« เมื่อ: พ.ย. 14, 2013, 05:47 AM »
+1
บทบัญญัติแห่งอิสลาม แบ่งออกเป็นสามประเภท คือ
1 บทบัญญัติที่มีหลักฐานชี้ชัดและเด็ดขาด คือ หลักการต่างๆที่ปรากฏในอัลกุรอ่าน และฮาดิษมุตะวาติร พร้อมทั้งยังชี้ชัดและเจาะจงเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจน มิอาจตีความไปเป็นอื่นได้ หลักการเหล่านี้มีมาก เช่น เรื่องหลักศัทธา(อีหม่าน) หลักยึดมั่น(อากิดะฮ์) เรื่องศาสนกิจ(อิบาดาต) เรื่องขอบเขตบทลงโทษผูกระทำผิดกฎหมายอาญา(ฮุดูด) เรื่องขอกำหนดในการแบ่งมรดก และเรื่องของคุณลักษณะนิสัย กฎบัญญัติเหล่านี้เป็นกฎที่สามารถนำมาไช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย จนกระทั้งถึงวันกิยามะฮ์ กฎหมายเหล่านี้ไม่ยอมรับต่อการวิวัฒนาการและความเจริญรุดหน้า และไม่อนุญาตให้คนใดมาปรับปรุงแก้ไขและเปลี่ยนแปลง จนกระทั้งการวิเคราะห์วินิจฉัย( อิจญติฮาด)ในกฎหมายเหล่านี้ก็มิอาจกระทำได้ ดังนั้นเกี่ยวกับกฎหมายรูปแบบดังกล่าวนี้ อุละมาอุได้กำหนดหลักการพื้นฐาน(อัลกออิดะฮ์ อัลอุซูลียะฮ์) เอาไว้ว่า
لا اجتهاد في مورد النص
จะไม่มีการวิเคราะห์วินิจฉัย( อิจญติฮาด) ในหลักการที่มีหลักฐานชี้ชัดและเด็ดขาด
และนักวิชาการก็ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มกฎหมายรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน กฎหมายและหลักการที่ปวงปราชน์ได้มีมติเห็นพ้องกัน กล่าวคือ หลักการที่ปวงปราชน์ได้ทำการวิเคราะห์วินิจฉัย และได้มีความเห็นสอดคล้องกัน กฎหมายเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกฎหมายที่ ชัดเจนและเด็ดขาด และจะไม่มีการวิเคราะห์วินิจฉัย( อิจญติฮาด) ในกฎหมายรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน
2 หลักการต่างๆที่มีปรากฏอยู่ในอัลกุรอ่านและฮาดิษซอเฮี๊ยะ แต่ไม่ได้ชี้ชัดเอาไว้แบบเด็ดขาด หลักการเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ของการวิเคราะห์วินิจฉัย( อิจญติฮาด) และเป็นจุดที่เกิดการมีความเห็นต่างกัน(อิคติลาฟ)ระหว่างนักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลาม(ฟุเกาะหาอุ)ด้วยสาเหตุหลายประการด้วยกัน อินชาอัลลอฮ์จะนำเสนอในภายหลังภายใต้หัวข้อ สาเหตุของการเห็นต่างระหว่างนักนิติศาสตร์อิสลาม (اسباب اختلاف الفقهاء ) เนื่องด้วยเหตุนี้ ก็ได้เกิดหลากหลายคำพูด หลากหลายทัศนะ การเห็นต่างเหล่านี้เกิดขึ้นมายุคแรก ก็คือยุคของซอฮาบะห์ ถัดมาก็เป็นยุคของชั้นผู้นำระดับตาบิอีน ( أئمة التابعين)ถัดมาก็เป็นยุคของมัซฮับต่างๆ
3 หลักการต่างๆที่ไม่ได้มีปรากฏในอัลกุรอ่านและอัลฮาดิษ ซึ่งหลักการเหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยการ วิเคราะห์วินิจฉัย( อิจญติฮาด)ของนักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลาม ภายใต้แสงของอัลกุรอ่านและอัลฮาดิษ เพราะอัลกุรอ่าน และอัลฮาดิษนักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามเห็นพ้องกันว่าเป็นแหล่งที่มาสำคัญอันดับต้นๆของศาสนบัญญัติอิสลาม พร้อมกับองค์ประกอบต่างๆในการวิเคราะห์วินิจฉัย( อิจญติฮาด)และแหล่งที่มาของกฎหมายอิสลามอื่นๆ ดังที่ได้ปรากฏในวิชาอุซูลุลฟิกห์ ( คือวิชาที่ว่าด้วยหลักการต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยกฏหมายด้านฟิกฮ์ จากหลักฐานแบบขยายความ ) เช่น
