ผู้เขียน หัวข้อ: อุวัยส์ บิน อามิร อัลเกาะเราะนีย์ ปราชญ์อัลฆุรอบาอ์  (อ่าน 1772 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ muqorrabeen

  • เพื่อนซี้ (o_O')
  • **
  • กระทู้: 194
  • Respect: +25
    • ดูรายละเอียด

อุวัยส์ บิน อามิร อัลเกาะเราะนีย์

โดย อบูมุฮัมมัด อัลอัซฮะรีย์

ท่านอุวัยส์ เป็นบุตรของ  อามิร  เป็นชาวเยเมน  อยู่ในชนเผ่าเกาะร็อน  ท่านเป็นหัวหน้าของตาบิอีนในยุคนั้น  เป็นเอกลักษณ์ของวะลียุลลอฮ์ (ผู้เป็นที่รักและใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮ์) และผู้มีจิตใจสมถะ(จิตใจที่ไม่ให้ความสำคัญกับดุนยา)(1)
   
ท่านอุวัยส์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ  เป็นผู้อาวุโสในหมู่ชนที่มีความสมถะ  มีบ้านหลังเก่าๆ ที่ทรุดโทรม  เครื่องใช้ในบ้านมีเพียงเล็กน้อย  ท่านมีดวงตาสีแดงแกมน้ำตาล  หน้าอกผายไหล่กว้าง  รูปร่างปานกลาง  ผิวเข้ม  คางของท่านโน้มลงมาที่หน้าอก สายตามองต่ำยังสถานที่สุญูด(2)  และเอามือขวาวางบนมือซ้าย  ท่านอุวัยส์มีเสื้อผ้าเก่าๆ สองตัว  นุ่งผ้าที่ทำมาจากขนสัตว์(ซูฟ)  และท่านไม่ชอบความมีชื่อเสียงและเป็นที่ถูกกล่าวขาน(3)

ท่านอุวัยส์นั้น  อยู่ในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เขาคะนึงหาที่จะได้พบกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  แต่สุดท้ายแล้วท่านก็ไม่มีโอกาสได้พบ  เนื่องจากมีภาระต้องเลี้ยงดูและรับใช้มารดาของท่าน

ท่านอุซัยร์ บิน ญาบิร  รายงานว่า

أَنَّ أَهْلَ الْكُوفَةِ وَفَدُوا إِلَى عُمَرَ وَفِيهِمْ رَجُلٌ مِمَّنْ كَانَ يَسْخَرُ بِأُوَيْسٍ فَقَالَ عُمَرُ هَلْ هَاهُنَا أَحَدٌ مِنْ الْقَرَنِيِّينَ فَجَاءَ ذَلِكَ الرَّجُلُ فَقَالَ عُمَرُ إِنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَدْ قَالَ إِنَّ رَجُلًا يَأْتِيكُمْ مِنْ الْيَمَنِ يُقَالُ لَهُ أُوَيْسٌ لَا يَدَعُ بِالْيَمَنِ غَيْرَ أُمٍّ لَهُ قَدْ كَانَ بِهِ بَيَاضٌ فَدَعَا اللَّهَ فَأَذْهَبَهُ عَنْهُ إِلَّا مَوْضِعَ الدِّينَارِ أَوْ الدِّرْهَمِ فَمَنْ لَقِيَهُ مِنْكُمْ فَلْيَسْتَغْفِرْ لَكُمْ

“ชาวกูฟะฮ์ได้มาหาท่านอุมัร  ในหมู่พวกเขานั้นมีชายคนหนึ่งเคยเยาะเย้ยท่านอุวัยส์  ดังนั้นท่านอุมัรจึงกล่าวว่า  ณ  ที่นี้  มีสักคนหนึ่งไหมที่เป็นชนเผ่าเกาะเราะนีย์  แล้วชายเผ่าเกาะเราะนีย์ดังกล่าวก็มาหา  ท่านอุมัรจึงกล่าวว่า  แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า  แท้จริงมีชายคนหนึ่งจากเยเมนจะมาหาพวกท่าน  ชายคนนั้นถูกเรียกว่า  อุวัยส์  เขาไม่ได้ทิ้งผู้ใดที่เยเมนเลยนอกจากผู้เป็นมารดา(4)   เขาเป็นโรคเรื้อน  แล้วขอดุอาต่ออัลเลาะฮ์  ดังนั้นพระองค์จึงให้เขาหาย นอกจาก(5) ขนาดเท่าเหรียญทองหรือเหรียญเงิน  ฉะนั้นผู้ใดจากพวกท่านได้พบเขา  ก็จงขอให้เขาอิสติฆฟาร (วอนขอต่ออัลเลาะฮ์ให้ทรงอภัยโทษ) ให้แก่พวกท่านเถิด”(6) 
 
