เมาลิดินนบีถึงเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยโดย : ฮัจยีไฟซอล บินซำซุดดีนเมื่อเอ่ยถึงงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยความรู้สึกและความเข้าใจของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องมุสลิมหรือคนที่ไม่ใช่มุสลิมจะมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นงานประจำปีของคนมุสลิมในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งทางความคิดกันอยู่บ้างในบางกลุ่ม ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่มีมาช้านานทั่วโลก สำหรับประเทศไทยจะมีใครทราบบ้างไหมว่างานนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใดและมีความเป็นมาอย่างไร ถึงวันนี้โลกได้วิวัฒนาการไปสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ทิศทางของการจัดงานเมาลิดกลางฯ ควรจะมีการพัฒนาไปอย่างไรหรือควรจะคงสภาพเช่นนี้ไว้เสมือนเด็กที่เกิดมาแต่ไม่เติบโตอย่างเช่นที่ผ่านมา?
การทำเมาลิดเป็นพิธีกรรมหรือกิจกรรมของพี่น้องมุสลิม ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านศาสดามูฮำหมัดซอลลั้ลลอฮู่อาลัยฮิว่าซัลลัม นิยมทำกันในวันเกิดหรือเดือนเกิดของท่านศาสดาซึ่งท่านเกิดในวันที่ ๑๒ เดือนรอบีอุ้ลเอาวัล (เดือนที่ ๓) ก่อนฮิจเราะห์ศักราช ๕๓ ปี หรือในปี ค.ศ. ๕๗๐ ณ มหานครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบันพิธีดังกล่าวนิยมทำกันทั้งที่บ้านและที่มัสยิด แต่มีมุสลิมบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านเพราะถือว่าไม่ใช่หลักการศาสนาเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ท่านศาสดาเองก็ไม่เคยใช้ให้ทำ ความคิดเห็นที่ขัดแย้งนี้มีมาช้านานแล้วในโลกมุสลิม แต่การทำเมาลิดก็มีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องมากกว่าพันปีในประเทศมุสลิม
การจัดงานเมาลิดระดับชาติในประเทศมุสลิมมุ่งเน้นไปถึงพิธีการสดุดีท่านศาสดามูฮำหมัดซอลลั้ลลอฮู่อาลัยฮิว่าซัลลัม มีการอ่านร้อยแก้วร้อยกรองเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านศาสดา มีการจัดเลี้ยงอาหารแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง มีการจัดวิชาการด้านนิทรรศการและการบรรยายของนักวิชาการ เพื่อเผยแพร่จริยวัตรด้านต่าง ๆ ของท่านศาสดามูฮำหมัดซอลลั้ลลอฮู่อาลัยฮิว่าซัลลัม และการจัดงานลักษณะนี้หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นข้อห้าม โดยเฉพาะกิจกรรมบันเทิงและกิจกรรมร่วมกันระหว่างหญิงกับชาย
แต่สำหรับประเทศซึ่งไม่ใช่ประเทศมุสลิม (Non Muslim ) ที่มีประชากรมุสลิมเพียงประมาณ ๘ เปอร์เซ็นต์ อย่างประเทศไทยก็มีการทำเมาลิดมานานแล้วเช่นกันโดยเป็นการทำตามบ้านและมัสยิดในชุมชน โดยการจัดในระดับชาติเพิ่งมีมาประมาณ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา และการจัดงานเมาลิดในประเทศไทยก็มีความแตกต่างกับการจัดงานเมาลิดระดับชาติในประเทศมุสลิมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการอยู่ภายใต้กฎหมายและการปกครองของรัฐบาลที่ไม่ใช่มุสลิม จึงทำให้การจัดงานต้องมีความเกี่ยวกับพี่น้องร่วมชาติที่ไม่ใช่มุสลิมมาโดยตลอดทั้งในส่วนของผู้ร่วมงาน กิจกรรม และการสนับสนุนด้านต่าง ๆ
หลังจากสิ้นสุดตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในสายท่านเฉกอะหมัดคือ ท่านจุฬาราชมนตรีสอน อะหมัดจุฬา ใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ก็ไม่มีการสานต่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรี สังคมมุสลิมในยุคนั้นเป็นช่วงที่มีปัญหามากโดยเฉพาะปัญหาความวุ่นวายที่เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับความไม่แน่นอนของการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงมาเพียง ๔ ปี คือในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ความมีอคติต่อมุสลิมทั้งของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริหารประเทศบางคนเริ่มรุนแรงขึ้น
