(ต่อ)สิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ข้อกล่าวหาที่มีต่อท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ตกไปคือการเจรจาระหว่างสองฝ่ายในตำบลศิฟฟีน ท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ได้ส่งท่านบะชีร อิบนุ อบีมัสอูด อัลอันศอรียฺ ไปเจรจากับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) โดยตรง
ท่านบะชีร ได้กล่าวกับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “ฉันเรียกร้องให้ท่านมีความยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของท่าน และตอบรับลูกลุงของท่านยังสิ่งที่เขาเรียกร้องท่านสู่ความถูกต้อง นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ปลอดภัยยิ่งนักในศาสนาของท่านและดีที่สุดสำหรับท่านใน บั้นปลายแห่งการงานของท่าน”
ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า : “และเขา ( หมายถึงท่านอะลี ) จะละทิ้งเลือดของอุษมานกระนั้นหรือ? ไม่! ขอสาบานต่อพระผู้ทรงเมตตา ฉันไม่มีทางกระทำสิ่งนั้นแน่...” ( อัฏ-เฏาะบะรียฺ ; อ้างแล้ว 5/242 ) ยะหฺยา อิบนุ สุลัยมาน อัล-ญุอฺฟียฺ ระบุไว้ในตำรา “กิตาบศิฟฟีน” ด้วยสายรายงานที่ดีจากอบีมุสลิม อัล-เคาลานียฺ ว่า อบูมุสลิมได้กล่าวกับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.)ว่า : “ท่านจะยื้อแย่งอะลีในตำแหน่งคิลาฟะฮฺหรือว่าท่านเหมือนกับอะลี?
มุอาวียะฮฺกล่าวว่า : “ไม่! แท้จริงฉันย่อมรู้ดีว่าอะลีประเสริฐกว่าฉัน และสมควรที่สุดต่อตำแหน่งนั้น แต่พวกท่านไม่รู้ดอกหรือว่าอุษมานถูกสังหารอย่างอยุติธรรม และฉันเป็นลูกลุงของอุษมาน เป็นทายาทของเขา ฉันจึงเรียกร้องหนี้เลือดของเขา พวกท่านจงไปหาอะลี และจงกล่าวกับเขาว่าให้เขาส่งมอบพวกที่สังหารอุษมานให้แก่เรา” แล้วอบูมุสลิมกับพวกจึงมาหาท่านอะลี และพูดกับเขา อะลีกล่าวว่า : “ให้เขา ( มุอาวียะฮฺ ) เข้าสู่การสัตยาบันสิ ! เขาจะได้ฟ้องร้องคดีพวกนั้นยังฉัน” ทว่ามุอาวียะฮฺไม่ยอม...” ( อิบนุ หะญัร อัลฟัตหฺ เล่มที่ 13 หน้า86 )
อิบนุ มุซาหิม กล่าวไว้ ในตำรา “วักอะฮฺ ศิฟฟีน”ของเขาว่า อบูมุสลิม อัลเคาลานีย์กล่าวกับมุอาวียะฮฺว่า :
“โอ้ มุอาวียะฮฺ! เรารู้มาว่าท่านตั้งใจจะทำศึกกับอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ ท่านจะต่อสู้กับอะลีได้อย่างไรกัน ทั้งๆที่ท่านไม่มีสถานภาพอันเก่าก่อน(ในอิสลาม) เหมือนอย่างอะลี ? ”มุอาวียะฮฺกล่าวว่า : “ ใช่ว่าฉันจะกล่าวอ้างว่าฉันเสมอเหมือนด้วยอะลีในความประเสริฐก็หาไม่! แต่ว่าพวกท่านรู้หรือไม่ว่า อุษมานได้ถูกสังหารอย่างอยุติธรรม?”
