู่พอดี) แต่เขาก็ไม่สนอีก สุดท้ายเราจึงได้มุมหนึ่งของมัสยิดเพื่อคุยกัน จนกระทั่งเขาเข้าในในบางส่วน และมีอีกหลายส่วนที่เขาและอีกหลายคนจากการสุ่มตัวอย่างของผู้แปล กลุ่มตัวอย่างยังมีแนวคิด เรื่องมะอ์มูมมุวาฟิกและมะอ์มูมมัสบูก ที่ไม่ตรงกับตำราที่ผุ้แปลใช้ในการแปล (ผู้แปลไม่กล้าบอกว่า แนวคิดของเขานั้นผิดนะครับ แต่มันแค่คนละขั่วกับตำราของผู้แปลอิง)
ตำราต้นฉบับ (จริง ๆ มันมีแค่ 22 หน้าเอง) แต่ผู้แปลได้แปลเฉพาะส่วนสาระที่สำคัญ ๆ (กล่าวคือ จากหน้า 1-2 และ 9-22) ผู้แปลพยายามที่จะแปลให้มีเนื้อหาความหมายตามเป้าหมายของต้นฉบับมากที่สุด
ผู้แปลเชื่อว่า ผู้แปลคงไม่สามารถเข้าใจในเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเพียงคนเดียว แน่นอนว่า ย่อมมีบุคคลอยู่เบื้องหลังเสมอ
ดังนั้น ขอขอบคุณต่ออัลลอฮฺ (สุบหานะฮุวะตะอาลา) ที่ทรงให้ผู้แปลพบกับอัลอิสลาม และขอขอบคุณพระองค์ที่ทรงกำหนดให้ชีวิตของผู้แปลได้มีวันนี้ ผู้แปลเชื่อมั่นเสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันย่อมมีฮิกมะฮ์และวิทยปัญญาอยู่ในแก่นของมัน อยู่ที่ว่าใครจะรู้จักขวนขวายกันอย่างไร
และขอบคุณท่านอาจารย์นาเส็ด เบ็นแหละแหนะ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนตัสดีกียะห์ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่เคยขยั้นคะยอให้ผู้แปลเรียนในเรื่องมุวาฟิกและมัสบูก ครั้นสมัยผู้แปลเรียนระดับมัธยมศึกษา และวิชาต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วนั้น ท่านเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่ผู้แปล ผู้แปลยังจำได้ว่า ท่านสอนผู้แปลแม้ว่าจะเรียนคนเดียวก็ตามที
และขอบคุณครอบครัวของผู้แปล ที่สนับสนุนด้านการเรียนและการศึกษาของผู้แปลมาตลอด แม้จะมีบ้างในบางครั้งที่ทางครอบครัวจะทุลักทุเล
และขอบคุณเพื่อน ๆ พี่ ๆ อะแบที่ช่วยเหลือด้านการแปลตามหลักไวยกรณ์มลายู
สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด ขอบคุณเพื่อนชวนคิดและชวนคุยที่เป็นผู้ช่วยพิมพ์งานแปลของผู้แปล และท้ายที่สุด ขอขอบคุณทุก ๆ ท่านอย่างยิ่ง หากท่านอ่านงานแปลนี้แล้ว และพบข้อผิดพลาดหรือบกพร่องในงานแปลนี้ ก็สามารถติเตือนผู้แปลได้เลย เพราะผู้แปลก็ไม่ได้มีความรู้เท่าไรกับภาษาญาวี แต่ที่แปลนี้ ผู้แปลอาศัยความเข้าใจครั้นเมื่อผู้แปลเรียนกับท่านอาจารย์นาเส็ด เบ็นแหละแหนะนั่นเอง
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานแปลเล่มนี้จะให้ประโยชน์แก่ผู้อ่าน ทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้เริ่มต้นหรือกำลังศึกษาศาสนาอิสลาม และผู้สนใจโดยทั่วไป และขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา โปรดทรงประทานคุณงามความดีแก่พวกเราทั้งหลายด้วยเถิด