อิจญ์มาอุ หรือมติเอกฉันท์ คือ ความเห็นพ้องต้องกันระหว่างผู้วิเคราะห์วินิจฉัย(มุจญตะฮีดีน)จากประชาชาติอิสลามในการกำหนดบทบัญญัติเรื่องหนึ่งเรื่องใดในยุคหนึ่งยุคใดในภายหลังจากท่านศาสดาได้เสียชีวิตไปแล้ว เช่นมีอิจญมาอุว่า ผู้เป็นยายมีสิทธิได้รับมรดกในเมื่อผู้ตายไม่มีมารดา
กียาส(เปรียบเทียบ)คือการผนวกสิ่งที่ไม่มีตัวบทกำหนดบัญญัติเข้ากับสิ่งที่มีตัวบทกำหนดบทบัญญัติไว้แล้ว เพราะเหตุที่ทั้งสองนั้นมีสาเหตุแห่งการกำหนดบทบัญญัติ (อิลละห์) เหมือนกัน
อิสติห์ซาน คือการหันเหออกจากการที่จะกำหนดบทบัญญัติต่อกรณีใดที่คล้ายคลึงกันโดยหันไปกำหนดบทบัญญัติที่แตกต่างจากสิ่งที่คล้ายคลึงกันนั้น เพราะมีเหตุผลที่หนักเน้นและเที่ยงธรรมยิ่งกว่า
มะศอลิห์มุรสะละฮ์ คือ ประโยชน์สาธารณะที่สำคัญและเหมาะสมต่อการกำหนดบทบัญญัติแต่ไม่มีตัวบทระบุแน่ชัดว่าให้ยอมรับหรือยกเลิก ทั้งนี้ต้องเป็นประโยชน์ส่วนรวมและเป็นประโยชน์ที่แท้จริง และไม่ขัดกับตัวบทหรือมติเอกฉันท์หรือเจตนารมณ์แห่งบัญญัติอิสลาม เช่น การรวบรวมอัลกุรอ่านในสมัยเคาะลิฟะฮ์อะบูบักร เนื่องจากไม่มีตัวบทในอัลกุรอ่านที่สั่งหรือห้ามการรวบรวมอัลกุรอ่านที่บันทึกกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆจนกระทั่งมีการเห็นชอบร่วมกันในเหล่าบรรดาเศาะหาบะฮ์ให้รวบรวมอัลกุรอ่านขึ้นเป็นเล่มเดียวกันเพื่อรักษาประโยชน์ของอิสลามและอำนวยความสะดวกแก่มวลมุสลิม
อุรฟุ คือ จารีตประเภณีที่ได้รับการยอมรับและปฎิบัติต่อๆกันมาอย่างแพร่หลายทั้งการกระทำและคำพูด และไม่ขัดหรือแย้งกับตัวบทหรือรากฐานทางศาสนาอิสลามที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน
สัดดุซซะรอเอี๊ยะอุ คือ หลักการว่าด้วยการป้องกันหนทางที่จะนำไปสู่ความเสียหายหรือความต้องห้าม
ดังนั้นบทบัญญัติสองประเภทหลังคือพื้นที่ของการวิเคราะห์วินัจฉัยและค้นหาความถูกต้องที่ไกล้เคียงที่สุดของเจตนารมณ์อัลกุรอ่านและฮาดิษของนักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลาม(ฟุเกาะหาอุ) เป็นจุดที่ให้เกิดการเห็นต่างและหลากหลายทัศนะซึ่งทั้งหมดนั้นคือความเมตตาของอัลเลาะฮ์ต่ออุมมะห์อิสลาม
ดู ตารีค อัชตัชรีอ์ อัลอิสลามีย์ หน้า 5 – 6 แต่งโดย เชค อับดุลลาตีฟ อัซซุบกีย์ เชคมุฮัมหมัด อาลี อัซซายิส และ เชคมุฮัมหมัด ยูซุบ อัลบัรบารีย์ ซึ่งเชคทั้งสามท่าน เคยเป็นอาจารย์สอนในมหาลัยอัลอัซฮาร คณะชารีอะห์
แตกต่างแต่ไม่แตกแยกนี้คือแนวทางสาลาฟุซซอลิฮ์ของเรา

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พ.ย. 14, 2013, 11:05 AM โดย jalan bahagia »