พวกเขากล่าวว่า : รู้สิ! มุอาวียะฮฺจึงกล่าวว่า : “เช่นนั้นเขาก็จงส่งมอบพวกที่สังหารอุษมานมาให้แก่เราเพื่อที่เราจะได้ยอม มอบเรื่องนี้ (การสัตยาบัน) แก่เขา” ( อิบนุ มุซาหิม : วักอะฮฺ ศิฟฟีน หน้า 97)
อัล-กอฎียฺ อิบนุ อัล-อะรอบียฺ ระบุว่าเหตุที่มีการสู้รบระหว่างพลเมืองชามกับพลเมืองอิรักนั้น กลับไปยังการมีท่าทีที่ต่างกันของทั้งสองฝ่าย พวกพลเมืองอิรักเรียกร้องให้มีการสัตยาบันต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) และให้มีความเป็นปึกแผ่นในการปฏิบัติตามผู้นำ ส่วนพวกพลเมืองชาม เรียกร้องให้จัดการกับเหล่าผู้สังหารท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และพวกเขากล่าวว่า : “เราจะไม่ให้สัตยาบันแก่ผู้ให้ที่พักพิงแก่พวกอาชญากร” ( อิบนุ อัล-อะรอบียฺ “อัล-อะวาศิม” หน้า 162 )
อิมาม อัล-หะรอมัยนฺ อัล-ญุวัยนียฺ กล่าวไว้ในตำรา “ลัมอุล-อะดิลละฮฺ” ว่า : แท้จริงมุอาวียะฮฺนั้น ถึงแม้ว่าท่านได้ทำการสู้รบกับท่านอะลี (ร.ฎ.) แต่มุอาวียะฮฺ ก็มิได้ปฏิเสธการเป็นอิมามของท่านอะลี (ร.ฎ.) และมิได้กล่าวอ้างการเป็นอิมามให้แก่ตัวของท่านเอง อันที่จริงมุอาวียะฮฺเพียงแต่ร้องขอตัวบรรดาผู้สังหารท่านอุษมาน โดยเข้าใจว่า ท่านเป็นฝ่ายถูก และท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นฝ่ายผิด ( อัล-ญุวัยนียฺ : ลัมอุลอะดิลละฮฺ ฟี อะกออิด อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ หน้า 115)
ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ กล่าวว่า : “ แท้จริงมุอาวียะฮฺไม่เคยกล่าวอ้างการเป็นเคาะลีฟะฮฺและไม่มีการให้สัตยาบัน แก่มุอาวียะฮฺเลย จนกระทั่งท่านอะลี (ร.ฎ.) ถูกลอบสังหาร มุอาวียะฮฺมิได้สู้รบกับอะลีในฐานะที่ตนเป็นเคาะลีฟะฮฺ และมิได้ถือว่าตนมีความเหมาะสมในตำแหน่งนั้นเลย และปรากฏว่ามุอาวียะฮฺก็ยืนยันถึงสิ่งดังกล่าว แก่ผู้ที่มาถามตน” (มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา เล่มที่ 35/77)
อิบนุ ดัยซีลฺ ได้รายงานว่า ท่านอบู อัดดัรดาอฺและอบูอุมามะฮฺ(ร.ฎ.) ได้เข้าไปพบมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และกล่าวว่า : “โอ้มุอาวียะฮฺ ! เหตุใดเล่าท่านจึงจะสู้รบกับบุคคลผู้นี้ ( หมายถึงอะลี )? ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า : “เขาเป็นมุสลิมมาเก่าก่อนหน้าท่าน และบิดาของท่าน และเขามีความใกล้ชิดกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม) มากกว่าท่าน อีกทั้งเขาก็มีสิทธิ์ต่อตำแหน่งนี้มากกว่าท่าน”
มุอาวียะฮฺกล่าวว่า : ฉันจะสู้รบกับเขาบนหนี้เลือดของอุษมาน และเขาให้ที่พักพิงแก่พวกที่สังหารอุษมาน ท่านทั้งสองจงไปหาและจงกล่าวกับเขาเถิดว่า : เขาจำต้องให้พวกเรากิศอศ พวกที่สังหารอุษมานเสียก่อน หลังจากนั้น ฉันนี่แหละจะเป็นบุคคลแรกจากพลเมืองชาม ที่จะให้สัตยาบันแก่เขา” (อิบนุ กะษีร : อัล-บิดายะฮฺ เล่มที่ 7/360) รายงานต่างๆข้างต้นบ่งชี้ว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) พร้อมด้วยผู้ให้การสนับสนุนท่านได้เรียกร้องหนี้เลือดของท่านอุษมาน(ร.ฎ.)
