ผู้เขียน หัวข้อ: คุฏบะฮฺมัสญิดอัร-ริฎวาน(นานา) วันศุกร์ที่ 5 มี.ค. 53/ 19 เราะบีอุลเอาวัล 1431  (อ่าน 2406 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Bangmud

  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 2821
  • Respect: +127
    • ดูรายละเอียด


ใจบุญสุนทาน
5 มีนาคม 2553 / 19 เราะบีอุลเอาวัล 1431

    พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺด้วยการปฏิบัติความดีและละเว้นความชั่วอย่างจริงจัง และท่านทั้งหลายจงอย่าได้ตาย จนกว่าท่านจะเป็นผู้ยอมจำนนต่ออัลอิสลามโดยสิ้นเชิง
   ในอัลกุรฺอาน อัลลอฮฺตะอาลาดำรัสว่า


 
   “และสิ่งดีใด ๆ ที่พวกเจ้าบริจาคมันไป ก็ย่อมได้แก่ตัวของพวกเจ้าเอง และพวกเจ้าจะไม่บริจาคสิ่งใดนอกจากเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺเท่านั้น และสิ่งดีใด ๆ ที่พวกเจ้าบริจาคไป มันจะถูกตอบแทนอย่างครบถ้วนแก่พวกเจ้า โดยพวกเจ้าจะไม่ถูกอยุติธรรมเลย”     อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:272
    เป็นที่รับทราบกันดีอยู่แล้วสำหรับมุสลิมทั่วไปว่า อัลลอฮฺมิได้ทรงสร้างมนุษย์และญินมาเพื่อสิ่งอื่นใด นอกจากเพื่อการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยมีโลกนี้เป็นสนามทดสอบความจงรักภักดี และจุดมุ่งหวังใหญ่ก็คือความสุขในโลกแห่งการตอบแทน
    เพื่อการที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ อัลลอฮฺจึงได้ส่งเครื่องประดับในดุนยา อันได้แก่ ทรัพย์สมบัติและครอบครัว ลูกหลานญาติมิตร พร้อมกันนั้นก็สิ่งทดสอบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์มายังมนุษย์ เพื่อดูว่า มนุษย์ทั้งหลายมุ่งหวังในดุนยาหรืออาคิเราะฮฺมากกว่ากัน ใครที่เชื่อมั่นในดุนยามากกว่า เขาก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะกอบโกยทรัพย์สมบัติเอาไว้ให้มากที่สุด เหมือนกับว่า เขาจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป คนที่มีความคิดหน่อย ก็ใช้วิธีที่ถูกต้องในการแสวงหาทรัพย์สิน ส่วนคนที่สิ้นคิด ก็ใช้ทุกวิถีทาง ไม่คำนึงว่าเป็นเรื่องหะลาล หรือ หะรอม ไม่คำนึงเลยว่า ทรัพย์สินจะหามาได้อย่างไร จะคดโกง เบียดเบียน ปล้นสะดม ตีชิงวิ่งราว ขูดรีด หรือเที่ยวตระเวนขอโดยไม่ยอมแสวงหา
   เมื่อหามาได้แล้วก็เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ คิดว่าทรัพย์นี้เป็นของตน ไม่รู้จักการแบ่งปัน ในขณะที่อิสลามสอนว่า ทรัพย์สินที่เป็นของตนโดยแท้จริงนั้น เป็นทรัพย์ที่หามาได้อย่างถูกต้องและได้ใช้จ่ายไปแล้ว ส่วนทรัพย์ที่ยังไม่ได้ใช้ด้วยการเก็บสะสมไว้นั้น เป็นทรัพย์ทายาท คือตายไปแล้วก็ตกเป็นของลูก หรือของคู่ครอง
   ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า