บางสายรายงานของมุสลิมระบุว่า

عَنْ عُمَرَ بْنِ الْخَطَّابِ قَالَ إِنِّي سَمِعْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُولُ إِنَّ خَيْرَ التَّابِعِينَ رَجُلٌ يُقَالُ لَهُ أُوَيْسٌ وَلَهُ وَالِدَةٌ وَكَانَ بِهِ بَيَاضٌ فَمُرُوهُ فَلْيَسْتَغْفِرْ لَكُمْ

“รายงานจากอุมัร อิบนุ อัลค็อฏฏ็อบ  ท่านกล่าวว่า  แท้จริงฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลัม  กล่าวว่า  แท้จริงตาบิอีนที่ดีเลิศที่สุด  คือชายคนหนึ่งที่ถูกเรียกชื่อว่า อุวัยส์  เขามีมารดา  และเป็นโรคเรื้อน  ดังนั้นพวกท่านจงใช้ให้เขาทำการอิสติฆฟารให้แก่พวกท่านเถิด”(7) 

ท่านอุวัยส์เป็นบุคคลที่ชอบปิดบังสถานภาพของตนเอง  ปกปิดฐานะอันมีเกียรติระหว่างเขากับอัลเลาะฮ์  ซึ่งเป็นวิถีของคนอาริฟบิลลาฮ์และบรรดาวะลียุลลอฮ์  ฮะดีษนี้ได้ยืนยันว่าท่านอุวัยส์เป็นตาบิอีนที่ประเสริฐสุด ณ ที่อัลเลาะฮ์และพระองค์ทรงตอบรับดุอาอ์เป็นพิเศษ(8.)
 
ท่านอิหม่ามอัชชะอฺรอนีย์กล่าวว่า “มีชายคนหนึ่งได้ขอให้ท่านอุวัยส์นั่งร่วมสนทนากับเขา  ท่านอุวัยส์จึงกล่าวว่า  โอ้พี่น้องของฉัน  ฉันจะไม่เห็นท่านอีกหลังจากวันนี้  เพราะฉันไม่ชอบความมีชื่อเสียง  การอยู่ตามลำพังคนเดียวเป็นที่รักยิ่งแก่ฉัน   แท้จริงฉันจะมีความเศร้าหมองอย่างมากตราบใดที่อยู่พร้อมกับผู้คนทั้งหลายในโลกดุนยาแห่งนี้  ดังนั้นท่านอย่าถามและตามหาฉันหลังจากวันนี้  เพราะ(อย่างไรก็ตาม)ฉันจะไม่ลืมท่านหรอก”(9)
 
เพื่อนบ้านของท่านอุวัยส์  ได้กล่าวว่า  “พวกเราคิดว่าอุวัยส์เป็นคนบ้า  เวลาผ่านไปหลายปี  เขามิได้ครอบครองสิ่งใดจากดุนยาเลย  เขาชอบถือศีลอดโดยไม่มีสิ่งใดละศีลอด   หากเขาพบอินทผลัมหนึ่งเม็ด  เขาก็จะละศีลอดด้วยมัน  และถ้าหากพบอินทผลัมอีก เขาก็จะนำมันไปบริจาคทาน  และเขาก็เคยรวบรวมเศษผ้าจากกองขยะ  แล้วนำมาซักและเย็บ  เพื่อนำมาปิดเอาเราะฮ์และร่างกายของเขา”(10)
 
ดังกล่าวนี้นับว่าเป็นวิถีชีวิตของ อัลฆุร่อบาอฺ  (คนแปลกหน้า)  ที่หัวใจของเขานั้นไม่มีที่ว่างสำหรับดุนยา  เพราะชีวิตของท่านอุวัยส์นั้น  รำลึกเรื่องความตายอยู่ตลอดเวลา  และไม่เคยเลือนหายไปจากหัวใจของเขาเลย  ดังนั้นคนแปลกหน้า  คือผู้ที่ร่างกายอยู่กับดุนยาแต่หัวใจอยู่กับอาคิเราะฮ์  และบุคคลเช่นนี้แหละคือผู้ที่ตามอัลกุรอานและซุนนะฮ์อย่างแท้จริง!  มิใช่ตามอัลกุรอานและซุนนะฮ์เพียงแค่คำพูดแต่หัวใจมีความตะกั๊บบุร  หมกมุ่นเกี่ยวกับดุนยา  และทรัพย์สินเงินทอง
   