และ ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็แสดงท่าทีชัดเจนต่อการเข้าสู่การให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) เมื่อมีการลงโทษบรรดาผู้กระทำผิด หากสมมติว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ได้ยึดเอาเรื่องการกิศอศมาบังหน้าในการสู้รบกับท่านอะลี (ร.ฎ.) เนื่องจากมีความทะเยอทะยานในอำนาจ อะไรจะเกิดขึ้น หากว่าท่านอะลี(ร.ฎ.) สามารถดำเนินการลงโทษต่อบรรดาผู้กระทำผิดได้ตามคำเรียกร้อง แน่นอนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก็คือท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็จำต้องยอมจำนนต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) และให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) อยู่ดีนั้นเอง
เพราะท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ได้ยึดมั่นในท่าทีของท่านต่อกรณีการเรียกร้องดังกล่าวนับแต่ต้น และบรรดาผู้ที่ร่วมรบกับท่านมุอาวียะฮฺ(ร.ฎ.) นั้นก็ทำการสู้รบบนหลักการของการกิศอศกับบรรดาผู้สังหารของท่านอุษมาน(ร.ฎ.) เช่นกัน ถ้าหากว่าท่านมุอาวียะฮฺ(ร.ฎ.) มีสิ่งอื่นแอบแฝงอยู่ในใจโดยไม่เปิดเผยให้รู้แต่แรก การมีท่าทีที่แอบแฝงเช่นนี้ก็จะต้องเผยออกมาในท้ายที่สุด และท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ) ก็จะต้องพบกับอุปสรรคต่างๆนาๆ ที่ทำให้ท่านไม่สามารถบรรลุสู่เป้าหมายที่ซ่อนเร้นเอาไว้ในใจหากว่าท่านมี ความละโมบในตำแหน่งและอำนาจ ซึ่งท่านไม่มีสิทธิแต่อย่างใดในขณะนั้น
ประเด็นน่าคิดก็คือว่า สงครามระหว่างท่านอะลี(ร.ฎ.) กับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ณ ตำบลศิฟฟีนนั้นเกิดขึ้นหลังจากสมรภูมิอูฐ และในวันสมรภูมิอูฐนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 10,000 คน ในฝ่ายของท่านอะลี (ร.ฎ.) 5,000 คน และในฝ่ายของท่านฏอลหะฮฺ(ร.ฎ.) และท่านอัซซุบัยรฺ(ร.ฎ.) 5,000 คน (อิบนุกะษีรฺ : อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ 7/256) ถ้าหากว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ประสงค์ที่จะแย่งชิงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจากท่านอะลี (ร.ฎ.) จริงตามคำใส่ใคล้ก็ย่อมถือเป็นโอกาสที่เหมาะยิ่งในการช่วงชิงสถานการณ์ที่ ได้เปรียบต่อท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ซึ่งสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนถึง 5,000 คนหลังชัยชนะในสมรภูมิอูฐ ด้วยการยกทัพจากแคว้นชามของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.)เพื่อโจมตีกองทัพของท่านอะลี (ร.ฎ.) มิให้ตั้งรับทันหรืออย่างน้อยก็เตรียมทัพไว้รับมือของท่านอะลี(ร.ฎ.)เสีย ทันที เมื่อรับรู้ถึงการปลดท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ. )ด้วยการแต่งตั้งสะฮฺล อิบนุ หะนีฟ แทนของเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ก่อนหน้านั้นแล้ว (อิบนุกะษีรฺ ; อ้างแล้ว 7/240)