       “มีคนใดในหมู่พวกท่านบ้างไหมที่รักทรัพย์ทายาท มากกว่ารักทรัพย์ของตัวเอง บรรดาเศาะหาบะฮฺพากันกล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ไม่มีใครสักคนเดียว เว้นแต่ทุกคนจะรักทรัพย์สินของตัวเขาเอง ท่านกล่าวว่า แท้จริงทรัพย์ของตัวเขาเองก็คือทรัพย์ที่เขาจ่ายไปแล้ว ส่วนทรัพย์ทายาท คือทรัพย์ที่อยู่หลัง”     บุคอรีจากอิบนิมัสอูด
   อิสลามจึงไม่สนับสนุนการสะสมทรัพย์สมบัติ โดยคิดว่าทรัพย์สมบัตินั้นจะช่วยให้ชีวิตของเขาอยู่อย่างมีความสุขจอมปลอมหรือจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปหรือเพื่อการอวดอ้างแข่งขันกัน ใครจะมีทรัพย์สมบัติมากกว่ากัน ใครจะมีเมียมากกว่ากัน ใครจะมีครอบครัวลูกหลานมากว่ากัน ใครจะมีรถมากกว่ากัน ใครจะมีบ้านใหญ่โตกว่ากันหรืออื่น ๆ ในทำนองนี้ แต่ไม่กีดกันที่มนุษย์จะแสวงหาปัจจัยยังชีพเมื่อให้มีชีวิตอยู่และสามารถทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ ถ้าอัลลอฮฺประทานทรัพย์สมบัติให้เหลือจากการดำรงชีวิต ก็แนะนำให้บริจาคไปเพื่อหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ไม่โอ้อวดในการบริจาค และไม่มากเกินไปจนตนเองประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต
   อัลลอฮฺดำรัสว่า



   “การสะสมทรัพย์สมบัติเพื่ออวดอ้างได้ทำให้พวกเจ้าเพลิดเพลิน จนกระทั่งพวกเจ้าได้เข้าไปเยือนหลุมฝังศพ(การสะสมทรัพย์สมบัติลูกหลานและพลพรรคเพื่อใช้ในการอวดอ้าง หรือโอ้อวดกันหรือใช้เป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาจนทำให้เพลิดเพลินหลงลืมว่าวัตถุประสงค์ที่อัลลอฮฺทรงให้เกิดมาบนโลกนี้ก็คือการภักดีต่ออัลลอฮฺ  กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อเสียชีวิตและถูกนำไปยังหลุมฝังศพ และเมื่อนั้นก็สายไปเสียแล้ว) เปล่าเลย พวกเจ้าจะได้รู้ และก็เปล่าเลยพวกเจ้าจะได้รู้”     อัตตะกาษุรฺ 102:1-4
   ในอายะฮฺเหล่านี้อัลลอฮฺทรงเตือนพวกที่ชอบสะสมทรัพย์สมบัติเพื่อการโอ้อวดกันจนลืมการภักดีต่อพระองค์ว่า เมื่อตายไปแล้วจะรู้สึก ถ้าได้รู้อย่างที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทรงรู้แล้ว ท่านเราะสูลกล่าวว่า “พวกเจ้าก็จะหัวเราะแต่น้อยและร้องไห้อย่างมาก” นั่นคือทรัพย์สมบัตินั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่การภักดีต่ออัลลอฮฺและการบริจาคไปในหนทางของพระองค์ต่างหากที่จะอำนวยความสุขให้
   ในอีกตอนหนึ่ง พระองค์ตะอาลาดำรัสว่า



   “และอย่าให้มือของเจ้าถูกตรึงอยู่ที่คดของเจ้าและอย่าแบมันจนหมดสิ้น มิฉะนั้นเจ้าจะกลายเป็นผู้ถูกประณาม เศร้าโศกเสียใจ”     อัลอิสรออ์ 17:29
   นั่นคือเมื่อมีทรัพย์สมบัติแล้ว อย่าได้ตระหนี่ถี่เหนียว พร้อม ๆ กับอย่าได้ใช้จ่ายแบบสุลุ่ยสุร่าย มิฉะนั้นก็จะถูกประณามหรือประสบความเสียใจจากผลของทั้งสองการกระทำนั้น
   โดยสรุปก็คือ มุสลิมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในโลกนี้เพื่อดำรงชีวิตในดุนยาและเป็นเครื่องมือในการเตรียมความสุขของอาคิเราะฮฺ การแสวงหาโชคลาภหรือปัจจัยยังชีพสามารถกระทำได้อย่างสุดความสามารถ โดยมิได้เจตนาสะสมเพื่อการโอ้อวดหรือแข่งขัน ข้อสำคัญต้องไม่ลืมการปฏิบัติภักดีต่อพระองค์ จะต้องไม่ยึดติดกับทรัพย์สิน บริจาคไปในหนทางของพระองค์ ทั้งภาคบังคับ คือการจ่ายซะกาฮฺ และภาคอาสาสมัคร คือการเศาะดะเกาะฮฺ
   ทรัพย์ใดที่หามาได้และจ่ายไปอย่างถูกต้องนั้น คือ ทรัพย์ของตนเองอย่างแท้จริง เพราะถ้าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ มันก็คือทรัพย์ที่กลายมาเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยหรือยารักษาโรค ถ้าใช้จ่ายไปในการบริจาค มันก็จะกลับคืนมาเป็นของเราอีกครั้งหนึ่ง บางครั้งก็กลับคืนมาในโลกดุนยานี้ ที่สำคัญมันจะกลับมาในรูปของการตอบแทนในอาคิเราะฮฺ
   มุสลิมไม่ว่าจะมีทรัพย์มากหรือน้อย จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริจาคหรือการใช้จ่ายไปในหนทางของพระองค์ มากน้อยตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธา และเมื่อเจตนาการบริจาคของเราถูกต้อง คือ เพื่ออัลลอฮฺตะอาลาแล้ว เราจะได้รับการตอบแทนแน่นอน
   มีหิกายะฮฺ คือเรื่องเล่าจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาฝากพี่น้อง


