หากจะเปรียบเทียบเดือนรอมาฎอน สามารถเปรียบเทียบได้อย่างมากมาย และสามารถจะเปรียบเทียบว่า รอมาฎอนคือ “ศูนย์อบรมบุคลิกภาพ” ที่อัลลอฮ์ทรงจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 เดือน สมาชิกที่ครบคุณสมบัติ จะต้องเข้ารับการอบรมเป็นประจำทุกๆปี จนกว่าจะขาดคุณสมบัติ
และในทุกครั้งก็จัดเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันทุกๆครั้ง เพื่อทบทวน ทดแทน
และจัดการให้บุคลิกภาพดังกล่าว ซึมซับเข้าอยู่ในวิถีชีวิตของทุกๆคน
บุคลิกภาพที่อบรมจะประกอบด้วย อาทิ
1. การศิโรราบ การสยบต่อคำบัญชาแห่งอัลเลาะฮ์ (การตั๊กวา)
จัดว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดที่อัลเลาะฮ์กำหนดให้มีการถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน เพราะผู้ที่สยบต่ออัลเลาะฮ์เท่านั้นจึงจะสามารถกระทำได้อย่างสมบูรณ์ และต่อเนื่องอย่างครบถ้วน
2. ความสำนึกว่ามีผู้คอยกำกับดูแลพฤติกรรมตลอดเวลา
และการปลุกมโนธรรมให้ตื่นอยู่ตลอดเวลา
การที่เราสามารถถือศีลอดได้ทั้งต่อหน้าผู้คน และเมื่อลับตา แสดงว่าเรามีสำนึกถึงการเห็น การรู้ การได้ยินของอัลเลาะฮ์ที่มีต่อเราตลอดเวลา เราจึงไม่กล้าจะละเมิด แม้ว่าอาหารที่อยู่ต่อหน้าจะมีรสชาติอร่อย และเราจะหิวกระหายสักเพียงใดก็ตาม
สำนึก และ มโนธรรมที่มีอยู่ตลอดเวลา ทำให้เรากระทำดี ห่างจากการกระทำความผิดได้ไม่ยาก
3. การสร้างความบริสุทธิ์ใจต่ออัลเลาะฮ์ในการกระทำทุกประเภท
ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการกระทำการใดๆของมนุษย์ที่จะนำไปพิจารณาให้ผลตอบแทนทั้งในการให้คุณ และให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติ รอมาฎอนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความรู้สึกบริสุทธิ์ใจต่ออัลเลาะฮ์โดยผ่านกระบวนการ ถือศีลอด เพราะเป็นการกระทำชนิดเดียวที่ไม่สามารถกระทำเพื่อโอ้อวด หรือโชว์ (ริยาอ์) ให้ใครเห็นได้
4. ความอดทนต่อทุกสถานการณ์ และความมุ่งมั่นในการประพฤติดี
ผู้ที่อดทนต่อความหิว ความกระหาย ความอยากกระทำตามอารมณ์ ความเกียจคร้าน ความร้อน หนาว ความง่วงนอน และอื่นๆ จึงจะสามารถประกอบความดีที่มีอยู่ในเดือนนี้ได้มากมาย และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
5. การฝึกฝนมารยาทที่งดงาม
การบริโภคอาหาร เครื่องดื่มอย่างเป็นเวลา ในปริมาณที่เหมาะสม ลดละจากการบริโภคตามใจอยาก ตามปากต้องการ และอวัยวะอื่นก็เช่นกัน ปาก หู คอ จมูก ตา และทุกส่วนของร่างกาย ต่างกระทำตามหน้าที่ถูกต้อง เหมาะสม ตามที่พระเจ้ามอบให้ จนทำให้เกิดนิสัยที่งดงามประจำตัว เป็นประโยชน์กับตนเอง และไม่ก่อความเดือดร้อนกับผู้คนอื่นๆอีกด้วย
6. ความใจบุญ จิตใจเอื้อเฟื้อเอื้ออารี
ประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากความหิวโหย และความกระหายของตนเอง แม้เป็นเพียงชั่วคราวก็ตาม ส่งผลให้เกิดความรู้สึกได้ถึงความหิวอย่างเป็นนิจสินของผู้คนบางกลุ่ม และเกิดความเข้าใจคนอื่นได้อีกด้วย ความเอื้อเฟื้อการอุปการะ ก็เกิดจากเหตุดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน
7. ความเสมอภาคเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก
เป็นเวลาที่มุสลิมทั่วโลก ไม่ว่า ชาย หรือ หญิง ยาจก เศรษฐี ทาส หรือราชา ต่างต้องกระทำตามบัญชาแห่งอัลเลาะฮ์โดยเสมอภาคเเละเท่าเทียมกันแสดงถึงความเสมอภาคเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลกที่แท้จริง
8. การเปลี่ยนแปลงตนเองและครอบครัว ชุมชนและสังคม
มุสลิมทั้งมวลต่างขะมักเขม้นทุ่มเทอย่างจริงจังกับการมามัสยิด การแบ่งปันอาหารละศีลอด การละหมาดร่วมกันเป็นกลุ่ม การอ่านอัลกุรอาน และอื่นๆ
ดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตนเอง ครอบครัว และสังคมให้ดีขึ้น เพียงแค่การที่เราต่างใช้ชีวิตเช่นเดียวกันนี้ภายหลังรอมาฎอนด้วยเท่านั้น
9. การดูแลสุขภาพ
สุขภาพจะดีขึ้นได้ด้วยการบริโภคแต่สิ่งที่ดีตามหลักการศาสนา ควรกับเวลา ปริมาณที่เหมาะสม ตรงเวลา จะทำให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี และเป็นการบำบัดโรคได้อีกด้วย การบริโภคที่เกินความจำเป็นเป็นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ
10.การตรงต่อเวลา
การเริ่มงดเว้นการกินการดื่ม การละศีลอด เป็นแบบฝึกหัดสำคัญที่จะทำให้เป็นคนตรงต่อเวลา
11. ฝึกอบรมบุตรหลานให้ได้เกิดความคุ้นเคยกับการถือศีลอด
การเริ่มฝึกเด็กๆถือศีลอดตั้งแต่ 7 ขวบ โดยประมาณ ครึ่งวันบ้าง เต็มวันบ้าง 3 รอมาฎอน ครั้นพอรอมาฎอนที่ 4 ก็บังคับอย่างจริงจัง มีการลงโทษ เพื่อทำให้เด็กๆเติบโตเป็นเยาวชนที่คุ้นเคยและรักการกระทำความดี
ไปเก็บมาจากคุตบะฮ์วันอีดมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน