ความสำคัญของ ?อัลอัซฮาร์? ต่อมุสลิมและรัฐบาลไทย
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่าน
ระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2550 ผู้อ่านคงได้มีโอกาสอ่านข่าว ฟังข่าวเกี่ยวการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลของ
ดร. มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี[1] (Dr. Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์และผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ หรือ Grand Imam of Al Azhar เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านกิจการศาสนาอิสลาม ตลอดจนการขยายความร่วมมือด้านการศึกษาของเยาวชนไทยมุสลิม และเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา (interfaith dialogue) ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้จักสถาบันอัลอัซฮาร์แห่งนี้ ดังนั้นการรู้จักสถาบันแห่งนี้จะทำให้หลายคนรู้ถึงจุดประสงค์ของวิถีทางการทูตของรัฐต่อโลกมุสลิมในการแก้ปัญหาชายแดนใต้
รู้จักอัลอัซฮาร์ในขณะนักเรียนมัธยมทั่วประเทศได้ทราบผล Anet และ Onet เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสถาบันต่างๆ ของประเทศไทย
แต่สำหรับนักเรียนมุสลิมภาคใต้ หรือภาคอื่นของไทยดูเหมือนจะมีทางเลือกมากกว่านักเรียนทั่วไปแม้สถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาการมุสลิมในประเทศจะมีอยู่เพียง 2 แห่ง เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะนักเรียนส่วนหนึ่งกำลังหาที่เรียนในต่างประเทศ สถาบันหนึ่งที่นักศึกษามุสลิมต้องการไปเรียนมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ (AL-Azhar) ประเทศอียิปต์ สถาบันวิชาการศาสนาของโลกมุสลิม ซึ่งก่อตั้งมานานนับพันปี เรียกได้ว่าเก่าแก่กว่ามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ของอังกฤษเสียอีก
ที่นี่เสมือนมหาวิทยาลัยเปิด ตลาดวิชาสำหรับมุสลิมผู้ศรัทธา ใส่ใจในหลักวิชาการศาสนาทุกคน ไม่มีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษา
ในปีหนึ่งๆ จะมีนักศึกษามุสลิมจากภาคใต้หรือที่อื่น เข้าศึกษาต่อด้านศาสนาและสามัญ (แต่ส่วนใหญ่เป็นศาสนา) ในระดับอุดมศึกษาที่สถาบันแห่งนี้ ไม่ต่ำกว่า 100 คน หากรวมนักศึกษามุสลิมจากประเทศไทย ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันแห่งนี้ทุกชั้นปี คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 3,000 คน
ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงสาเหตุที่มุสลิมไปเรียนต่อที่อียิปต์ ผู้เขียนขอกล่าวถึงหลักสูตรการเรียนศาสนาที่จังหวัดชายแดนใต้
หลักสูตรการเรียนศาสนาอิสลามได้แบ่งชั้นเรียนเป็น ๑๐ ชั้นปี (แต่ปัจจุบันได้ปรับเป็น 12 ปีตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้แก่ หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น (- อิบติดาอียะฮฺ ปีที่ 1-4 หรือ 1-6) หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง (- มุตาวัซซีเตาะฮฺ ปีที่ 5-7) และหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย (- ซานาวียะฮฺ ปีที่ 8-10)
การเรียนการสอนในหลักสูตรจะแบ่งเป็น 3 หมวดวิชา
1.หมวดด้านศาสนา ประกอบด้วยวิชาหลักศรัทธา, คัมภีร์อัลกุรอาน, อรรถาธิบายอัลกุรอาน, หลักการอรรถาธิบายกุรอาน, วจนะศาสดา, หลักการวจนะศาสดา, กฏหมายอิสลาม, หลักการนิติศาสตร์อิสลาม, การแบ่งมรดก
2.หมวดภาษา ประกอบด้วย ภาษาอาหรับ, สำนวนโวหารอาหรับ, ภาษามลายู, ภาษาอังกฤษ
3.หมวดสังคมและจริยธรรม ประกอบด้วยวิชาประวัติศาสตร์อิสลาม, มารยาทอิสลาม และมารยาทกับต่างศาสนิก, เศรษฐศาสตร์อิสลาม, ตรรกศาสตร์, ปรัชญาอิสลาม, ดาราศาสตร์
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่า 300 แห่ง และผู้ที่จบระดับซานาวีย์ (อิสลามศึกษาตอนปลาย) ในปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 900 คน ในขณะสถาบันการศึกษาด้านศาสนาระดับมหาวิทยาลัยของไทยมีเพียง 2 แห่ง คือวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งรับนักเรียนปีหนึ่งๆ เพียงไม่กี่คน ทำให้นักเรียนที่เหลือต้องดิ้นรนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียอินโดนีเซีย บูรไน ตะวันออกกลางซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นมหาวิทยาลัยปิดมีโควตาชัดเจนในการรับนักศึกษาใหม่
แต่สำหรับ
มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรเป็นมหาวิทยาลัยเปิดรับไม่อั้น เพียงให้มีใบรับรองการจบศาสนาระดับซานาวีย์ก็เพียงพอ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้มีนักศึกษาไทยตัดสินใจไปที่นั้นเป็นเหตุผลหลัก
ส่วนเหตุผลรองคือ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรเป็นมหาวิทยาลัยด้านอิสลามศึกษาติดอันดับหนึ่งของโลกมุสลิม และที่สำคัญหากต้องการพูดอาหรับได้ดีต้องเรียนโลกอาหรับเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับภาษาอังกฤษหากต้องการพูดภาษาอังกฤษได้ดีต้องเรียนกับเจ้าของภาษาเท่านั้นมีต่อ...