แต่ยังมีมุสลิมบางกลุ่มที่พอจะมีบทบาทในสังคมอยู่บ้างโดยอาศัยที่เคยมีส่วนร่วมกับคณะราษฎรทำการปฏิวัติในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ บุคคลกลุ่มนี้เริ่มมองเห็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิมว่าจะค่อย ๆ หมดความสำคัญและโอกาสในสังคมไปเพราะมุสลิมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มาจากภาคใต้ ซึ่งแทบจะไม่มีสายสัมพันธ์กับมุสลิมกลุ่มที่เคยเป็นจุฬาราชมนตรี ซึ่งบางส่วนได้เปลี่ยนศาสนาไปบ้างแล้ว บางส่วนใกล้ชิดกับเจ้าขุนมูลนายในระบบศักดินา ความคิดที่จะให้มีการรวมกลุ่มสำหรับพี่น้องมุสลิมในส่วนกลางจึงเกิดขึ้น และความคิดนี้คงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นเพราะอาจถูกเพ่งเล็งไปในทางที่ไม่ดีได้ มุสลิมกลุ่มนี้จึงได้เอาแนวคิดทางศาสนาเข้ามาโดยเลียนแบบวิธีการจากประเทศอียิปส์ที่คนกลุ่มนี้เคยไปร่ำเรียนมา การจัดงานเมาลิดในระดับชาติจึงเกิดขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "เมาลิดินนบี"
ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยมี ฮัจยีอับดุลเลาะห์ การีมี เป็นประธาน จัดขึ้นที่หอประชุมกรมศิลปากร
ครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ มี นาย เล็ก นานา เป็นประธาน จัดขึ้นที่บ้านนายเล็ก นานา
ครั้งที่ ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ มี นาย เล็ก นานา เป็นประธาน จัดขึ้นที่โรงเรียนอำนวยศิลป์
หลังจากจัดได้ ๓ ครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิมก็มากขึ้นเรื่อย ๆ การจัดงานเมาลิดจึงหยุดลง มีการออกประกาศรัฐนิยม ๑๒ ฉบับ โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคคลั่งชาติ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมุสลิมทั่วประเทศ โดยเฉพาะคำสั่งที่ให้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานในมัสยิดทุกมัสยิด รวมทั้งการที่คนมุสลิมต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่อไทยและการห้ามเรียนกุรอานด้วย นาย แช่ม พรหมยงค์ มุสลิมหนึ่งในคณะราษฎร ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งในขณะนั้นได้รับมอบหมายให้คุมกำลังบางส่วนของเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และมีภารกิจพิเศษคือปฏิบัติการใด ๆ ที่สามารถต่อต้านแนวคิดรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากในขณะนั้น จอมพล ป. ประกาศตัวเข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นในสงครามเอเชียมหาบูรพา เมื่อรูปการเป็นเช่นนั้น นาย แช่ม พรหมยงค์ จึงได้ร่วมกับ นาย บรรจง ศรีจรูญ หนึ่งในอีกคนของคณะราษฎรที่เป็นมุสลิมได้ใช้โอกาสนั้นเชิญผู้นำมุสลิมจากทั่วประเทศหารือเพื่อจัดรวมพลังมุสลิมขึ้นในนามของงานเมาลิดซึ่งเคยจัดมาและได้หยุดไป
การจัดงานเมาลิดครั้งที่ ๔ จึงถูกจัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยมี นาย บรรจง ศรีจรูญ เป็นประธาน จัดขึ้นที่พระราชอุทยานวังสราญรมณ์ ในการจัดงานครั้งนี้เป็นงานเมาลิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นเพราะมีผู้นำศาสนาและพี่น้องมุสลิมจากทั่วประเทศเข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงพลังให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับรู้ถึงพลังของพี่น้องมุสลิม
