คำว่า ‘มลายู’ นี่เดิมเป็นชื่อเรียกเมืองเล็กๆ บนคาบสมุทรสุมาตรา บนฝั่งแม่น้ำชื่อแม่น้ำมลายู พระอี้จิงซึ่งเป็นพระภิกษุชาวจีนนืกายมหายาน เคยแวะพักที่นี่เพื่อเรียนภาษาสันสกฤต ก่อนเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่เมืองนาลันทา อินเดีย
จากบันทึกของจีนเมื่อ ค.ศ. 644 และ ค.ศ. 645 เรียกชื่อคนกลุ่มหนึ่งว่า ‘โม-โล-ยูเว่ (‘Mo-Lo-Yue’) ซึ่งกัณหาบอกว่า เป็นไปได้ที่คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มที่ใช้ภาษาออสโตรนีเซียน อยู่ในกลุ่มพวกที่จีนเรียกรวมๆ กันว่า ‘พวกไป่เยว่’ (พวกคนป่าร้อยเผ่าพันธุ์) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน พวกนี้รวมพวกเผ่าไทหรือไต (Tai, Dai) ด้วย
นักภาษาศาสตร์ที่ศึกษาตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนกล่าวว่า พวกนี้ข้ามจากฝั่งตะวันออกของจีนไปยังเกาะไต้หวัน เมื่อประมาณ 5 พันกว่าปีที่แล้ว กลายเป็นคนพื้นเมืองของเกาะไต้หวันก่อนที่คนจีนจะเช้าไปอาศัยในช่วงหลัง ต่อมาคนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งอพยพไปยังเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน จากนั้นก็เคลื่อนย้ายลงใต้ไปเรื่อยๆ ยังเกาะบอร์เนียว กลายเป็นพวกชนเผ่าต่างๆ ในบอร์เนียวที่ใช้ภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน แล้วก็ยังอพยพต่อไปอีก ไปปักหลักบนเกาะชวาและคาบสมุทรสุมาตรา ซึ่งต่อมาก็ข้ามมาฝั่งคาบสมุทรมลายู และแหลมทองของไทย
อีกพวกหนึ่งเคลื่อนย้ายไปทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ เช่นไปยังเกาะเล็กเกาะน้อยในมหาสมุทรแปซิฟิค เช่นในกลุ่มเกาะต่างๆ ที่เรียกว่าไมโครนีเซียและโพลีนีเซีย บางกลุ่มก็ปนก้บพวกที่ใช้ภาษาที่เรียกว่าภาษา Oceanic บางกลุ่มก็ไปไกลถึงเกาะฮาวาย กลายเป็นคนพื้นเมืองของเกาะนี้ ส่วนทางด้านตะวันตกชนกลุ่มนี้ใช้เรือที่เรียกว่า ‘ปราว’ (prao) หรือ ‘ปราฮู’ (perahu) แล่นใบข้ามไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย จนกระทั่งถึงเกาะมาดากัสการ์ นอกฝั่งทวีปอาฟริกา ปัจจุบันชาวเกาะนี้ กลายเป็นพลเมืองของเกาะหรือประเทศมาดากัสการ์ หรือประเทศมาลากาซีในปัจจุบัน ซึ่งกว่า 90% ใช้ภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียน
ภาษาในตระกูลใหญ่ออสโตรนีเซียนประกอบด้วยภาษากลุ่มโพลีนีเซียน ภาษากลุ่มเมลานีเซียน ภาษากลุ่มไมโครนีเซียน และภาษากลุ่มมาเลยิค (Malayic)
ภาษาในกลุ่มมาเลยิค (Malayic) นี้ประกอบด้วยภาษามลายู ภาษาอีบาน ชวา อาเจะห์ ซุนดา ดยัค ตะกะล็อก เป็นต้น ส่วนภาษาที่ใช้ในปัตตานี กลันตัน ตรังกานู ถือเป็นภาษาถิ่นของภาษามลายูอีกทีหนึ่ง นักภาษาศาสตร์เรียกว่า ภาษามลายูถิ่นปัตตานีครับ...