   
   “อะบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าจากท่านนะบียฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า ท่านนะบียฺได้กล่าวว่า “ชายคนหนึ่งได้กล่าวว่า คืนนี้ฉันต้องทำเศาะดะเกาะฮฺ(คือฉันตั้งใจจะทำเศาะดะเกาะฮฺให้กับคนแรกที่ฉันพบในคืนนี้)


     แล้วเขาก็ออกไปพร้อมด้วยเศาะดะเกาะฮฺของเขา เขาได้นำมันไปวางในมือของหญิงที่ละเมิดประเวณี รุ่งเช้าผู้คนต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่เขาได้ทำเศาะดะเกาะฮฺให้แก่หญิงที่ละเมิดประเวณี ชายผู้นั้นกล่าวว่า ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอสรรเสริญพระองค์ ในการที่(ฉัน)ได้ทำทานให้แก่หญิงที่ละเมิดประเวณี


       ฉันจะต้องทำทาน(อีก)ครั้งหนึ่ง แล้วเขาก็ได้ออกไปพร้อมกับทานของเขา เขาได้นำมันไปวางในมือของคนรวย รุ่งเช้า ผู้คนต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่เขาทำเศาะดะเกาะฮฺให้แก่คนรวย ชายผู้นั้นกล่าวว่า ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอสรรเสริญพระองค์ ในการที่(ฉัน)ได้ทำทานให้แก่คนรวย


       ฉันจะต้องทำทาน(อีก)ครั้งหนึ่ง เขาได้ออกไปพร้อมด้วยทานของเขา เขาได้นำมันไปวางบนมือของขโมย รุ่งเช้า ผู้คนต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่เขาทำเศาะดะเกาะฮฺให้แก่ขโมย เขาได้กล่าวว่า ข้าแต่อัลลอฮฺ ขอสรรเสริญพระองค์ ในการที่(ฉัน)ได้ทำทานให้แก่ หญิงละเมิดประเวณี คนรวยและขโมย


       มีผู้มาหาเขาและกล่าวแก่เขาว่า การทำทานของท่านนั้นถูกตอบรับแล้ว หญิงที่ละเมิดประเวณี หล่อนอาจสงวนตัว จากการละเมิดประเวณีของหล่อนด้วยทานนี้ และคนรวยอาจได้สำนึกและบริจาคสิ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานให้แก่เขา และขโมยอาจสงวนตัวจากการลักขโมยด้วยทานนี้”               บุคอรียฺ

   ถ้าพี่น้องมีความสามารถ ก็จงทำทานเถิด จะมากจะน้อยตามกำลังและโอกาส ถ้าเจตนาของพี่น้องบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ ทานนั้นจะตกถึงมือผู้ที่เหมาะสมหรือไม่ อัลลอฮฺทรงเป็นผู้รอบรู้ในจิตใจและรับการทำความดีของบ่าวของพระองค์อย่างแน่นอน


คัดลอกจากเอกสารเผยแพร่ของมัสญิดอัร-ริฎวาน(นานา) นครราชสีมา โดย Bangmud เมื่อ 19 มิ.ย. 53

 

GoogleTagged