---------------------
โชคอนันต์ รักทรัพย์
(ผู้แปล)
28 June 2010
คำนำประเด็นปัญหาเรื่อง มุวาฟิกและมัสบูก นับได้ว่าเป็นประเด็นจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่วายิบมะอ์มูมทั้งหลายจะเป็นต้องรู้ และต้องใช้มุสลิมต่อการเรียนรู้ประเด็นดังกล่าว
เพราะมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดกับการละหมาด การละหมาดของมะอ์มูมจะไม่สมบูรณ์และไม่เศาะหฺ (ไม่ถูกต้อง) และผู้ที่ไม่รู้ในประเด็นดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ทางนิติศาสตร์ (อัลฟิกฮฺ) ในประเด็นของมุวาฟืกและมัสบูก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อสังคมอิสลามโดยรวมในขณะนี้ คือการไม่เข้าใจต่อประเด็นของมุวาฟิกและมัสบูก ด้วยความถูกต้องตามหลักการอัลฟิกฮฺ
มีหลากหลายประเด็นที่ทำให้มะอ์มูมเหล่านั้น ไม่ค่อยเข้าใจในประเด็นมูวาฟิกและมัสบูก เช่น สาเหตุจาก......(ผู้แปลแปลเฉพาะสวนที่สำคัญเอง - วัสสลาม)
----------------------
หะสัน บิน อะหฺมัด
ณ หมู่บ้านเตอยูง รัฐกลันตัน
(ผู้เขียน)
นิยามของคำว่า "มุวาฟิก" และ "มัสบูก"มุวาฟิก คือ มะอ์มูมที่มายืนพร้อมกับการยืน (กิยาม) ของอิหม่าม โดยที่เขา (มะอ์มูม) ทันญะมาอะฮ์พร้อมกับอิหม่าม โดยคิดเวลาปานกลางที่เขาอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จนจบ ช่วงเวลาของการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์นั้นคิดจากเวลาปานกลางการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จบของคนส่วนใหญ่ มิใช่จากอิหม่าม
มัสบูก คือ ช่วงระยะเวลาการยืน (กิยาม) ของมะอ์มูมพร้อมกับอิหม่าม น้อยกว่าระยะเวลาการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จนจบทั้งซูเราะฮ์ของคนส่วนใหญ่ ไม่อ่านเร็วเกินไปและไม่ช้าเกินไป จะต้องนับว่าระยะเวลาปานกลางในการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์นั้น ส่วนใหญ่ใช้เวลาเท่าใดเป็นเกณฑ์ มิใช่ยึดเวลาของอิหม่ามหรือมะอ์มูม
"มุวาฟิก" หรือ "มัสบูก" เกิดขึ้นได้กับมะอ์มูม อาจจะทั้งสี่ร็อกอะฮ์ ไม่ว่าจะเป็นร็อกอะฮ์ที่หนึ่ง, สอง, สาม หรือสี่ ก็เป็นได้
แม้ว่าในการละหมาดญะมาอะฮ์นั้น มีทั้งละหมาดที่วาญิบ เช่น ซุฮฺริ, อัศริ, มัฆริบ, อิชาอ์ และศุบฮิ หรือละหมาดสุนัตที่มีการละหมาดญะมาอะฮ์ เช่น ตะรอวีหฺ และอื่น ๆ สำหรับมะอ์มูมที่เริ่มการยืน (กิยาม) พร้อมกับอิหม่ามนั้น จะมีกรณีใดกรณีหนึ่งจาก 2 กรณี เกิดขึ้นแก่มะอ์มูมผู้นั้น
