สุขภาวะดีๆที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างที่มัสยิดบ้านเหนือ
ชุมชนที่มีสุขภาวะที่ดีนั้นเป็นอย่างไร หากแปลตามตัวแบบไม่คิดอะไรมาก ก็คงตอบแบบง่ายๆได้ว่า ก็หมายถึงชุมชนที่มีความสุข
และหากจะหาตัวอย่างชุมชนที่มีความสุข คุณจะพบสิ่งเหล่านั้นได้ที่มัสยิดบ้านเหนือ บ้านคูเต่า จ.สงขลา
ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือนับได้ว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ การมีสมาชิกในชุมชนร่วม 2,000 คนทำให้การดูแลค่อนข้างจะไม่ทั่วถึงนัก ปัญหาด้านสุขภาวะพบได้ทั่วไปในชุมชน
จนกระทั่งการมาของโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย จึงทำให้ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ เริ่มขยับปรับเปลี่ยนด้านสุขภาวะมากขึ้น
เหตุปัจจัยความสำเร็จของงานด้านการสร้างสุขภาวะที่ดีของชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ น่าจะเป็นเพราะความเป็นชุมชนที่มีการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเป็นทุนเดิม
ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ช่วงปี 2540 เมื่อสัปบุรุษเพิ่มจำนวนขึ้น จนมัสยิดบ้านเหนือไม่สามารถรองรับสัปบุรุษที่ละหมาดได้ทั้งหมด ทำให้แกนนำชุมชนซึ่งมีฮัจยีแอ ศรีอาหมัด เป็นอิหม่ามในขณะนั้นหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา จนในที่สุดก็มีมติร่วมกันให้สร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นในพื้นที่ซึ่งได้มีการซื้อไว้ก่อนแล้ว
การจัดสร้างมัสยิดซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยไม่ได้ไปขอบริจาคมาจากหน่วยงานองค์กรไหน และไม่ได้มีองค์กรต่างประเทศมาสนับสนุนด้วย แต่เงินในการสร้างมาจากการบริจาคของชาวบ้าน
วิธีการหาเงินมาสร้างมัสยิดของที่นี่ทำง่ายๆโดยการการจัดเลี้ยงน้ำชาขึ้น ณ มัสยิด เป็นประจำทุกวันศุกร์ เพื่อให้พี่น้องชาวชุมชนได้มาดื่มน้ำชาและร่วมบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างมัสยิด ซึ่งมีเงินสนับสนุนการก่อสร้างจากการเลี้ยงน้ำชาวันศุกร์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 10,000 บาท ปัจจุบันมัสยิดบ้านเหนือใช้งบประมาณในการก่อสร้างมัสยิดไปแล้ว 16,000,000 บาท สิบหกล้านบาทที่มาจากมือของชาวบ้านเอง
เช่นกัน เมื่อแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยได้เริ่มดำเนินการโครงการประมงบ้านเหนือรักษ์สุขภาวะ โดยใช้รูปแบบการบริหารที่มีอยู่เดิมของชุมชน นั่นก็คือการที่องค์กรมัสยิดเป็นแกนกลางในการบริหารชุมชน โดยผ่านการเป็นแกนนำและสนับสนุนอย่างแข็งขันในทุกกิจกรรมโดยอิหม่ามวิสุทธ บิลล่าเต๊ะ จึงทำให้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี
โดยทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยเริ่มจากการอบรมสัมมนาแกนนำชุมชน แกนนำเยาวชน แกนนำสตรี จนก่อให้เกิดความร่วมมือจากคนในชุมชนในการงดสูบบุหรี่ในพื้นที่มัสยิด การตื่นตัวในการดูแลสุขภาพของกลุ่มแม่บ้าน และที่นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุดก็คือ การดูแลภูมิทัศน์ของลำคลองอู่ตะเภา
เนื่องจากลำคลองอู่ตะเภาจะมีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆรุกล้ำลำคลอง และยังมีผักตบชะวาแพร่กระจายไปทั่ว ทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยจึงแนะนำให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนอย่างดียิ่ง โดยอิหม่ามวิสุทธเป็นคนจัดการเรื่องที่ดินผืนใหม่ที่ให้ชาวชุมชนไปตั้งรกราก
ทางโครงการประมงบ้านเหนือรักษ์สุขภาวะยังได้จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาทางน้ำในคลองอู่ตะเภา ซึ่งนับเป็นการแก้ปัญหามลภาวะทางน้ำอย่างชาญฉลาด เพราะด้วยลักษณะของชุมชนที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เมื่อมีกีฬาทางน้ำ ชาวชุมชนก็เฮโลกันมาร่วมกิจกรรม ซึ่งก่อนหน้านั้นก็หมายถึงการจะต้องเฮโลกันไปช่วยเก็บขยะ เก็บผักตบชวาและอื่นๆ เพื่อสร้างลำคลองสายนี้ให้สะอาดใส อันจะก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน
นอกจากนั้นแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยก็มีกิจกรรมอื่นอีกมากมาย เช่น การร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลก่อนสร้างศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียน จัดตั้งสหกรณ์ชุมชนบ้านเหนือ จัดตั้งกองทุนซะกาต และรวมไปถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่ไม่เล็กน้อยอย่างการสร้างห้องสุขาของมัสยิดที่สะอาดได้มาตรฐาน
และทั้งหมดก็คือหนทางที่ทำให้ความสุขเกิดขึ้นในชุมชนมัสยิดบ้านเหนือแห่งนี้ อันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้ด้วยมือของชาวบ้านทุกคน