และ นาย แช่ม พรหมยงค์ ได้เชิญหลวงวิจิตรวาทการ มาเป็นประธานเปิดงานเนื่องจากหลวงวิจิตรเป็นต้นคิดในการเอาพระพุทธรูปไปประดิษฐานในมัสยิดก่อนการเปิดงานมีการ กล่าวอารัมภบทถึงความอยุติธรรมที่พี่น้องมุสลิมใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับและมีการเรียกร้องให้ยกเลิกความคิดการประดิษฐานพระพุทธรูปในมัสยิด ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จอีกทั้งยังสร้างความประหวั่นให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกด้วย จากนั้นไม่นาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วน นาย แช่ม พรหมยงค์ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกในสายซุนหนี่ ใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๘งานเมาลิดินนบี ครั้งที่ ๕ ได้จัดขึ้นอีกใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ มี นาย ประวิติ ศรีจรูญ เป็นประธาน จัดขึ้นที่สำนักงานมุสลิมสภา ถนนราชดำเนิน
ครั้งที่ ๖ ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ มี นาย ประวิติ ศรีจรูญ เป็นประธาน จัดขึ้นที่สำนักงานมุสลิมสภา ถนนราชดำเนิน
ครั้งที่ ๗ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ มี นาย นิพนธ์ สิงห์สุมาลี เป็นประธาน จัดขึ้นที่พระราชอุทยานสราญรมณ์
ครั้งที่ ๘ ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ มี นาย นิพนธ์ สิงห์สุมาลี เป็นประธาน จัดขึ้นที่ พระราชอุทยานสราญรมณ์
ครั้งที่ ๙ ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ มี นาย นิพนธ์ สิงห์สุมาลี เป็นประธาน จัดขึ้นที่ พระราชอุทยานสราญรมณ์
หลังจากปี พ.ศ. ๒๔๙๓ การจัดงานเมาลิดระดับชาติก็ได้หยุดไป แต่งานเมาลิดตามบ้านและมัสยิดในชุมชนต่าง ๆ ยังเป็นที่นิยมปฏิบัติกันต่อ ๆ มา แต่เป็นไปเฉพาะในด้านพิธีกรรมไม่ได้มีกิจกรรมสังคมอื่น ๆ แต่อย่างไรองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่งานเมาลิดระดับชาติต้องหยุดไปเพราะการกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่พยายามจะลดบทบาทและอำนาจของมุสลิมในสังคม แม้แต่อำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีที่เคยเป็นถึงที่ปรึกษาพระเจ้าอยู่หัวก็ถูกลดอำนาจลงเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษากรมการศาสนา โดยเริ่มตั้งแต่สมัยอาจารย์ ต่วน สุวรรณศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ จนถึงปัจจุบัน
เมื่อสิ้นสุดยุคคลั่งชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ความคิดที่จะจัดงานเมาลิดของมุสลิมในประเทศไทยได้เกิดขึ้นอีกครั้งใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยการรวมตัวของผู้นำและองค์กรศาสนา งานเมาลิดจึงได้เกิดขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "งานเมาลิดส่วนกลาง" โดยมีคุณหญิง แสงดาว สยามวาลา เป็นประธาน จัดขึ้นที่สวนลุมพินี เป็นการจัดงานระดับชาติ ครั้งที่ ๑๐ และจากการที่งานเมาลิดระดับชาติได้หยุดไปกว่า ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ คนรุ่นหลังที่ไม่ทราบที่มาที่ไปจึงได้นับการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑ และรายงานต่อ ๆ กันมา แต่โดยความเป็นจริงแล้วต้องนับการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๐
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อาจารย์ ต่วน สุวรรณศาสตร์ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็นองค์ประธานในพิธี และพระองค์ท่านได้ทรงรับการกราบบังคมทูลของท่านจุฬาราชมนตรีมาเป็นองค์ ประธานในพิธีตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและความปลื้มปิติยินดีเป็นล้นพ้นต่อพสกนิการชาวไทยมุสลิม
