السلام عليكم ورحمة الله وبركاته
พอดีว่าผมได้อ่านหนังสือ ฟิกห์มัซฮับอิมามชาฟิอีย์ ที่ชื่อ حاشية البجيرمى على المنهج ซึ่งเป็นหนังสือ ที่ท่านชัยค์ อัลบุญัยรีมีย์ ได้อธิบายหนังสือ มันฮัจญ์ อัฏฏุลลาบ ของท่านชัยคุลอิสลาม ซะกะรียา อัลอันซอรีย์ เกี่ยวกับเรื่อง ดอกเบี้ย (ริบา) นะครับ
ผู้ทรงความรู้ บางส่วนเมืองไทยบ้านเรา มีทัศนะว่า การฝากเงินที่ธนาคารแล้วมีสมนาคุณเพิ่มให้ ซึ่งผู้ฝากจะได้รับเงินส่วนนั้นมากกว่าจำนวนเงินที่เราได้ฝากไว้กับธนาคาร ไม่ใช่อยู่ในความหมายของดอกเบี้ย เพราะเราไม่ได้ทำการตกลง (อะกัด) กันด้วยถ้อยคำเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว กระทู้นี้ผมไม่ต้องการที่จะเสวนาเจาะจงประเด็นเกี่ยวกับเงินปันผลเพิ่มขึ้นมาที่ธนาคารทั่วไปได้มอบให้แก่เรา แต่ผมอยากจะนำเสนออีกแง่มุมหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีทัศนะว่า หากไม่ได้พูดตกลง(อะกัด)กันแล้ว ถือว่าไม่ใช่เป็นดอกเบี้ย(ริบา) ดังนั้น หากเราสมมุติฐานยอมรับว่า การที่ไม่พูดตกลง(อะกัด)กันนั้น ถือไม่ว่าเป็นดอกเบี้ย แต่ผมขอนำเสนอทัศนะของตำราในมัซฮับชาฟิอีย์ ดังนี้ เพื่อเป็นข้อเตือนใจครับ
ท่านชัยคุลอิสลาม ซะกะรียา อัลอันซอรีย์ กล่าวว่า
وهو الزيادة
"ดอกเบี้ย(ริบาตามหลักภาษา)นั้น หมายถึง การเพิ่ม"
ท่านอัลบุญัยรีมีย์ อธิบายว่า
وقوله الزيادة سواء كانت بعقد أو لا فهو أعم من المعنى الشرعى لكنه إنما يناسب ربا الفضل
وقوله عقد فما يقع الأن من إعطاء دراهم بأكثر منها لأجل بلا عقد ليس من الربا بل من أكل أموال الناس بالباطل عزيزى ، قال بعضهم وفيه إثم الربا الشرعى
"(คำกล่าวของท่านชัยคุลอิสลาม ซะกะรียา อัลอันซอรีย์ ที่ว่า การเพิ่ม)นั้น ไม่ว่าจะด้วยการตกลง(อะกัด)กันหรือไม่ก็ตาม ถือว่ามันมีความหมายที่ครอบคลุมถึงความหมายตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม แต่มันเหมาะสมกับเรื่องของริบาฟัฏลิ (การตกลงแลกเปลี่ยนสองสิ่งที่เหมือนกันโดยมีการเพิ่มขึ้นมาอีกบางส่วนในขณะที่มีการชำระและรับมอบในขณะนั้นเลย)
(และคำกล่าวที่ว่า การอะกัดตกลง) ดังนั้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จากการให้จำนวนเงินดิรฮัมมากกว่าจากเงินดิรฮัม(ที่มีแต่เดิม) โดยมีการยืนระยะเวลา (ผ่อนชำระ) โดยไม่มีการตกลง(อะกัด)กัน จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของดอกเบี้ย
แต่ทว่า มันเป็นการบริโภคทรัพย์สินของมนุษยโดยมิชอบ - ได้กล่าวโดยท่าน อะซีซีย์ -
นักปราชญ์บางส่วนกล่าวว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ ถือว่าเป็นบาปที่มาจากดอกเบี้ยตามหลักการของนิติศาสตร์อิสลาม" ดู หนังสือ حاشية البجيرمى على المنهج หะชียะฮ์ อัลบุญัยรีมีย์ อะลัลมันฮัจญ์ เล่ม 2 หน้า 189 ตีพิมพ์ที่ มุสต่อฟาหะละบีย์ ฮ.ศ. 1369 - ค.ศ. 1950
จากสิ่งที่ผมได้นำเสนอมาจากตำราของนักปราชญ์มัซฮับอิมามชาฟิอีย์ ก็จะเข้าใจได้ว่า เงินที่ธนาคารเพิ่มมาให้แก่เรานั้น เป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ เป็นการบริโภคทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม และอุลามาอ์บางส่วน บอกว่า มันอยู่ในความหมายที่ริบา(ดอกเบี้ย) ที่เป็นบาปอีกด้วย
วัลลอฮุอะลัม