เนื่องจากผู้คนซึ่งแทบทั้งหมดเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ตามเกาะหรือหมู่เกาะต่างๆในทะเลจีนใต้ และในมหาสมุทรแปซิฟิค เขาเรียกรวมๆ กันว่า ‘ชาวออสโตรนีเซียน’ หรือ ‘พวกมาลาโย-โพลีนีเซียน’ แต่เนื่องจากภาษาในกลุ่มมาเลยิค หรือกลุ่มมลายูใช้กันอย่างกว้างขวาง ชาวยุโรปซึ่งเดินทางมาค้าขายซื้อหาเครื่องเทศพร้อมกับเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปด้วยมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ก็พบว่าภาษามลายูเป็นภาษากลาง (lingua franca) หรือภาษาสื่อสารที่ใช้กันทั่วไปตามเมืองท่าต่างๆ เวลานั้น รวมทั้งที่มะละกา ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช... แม้แต่ที่อยุธยาก็ยังใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลาง คนมลายูก็เลยเหมาเอา หมู่เกาะเหล่านี้รวมกันทั้งหมดเป็น ‘โลกมลายู’ หรือ ‘อาลัมมลายู’ นักวิชาการฝรั่งหรือพวกนักบูรพคดีก็เรียกตามนี้เช่นกันคือ ‘มาเลย์ เวิร์ลด์’ (Malay World) ภาษามลายูที่ใช้อยู่ก็เลยมีความหมายขยายไปจนกระทั่งกลายเป็นว่า ผู้ที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียน หรือเมื่อก่อนนี้เรียกว่า ‘ภาษามาลาโย-โพลีนีเซียน’ ก็พลอยถือว่าเป็นพวกมลายูไปด้วย
"ปัจจุบันนี้นะครับ มาเลเซียบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าคนมลายู คือ ผู้ที่พูดภาษามลายู มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นมลายู และที่สำคัญต้องนับถือศาสนาอิสลามด้วย ในมาเลเซียหรือในปัตตานีไม่ว่าจะเป็นคนจีน คนเชื้อสายแขก อินเดีย ทมิฬ หรือฝรั่งมังค่า ถ้านับถือหรือเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามก็ถือว่าเป็นคนมลายูหมด เขาเรียกว่า ‘มาโซะนายู หรือมาโซะมลายู’ แปลว่า ‘เข้ามลายู’ ความหมายก็คือ ได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
ปัจจุบันผู้ใช้ภาษามลายู "เป็น" มีไม่น้อยกว่า 250 ล้านคน แต่ถ้ารวมคนที่ใช้ภาษาไท-ออสโตรนีเซียน (ซึ่งรวมภาษาไท-ไทยด้วย) ฝรั่งเขาทำสถิติบอกว่า มีมากถึง 500 ล้านคนทั่วโลกครับ" กัณหาบอก "แต่เรากลับไม่สนับสนุนให้ใช้ภาษามลายู อยากให้คนในสามจังหวัดพูดภาษาไทยแทน
"คนมลายูเป็นกลายเป็นคนสมัยใหม่ตั้งแต่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่ศควรรษที่ 13 เป็นต้นมา นี่อาจารย์คอลลินส์ซึ่งสอนภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเขาบอกตอนมาพูดที่ มอ.ปัตตานีเมื่อหลายปีก่อน อิสลามเป็นพวกที่รับและส่งผ่านอารยธรรมกรีก-โรมันให้แก่ชาวโลกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา พวกนี้แปลตำรับตารากรีก-โรมันเป็นภาษาอาหรับและค้นคว้าทดลองเพิ่มเติมทั้งปรัชญา ตรรวิทยา คณิตศาสตร์ ดาราศาศตร์ ภูมิศาสตร์ เคมี วิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์อย่างยิ่งใหญ่มาก ยุโรปเวลาหลับไหลอยู่ในยุคมืดครับ อาหรับเอามาถ่ายทอดและสอนคนมลายูหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษา ปรัชญา ตรรกวิทยา คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ คนมลายูจึงเป็นพวกที่รู้จักคิดแบบใช้เหตุผลมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังจำกัดในกลุ่มคนชั้นสูงและพ่อค้า เพราะบรรยากาศทั่วๆไปยังคงถูกครอบงำภายใต้อิทธิพลของพวกชวา-ฮินดู โดยเฉพาะพวกมายาปาหิต (Majapahit) ซึ่งขยายอิทธิพลทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรมและความคิดความเชื่อในคาบสมุทรมลายูรวมทั้งปัตตานีมาก่อนตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 จนถึงศตวรรษ 15 ด้วยซ้ำ