แต่ ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็มิได้ทำการเคลื่อนไหวอันใดในเรื่องการศึกกับท่านเคาะลีฟะฮฺ (ร.ฎ.) การกลับกลายเป็นว่าท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เป็นฝ่ายที่มีเจตนายกทัพจากอิรักมุ่งสู่แคว้นชามนับแต่ก่อนเกิดสมรภูมิอูฐ เสียอีก (อิบนุกะษีรฺ ; อ้างแล้ว 7/245)
เหตุนี้ พลเมืองในแคว้นชามจึงพากันกล่าวว่า : “อันที่จริง เราสู้รบกับอะลีนั้นเป็นการสู้รบเพื่อป้องกันตนเองและดินแดนของเรา แท้จริงอะลีเริ่มทำสงครามกับเราก่อน เราจึงต้องตอบโต้เขาด้วยการทำสงคราม ซึ่งเรามิได้เริ่มก่อน และเราก็มิได้ละเมิดต่ออะลีแต่อย่างใด” ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ก็เป็นที่รู้กันในกองทัพของท่านอะลี(ร.ฎ.)เช่นกัน เพราะ อัล-อัชตัรฺ อัน-นะเคาะอียฺ กล่าวว่า : “แท้จริงพวกเขาย่อมจะมีชัยเหนือพวกเรา เพราะพวกเราเป็นฝ่ายเริ่มทำสงครามกับพวกเขาก่อน” (อัซซะฮฺบียฺ : อัล-มุนตะกอ มิน มินฮาญิล อิอฺติดาล หน้า 261 , 274 )
อย่างไรก็ตาม กรณีการพิพาทที่นำไปสู่การทำสงครามรบพุ่งระหว่างเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) กับฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ในสมรภูมิศิฟฟีน ตลอดจนฝ่ายของท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านอัซซุบัยรฺ (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ในสมรภูมิอูฐ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นของการวินิจฉั ย(อิจญติฮาด) ที่มองต่างมุมกัน แต่ละฝ่ายมีการตีความ (ตะอฺวีล) ที่สนับสนุนท่าทีของฝ่ายตน
ถึง แม้ว่าการวินิจฉัยและการตีความของท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จะมีความใกล้เคียงกับความถูกต้องและมีสิทธิอันชอบธรรมมากกว่าก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าถูกต้องอย่างสมบูรณ์ไปเสียทุกกรณี และอย่างน้อยการยอมรับคำเสนอแนะของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) บุตรชายของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในกรณีการย้ายศูนย์อำนาจของเคาะลีฟะฮฺออกจากนครมะดีนะฮฺไปยังนครกูฟะฮฺ ซึ่งท่านอัล-หะสัน(ร.ฎ.)ไม่เห็นด้วยก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับท่านเคาะ ลีฟะฮฺ
ทั้งนี้เนื่องจากบรรดาผู้ที่ร่วมสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน(ร.ฎ.)นั้นได้ ร่วมสมทบอยู่ในกองทัพของท่านอะลี (ร.ฎ.) โดยเฉพาะพลเมืองบัศเราะฮฺและกูฟะฮฺเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มอาชญากรดังกล่าว ดังนั้นเมื่อท่านอะลี (ร.ฎ.)ย้ายศูนย์อำนาจไปยังอิรักในนครกูฟะฮฺก็ย่อมทำให้พวกนั้นมีความเข้ม แข็งมากขึ้นไปอีก เนื่องด้วยการตะอัศศุบของบรรดาชนเผ่าของพวกเขา (อัซซะฮฺบียฺ : อัล-มุนตะกอฯ หน้า 235-236)
หรือคำเสนอแนะ ของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ในการให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) คงตำแหน่งผู้ปกครองหัวเมืองเอาไว้เช่นเดิม จนกว่าจะเกิดเสถียรภาพที่มั่นคงเสียก่อน และให้รับรองการเป็นผู้ปกครองแคว้นชามของมุอาวียะฮ (ร.ฎ.) เอาไว้ดังเดิม ยิ่งไปกว่านั้นท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ยังห้ามท่านอะลี (ร.ฎ.) มิให้ยอมรับข้อเสนอของพวกที่ทำดีกับท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการย้ายศูนย์อำนาจไปยังอิรัก และออกจากนครมะดีนะฮฺ แต่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ไม่เห็นด้วยกับคำเสนอแนะของท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ทั้งหมดข้างต้น (อิบนุกะษีรฺ: อัล-บิดายะฮฺ 7/239)
