ตอนเลือดเสียมา ไม่ทราบว่าญีเมาะได้หรือเปล่าครับ
ปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาในขณะที่นางอยู่ในสภาพอิสติหาเฎาะฮฺ (มีเลือดเสีย) แบ่งออกเป็น 2 ทัศนะ คือ..
ทัศนะที่หนึ่ง : ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับนาง คือทัศนะของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ด.) ดังที่อิมาม อัล-บัยหะกีย์ ได้บันทึกเอาไว้ในสุนัน อัล-กุบรอ ของท่าน และเช่นเดียวกัน คือทัศนะของท่านอิมามอิบนุซีรีน ,ท่านอิมามอัซ-ซุฮฺรีย์ ,ท่านอิมาม อิบรอฮีม อัน-นะเคาะอีย์ ,ท่านอิมามสุลัยมาน บิน ยะสาร และท่านอื่นๆ และเป็นหนึ่งในสองทัศนะที่ถูกรายงานมาจากท่านอิมามอะหฺมัด
โดยปราชญ์กลุ่มนี้ได้อ้างหลักฐานว่า.. แท้จริงเลือดอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย) นั้น เป็นสิ่งที่อันตรายต่อร่างกายเหมือนกับเลือดประจำเดือน และอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงห้ามการมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาในขณะที่นางมีประจำเดือน ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า..
ويسئلونك عن المحيض قل هو أذى فاعتزلوا النساء في المحيض
“และพวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับประจำเดือน จงกล่าวเถิดว่า มันเป็นสิ่งที่ให้โทษ ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลสตรีในขณะมีประจำเดือน” ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 222
ทัศนะที่สอง : อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับนางได้ นี่คือ ทัศนะของปราชญ์อิสลามส่วนใหญ่จากบรรดาเศาะหาบะฮฺ ,ตาบิอีน และอิมามของมัซฮับต่างๆ
โดยปราชญ์กลุ่มนี้ได้อ้างหลักฐานว่า.. 1.แท้จริงเลือดอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย)นั้น ไม่ใช่เลือดประจำเดือนอย่างแน่นอน ดังที่ท่านรสูล (ซ.ล.) กล่าวว่า..
إنما ذلك عرق وليس بالحيضة
“แท้จริงสิ่งนี้ คือ เลือดที่ออกมาจากหลอดเลือด ไม่ใช่ประจำเดือน” รายงานโดย มุตตะฟะกุล อะลัยฮฺ
ปราชญ์นิติศาสตร์ได้อธิบายว่า ในคำกล่าวของท่านรสูล (ซ.ล.) ตรงนี้นั้นเป็นที่เข้าใจกันว่า แท้จริงเลือดอิสติหาเฎาะฮฺนั้น มีลักษณะเหมือนกับเลือดปกติ แต่เลือดประจำเดือนนั้นจะมีลักษณะเป็นสีดำเหมือนอย่างที่รู้กัน ซึ่งมันแตกต่างกัน ดังนั้น หุก่มของเลือดอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย) นั้น จึงไม่เกี่ยวไรกับหุก่มของเลือดประจำเดือน
2. แท้จริงอันตรายที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับสตรี ในขณะที่นางมีประจำเดือนนั้น มันจะไม่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่มีเลือดอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย)
3. แท้จริงการทำอิบาดะฮฺนั้น ยิ่งใหญ่กว่าการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น คนที่อยู่ในสภาพอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย) นั้น จำเป็นต้องทำอิบาดะฮฺเหมือนกับคนทั่วไปที่มีสภาพสะอาดปกติ ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เล็กกว่าอิบาดะฮฺ ก็ต้องถือว่าอนุญาตเช่นกัน
4. แท้จริงนางอุมมุ หะบีบะฮฺ และ นางหัมนะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮูมา) ซึ่งนางทั้งสองนั้นมีเลือดอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย) ในสมัยของท่านรสูล (ซ.ล.)และสามีของพวกนางก็ได้มีเพศสัมพันธ์กับพวกนางในสภาพนั้น โดยที่ไม่ได้มีอัล-กุรอานลงมาคัดค้านแต่อย่างใด
ดังนั้น หากว่าการมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่อยู่ในสภาพอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย) เป็นสิ่งที่ต้องห้ามแล้ว แน่นอนว่าพวกนางต้องรู้ เนื่องจากนางทั้งสองล้วนเป็นเศาะหาบียะฮฺที่มีเกียรติ และเรื่องนี้ต้องได้รับการคัดค้านจากบรรดาเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ ซึ่งสามีของนางอุมมุ หะบีบะฮฺ คือ ท่านอับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟฺ ,และสามีของนางหัมนะฮฺ คือ ท่านฏอลหะฮฺ บิน อุบัยดิลละฮฺ ซึ่งสามีของนางทั้งสองล้วนเป็นเศาะหาบะฮฺที่มีเกียรติ
แท้จริงหุก่มในเรื่องของอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย) นั้น มากมายเหลือเกิน ที่ถูกรายงานมาจากพระนางทั้งสองท่าน แต่ทว่ากลับไม่มีรายงานใดเลยจากพระนางทั้งสอง ที่บอกว่าห้ามมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่สตรีอยู่ในสภาพอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย)
สรุป ทัศนะที่แข็งแรงที่สุดคือ ทัศนะที่สองที่บอกว่า อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับสตรีในขณะที่นางอยู่ในสภาพอิสติหาเฎาะฮฺ (มีเลือดเสีย) ได้ เนื่องจากมีหลักฐานและเหตุผลที่แข็งแรงกว่า และเป็นทัศนะของปราชญ์อิสลามส่วนใหญ่
วัลลอฮุ ตะอาลา อะอฺลา วะ อะอฺลัม