ท่านอิมาม อิบนุ อะฏออิลและฮ์ ได้กล่าวฮิกัมความว่า
إِذَا إِلْتَبَسَ عَلَيْكَ أَمْرَانِ ، فَأنْظُرْ أَثْقَلَهُمَا عَلىَ النَّفْسِ فَأتَّبَعَهُ فَإِنَّهُ لايَثْقُلُ عَلَيْهَا إِلا مَا كَانَ حَقًّا
ความว่า " เมื่อมีความสงสัยแก่ท่านโดยสองประการ ท่านจงพิจารณาสิ่งที่หนักกว่าจากทั้งสองที่มี(ผล)ต่อนัฟซู และจงทำตามมัน(คือสิ่งหนักกว่า) เพราะแท้จริงจะไม่รู้สึกหนักต่อนัฟซูนอกจากเป็นสิ่งที่ดีกว่า "
จุดมุ่งหมายจากสองประการนี้ หมายถึง สิ่งที่ไม่สามารถทำพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน เช่นสองสิ่งที่จำเป็น(วายิบ) หรือสองสิ่งที่อนุญาติ(มุบะหฺ)
ตามความหมายของคำว่า (النفس) (นัฟซู) จากคำพูดของอิบนุอะฏออิลและฮฺ หมายถึง อารมณ์หรือจิตใฝ่ต่ำที่เป็นจิตของคนส่วนใหญ่เขามีกันในทุกยุคทุกสมัย
เมื่อมีสองสิ่งที่จำเป็น(วายิบ) หรือสองสิ่งที่สุนัตหรือสองสิ่งที่มุบะหฺ อยู่พร้อมกันโดยไม่สามารถทำรวมพร้อมกันได้ และไม่รู้ว่าการปฏิบัติอันใหนดีกว่ากัน ซึ่งจำเป็นแก่เขาต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง ดังนั้น เขาต้องหวนกลับไปยังจิตใจของเขาและทำการพิจารณาว่าสิ่งใดที่ยากกว่ากัน ก็ให้เลือกสิ่งนั้น และสิ่งใดที่อารมณ์ชอบปราถนาก็ให้ละทิ้งมันไป เนื่องจากจิตอารมณ์ใฝ่ต่ำนั้น จะแสวงหาสิ่งที่อารมณ์ชอบปราถนา เพราะฉะนั้น เมื่อผู้มีอารมณ์ใฝ่ต่ำจะเลือกทำสิ่งใดแล้ว เขาต้องเลือกสิ่งที่จะมาสนองและตามอารมณ์ปราถนาของเขา เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาคผลการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นวายิบหรือสุนัตก็ต้องบกพร่องไป เนื่องจากอามัลนั้นอยู่กับการเจตนาและอุตสาหะ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) วจนะไว้ว่า
أَجْرُكَ عَليَ قَدْرِ نَصَبِكَ
ความว่า " ผลการตอบแทนของท่านนั้น อยู่ที่ขนาดความอุตสาหะของท่าน "
ท่านอิบนุอิบาดกล่าวว่า " ส่วนหนึ่งจากอาริฟบิลลาฮฺกล่าวว่า เป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว ที่หัวใจของฉันไม่เคยพึ่งพานัฟซูเลยแม้สักครั้งเดียว และการที่หัวใจพึงพานัฟซูนั้น คือการที่หัวใจตามสิ่งที่ง่ายกว่าจากอารมณ์ซึ่งพวกเขานับว่าเป็นการกลับกรอกของหัวใจ (หัวใจมุนาฟิก)" อธิบายหนังสือ หิกัม เล่ม 2 หน้า 29
ขอหยิบยกตัวอย่างดังกล่าว อาธิเช่น เขามีโอกาสไปเยี่ยมคนป่วยที่ยากจนที่ไม่ได้รับการเหลียวและอาศัยอยู่ห่างไกล และขณะเดียวกันเขาได้รับการเชื้อเชิญไปงานมงคลสมรส เขาย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า หากตอบรับคำเชิญก็ไม่สามารถไปเยี่ยมผู้ป่วยได้ หรือหากเขาไปเยี่ยมผู้ป่วยก็ไม่สามารถไปงานมงคลสมรสได้ เมื่อเขาหวนกลับไปยังจิตใจของเขาแล้วพิจารณา ก็จะพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดจากอันหนึ่งอันใดจากทั้งสองนั้น ส่วนมากอารมณ์จะคิดว่ามันเป็นความยากลำบาก หากไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไกลจากเมืองของตน อีกทั้งไม่ได้รับส่วนดีใด ๆที่เขาปราถนาเลย ดังนั้นอารมณ์ใฝ่ต่ำจึงคิดว่าการตอบรับคำเชิญไปงานมงคลสมรสย่อมดีกว่า เพราะมีโอกาสได้พบกับบุคคลต่าง ๆมากมายที่มีชื่อเสียง อันเป็นเหตุทำให้มีหน้ามีตาและมีความสุขไปด้วย ฉะนั้น เขาพึงรู้เถิดว่า สิ่งที่สร้างความใกล้ชิดยังความพึงพอพระทัยต่ออัลเลาะฮฺมากที่สุดก็ คือการมุ่งปฏิบัติที่ไม่มีอารมณ์ใฝ่ต่ำเข้ามาเกี่ยวข้องและการมุ่งปฏิบัติสิ่งที่อารมณ์นัฟซูรู้สึกยากลำบากที่จะกระทำมัน
ถ้าหากคนหนึ่งได้ใช้อารมณ์เลือกระหว่างตื่นละหมาดยามดึกกับการนอนอย่างสบายอยู่บนเตียงที่นุ่ม อารมณ์นัฟซูก็จะมีความกลัวที่จะลุกขึ้นตื่นและกลัวที่จะอยู่ร่วมกับบุคคลที่อัลเลาะฮฺทรงสรรญเสริญด้วยคำตรัสของพระองค์ว่า
( تتجافى جنوبهم عن المضاجع يدعون ربهم خوفا وطمعا )
ความว่า " สีข้างของพวกเขาห่างจากที่นอน เพื่อพวกเขาเฝ้าวอนขอนมัสการต่อพระองค์อภิบาลของพวกเขาเองด้วยความกลัวและความมุ่งหวัง " อัสสะญะดะฮฺ 16 และอารมณ์จะรู้สึกว่าห่างเหินจากเตียงนอนนุ่ม ๆ และความเคริบเคลิ้มฝันหวานที่ไม่มีเวลาใหนมาเทียบเทียมได้
ส่วนกรณีของผู้ที่มีจิตสงบสุข( มีจิตมุฏมะอินนะฮฺ)แล้ว ก็ให้เขาเลือกปฏิบัติสิ่งที่สะดวกและสิ่งที่จิตสงบสุขคล้อยตามได้ โดยต้องอยู่ในมุมมองของหลักชาริอัตว่า สิ่งใดที่ยังคุณประโยชน์และทำให้สภาวะจิตของเขาสูงขึ้นมากกว่า ก็ให้เลือกทำสิ่งนั้นก่อน
แต่ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า จิตที่ได้รับการบำบัดขัดเกลาของคนเรานั้น ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด หรือมีความดื่มดำในความรักต่ออัลเลาะฮฺ มีความรู้สึกที่นอบน้อมและมีความยำเกรงต่ออัลเลาะฮฺได้มีอิทธิพลเหนือจิตใจนั้นแล้วก็ตาม แต่การลดระดับของสภาวะจิตโดยการอาศัยพึ่งพาอารมณ์และแสวงหาความสุขนั้นก็ยังคงมีอยู่เสมอ เนื่องจากจิตใจของมนุษย์ก็ยังคงเป็นจิตใจของความเป็นมนุษย์ที่ยังมีความต้องการตามธรรมชาติและความปราถนาของมัน ดังกล่าวนี้ จึงทำให้ความหมายของการ ( التكليف ) ตกหนักก็ยังคงอยู่ในศักยภาพของความเป็นมนุษย์
ดังนั้น เขาอย่าเพิ่งกล่าวกับตัวเขาเอง หรือกับอาจารย์ของเขาว่า จิตใจของเขาได้รับการขัดเกลาอย่างบริสุทธิ์แล้ว เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่แล้ว เพราะว่าอารมณ์ใฝ่ต่ำนั้น เมื่อได้รับสิ่งใหม่ ๆมันจะรู้สึกบริสุทธิ์ เกิดความพึงพอใจ และรู้สึกมั่นคงเสมอ แต่อย่าลืมว่าบรรดาหน้าต่างของชัยฏอนที่จะเปิดเข้าไปสู่จิตใจนั้น มันยังคงเปิดเสมอและมันจะไม่ละความพยายามกระทำสิ่งที่อัลเลาะฮฺทรงเปิดโอกาสให้มันกระทำได้ เนื่องจากชัยฏอนมันยังคงอยู่ในเส้นเลือดของมนุษย์ทั่วไป ตราบใดที่มนุษย์ยังมีลมหายใจในการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกดุนยา
วัลลอฮุอะลัม