คนมลายูปัตตานีเป็นทั้งพวกชาวประมง ชาวไร่ชาวนาและพ่อค้า หลังจากรัฐปัตตานีล่มสลายตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา โดยเฉพาะพวกเขาต้องขึ้นเกือบทุกอย่างอยู่กับกรุงเทพฯ มาเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนสิ่งหนึ่งที่พวกเขาประสบก็คือ มรดกทางภาษาและวัฒนธรรมของตนกำลังเผชิญกับการคุกคามอย่างหนัก การค้นพบแหล่งโบราณคดีที่ยะรัง ปัตตานี ซึ่งต่อมาเชื่อว่าเคยเป็นอาณาจักรลังกาสุกะที่ถูกจีนพูดถึงมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 พ.ศ.2515 มีการจัดนืทรรศการศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ครั้งแรกที่รูสะมิแล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยความตระหนักถึงมรดกอันล้ำค่าที่เพิ่งถูกค้นพบ แต่แล้วด้านกลับของมันกลับหมายถึงการสูญหายของมรดกทางอัตลักษณ์ของมลายูปัตตานีอย่างหนักหน่วง ทุกสิ่งที่พวกเขาเก็บรักษาไว้ ไม่ว่าจะเป็นดาบ ดั้ง โล่ กริช ทวน ตะเกียง ผ้า..ผ้าจวนตานีอันมีชื่อเสียง ล้วนมีราคาค่างวดขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ในช่วงนั้นในตัวเมืองปัตตานีจึงเต็มไปด้วยร้านค้าแลกเปลี่ยนของเก่าขึ้นเต็มไปหมด วัตถุมีค่าทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์เหล่านั้นจากหายไปจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอของปัตตานี ยะลาและนราธิวาสแทบไม่เหลือ นี่คือจุดที่มาของการสูญเสียทางมรดกวัฒนธรรมของปัตตานีทางงานวัตถุเป็นครั้งแรก
จากนั้นก็ตามด้วยการสิ้นสุดของการละเล่นทางวัฒนธรรม เป็นต้นว่า หนังตลุงที่เรียกว่า วายังกูเละ และวายังฆือแด๊ะ รวมทั้งมะโย่ง โนรา ลิเกฮูลูหรือดิเกร์ฮูลู ตือรีหรือมายน์ตือรี เป็นต้น พิธีปูยอปาตาร์ หรือบูชาชายหาด หรือปูยอปาดี พิธีบูชาพระแม่โพสพหรือขวัญข้าว ก็เลิกโดยปริยาย ด้านหนึ่งก็มาจากอิทธิพลของศาสนาอิสลามในขณะนั้นที่เผยแผ่หลักธรรมแบบเพียวริแทน (puritan) ไม่ว่าจะจากกลุ่มคณะใหม่ หรือกลุ่มนักเผยแผ่ศาสนาที่เรียกว่า กลุ่มดะอ์วะห์ พวกนี้ปฏิเสธพิธีกรรมทั้งหมดที่ขัดต่อศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผี เทวดา นางไม้ วิญญาณบรรพบุรุษทั้งหมดที่เคยเป็นความเชื่อของคนพื้นเมืองที่ปนเปกับศรัทธาต่อหลักการของศาสนาอิสลาม
อีกด้านหนึ่งก็เพราะการพัฒนาของทางการที่ทำให้นาข้าวอันกว้างใหญ่ไพศาลในเขต อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงชาวมลายูปัตตานีมาแต่โบราณไม่สามารถปลูกข้าวได้อีก ผลจากที่ทางการทำเขี่อนชลประทานกักแม่น้ำปัตตานีในเขตท้องที่ตอนบนของอำเภอยะรัง ทำให้นาข้าวที่อยู่ใต้เขื่อนกลายเป็นนาร้างเพราะน้ำเค็มจากทะเลทะลักเข้ามาทำให้ดินเค็มจนไม่สามารถปลูกข้าวได้อีก พิธีบูชาพระแม่โพสพ-บูชาขวีญข้าวของพวกมลายูปัตตานีก็อ่อนแรงและหมดลมหายใจไปในที่สุด
คนมลายูปัตตานีพากันยากจนไม่มีงานทำจำนวนมาก จำนวนไม่น้อยต้ออพยพย้ายถิ่นไปบุกเบิกที่ทำกินไม่ว่าที่ อ.ยะหา บันนังสตาร์ เบตง จ.ยะลา อ.สะบ้าย้อย นาทวี สะเดา จ.สงขลา อ.แม่ขรี จ.พัทลุง เป็นต้น ภาพสะท้อนความยากจนของคนปัตตานีปรากฏในบทกวีภาษามลายูที่ชื่อ "คนขายดอกไม้" ซึ่งเนื้อหาบ่งบอกที่ภาวะที่พวกเขาตกเป็นเบี้ยล่าง หรือคนชั้นล่างในสังคมที่เป็นบ้านเมืองของพวกเขาเอง กระนั้นแม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจขแงปัตตานีได้ตกอยู่ในมือของคนต่างถิ่น ซึ่งพวกเขาวาดภาพว่าเป็นคนจีน แต่พวกเขาก็ไม่โทษใคร เพียงแต่ตำหนิหรือโทษตัวเองที่ตนเองนั่นแหละเป็นผู้ยอมจำนนต่อโชคชะตา"
เตอรีมอกาเซะฮ มติชนออนไลน์