เขาอาจจะเป็น "มุวาฟิก" หรืออาจจะเป็น "มัสบูก" อาจกล่าวได้ว่า ในบางครั้งมะอ์มูมทันเริ่มการละหมาดกับอิหม่าม แต่เขาก็อาจจะกลายเป็นคนมัสบูกขึ้นมาในขณะละหมาดกับอิหม่าม แม้ว่าเขาจะเริ่มละหมาดพร้อมกับอิหม่ามก็ตามที หรือบางทีมะอ์มูมมีเจตนาที่จะละหมาดเริ่มการตักบีรฺทันทีที่อิหม่ามตักบีรฺเสร็จ แต่พอกลางละหมาด (ในช่วงการกิยาม) มะอ์มูมถูกอิหม่ามทิ้งด้วยเหตุผล (ตามอิหม่ามไม่ทัน) บางประการ
ด้วยเหตุนั้น มะอ์มูมที่อยู่ในสถานะภาพมัสบูกหรือมะอ์มูมมุวาฟิก ต้องรู้ว่า เขาต้องทำอย่างไร กล่าวคือ หากมะอ์มูมนั้นอยู่ในสภาพมุวาฟิก เขาต้องรักษาหุก่ม (กฎเกณฑ์) และเงื่อนไขของมุวาฟิก หากไม่รักษาแล้ว การละหมาดของมะอ์มูมมุวาฟิกนั้นไม่เศาะหฺและโมฆะ แต่หากว่าเขาอยู่ในสภาพมะอ์มูมที่เป็นมัสบูก หน้าที่ของเขาคือจะต้องรักษาเงื่อนไขและรู้วิธีการปฏิบัติตนในฐานะมะอ์มูมมัสบูก
กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของมะอ์มูมที่อยู่ในสถานะมุวาฟิกดังที่ได้อธิบายข้างต้นแล้วว่า มะอ์มูมมุวาฟิก คือ มะมูมอ์ที่ระยะเวลาที่เขายืนพร้อมกับอิหม่ามนั้น คิดจากระยะเวลาปานกลางการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ทั้งซูเราะฮ์ของคนส่วนใหญ่ มิใช่การอ่านที่เร็วหรือช้าจนเกินไป (กล่าวคือ เช่น หากผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาในการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ระดับปานกลาง ไม่เร็ว หรือช้าจนเกินไปทั้งซูเราะฮ์ ใช้เวลา 40 วินาที แะนั้น มะอ์มูมใช้เวลาในการยืนพร้อมกับอิหม่ามต้องไม่น้อยกว่า 40 วินาที - ผู้แปล)
กฎเกณฑ์ต่าง ๆ สำหรับมะอ์มูมมุวาฟิกนั้น อนุญาตให้เขาทิ้ง หากอิริยาบทของอิหม่ามจาก 3 รุก่นที่ปฏิบัติยาว เช่น การรุกั๊วะอฺ, การซุหยูดครั้งที่หนึ่ง, การซุหยูดครั้งที่สอง ไม่รวมรุก่นการปฏิบัติที่สั้น เช่น การอิอฺติดาล, การนั่งระหว่างสองซุหยูด
และการทิ้งหาก 3 รุก่นที่ว่านี้ ไม่รวมการนั่งอิสติรอหะฮ์ (การนั่งหลังการซุหยูดครั้งที่สอง ก่อนการยืนในร็อกอะฮ์ถัดไป) และไม่รวมการนั่งตะชะฮุดแรก และการอิอฺติดาล
ตังอย่าง(1) มะอ์มูมมุวาฟิกที่ทำการรุกั๊วะอฺก่อนที่อิหม่ามจะยืนตรงจากซุหยูดครั้งที่สอง ดังกล่าวนั้น ถือว่า มะอ์มูมได้ร็อกอะฮ์นั้น เพราะอิหม่ามมิได้ทิ้งห่างอิริยาบท (รุก่น) ที่ 4 คือ การยืนของร็อกอะฮ์ถัดไป
(2) มะอ์มูมมุวาฟิกได้ทำการรุกั๊วะอฺก่อนที่อิหม่ามจะทำการนั่งตะชะฮุดครั้งสุดท้าย ดังกล่าวถือว่ามะอ์มูมได้ร็อกอะฮ์นั่น
ทั้งสองตัวอย่างนี้ กล่าวชี้ให้เห็นว่า หากมะอ์มูมมิได้ทิ้งห่างจากอิหม่าม 3 รุก่นที่ยาว เขาก็จะได้ร็อกอะฮ์นั้น ซึ่งทั้ง 3 รุก่นที่ว่านั้นมีดังนี้
1) รุกั๊วะอฺ
2) ซุหยูดครั้งที่หนึ่ง
3) ซุหยูดครั้งที่สอง
(3) มะอ์มูมที่ยังอ่านซุเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ในกิยามยังไม่เสร็จ แต่ในขณะเดียวกันอิหม่ามได้ขึ้นมายืนตรงในร็อกอะฮ์ต่อไป หรืออิหม่ามนั่งตะชะฮุดครั้งสุดท้าย การละหมาดของมะอ์มูมดังกล่าวนั้น ถือว่า โมฆะ เว้นแต่เขาจะเลือกการกระทำใดการกระทำหนึ่งดังต่อไปนี้