ส่วนหนึ่งจากคำพูดของท่านอุวัยส์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ
 
لَقَلْعُ الْجِبَالِ بِالْإِبْرِ أَيْسَرُ مِنْ إِخْرَاجِ الْكِبْرِ مِنَ الْقُلُوْبِ

“แท้จริงการทำลายภูเขาด้วยเข็มยังง่ายกว่าการนำความยะโส(ตะกั๊บบุร)ออกจากบรรดาหัวใจ”(11)
 
ส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะของความตะกั๊บบุร  คือการคิดและรู้สึกว่าตนเองนั้นดีกว่าคนอื่น  หรือตนเองนั้นมีความสมบูรณ์  ส่วนผู้อื่นนั้นยังมีความบกพร่อง  ชอบยกยอปอปั้นตนเอง  เวลาเดินมักจะชอบให้มีผู้อื่นตามข้างหลัง  เป็นต้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการขัดแย้งในเรื่องของทัศนะ  ชอบมองผู้อื่นที่มีทัศนะต่างจากตนเองว่ามีความบกพร่อง  มีความรู้สึกว่าแนวทางของตนเองเท่านั้นที่ถูกต้อง  จนกระทั่งยกยอตนเองว่าเป็นกลุ่มชนที่ยึดอัลกุรอานและซุนนะฮ์เท่านั้น และตั้งชื่อให้แก่แนวทางที่ตนเองยึดถืออย่างสวยหรูและเกินจริง  ซึ่งความรู้สึกที่ฝังอยู่ในจิตใจเช่นนี้  ถือว่าอันตราย  เพราะเป็นความรู้สึกของความตะกั๊บบุรที่ยากแก่การนำออกไปจากจิตใจ

ท่านอัซซะฮะบีย์กล่าวว่า  รายงานจากท่านอับดุลเลาะฮ์ อิบนุ อัลมุบาร็อก ร่อฮิมะฮุลลอฮ์  ท่านกล่าวว่า

إِذَا عَرَفَ الرَّجُلُ قَدْرَ نَفْسِهِ، يَصِيْرُ عِنْدَ نَفْسِهِ أَذَلَّ مِنْ كَلْبٍ

“เมื่อบุรุษคนหนึ่งรู้ถึงฐานะของตนเอง  แน่นอน ณ จิตใจของเขาก็จะรู้สึกกลายเป็นผู้ที่ต่ำต้อยยิ่งกว่าสุนัข”(12)
 
คำพูดนี้อาจทำให้ระคายหูและแสลงใจสำหรับผู้ที่มีความตะกั๊บบุรฝังอยู่ภายใน  แต่นี่คือคำพูดของสะละฟุศศอลิห์ที่กลั่นออกมาจากเบื้องลึกของจิตใจในเชิงเปรียบเทียบที่ว่า  เมื่อบ่าวคนหนึ่งได้พิจารณาถึงแก่นแท้ของตนเองอย่างจริงจังแล้ว  ก็จะมีความรู้สึกว่าตนเองนั้นต่ำต้อยเหลือเกิน  จนกระทั่งในหัวใจไม่มีความรู้สึกว่าตนเองดีกว่าผู้อื่นแม้สักเสี้ยวธุลีเดียวก็ตาม 

ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า

لاَ يَدْخُلُ الْجَنَّةَ مَنْ كَانَ فِي قَلْبِهِ مِثْقَالُ ذَرَّةٍ مِنْ كِبْرٍ

“จะไม่ได้เข้าสวรรค์  ผู้ที่ในหัวใจของเขามีความยะโส(ตะกั๊บบุร)แม้น้ำหนักเท่าเศษธุลี”(13)
 
และส่วนหนึ่งจากคำพูดของท่านอุวัยส์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ  ก็คือ

لاَ يَبْلُغُ الرَّجُلُ مَقَامَ الْخَوْفِ حَتَّى يَصِيْرَ كَأَنَّهُ قَتَلَ جَمِيْعَ الْخَلْقِ

“บุรุษคนหนึ่งจะไม่ถึงยังตำแหน่งความกลัวต่ออัลเลาะฮ์ จนกว่าเขาจะเป็นผู้ที่เสมือนกับเคยฆ่าบรรดามัคโลคทั้งหมด”(14)
 