การสู้รบที่เกิดขึ้นทั้งในสมรภูมิอูฐและสมรภูมิศิฟฟีนตลอดจน การสู้รบกับพวกเคาะวาริจญฺนั้นเป็นที่มาของการวางกฎเกณฑ์นิติศาสตร์ว่าด้วย การสู้รบกับบรรดาผู้ละเมิด (กิตาลฺ อัล-บุฆอฮฺ) ซึ่งนักวิชาการระบุว่า : “หากไม่มีการสู้รบระหว่างท่านอะลี (ร.ฎ.) กับบรรดาผู้ขัดแย้งแล้วไซร้ แน่นอนแนวทางในการสู้รบกับชาวชุมทิศ (อะฮฺลุล-กิบละฮฺ) ย่อมไม่เป็นที่รู้จักเป็นแน่แท้” ( อัล-บากิลลานียฺ : อัต-ตัมฮีด ฟี อัรรอดดิ อะลัล มุลหิดะฮฺ หน้า 229 )
กระนั้นการสู้รบกับ เคาะลีฟะฮฺของชนรุ่นสะลัฟศอลิหฺ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุคต้นทั้งในกรณีของสมรภูมิอูฐ และสมรภูมิศิฟฟีน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการวินิจฉัยและการตีความที่ต่างกัน ก็มิได้ทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นสิ้นสภาพจากการศรัทธาและความเป็น มุสลิมตลอดจนมิได้ทำให้พวกท่านเหล่านั้นสูญเสียสภาพของความเป็นผู้ผดุงธรรม (อัล-อะดาละฮฺ) แต่อย่างใด
ทั้งนี้ในอัลกุรอานได้ยืนยันรับรองถึงความมีศรัทธาของพวกเขาอยู่ดังเดิม ดังปรากฏในอายะฮฺ อัลกุรอาน ที่ว่า
وإن طائفتان من المؤمنين اقتتلوافأصلحوابينهما....الآية
“และหากว่า 2 กลุ่มจากเหล่าศรัทธาชนได้ทำการสู้รบกัน ดังนั้นพวกสูเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่าง 2 กลุ่มนั้นเถิด” ( อัล-หุญุรอต อายะฮฺที่19 )
ดังนั้นถึงแม้ว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และพลเมืองชามได้ทำการสู้รบกับท่านเคาะลีฟะฮฺ (ร.ฎ.) และได้ชื่อว่าเป็นผู้ละเมิด ( อัล-บุฆอฮฺ ) ก็ตาม พวกเขาก็ไม่ได้เป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) เนื่องจากอัลกุรอานได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน ถึงความศรัทธาและความเป็นพี่น้องผู้ร่วมศรัทธาของพวกเขาเอาไว้ ทั้งๆที่มีการสู้รบเกิดขึ้น (อัซซะฮฺบียฺ : อัล-มุนตะกอฯ หน้า 291, 292)
มี ผู้ถามท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ถึงชาวสมรภูมิอูฐ ว่า : พวกเขาเป็นมุชริกหรือไม่? ท่านอะลี(ร.ฎ.) ตอบว่า : “พวกเขาหนีจากการชิริกต่างหาก!” มีผู้กล่าวขึ้นอีกว่า : พวกเขาเป็นมุนาฟิกหรือไม่? ท่านอะลี (ร.ฎ.) ตอบว่า : “แท้จริงพวกมุนาฟิกจะไม่รำลึกถึงอัลลอฮฺนอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” มีผู้กล่าวขึ้นว่า : “พวกเขาคือใครเล่า?” ท่านอะลี (ร.ฎ.) ตอบว่า : “พวกเขาคือพี่น้องของเราที่ละเมิดต่อเรา” (อัล-บัยฮะกียฺ : อัสสุนัน อัล-กุบรอ เล่มที่8 หน้า 173 )
ส่วนกรณีสมรภูมิศิฟฟีน นั้น ท่านซัยดฺ อิบนุ อบีอัซซัรกออฺ รายงานจากญะอฺฟัร อิบนุ ซะบุรกอน จากมุอัมมัล อิบนุ อัล-อะศอม ว่า : ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า : “บรรดาผู้ถูกสังหารของฉันและบรรดาผู้ถูกสังหารของมุอาวียะฮฺ อยู่ในสวนสวรรค์” ( อัซซะฮฺบียฺ ; สิยัร อะอฺลาม อันนุบะลาอฺ เล่มที่ 4 หน้า 302)