3.1) มุะอ์มูมต้องละทิ้งอริยาบททั้งหลายทั้งปวง แล้วกระทำในสิ่งที่อิหม่ามกำลังกระทำอยู่ เมื่ออิหม่ามให้สลาม มะอ์มูมต้องเพิ่มอีกหนึ่งร็อกอะฮ์เพื่อทดแทนร็อกอะฮ์ดังกล่าว
3.2) มะอ์มูมเนียต (ตั้งเจตนาในใจ) ออกจากการตามอิหม่าม หลังจากนั้น มะอ์มูมก็อ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ให้จบและกระทำการละหมาดคนเดียวต่อไปจนเสร็จโดยไม่ต้องสนใจ (การตาม) อิหม่าม
หากมะอ์มูมยังลังเลในการเลือกข้อใดข้อหนึ่ง (จากข้อ 3.1 หรือ 3.2) ซึ่งอยู่ ๆ อิหม่ามล่วงล้ำไปยังรุก่นที่สี่ ในขณะที่มะอ์มูมอยู่ในรุก่นที่หนึ่ง (กล่าวคือ เช่นหากมะอ์มูมยังยืนลังเลในขณะกิยาม แล้วอยู่ ๆ อิหม่ามก็ได้กระทำการกิยามในร็อกอะฮ์ถัดไป) การละหมาดของมะอ์มูมนั้นเป็นโมฆะ และถือว่าโมฆะเช่นกันหากเกิดการสวนทางกัน กล่าวคือ มะอ์มูมกำลังจะลงรุกั๊วะอฺ แต่ขณะเดียวกันอิหม่ามได้ขึ้นสู่การยืนร็อกอะอ์ถัดไป หรือเปลี่ยนอิริยาบถสู่การนั่งตะชะฮุดครั้งสุดท้าย
ประเด็นปัญหาของมะอ์มูมที่มุวาฟิกบรรดานักวิชาการฟิกฮฺชี้แจงถึงหุก่ม (กฎเกณฑ์ต่าง ๆ) สำหรับมะอ์มูมมุวาฟิกไว้หลายประการด้วยกัน บางประเด็นก็เห็นพ้องต้องกัน แต่บางประเด็นก็มีความเห็นต่างมุมกัน ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง :มะอ์มูมมุวาฟิกที่ชะรีอะฮ์อนุญาตให้ห่างจากอิหม่าม 3 รุก่นที่ยาวนั้น คือ มะอ์มูมที่มีนิสัยในการอ่านช้า มิใช่การอ่านที่วิซวัซ (การซ้ำ ๆ ซาก ๆ) แต่ถ้าเป็นมะอ์มูมที่อานซ้ำ ๆ ซาก ๆ นั้น อนุญาตให้ห่างจากอิหม่ามก่นอที่อิหม่ามจะลงซุหญูดสู่ซุหญูดครั้งที่หนึ่งในร็อกอะฮ์เดียวกัน แสดงว่า มะอ์มูมต้องอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์เสร็จและลงซุหญูดก่อนที่อิหม่ามจะลงซุหญูดครั้งที่หนึ่ง หากมะอ์มูมยังอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ไม่จบ และอิหม่ามกำลังลงสู่ซุหญูดครั้งที่หนึ่ง ถือว่าการละหมาดของมะอ์มูมนั้นโมฆะ เว้นแต่มะอ์มูมจะเนียตออกจากการตามอิหม่ามก่อนที่อิหม่ามจะลงซุหญูด หลังจากนั้น ก็ให้มะอ์มูมอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ให้จบ และกระทำรุก่นต่าง ๆ ให้ครบจนเสร็จการละหมาด มะอฺมูมมุวาฟิกที่อ่านซ้ำ ๆ ซาก ๆ นั้นไม่อนุญาตให้ทิ้งการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ เพื่อจะกระทำในสิ่งที่อิหม่ามกำลังกระทำอยู่ แต่เขาจะต้องอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ให้จบ หากเขาทิ้งการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ มะอ์มูมประเภทนี้จะจัดอยู่ในข่ายผู้ทิ้งการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์โดยเจตนา (แสดงว่ามะอ์มูมที่วิซวัซอนุญาตให้เนียตออกจากการตามอิหม่ามได้ประการเดียว - ผู้แปล)
