
หลังจากโครงการมัสยิดครบวงจรของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ได้ดำเนินโครงการระยะที่ 1 เสร็จสิ้น ก็มาถึงโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งสำหรับภาคอีสานคราวนี้มีมัสยิด 4 แห่งเข้าร่วมโครงการคือ มัสยิดอัลฟาติหะฮ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน อ.เมือง จ.มหาสารคาม มัสยิดเสิงสาง อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และมัสยิดนูรุ้ลฮูดา อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
จากการประชุมโครงการมัสยิดครบวงจร ที่จัดขึ้นในวันที่ 6 พ.ค. 2553 ณ มัสยิดวะห์ดานียะห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นการอธิบาย ทำความเข้าใจในการดำเนินโครงการมัสยิดครบวงจร เพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยมี ดร.ปรีดา ประพฤติชอบ ผู้ประสานงานแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยศูนย์ประสานภาคอีสาน ร่วมพูดคุยในครั้งนี้ และมีการบรรยายเรื่อง หลักการบริหารจัดการมัสยิดอย่างยั่งยืน โดย อีหม่ามอาลีคาน ตายูเคน อีหม่ามมัสยิดวะห์ดานียะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมัสยิดครบวงจรในโครงการระยะที่ 1
เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมแต่ละมัสยิดต่างก็ไปดำเนินงานโครงการมัสยิดครบวงจรของตัวเอง
แต่จากประสบการณ์ในโครงการระยะที่ 1 ทำให้แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยศูนย์ประสานงานภาคอีสาน ตระหนักดีว่า บทบาทในการเป็นที่ปรึกษาคอยชี้แนะนั้นสำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาองค์กรในระดับชาวบ้าน
ดร.ปรีดาจึงเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการมัสยิดครบวงจร โดยเลือกไปที่มัสยิดนูรุ้ลฮูดา อ.เมือง จ.ชัยภูมิ จากการพูดคุย ผู้ประสานงานแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยศูนย์ประสานงานภาคอีสาน ได้รับข้อมูลมาว่า ทางคณะกรรมมัสยิดได้มีการพูดคุยเกี่ยวการดำเนินโครงการดังกล่าวในหมู่คณะกรรมการมัสยิดด้วยกัน และได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน เช่นการปลูกต้นไม้ด้านหน้ามัสยิด การซื้อพรมเช็ดเท้า เป็นต้น
แต่สิ่งที่ดร.ปรีดาสัมผัสได้ก็คือ ทางคณะกรรมการมัสยิดยังไม่เข้าในเจตนารมณ์ของการทำโครงการมัสยิดครบวงจร ทางผู้ประสานงานจึงต้องชี้แจงและทำความเข้าใจให้กับอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดเพื่อให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของการทำโครงการที่ถูกต้อง
ซึ่งคณะกรรมการมัสยิดนูรุ้ลฮูดาก็รับปากว่าจะดำเนินโครงการให้สำเร็จตรงตามเจตนารมณ์ที่แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยกำหนดไว้เท่าที่จะมีความสามารถ
ทางผู้ประสานงานภาคอีสานของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยคงไม่หยุดเพียงแค่เยี่ยมครั้งเดียว แล้วมาเจออีกทีตอนจบโครงการ แต่การพบปะเพื่อเสนอแนะ ตรวจสอบเพื่อการปรับปรุง ก็คงต้องมีอยู่บ่อยครั้ง เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดในชุมชนให้ได้ ส่วนผลพลอยได้ก็คือ การที่ชาวบ้านมีความสามารถในการบริหารจัดการโครงการ
เพราะนี่จึงจะเป็นการพัฒนาชุมชนและองค์กรระดับชาวบ้านในระยะยาวอย่างแท้จริง