จาก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ งานเมาลิดส่วนกลางได้ถูกจัดมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "งานเมาลิดกลาง" ใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๕- ๒๕๒๒ และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย" ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธี ในปีใดที่ไม่สามารถเสด็จฯมาได้ก็จะให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และในระยะหลังตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากงานเมาลิดกลางเป็นงานระดับชาติที่พี่น้องมุสลิมจำนวนมากมาเที่ยวและร่วมกิจกรรม อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธานในพิธีสถานที่สำหรับจัดงานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้เหมาะสมและเพียงพอที่จะรองรับผู้มาร่วมงานได้ ดังนั้นการจัดงานจึงต้องใช้สถานที่ที่สามารถรองรับผู้คนได้จำนวนมาก เช่น ลุมพินีสถาน สนามกีฬาหัวหมาก สนามกีฬาแห่งชาติ และจาก ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ใช้สวนอัมพรมาจนถึงปัจจุบัน
การทดสอบกอรีในงานเมาลิดกลางฯ ได้ถูกกล่าวว่ามีความสำคัญและเป็นหัวใจของงาน ในแต่ละปีจะใช้งบประมาณสูงพอสมควร แต่ในความเป็นจริงการทดสอบแทบไม่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานและมีคนเข้าฟังการทดสอบน้อยมาก บ่อยครั้งที่เห็นคนเพียงไม่กี่คนในห้องโถงที่สามารถจุคนได้ถึงสองพันคน เช่นเดียวกับในเรื่องวิชาการทั้งการสัมมนาและนิทรรศการก็เป็นกิจกรรมที่ผู้มาร่วมงานให้ความสนใจน้อยมาก นักวิชาการ นักการเมืองที่ถูกเชิญมาเป็นวิทยากรหลายคนเสียผู้เสียคนเพราะต้องนั่งพูดให้ เก้าอี้ฟังเป็นชั่วโมง ๆ มาหลายคนแล้ว
แต่สำหรับร้านค้าร้านอาหารหรือกิจกรรมบนเวทีที่เป็นความบันเทิง หรือการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านและขับลำนำนาซีร สิ่งเหล่านี้กลับได้รับความสนใจมากบางครั้งห้องที่จัดแสดงไม่พอเพียงกับผู้ ชม และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งในความแตกต่างของงานเมาลิดที่จัดขึ้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบระหว่างการจัดขึ้นในประเทศไทยกับในประเทศมุสลิมอื่นๆ จนมีหลายคนปรารภว่าน่าจะเปลี่ยนชื่องานนี้เป็น "งานมุสลิมแห่งชาติ" เพื่อเป็นการพบปะและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย ส่วนงานเมาลิดกลางก็ไปจัดเป็นงานพิธีการสดุดีท่านศาสดามูฮำหมัดซอลลั้ลลอฮู่ อาลัยฮิว่าซัลลัมให้ตรงกับวันเกิดหรือเดือนเกิดของท่าน คือในเดือนรอบีอุ้ลเอาวัล (ไม่ทราบว่าเขียนแบบนี้แล้วจะโดนกล่าวหาอะไรอีกหรือไม่)
มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีคนมากมายที่ชอบนำประเด็นเหล่านี้มาวิเคราะห์วิจารณ์ ว่าเป็นงานกาชาดของมุสลิมบ้าง งานไก่ย่างบ้าง จนทำให้ประธานจัดงานในแต่ละปีพยายามที่จะปรับปรุงในเรื่องวิชาการแต่ก็ยังไม่มีคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่เคยสนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมนั้น ๆ แต่กลับไปนั่งทานอาหารเฮฮาอยู่ตามร้านไก่ย่างอยู่เหมือนกัน เหล่านี้คือความจริงที่พิสูจน์ได้ทุกปี
เมื่อการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยเป็นงานประจำปีของพี่น้องมุสลิมโดยมีสำนักจุฬาฯ และองค์กรมุสลิมเป็นองค์ประกอบ กฎเกณฑ์และวัตถุประสงค์จึงได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นหลักการไว้ ดังนี้
๑. เพื่อเฉลิมฉลองวันประสูติของท่านศาสดามูฮำหมัดซอลลั้ลลอฮู่อาลัยฮิว่าซัลลัม
๒. ศึกษาวิเคราะห์เผยแพร่จริยวัตรและคำสอนของท่านศาสดา
๓. ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างพี่น้องมุสลิม
๔. ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีงามกับผู้นับถือศาสนาอื่น