ประเด็นที่สอง :ในขณะที่อิหม่ามกำลังรุกั๊วะอฺอยุ่นั้น มะอ์มูมมุวาฟิกกำลังอยู่ในกิยามและกำลังสงสัยว่าตนเองอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์หรือยัง หรือตนอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จบหรือยัง กรณีเช่นนี้ วาญิบให้มะอ์มูมอานซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์และอนุญาตให้ทิ้งห่างกับอิหม่ามแค่ 3 รุก่นยาวเท่านั้น
ประเด็นที่สาม :มะอ์มูมมุวาฟิกลืมอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ และเขานึกได้ในใจขณะกิยาม ดดยขณะที่อิหม่ามกำลังรุกั๊วะอฺ มะอ์มูมดังกล่าวนั้นวาญิบที่จะต้องอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ และอนุญาตให้ละทิ้งอิริยาบท 3 รุก่นยาวดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ประเด็นที่สี่ :ขณะที่มะอ์มูมมุวาฟิกกำลังรุกั๊วะอฺพร้อมกับอิหม่ามนั้น มะอ์มูมเกิดสงสัยในตัวเองว่า เมื่อกี้ตนเองอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์หรือยัง หรือเขานึกขึ้นได้ในขณะรุกั๊วะอฺว่าขณะกิยามนั้นตนยังอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ไม่หมดเลย กรณีนี้มะอ์มูมจะเปลี่ยนอิริยาบทจากรุกั๊วะอฺสู่กิยามไม่ดได้ (ซึ่งแตกต่างจากประเด็นที่สาม - ผู้แปล) ทว่ามะอ์มูมต้องกระทำตามอิหม่ามต่ไปจนอิหม่ามให้สลาม แล้วมะอ์มูมจึงต้องเพิ่มอีก 1 ร็อกอะฮ์ (เพื่อทดแทนร็อกอะฮ์ดังกล่าว - ผู้แปล)
ประเด็นที่ห้า :มะอ์มูมที่ทำการรุกั๊วะอฺก่อนอิหม่าม แล้วมะอ์มูมเกิดสงสัยขึ้นมาในขณะรุกั๊วะอฺว่า ตนอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จบแล้วหรือยัง กรณีนี้วาญิบที่ต้องกลับสู่การกิยามและอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ให้จบ โดยอนุญาตให้เขาทิ้งห่างจากอิหม่าม 3 รุก่น
ประเด็นที่หก :มะอ์มูมมุวาฟิกที่ละทิ้งการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ เนื่องจากมั่วยุ่งอยู่กับการอ่านดุอาอ์อิฟติตาหฺ (ซึ่งเป็นของสุนัต - ผู้แปล) อยู่ ๆ อิหม่ามก็ลงสู่รุกั๊วะอฺก่อนที่มะอ์มูมจะอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จบหรือยังมิได้อ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์เลย กรณีนี้วาญิบที่มะอ์มูมต้องอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์และอนุญาตให้เขาทิ้งห่างจากอิหม่าม 3 รุก่นยาว