หมายถึง  ผู้ที่มีความกลัวต่ออัลเลาะฮ์อย่างแท้จริงนั้น  หัวใจของเขาจะมีความรู้สึกวิตกกังวลถึงการลงโทษของอัลเลาะฮ์ตะอาลาอยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นหากเขาได้กระทำหนึ่งความผิด  ก็เสมือนกับผู้ที่เคยฆ่าผู้คนมากมายอย่างอธรรม  การลงโทษอันแสนเจ็บปวดของอัลเลาะฮ์ตะอาลา  ต้องเกิดขึ้นแก่เขาอย่างแน่นอนในภายภาคหน้า  ดังนั้นเมื่อจิตใจมีความรู้สึกกลัวต่ออัลเลาะฮ์  ก็จะผลักดันให้หลีกห่างจากการฝ่าฝืน และผลักดันให้ปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ด้วยความรู้สึกเกรงขามต่อความยิ่งใหญ่ของพระองค์  เมื่อความรู้สึกกลัวต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลาได้สุกงอม  ความรู้สึกรักต่อพระองค์ก็จะเกิดขึ้นในหัวใจของผู้มีศรัทธา

อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า

وَخَافُونِ إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ

“และพวกเจ้าจงกลัวข้า  หากพวกเขาเป็นผู้ศรัทธา” [อาลิอิมรอน: 175]

ท่านอุวัยส์  ตายชะฮีดในสมรภูมศิฟฟีน ปี ฮ.ศ. 37  โดยท่านเป็นทหารในกองทัพของท่านอิหม่ามอะลี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ(15)
   
 ------------------------

  1.อัซซะฮะบีย์, ซิยัร อะลาม อันนุบะลาอฺ, เล่ม 4 หน้า 19; มุฮัมมัด อับดุรร่ออูฟ อัลมุนาวีย์, อัลก่าวากิบ อัดดุรรียะฮ์  ฟีตะรอญิม อัศศาดะฮ์ อัศศูฟียะฮ์, เล่ม 1 หน้า 210.
  2.คือสายตาจะก้มมองไปข้างหน้า  ดังนั้นเมื่อทำการเดิน  ก็จะมีความรู้สึกว่าตนเองกำลังยืนเบื้องหน้าอัลเลาะฮ์ตะอาลา.
  3.อับดุลวะฮ์ฮาบ อัชชะอฺรอนีย์, อัฏเฏาะบะก็อต อัลกุบรอ, เล่ม 1 หน้า 53.
  4.เนื่องจากมารดาอนุญาตให้เดินทางและออกญิฮาด.
  5.นอกจากคงเหลือเป็นจุดขาวของโรคเรื้อนที่สะดือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าอัลเลาะฮ์คือผู้ทำให้หาย.
  6.รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 2542, ดู  มุสลิม บิน อัลฮัจญาจญ์, ซอฮิห์มุสลิม, เล่ม 4 หน้า 1968.
  7.รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 2542, ดู  เรื่องเดียวกัน.
  8.อันนะวาวีย์, ชัรห์มุสลิม, เล่ม 8 หน้า 336.
  9.อับดุลวะฮ์ฮาบ อัชชะอฺรอนีย์, อัฏเฏาะบะก็อต อัลกุบรอ, เล่ม 1 หน้า 54.
  10.ฟะรีดุดดีน อัลอัฏฏ็อร, ตัซกิเราะฮ์ อัลเอาลิยาอฺ, หน้า 49.
  11.มุฮัมมัด อับดุรเราะอูฟ อัลมุนาวีย์, อัลกะวากิบ อัดดุรรียะฮ์  ฟีตะรอญิม อัซซาดะฮ์ อัศศูฟียะฮ์, เล่ม 1 หน้า 214.
  12.อัซซะฮะบีย์, ซิยัร อะลาม อันนุบะลาอฺ, เล่ม 8 หน้า 99.
  13.รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 91, ดู  มุสลิม บิน อัลฮัจญาจญ์, ซอฮิห์มุสลิม, เล่ม 1 หน้า 93.
  14.มุฮัมมัด อับดุรร่ออูฟ อัลมุนาวีย์, อัลก่าวากิบ อัดดุรรียะฮ์  ฟีตะรอญิม อัศศาดะฮ์ อัศศูฟียะฮ์, เล่ม 1 หน้า 213.
  15.เรื่องเดียวกัน, เล่ม 1 หน้า 214. และดู ฟะรีดุดดีน อัลอัฏฏ็อร, ตัซกิเราะฮ์ อัลเอาลิยาอฺ, หน้า 49.

 
  Credit: อุวัยส์ บิน อามิร อัลเกาะเราะนีย์

 

GoogleTagged