๕. ส่งเสริมกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ตามหลักการของอิสลาม
๖. ส่งเสริมกิจกรรมทางด้านวิชาการและกิจกรรมอื่นอันไม่ขัดกับหลักการอิสลาม
๗. จัดทดสอบผู้อ่านอัลกุรอาน (กอรี) เพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยไปร่วมทดสอบในระดับนานาชาติ ณ ประเทศมาเลเซีย ตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย
๘. สนับสนุนโครงการของรัฐอันไม่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม
สำหรับกิจกรรมในงานเมาลิดกลางฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีกิจกรรมที่หลากหลายและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนกิจกรรมหลัก ๆ ประกอบด้วย การตัมมัตกุรอานของเยาวชน พิธีการสดุดีท่านศาสดามูฮำหมัดซอลลั้ลลอฮู่อาลัยฮิว่าซัลลัม พิธีการรับเสด็จ ทดสอบกอรี กิจกรรมเยาวชน สัมมนาวิชาการและนิทรรศการและที่ดูจะยิ่งใหญ่กว่ากิจกรรมอื่น ๆ คือการออกร้านขายสินค้าทุกชนิดจากทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะการออกร้านอาหารจนมีการเปรียบเปรยว่าเป็นงานขายไก่ย่าง ส่วนการทดสอบกอรีก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ถูกกล่าวว่ามีความสำคัญที่สุด และอยู่คู่กับงานเมาลิดกลางมาตั้งแต่เริ่มโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการคัด ผู้แทนไปทดสอบในระดับนานาชาติที่ประเทศมาเลเซีย และต่อมาได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักกอรีของประเทศไทยสามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศมาโดยตลอด บางครั้งสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศมาครอง
ประธาน จัดงานเมาลิดกลางฯ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้งานในแต่ละปีได้รับความสำเร็จลุล่วงเพราะโดยวิธีปฏิบัติถือเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในปีนั้น ๆ การคัดเลือกสรรหาเพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมมีศักยภาพและต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมในยุคนั้น ๆ ดังนั้นที่ผ่านมาผู้ที่จะมาเป็นประธานจัดงานจึงเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมมุสลิมจนถึงทุกวันนี้ บางครั้งบางปีแทบจะหาคนมาเป็นประธานจัดงานไม่ได้เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือสถานการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย บางคนจึงต้องช่วยเป็นมากกว่าหนึ่งครั้ง
สำหรับวิธีการที่จะได้มาซึ่งตัวประธานก็โดยการเชิญองค์กรต่าง ๆ มาร่วมหารือโดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน แต่โดยความจริงก็รับรู้กันอยู่ก่อนแล้วว่าจะเป็นใครในแต่ละปีเพราะมีการ ประสานติดต่อกับท่านจุฬาฯ ไว้แล้ว วันเลือกตั้งจึงเป็นแค่เพียงการทำภาพให้สมบูรณ์เป็นที่ยอมรับกันเท่านั้นเอง เมื่อได้ประธานจัดงานอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดงานหมดรวมทั้งการคัดเลือกคนมาร่วมงานนโยบาย และวิธีปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับประธานจัดงานในปีนั้น ๆ พอปีต่อไปก็เปลี่ยนนโยบายไปเรื่อย ๆ การจัดงานเมาลิดกลางฯ จึงไม่มีการสานต่อนโยบายต่อกันถึงแม้ว่าจะจัดมา ๕๐-๖๐ ครั้งแล้วก็ตาม
กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ และนำมากำหนดใช้ใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ การเลือกประธานจัดงานเมาลิดกลางฯ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงตามระเบียบที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติ โดยการเลือกตั้งจะเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการกลางอิสลามฯ และประธานอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ใช่เลือกโดยองค์กรศาสนาหรือท่านจุฬาราชมนตรีเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