ประเด็นที่เจ็ด :มะอ์มูมมุวาฟิกที่ต้องการเอาเรื่องสุนัต โดยมะอ์มูมฟังการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ของอิหม่าม เพื่อเอาสุนัตและเตรียมการไว้ว่า ตนเองจะอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ของตน ในขณะที่อิหม่ามอ่านซูเราะฮ์ ครั้นอิหม่ามอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จบ อิหม่ามมิได้อ่านซูเราะฮ์แต่ประการใด ทว่าอิหม่ามลงสู่การรุกั๊วะอฺทันที แสดงว่ามะอ์มูมยังมิได้อ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์แต่ประการใด แต่อิหม่ามได้ลงรุกั๊วะอฺเสียแล้ว กรณีนี้วาญิบที่มะอ์มูมจะต้องอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์และอนุญาตให้ทิ้งห่างอิหม่าม 3 รุก่นยาว
ประเด็นที่แปด :มะอ์มูมมุวาฟิกที่คอยฟังอิหม่ามอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ เพื่อเอาส่วนสุนัตและเขา (มะอ์มูม) เตรียมจะอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ของตน เมื่ออิหม่ามอ่านซูเราะฮ์ บังเอิญอิหม่ามอ่านซูเราะฮ์ที่สั้น จนมะอ์มูมอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ยังไม่จบ แรต่อิหม่ามลงรุกั๊วะอฺหรือซุหญูดซะแล้ว กรณีนี้วาญิบให้มะอ์มูมอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ต่อไป และอนุญาตให้ทิ้งห่างอิหม่ามได้ 3 รุก่น
ประเด็นที่มีความเห็นต่างกัน (คิลาฟ)ประเด็นที่นักวิชาการรุ่นหลังมีข้อชี้ขาดต่างกันในเรื่องมะอ์มูมมุวาฟิกนั้น มีดังต่อไปนี้
1. มะอ์มูมมะวาฟิกที่ละหมาดพร้อมกับอิหม่าม อยู่ ๆ เขาหลับในขณะนั่งตะชะฮุดครั้งแรก นั่งโดยก้นแนบชิดกับพื้นที่ตนนั่ง เขาหลับในจนกระทั้งอิหม่ามได้ลงรุกั๊วะอฺหรือกิยามในร็อกอะฮ์ถัดไป อยู่ ๆ มะอ์มูมก็รู้สึกตัว กรณีดังกล่าว ท่านชัยค์ รอมลี ตัดสินว่า "มะอ์มูมดังกล่าวนี้เป็นมะมูมมุวาฟิกและอนุญาตให้มะอ์มูมทิ้งห่างอิหม่าม 3 รุก่นยาว" แต่ชัยค์ อิบนุ หะญัร ตัดสินว่า "มะอ์มูมดังกล่าวนี้ เข้าข่ายคนมัสบูก ไม่อนุญาตให้ทิ้่งห่างอิหม่าม 3 รุก่นยาว ทว่าเขาต้องอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์เท่าที่มีความสามารถ (หมายความว่า ถ้ามะอ์มูมลุกขึ้นสู่กิยามเป็นเวลาเดียวกันกับที่อิหม่ามยังกิยามอยุ่ และมะอ์มูมก็อ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ทันที และอ่านไปเรื่อย ๆ จนกว่าอิหม่ามจะรุกั๊วะอฺ - ผู้แปล) และวาญิบที่มะอ์มูมจะต้องรุกั๊วะอฺตามอิหม่าม หากเขาทันอิหม่ามในรุกั๊วะอฺและมีเฏาะมานีนะฮ์ (พักครู่หนึ่งซึ่งเท่ากับการอ่านสุบหานัลลอฮฺ หนึ่ง ครั้ง - ผู้แปล) ก่อนอิหม่ามอิอฺติตาล ดังกล่าวนั้น ถือว่าเขาได้ร็อกอะฮ์ดังกล่าว"
