ท่านอิมาม อิบนุ อะฏออิลและฮ์ ได้กล่าวฮิกัมไว้ว่า
حظ النفس فى المعصية ظاهر جلى ، وحظها فى الطاعة باطن خفى ومداواة ما يخفى صعب علاجه
? ส่วนของอารมณ์ใฝ่ต่ำ ในเรื่องการฝ่าฝืนนั้น ย่อมปรากฏอย่างชัดเจน , และส่วนของอารมณ์ใฝ่ต่ำ ในเรื่องการภักดีนั้น ย่อมซ่อนเร้นอยู่ภายใน และการเยียวยาสิ่งที่ซ่อนเร้นนั้น ยากต่อการบำบัด?
ท่านชัยคุลอิสลาม อับดุลเลาะฮ์ อัชช๊อกกอวีย์ อธิบายว่า ?ส่วนของอารมณ์ใฝ่ต่ำในเรื่องการฝ่าฝืน เช่น การทำซินา ย่อมปรากฏอย่างชัดเจน หมายความว่า ส่วนของอารมณ์ใฝ่ต่ำมีความอร่อย(ชอบ)ด้วยเหตุกระทำการฝ่าฝืน ดังนั้น อารมณ์ใฝ่ต่ำไม่ต้องการอื่นใด นอกจากเพื่อให้ท่านมีความชอบ อร่อยในการกระทำความชั่วนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความวิบัติก็จะเกิดแก่ท่าน และส่วนของอารมณ์ใฝ่ต่ำในการ(ฏออัต)ภักดีนั้น มันจะซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งไม่สามารถจะรับรู้ได้ นอกจากผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริง กล่าวคือ เนื่องจากการฏออัต เป็นเรื่องอันยากลำบากต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำ ดังนั้น เมื่อมันใช้ให้ท่านกระทำความดี ท่านก็จะไม่รู้เลยว่าอารมณ์ใฝ่ต่ำได้แทรกเข้าไปอยู่ในการกระทำความดีนั้น นอกเสียจากมีการหมั่นตรวจสอบจิตใจของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้ง อารมณ์ใฝ่ต่ำอาจจะบอกให้ท่านรู้ว่า การฏออัต คือ การสร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮ์ ตะอาลา โดยที่ภายในจิตใจนั้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นอกจาก ทำเพื่อให้มนุษย์สนใจต่อท่าน และเพื่อให้มีชื่อเสียงในหมู่พวกเขาด้วยการกระทำความดีนั้น ดังนั้น ผู้ที่หมั่นสังเกตและตรวจสอบจิตใจของเขาเองอยู่เสมอ ก็จะประจักษ์แก่เขาว่า นี้เป็นเรื่องจริง และการเยียวยาให้หายกับ(โรค)อารมณ์ใฝ่ต่ำที่ซ่อนเร้นอยู่นั้น ยากแก่การบำบัดรักษา
อุทาหรณ์ที่ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ ได้เตือนให้เราระวัง มีอยู่หลายประการด้วยกัน
ประการที่หนึ่ง ทุกคนที่ทำความดีและสนองคำบัญชาใช้ของศาสนานั้น จำเป็นต้องระวังจากสิ่งที่มาครอบงำตัวของเขาที่มาจากอารมณ์ใฝ่ต่ำโดยที่เขาไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลเลาะฮ์ ตะอาลา ทรงเรียกมันว่า ?บาปภายใน? เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้สิ่งปิดกั้นที่แน่นหนาจากรูปลักษณ์ภายนอกของอิบาดะฮ์ แต่ผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริงเท่านั้น ที่จะสามารถมองเห็นตาใจอันบิดพลิ้วและสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ดังนั้น เมื่อเขาทราบถึงสิ่งดังกล่าวแล้ว จึงควรสังเกตสิ่งที่สอดแทรกและความรู้สึกภายในจิตใจ และเมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้วว่า อารมณ์ใฝ่ต่ำได้ซ่อนเร้นอยู่ในการภักดีหรือในการปฏิบัติศาสนกิจแล้วนั้น เขาก็จง ?มุญาฮะดะฮ์? ต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำเพื่อให้หลุดพ้นจากการครอบงำของมัน ก่อนที่เขาจะต้องกลับไปสู่อัลเลาะฮ์ ตะอาลา ในสภาพของผู้ที่ยังแบกรับภาระบาปที่มาทำลายภาคผลคุณงามความดี วัลอิยาซุบิลลาฮ์
ประการที่สอง อย่ายึดการตำหนิพวกทำความชั่ว มาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินว่าตัวเองนั้นประเสริฐกว่า เพราะถ้าหากเขาได้แอบอ้างตัวเองเช่นนั้น ก็เท่ากับว่า การแอบอ้างกับตัวเขาเองอาจจะชั่วมากกว่าความชั่วที่พวกเขาที่ถูกตำหนิ สาเหตุก็เนื่องจากว่า เขามีอารมณ์ใฝ่ต่ำซ่อนเร้นอยู่ภายใน ก็คือการโอ้อวดลำพวงตัวเอง
ดังนั้น บางทีในวันกิยามะฮ์นั้น คนที่ฏออัตภักดีต่ออัลเลาะฮ์ ตะอาลา เขาอาจจะไม่ได้อะไรเลยนอกจากบรรดาบาปที่ห้อมล้อมภายนอกของอิบาดะฮ์ และบางทีคนชั่วที่โศกเศร้าเสียใจกับกับตัวเองต่อบาปที่เขาได้กระทำ ซึ่งในวันกิยามะฮ์เขาอาจจะได้รับการอภัยโทษที่ได้มาปกคลุมบรรดาบาปของเขาก็เป็นได้
ประการที่สาม เมื่อพบว่าการเยียวยาบำบัดสิ่งมัวหมองในจิตใจที่มาทำลายความดีนั้น มีความยากลำบากกว่าการเยียวยาบาปที่ได้กระทำขึ้นมาให้เห็นทางภายนอก ดังนั้น จึงจำเป็นแก่ผู้กระทำความดี ให้เขาคิดเสมอว่า เขาได้นำตัวเข้าไปอยู่พร้อมกับผู้ทำความชั่วที่เขาได้ทำการตำหนิติเตียน โดยอย่าให้คำตักเตือนกับพวกเขามากนัก แต่เขาต้องรีบตักเตือนกับตัวเองให้มากกว่าการตักเตือนผู้อื่น
ดังนั้น วิธีการขจัดอารมณ์ใฝ่ต่ำและการทำให้อิบาดะฮ์มีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลเลาะฮ์ ตะอาลา นั้น ต้องกลับไปหาพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของอารมณ์ใฝ่ต่ำนั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้เขาหลุดพ้นจากมันไปได้ นอกจาก ต้องรำลึกถึงอัลเลาะฮ์อย่างสม่ำเสมอ จิตคิดว่าพระองค์ทรงเห็นเราอยู่ตลอดเวลา ด้วยการซิกรุลเลาะฮ์ให้มากๆ แต่การซิกรุลเลาะฮ์ในที่นี้ คือการซิกรุลลอฮ์ในใจ เพราะการซิกิรในใจ จะไม่มีการโอ้อวดที่เป็นเหตุของจิตใฝ่ต่ำแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น การซิกิรในใจ ยังถือว่าเป็นการมุญาฮะดะฮ์ต่อสู้ภายใน ( الجهاد الخفى ) ซึ่งเป็นอิบาดะฮ์ที่บริสุทธิ์และเป็นยาบำบัดจิตใจอีกด้วย
วัลลอฮุอะลัม