การเลือกตั้งตามระเบียบใหม่เริ่มนำมาใช้อย่างจริงจังในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือ ฮ.ศ. ๑๔๒๒ ในปีนั้นมีผู้ถูกเสนอชื่อ ๒ คน คือ นาย ปรัชญา เจริญสุข กับ นาย อรุณ บุญมาเลิศ ผลปรากฎว่าผู้ที่ได้รับเลือกในปีนั้นคือ นาย ปรัชญา เจริญสุข ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามระเบียบการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย
เมื่อมีกฎระเบียบการจัดงาน เมาลิดกลางฯ ก็ดูว่าจะมีการพัฒนาขึ้นในปีต่อมาคือปี ฮ.ศ. ๑๔๒๓ ยิ่งดูคึกคักขึ้นเมื่อมีผู้ถูกเสนอชื่อถึง ๓ คน คือ ๑. นาย ปรัชญา เจริญสุข ๒. นาย อรุณ บุญมาเลิศ ๓. นาย ไพศาล พรหมยงค์ ผลปรากฎว่าที่ประชุมเลือก นาย ไพศาล พรหมยงค์ เป็นประธานจัดงานเมาลิดกลางฯ การจัดงานในปีนั้นดูจะมีการพัฒนาและได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะประธานจัดงานมาจากการเลือกตั้งจึงต้องพยายามทำผลงานตามที่ได้รับความไว้วางใจให้มาก
ในปีต่อมาคือ ปี ฮ.ศ. ๑๔๒๔ ได้เกิดวิกฤตงานเมาลิดกลางฯ ขึ้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อผลปรากฎว่า นาย ไพศาล พรหมยงค์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานจัดงานอีกครั้งเป็นวาระที่สอง แต่ปรากฎว่าสร้างความไม่พอใจให้กับท่านจุฬาราชมนตรี นาย สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และคนรอบข้างรวมทั้งผู้สนับสนุนโดยมีการกล่าวหาพาดพิงหลายประเด็น อาทิ ไม่เชื่อผู้นำ ไม่โปร่งใสในการจัดงานครั้งที่ผ่านมา ไม่คืนเงินจากการจัดงาน ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นคำกล่าวหาเท็จทั้งสิ้น ส่วน นาย ไพศาล พรหมยงค์ ได้รับเลือกตั้งจากกรรมการอำนวยการถูกต้องตามหนังสือเชิญประชุมของท่านจุฬาฯ ทุกครั้ง ปัญหาเหล่านี้เป็นที่มาของการฟ้องร้องระหว่าง นาย สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี กับ นาย วินัย สะมะอุน โดยนายวินัยถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจหน้าที่และเป็นคดีกันจนทุกวันนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด
เมื่อท่านจุฬาไม่ยอมรับผลการ เลือกตั้งจึงได้แต่งตั้ง นาย ปรัชญา เจริญสุข ขึ้นมาเป็นประธานจัดงานท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์แต่การจัดงานในปีนั้นก็ ผ่านไปด้วยความล้มเหลว และเป็นบาดแผลของสังคมผู้บริหารมุสลิมที่ต้องจารึกไว้
ปี ฮ.ศ. ๑๔๒๕ ท่านจุฬาราชมนตรีได้เรียกประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานจัดงานเมาลิดกลางฯ อีกครั้ง และมีการขอในที่ประชุมให้ นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานจัดงานเพื่อเห็นแก่ความสามัคคีโดยมีข้อสัญญาว่าจะถอนฟ้อง นาย วินัย สะมะอุน ที่ประชุมเห็นชอบตามคำขอของท่านจุฬาฯ
ปี ฮ.ศ. ๑๔๒๖ การเลือกตั้งประธานจัดงานเมาลิดกลางฯ ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๘ มีกรรมการอำนวยการเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ จำนวน ๗๑ คน จาก ๗๖ คน โดยมี นาย สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรีเป็นประธาน การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามกฎระเบียบอย่างถูกต้อง มีผู้ถูกเสนอชื่อ ๓ คน คือ
๑. ท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ เสนอโดย ท่านจุฬาราชมนตรี
๒. นายไพศาล พรหมยงค์ เสนอโดย นายประเสริฐ มินิ
๓. นายอรุณ บุญมาเลิศ เสนอโดย นายฮูเซ็น อีซอ