2. มะอ์มูมมุวาฟิกละหมาดพร้อมอิหม่าม เมื่ออิหม่ามตักบีรฺสู่กิยาม (ในร็อกอะฮ์ถัด ๆ ไป - ผู้แปล) มะอ์มูมคิดว่าอิหม่ามตักบีรฺสู่ตะชะฮุดครั้งแรก มะอ์มูมเกิดนั่งตะชะฮุดครั้งแรก หลังจากนั้นอิหม่ามตักบีรฺสู่รุกั๊วะอฺ แต่มะอ์มูมคิดว่าอิหม่ามตักบีรฺสู่กิยาม ตนจึงขึ้นสู่กิยาม อยู่ ๆ มะอ์มูมรู้ว่าอิหม่ามตักบีรฺสู่รุกั๊วะอฺ (มิใช่กิยาอย่างที่คิด) กรณีนี้ ชัยค์ รอมลี กล่าวว่า "มะอ์มูมดังกล่าวถือว่าเป็นมุวาฟิกและอนุญาตให้ทิ้งห่างอิหม่าม 3 รุก่นยาว" แต่ชัยค์ อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่า "มะอ์มูมดังกล่าวนั้นเป็นมะอ์มูมมัสบูก จึงไม่อนุญาตให้ทิ้งห่างอิหม่าม 3 รุก่นยาว ทว่าเขาจะต้องอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์เท่าที่มีความสามารถ และวาญิบต้องลงรุกั๊วะอฺตามอิหม่าม หากเขามีเฏาะมานีนะฮ์ในรุกั๊ะอฺก่อนอิหม่ามจะอิอฺติดาล ถือว่าเขาได้ร็อกอะฮ์นั้น"
3. มะอ์มูมมุวาฟิกที่นั่งอ่านตะชะฮุดครั้งแรกพร้อมกับอิหม่าม ครั้นอิหม่ามลุกจากการนั่งตะชะฮุดสู่กิยาม มะอ์มูมยังอ่านตะชะฮุดไม่เสร็จเลย ต่อมามะอ์มูมก็ลุกขึ้นยืน แต่อิหม่ามใกล้จะรุกั๊วะอฺหรือกำลังรุกั๊วะอฺ ชัยค์ รอมลี กล่าวว่า "มะอ์มูมดังกล่าวถือว่า เข้าข่ายมะอ์มูมมุวาฟิก และอนุญาตให้ทิ้งห่างอิหม่าม 3 รุก่นยาว" แต่ชัยค์ อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่า "มะอ์มูมดังกล่าวไม่เข้าข่ายมะอ์มูมมุวาฟิก และไม่อนุญาตให้ทิ้งห่างอิหม่าม 3 รุก่นยาว เพราะเขาทิ้งการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์โดยเจตนา จึงตัดสินว่า หากมะอ์มูมอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จบและทันรุกั๊วะอฺก่อนอิหม่ามลงซุหญูดครั้งที่หนึ่ง เขาจะได้ร็อกอะฮ์นั้นไป หากเขายังอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ไม่จบก่อนที่อิหม่ามลงสู่ซุหญูดครั้งที่หนึ่ง เขาสมควรออกจากการตามอิหม่ามเสีย และให้เขาดำเนินการละหมาดเยี่ยงคนละหมาดคนเดียวจนเสร็จ หากเขาไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ถือว่าการละหมาดนั้นโมฆะ"
ยังมีการขัดแย้งทางความคิดระหว่างชัยค์ อิบนุ หะญัรฺ กับชัยค์ รอมลี ในประเด็นที่ว่า หากมะอ์มูมมุวาฟิกที่ละหมาดพร้อมกับอิหม่าม อยู่ ๆ เขาลืมว่า เขาตามอิหม่ามอยู่ ในขณะซุหญูดเขานึกขึ้นมาว่า เขาตามอิหม่ามอยุ่ แต่ขณะนั้นเขายังไม่กิยาม แต่อิหม่ามรุกั๊วะอฺซะแล้วหรือใกล้จะรุกั๊วะอฺเต็มทีแล้ว ชัยค์ รอมลี กล่าวว่า "มะอ์มูมดังกล่าวเข้าข่ายมุวาฟิกซึ่งเขาวาญิบต้องอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์และอนุญาตให้ทิ้งห่างอิหม่าม 3 รุก่นยาว" แต่ท่านชัยค์ อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่า "มะอ์มูมดังกล่าวเข้าข่ายมัสบูก แม้มะอ์มูมจะทันและมีเฏาะมานีนะฮ์รุกั๊วะอฺก็ตามที และเขาก็ได้ร็อกอะฮ์ดังกล่าว หากเขาไม่ทันอิหม่ามในรุกั๊วะอฺ เขาวาญิบจะต้องเพิ่มอีกหนึ่งร็อกอะฮ์หลังสลามของอิหม่าม"