ท่านอัมมาร อิบนุยาสิร ( ร.ฎ.) ได้กล่าวถึงสมรภูมิศิฟฟินตามรายงานของซิยาด อิบนุอัล-หาริษ ว่า “ฉันอยู่เคียงข้างอัมมาร อิบนุยาสิร ที่ศิฟฟีน หัวเข่าทั้งสองฉันสัมผัสหัวเข่าทั้งสองของเขา แล้วชายคนหนึ่งก็กล่าวขึ้นว่า “ พวกพลเมืองชามเป็นผู้ปฏิเสธแล้ว” ท่านอัมมารจึงกล่าวว่า “พวกท่านอย่ากล่าวเช่นนั้น นบีของเราและนบีของพวกเขาเป็นคนเดียวกัน กิบละฮฺของเรากิบละฮฺของพวกเขาเป็นกิบละฮฺเดียวกัน แต่พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่ถูกฟิตนะฮฺ พวกเขาเบี่ยงออกจากความถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องต่อสู้กับพวกเขาเพื่อให้พวกเขากลับสู่ความถูก ต้อง ( อิบนุ อบีชัยบะฮฺ ; อัลมุศอนนัฟ เล่มที่ 15 หน้า 294 )
ท่าทีของท่าน อัมมาร ( ร.ฎ.) ที่มีต่อท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) และพลเมืองชามบ่งชี้ว่าท่านรับรองสถานภาพความเป็นมุสลิมของชาวศิฟฟีน ในขณะเดียวกันก็ถือว่าชาวศิฟฟินที่ต่อสู้กับเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เป็นฝ่ายที่ผิดพลาดในการวินิจฉัยและตีความจึงนับเป็นหน้าที่ในการต่อสู้กับ ชาวศิฟฟีนในประเด็นของการสู้รบกับบรรดาผู้ละเมิด ( อัลบุฆอฮฺ ) ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่อัลกุรอานได้วางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มชีอะอฺรอฟีเฎาะฮฺได้กล่าวหาและโจมตีท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.)ว่าเป็นกาฟิรด้วยการสู้รบกับท่านอะลี ( ร.ฎ.)
และ ดูเหมือนว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จะตกเป็นเป้าในการโจมตีจากพวกชีอะฮฺมากที่สุดในบรรดาเศาะหาบะฮฺที่มีกรณี พิพาทกับท่านอะลี ( ร.ฎ.)- อับบาส อะลี อัลมูซาวีย์ได้กล่าวโจมตีท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) ด้วยข้อหาฉกาจฉกรรณ์ในหนังสือของเขาที่ชื่อ ชุบุฮาต เหาละ อัชชีอะฮฺ หน้า 131-142 และอาดิล อัลอะดีบ ในหนังสือของเขาที่ชื่อ อัลอะอิมมะฮฺ อัลอิษนาอะชัร หน้า73 เป็นต้นไป ซึ่งในบทความนี้คงไม่สามารถที่จะนำข้อมูลมาหักล้างได้เนื่องจากเรื่องนี้มี รายละเอียดมาก
แต่ถ้าจะกล่าวถึงข้อหักล้างสักหนึ่งประเด็นก็คงจะเพียงพอ กล่าว คือ หากว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และพลเมืองชามเป็นพวกกลับกลอกที่ซ่อนเร้นการปฎิเสธเอาไว้ในใจและศรัทธาไม่ เคยย่างกรายเข้าสู่จิตใจของท่านมุอาวียะฮฺเลย และท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) เป็นผู้ที่ทำลายศาสนาอิสลามอย่างย่อยยับดังที่พวกชีอะฮฺกล่าวหาแล้วไซร้ ไฉนเลยท่านอิมาม อัล-หะสัน ( ร.ฎ.) จึงยอมประนีประนอมกับท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) และยอมสละตำแหน่งด้วยการมุบายะอะฮฺต่อท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) ในปีที่เรียกกันว่า “อามุลญะมาอะฮฺ”
