salamชุมชนเกาะยาวน้อย : ญามาอะฮฺรักษ์สุขภาวะ
ในศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับญามาอะฮฺมาก ดังมีฮะดีษที่ว่า มือของอัลลอฮฺอยู่บนญามาอะฮฺ ดังนั้นการทำการงานใดก็ตาม หากกระทำเป็นญามาอะฮฺย่อมจะได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ
เฉกเช่นงานการพัฒนาชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะของเกาะยาวน้อย โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย
เกาะยาวน้อยเป็นชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งในเกาะเองก็มีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่การดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเกาะยาวอย่างยั่งยืน ป้องกันการทำลายทรัพยากร วัฒนธรรมและยังเป็นการสร้างงาน กระจายรายได้ให้แก่คนในเกาะยาวเอง
การดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนทำให้ชมรมได้รับรางวัลดีเด่นประเภทส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เมื่อแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย เข้าไปจัดทำโครงการเกาะยาวน้อย ชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะ ในปี 2551 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และการตระหนักถึงความสำคัญต่อการรักษาสุขภาวะ
ทางแผนงานเล็งเห็นถึงจุดแข็งของญามาอะฮฺที่มีอยู่เดิม แทนที่จะไปสร้างใหม่ ก็ทำของเดิมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นย่อมจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า
โครงการกระตุ้นให้ชุมชนเห็นประโยชน์ของการรักษาสุขภาวะ ทางแผนงานได้รับความร่วมมือจากชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนเกาะยาวน้อย เพราะชมรมเองก็มีนโยบายในการป้องกันการทำลายทรัพยากร ในส่วนโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้และป่าโกงกางก็ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเกาะยาวน้อย เพราะโรงเรียนก็มีนโยบายสนับสนุนให้นักเรียนดำเนินกิจกรรมเช่นนี้อยู่เหมือนกัน
บรรดาสรรพโครงการที่ดำเนินการก็มีตั้งแต่การปลูกต้นตะเคียนทองในชุมชน โดยใช้ปุ๋ยคอกเพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนเห็นว่าไมม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี การจัดทำศูนย์เรียนรู้ประมงรักษ์สุขภาวะ เพื่อเป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ของชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ในเรื่องของการผลิตและทดลองใช้จุลินทรีย์อย่างกว้างขวางในท้องถิ่น และยังรวมไปถึงการปลูกต้นไม้ ปลูกป่าโกงกาง เลี้ยงปลาเลี้ยงปู การทำธนาคารขยะในชุมชน
โดยทุกกิจกรรมในโครงการชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะทุกกลุ่มทำงานในเกาะยาวน้อย ต่างกุลีกุจอกันมาช่วยงาน
นั่นเป็นเพราะทุกคนต่างเล็งเห็นว่า ไม่ว่าใครจะทำ สิ่งดีๆที่เกิดขึ้นก็ตกไปอยู่ที่ชุมชนเกาะยาวน้อยนั่นเอง