แต่หลังจากมีการอภิปรายปรากฎว่าท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ และ นาย อรุณ บุญมาเลิศ ถอนตัว นาย ไพศาล พรหมยงค์ จึงได้รับเลือกเป็นประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี ฮ.ศ. ๑๔๒๖ โดยการลงนามแต่งตั้งของท่านจุฬาราชมนตรีอีกครั้ง
๕๔ ครั้ง ของการจัดงานเมาลิดกลางฯ ที่ผ่านมากว่า ๖๘ ปี นอกจากจำนวนคนที่มากขึ้นกิจกรรมที่มากขึ้นและร้านอาหารที่มากขึ้นทุกปี แต่กิจกรรมที่บ่งบอกถึงการสดุดีท่านศาสดา กิจกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมแบบเป็นรูปธรรมแทบไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นเลย ถึงวันนี้ยุคโลกาภิวัฒน์การอยู่ร่วมกันระหว่างพี่น้องมุสลิมและพี่น้องต่างศาสนิกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมต่อพี่น้องมุสลิมทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ พื้นฐานของปัญหาเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจต่อกันและลุกลามเป็นความขัดแย้งและสู่ความแตกแยกในที่สุด ดังนั้น จากวันนี้ไปการทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อพี่น้องต่างศาสนิกร่วมชาติต่อหน่วยงานราชการจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การใช้โอกาสในการจัดงานเมาลิดกลางฯ จึงเป็นโอกาสที่ดียิ่งเพราะการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปทรงเป็นประธานในพิธี ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในขณะที่ถึงวันนี้ประธานเปิดงานในแต่ละวันจึงได้เรียนเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ใน บ้านเมืองรวมถึง การเรียนเชิญท่านนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ปิดงานในคืนสุดท้าย และยังมีกิจกรรมในงานอีกมากมายที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ เหล่านี้คือโอกาสที่จะเผยแพร่แนวทางและหลักการของอิสลามให้ได้รับรู้ความจริงมิใช่รับรู้ในสิ่งที่เป็นปัญหาตามแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง ควรใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความสมานฉันท์ของคนในชาติ
สำหรับมุสลิมงานเมาลิดกลางฯ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความสงสัย เป็นแดนสนธยาของผู้คนโดยทั่วไปว่าผิดหลักการศาสนาหรือไม่ มีประโยชน์อะไร รายได้จากการจัดงานไปไหน จัดกัน ๕๐-๖๐ ครั้ง เหลือเงินเท่าไหร่ เคยมีการสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์ตามที่เคยประกาศกันไว้หรือไม่ หรือเป็นงานที่สร้างผลประโยชน์ให้กลุ่มคนบางกลุ่ม สร้างชื่อเสียงให้ประธานจัดงาน เหล่านี้ยังเป็นคำถามต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่การจัดงานเมาลิดกลางฯ ยังไม่สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์อะไรให้ออกมาเป็นรูปธรรม
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยจะสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องมุสลิมให้กับสังคมของชาติได้อย่างแท้จริง อัลลอฮฺซุบฮาน่าฮูว่าตาอาลาได้ทรงตรัสไว้ว่า "เราจะไม่เปลี่ยนแปลงกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด จนกว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองเสียก่อน" ไม่มีอะไรสายเกินไป ไม่มีอะไรช้าเกินไปโดยเฉพาะเรื่องของการทำคุณประโยชน์ จากงานเมาลิดที่จัดขึ้นกว่า ๕๐ ครั้งที่ผ่านมาคงจะเป็นประสบการณ์ให้คณะกรรมการจัดงานทุกคนได้นำไปพิจารณาได้บ้าง เพื่อร่วมกันใช้ให้เกิดเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์ และเป็นเกียรติคุณแก่ชีวิตว่าครั้งหนึ่งเราได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺซุบฮาน่าฮูว่าตาอาลาให้มีส่วนในการสรรสร้างและพัฒนาสังคมมุสลิม