เป็น ไปได้หรือที่ท่านอิมาม อัลหะสัน ( ร.ฎ.) จะยอมสละตำแหน่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดเอาไว้แล้วแก่ลูกหลานของท่านอะลี ( ร.ฎ.) ตามความเชื่อของพวกชีอะฮฺ และนี่เป็นการสละตำแหน่งที่สำคัญที่สุดให้แก่ศัตรูของอิสลาม ซึ่งพวกชีอะฮฺเรียกขานท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) เช่นนั้น และการกระทำของอิมามมะอฺศูมนั้นถือเป็นสิ่งถูกต้องและเป็นตัวบทตามความเชื่อ ของชีอะฮฺ เหตุไฉนพวกเขาจึงไม่ปฏิบัติตามการกระทำของท่านอิมามอัล-หะสัน ( ร.ฎ.) ซึ่งเป็นอิมามมะอฺศูม
หาก พวกเขาจะแย้งว่าเหตุที่ท่านอิมามอัล-หะสัน ( ร.ฎ.) ต้องยอมทำเช่นนั้นก็เพื่อรักษาไว้ ซึ่งเลือดเนื้อของชาวมุสลิม ก็ต้องถามกลับไปว่า การเสียสละเช่นนี้จะมีประโยชน์อันใดในเมื่อมุสลิมจะต้องเผชิญกับการทำลาย ล้างอิสลามและบิดเบือนคำสอนที่บริสุทธิ์ด้วยน้ำมือของทรราชย์ผู้ปฎิเส ธศรัทธาอย่างที่พวกชีอะฮฺกล่าวหาท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) และคำว่ามุสลิมสำหรับความเชื่อของพวกชีอะฮฺก็คือผู้ที่ยอมรับในตำแหน่งวะศี ยฺของท่านอิมามอะลี ( ร.ฎ.) และลูกหลานของท่านเท่านั้น เป็นการยากที่จะได้รับคำตอบอย่างชัดเจนจากฝ่ายชีอะฮฺในเรื่องนี้
ด้วยเหตุนี้เองกระมังที่ทำให้หน้ากระดาษที่กล่าวถึงชีวประวัติของอิมามท่าน ที่ 2 ( คือท่านอัลหะสัน) มีน้อยมากเมื่อเทียบกับอิมามท่านอื่นในตำราของพวกเขา
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอย้ำเตือนผู้อ่านด้วยหลักศรัทธาของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ว่าการหลีกเลี่ยงจากการพูดถึงกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในหมู่เศาะหาบะฮฺเป็นสิ่ง ที่ปลอดภัยที่สุด และเรามีความรักในบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม)) ทุกท่าน และเราเชื่อว่าท่านเหล่านั้นมีความรักในระหว่างกันถึงแม้ว่าจะมี ข้อพิพาทเกิดขึ้น ซึ่งข้อพิพาทเหล่านั้นพวกเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มือของพวกเรามิได้เปื้อนเลือดแม้เพียงหยดเดียว ท่านเหล่านั้นได้กลับไปสู่ผลของการกระทำที่ประพฤติเอาไว้แล้ว อัลลอฮฺไม่ถามพวกเขาถึงการประพฤติของพวกเราฉันใด พระองค์ก็ไม่ทรงถามพวกเราถึงสิ่งที่พวกท่านเหล่านั้นได้ประพฤติเอาไว้ฉันนั้นและพวกเราจะไม่เลยเถิดในความรักที่มีต่อท่านเหล่านั้นเยี่ยงพวกอัรรอฟีเฎาะฮฺ และเราจะไม่ปฏิเสธคุณงามความดีและคุณูปการของท่านเหล่านั้นที่มีต่ออิสลาม และมุสลิม และเราจะโกรธเคืองทุกผู้ทุกนามที่กล่าวปรามาสและชิงชังอาฆาต ต่อท่านเหล่านั้น ดังเช่นการกระทำของพวกเคาะวาริจญฺ และพวกอันนะวาศิบที่กล่าวหาว่าท่านอะลี(ร.ฎ.) เป็นกาฟิรด้วยการยอมรับการตัดสินของอนุญาโตตุลาการจากสองฝ่าย และพวกอันนะวาศิบที่จงเกลียดจงชังต่ออะฮฺลุลบัยตฺ ความรักที่มีต่อท่านเหล่านั้น คือความดีงาม และศรัทธา การชิงชังต่อท่านเหล่านั้นคือ การเนรคุณ การละเมิด และความกลับกลอก
และขอพระองค์ทรงให้พวกเราสิ้นชีวิตไปจากโลกนี้พร้อมด้วยความรักที่มีต่อเหล่า เศาะหาบะฮฺทุกผุ้ทุกนาม และขอให้เราฟื้นคืนชีพในหมู่ผู้ประพฤติดีเหล่านั้นด้วยเทอญوالله ولى التوفيق
บทความลงในหนังสือไคโรสาร เขียนโดย อ.อาลี เสือสมิง
http://www.alisuasaming.com/index.php/1173-2010-09-11-15-55-07